"รอมฎอน"เหตุร้ายพุ่ง วัยรุ่นชายหายไปไหน... ดัชนีชี้วัดดับไฟใต้เหลว
ช่วงเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม หรือที่เรียกกันว่า "เดือนรอมฎอน" นั้น สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักร้อนแรงขึ้นทุกปี...
สาเหตุสำคัญที่ฝ่ายความมั่นคงยืนยันก็คือ กลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนใช้วิธีบิดเบือนคำสอนทางศาสนาในทำนอง "ปลุกเร้า" ให้บรรดาแนวร่วมเร่งก่อเหตุรุนแรง เพราะจะได้ "บุญแรง" ตามไปด้วย
ขณะที่เสียงกระซิบจากทางฝ่ายขบวนการฯ ที่ได้ยินได้ฟังผ่านช่องทางบางช่องทางในพื้นที่ ระบุว่า ไม่เคยมีการปลุกระดมให้โหมสร้างสถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอนมากเป็นพิเศษ ทุกอย่างเป็นเรื่องของ "จังหวะ" และ "โอกาส" เพราะการต่อสู้ของคนในขบวนการฯ เพื่อปลดปล่อย "ปาตานี" จาก "รัฐไทย" เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบอยู่แล้ว
ที่สำคัญยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุรุนแรงบางเหตุเกิดจากความขัดแย้งเรื่องอื่น แต่เมื่อเกิดในช่วงนี้กลับถูกโยงเข้าเป็นฝีมือของขบวนการฯ เหมือนมีความพยายามสร้างภาพโจมตีว่าขบวนการฯ ปฏิบัติการสวนทางกับคำสอนทางศาสนา...
ข้อมูล 2 ชุดนี้ ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร แต่ภาพสะท้อนของปัญหาก็คือ แม้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบรุ่นเก่าๆ ได้ถูกจับกุมไปเป็นจำนวนมาก แต่เหตุร้ายที่เกิดซ้ำซากกลับไม่ลดลง นั่นหมายถึงยังมี "แนวร่วมรุ่นใหม่" เต็มใจเข้าสู่ขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ออกปฏิบัติการก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ อย่างไม่หยุดหย่อนเช่นกัน
"แนวร่วมรุ่นใหม่" เหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่หายไปจากระบบการศึกษาสายสามัญที่จัดการเรียนการสอนควบคู่กับสายศาสนา ซึ่งก็คือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาฯ ที่พัฒนาขึ้นจาก "ปอเนาะ" แบบดั้งเดิม
ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงศึกษาธิการชัดเจนว่า มี "วัยรุ่นชาย" หายไปจากระบบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่า 20% ตัวเลขยิ่งเด่นชัดเมื่อถึงระดับอุดมศึกษา เยาวชนที่ได้สิทธิเรียนต่อมหาวิทยาลัยในพื้นที่บางแห่ง มีเยาวชนชายมุสลิมแค่ 250 คน ขณะที่เยาวชนหญิงมุสลิมมีมากกว่า 1,200 คน
ในจำนวนเยาวชนที่หายไปจากระบบการศึกษานั้น ราว 10% เป็นพวก "ไม่เอาถ่าน" จริงๆ คือเลิกเรียนเพราะติดยาเสพติดหรือชอบมั่วสุมมากกว่าเรียนหนังสือ ส่วนอีกสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เป็น "เด็กดี" ที่ถูกดึงตัวไปเป็น "แนวร่วมรุ่นใหม่" นี่คือสภาพอันเลวร้ายของปัญหาสังคมอันอ่อนไหวที่ซ้อนทับอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงและอุดมการณ์ต่อต้านรัฐที่กระจายไปทั่ว
ข้อมูลที่อ้างถึงนี้ไม่ได้กล่าวหาว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาฯ "รู้เห็น" กับขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน แต่เป็นเพราะมี "คนของขบวนการฯ" แทรกซึมอยู่แทบทุกหมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และฝ่ายความมั่นคงไม่อาจคุมพื้นที่ได้ทั้งหมด ทำให้ "วัยรุ่นชาย" ถูกดึงเข้าร่วมขบวนการฯได้ไม่ยากเย็น
ประเด็นที่ใช้ปลุกความรู้สึกให้ "เยาวชนคนรุ่นใหม่" หลั่งไหลเข้าขบวนการฯ ก็มีทั้งเงื่อนปมทางประวัติศาสตร์เรื่องความยิ่งใหญ่ของรัฐปัตตานี (ปาตานี) ในอดีตที่ (อ้างว่า) ต้องอับปางลงเพราะถูกสยามยึดครอง, เงื่อนไขการไม่ยอมรับความแตกต่างทางศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมโดยรัฐไทยที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 1 ศตวรรษ รวมไปถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคงมีปรากฏอยู่ตลอด 8 ปีไฟใต้กระทั่งถึงปัจจุบัน
ประเด็นปลุกระดมเหล่านี้แม้จะเป็นประเด็นเดิมๆ แต่คำถามที่น่าสนใจคือเหตุใดจึงยังทรงพลังอยู่?
