‘วราวุธ’ โปรยยาหอม เข้าใจความรู้สึกชาวบ้าน เล็งตั้ง คกก.ร่วม แก้ปัญหาที่ดินทับเขตป่า
พีมูฟยื่นหนังสือ ก.ทรัพยากรฯ เรียกร้อง 11 ข้อ แก้ปัญหาที่ดินทำกินเขตป่า ‘วราวุธ’ โปรยยาหอม เข้าใจความรู้สึกชาวบ้าน ปัญหา “ป่ารุกคน คนรุกป่า” หาแนวทางตั้งคกก.ร่วม แก้ไข 73 กรณี จากง่ายไปหายาก
วันที่ 22 ก.ค. 2562 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เข้าพบนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อนำเสนอและติดตามปัญหาเร่งด่วนในด้านที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ข้อพิพาทจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ด้านป่าไม้ ตลอดจนการคุ้มครองพื้นที่ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเล ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายประยงค์ ดอกลำไย แกนนำพีมูฟ กล่าวว่า รัฐบาลที่ผ่านมามีการจัดตั้งกลไกการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งอนุกรรมการในระดับกระทรวง ซึ่งเครือข่ายได้นำเสนอกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชุดปัจจุบันแล้ว โดยสำนักนายกรัฐมนตรีนัดหมายให้มีการพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่งในอีก 2 สัปดาห์ เพื่อออกแบบกลไกในการแก้ไขปัญหาว่า จะใช้คำสั่งตามแนวทางเดิมหรือปรับปรุงกลไกองค์ประกอบบางส่วน ซึ่งคงจะมีการแต่งตั้งรมว.ทส.เป็นกรรมการกลไกในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ร่วมด้วย
ทั้งนี้ ยังได้นำเสนอข้อหารือการแก้ไขปัญหา หนึ่งในนั้น คือ เรียกร้องให้มีการยุตินโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งที่ผ่านมาสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย แม้เจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในรัฐบาลที่ผ่านมา ต้องการไม่ให้กระทบกับคนจน ผู้ยากไร้ และผู้มีรายได้น้อย แต่กลับพบว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดีไปแล้วจำนวนมาก
แกนนำพีมูฟ ระบุในปี 2558 กรมป่าไม้ มีสถิติคดีเพิ่มขึ้น ร้อยละ 38 ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18 ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน
“ชาวบ้านเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสู้ไม่ได้ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิเลย ส่วนใหญ่ได้รับความลำบาก ตอนนี้มีคดีที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกระทรวงทรัพยากรฯ คือกรณีบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ สามารถประกันตัวได้เพียง 3 คน ที่เหลือยังหาทางประกันตัวออกมาไม่ได้ ซึ่งนอกจากขอให้ทบทวนนโยบายแล้ว ยังเรียกร้องให้หาทางเยียวยาผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวด้วย
ด้านนายวราวุธ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมานั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้งนี้ ทุกอย่างอยู่ภายใต้การทำงานของกระทรวงทรัพยากรฯ เรามีหน้าที่คอยแก้ปัญหา ซึ่งประเด็น “ป่ารุกคน คนรุกป่า” เป็นเรื่องที่เข้าใจความรู้สึกได้ เพราะบางครั้งเราอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย แต่เมื่อมีกฎหมายออกมา ทำให้เรากลายเป็นผู้บุกรุก อย่างไรก็ตาม ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่เช่นกัน หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะโดนฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ขณะเดียวกันต้องหาวิธีเยียวยาให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 73 กรณี ซึ่งกระทรวงทรัพยากรฯ มีแนวทางแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมา โดยมีตัวแทนจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการแก้ไขปัญหาคงไม่สามารถตัดเสื้อโหลได้ แต่ต้องค่อย ๆ แก้ไข โดยเริ่มจากปัญหาง่ายไปหายาก
“ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรี จึงเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน และผมอยู่กับการเมืองตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เดินตามพ่อบรรหาร ศิลปอาชา หาเสียง ความเดือดร้อนทุกข์ยากของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลาย ผมเข้าใจ วันนี้จึงอยากให้พวกเราอุ่นใจว่าผมจะทำหน้าที่ ซึ่งความจริงรัฐมนตรีไม่ได้ใหญ่สุด แต่เป็นกระโถนท้องพระโรง จะทำอย่างไรที่สามารถประสานหน้าที่กับส่วนราชการและประชาชนให้ได้” รมว.ทส. ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเสนอเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่า
1.ยุตินโยบายทวงคืนผืนป่าที่สร้างผลกระทบต่อคนจนและเกษตรกรรายย่อย พร้อมทั้งให้หาแนวทางและมาตรการในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐที่ผ่านมา
2.ผลักดันให้มีมาตรการคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยกระดับโครงการจัดที่ดินชุมชน (คทช.) ให้เป็นการรองรับสิทธิสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันอย่างแท้จริง
3.ทบทวนปรับปรุงเนื้อหา พ.ร.บ.ป่าชุมชน, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ฉบับ พ.ศ. 2562 ให้สอคคล้องกับเนื้อหาและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560
4.ให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เนื่องจากแนวทางและมาตการตามมติ ครม.ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
5.ผลักดันให้มีการคุ้มครอง พื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และพื้นที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง และชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และวันที 3 สิงหาคม 2553 และยกระดับมติ ครม. ดังกล่าวให้เป็นพระราชบัญญัติเขตส่งเสริมและคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคมภายในปี พ.ศ.2564
6.ผลักดันให