คำตอบก็คือตลอดเกือบ 9 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลแทบทุกชุดค่อนข้างละเลยปัญหานี้ แต่ไปทุ่มความสนใจเรื่องสกัดเหตุร้ายรายวันโดยใช้กำลังพลของทหาร ตำรวจ ภายใต้โครงสร้างของ กอ.รมน.ซึ่งจะว่าไปก็คือการวิ่งไล่ตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขณะที่ "ต้นเหตุ" คือกระบวนการสรรหา (recruit) แนวร่วมรุ่นใหม่เข้าขบวนการ กลับไม่เคยได้รับการสกัดกั้นอย่างจริงจังเลย
ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่บันทึกได้จากการก่อวินาศกรรมในเมือง เช่น ในเขตเทศบาลนครยะลา ชัดเจนว่าคนที่นำระเบิดไปวางล้วนเป็นเยาวชน
กลุ่มผู้ต้องหาที่ฝ่ายความมั่นคงจับกุมได้แต่ละครั้ง รวมทั้งเมื่อไม่กี่วันมานี้จากเหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เป็นชายวัยรุ่นอายุ 20-23 ปี
ยิ่งเงื่อนไขที่ถูกใช้ปลุกระดมยังคงอยู่ เช่น คดีความมั่นคงถูกศาลยกฟ้องมากขึ้นเรื่อยๆ (ปี 2554 ยกฟ้องถึง 78%), คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงถูกกล่าวหาว่าซ้อมทรมานผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยแล้วฝ่ายรัฐแพ้คดีหรือยอมไกล่เกลี่ยด้วยการจ่ายชดใช้แทบทุกคดี ขณะที่ปมเงื่อนทางประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยมีการชำระสะสางกันอย่างเป็นรูปธรรม ก็ยิ่งทำให้การปลุกระดมยังคงประสบผลสำเร็จ แม้สถานการณ์จะยืดเยื้อมาเกือบ 9 ปีแล้วก็ตาม
เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีข่าวการประสานข้อมูลกันระหว่าง กอ.รมน.กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแก้ไขปัญหา "เยาวชน" หายไปจากระบบการศึกษา แม้จะเป็นข่าวดีของการเริ่มต้นที่ถูกทาง แต่ปัญหานี้แก้ค่อนข้างยาก ต้องระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน เพราะเยาวชนกลุ่มที่ว่าล้วนเป็นเด็กดี ไม่ติดยาเสพติด แถมยังมีร่างกายแข็งแรง (จากการลอบฝึกร่างกายเตรียมความพร้อมเป็นกลุ่มติดอาวุธ) เมื่อฝ่ายความมั่นคงเข้าไปจับกุมจึงมักถูกต่อต้านจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่ทราบข้อเท็จจริง จนกลายเป็นความจริงที่ยากจะอธิบาย
คำถามก็คือ จนถึงวันนี้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยเข้าใจปัญหาตรงกันแล้วหรือไม่ ร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่แล้วหรือเปล่า และมีเอกภาพในการปฏิบัติแล้วหรือยัง?
นี่คือดัชนีชี้วัดความล้มเหลวในภารกิจ "ดับไฟใต้" ซึ่งไม่ได้เจาะจงกล่าวโทษรัฐบาลใด เพราะทุกรัฐบาลและทุกองคาพยพของประเทศไทยต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ได้แต่หวังว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีเสียงสนับสนุนในสภาอย่างท่วมท้น จะหันมาสนใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และปรับยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งวงจรความรุนแรง!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ผู้บาดเจ็บจากเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนถูกส่งไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลศูนย์ยะลา เป็นภาพความรุนแรงอันชินชาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์ พรางภาพเพื่อรักษาสิทธิผู้ป่วย/ผู้บาดเจฺ็บ โดย ฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 25 ก.ค.2555 ด้วย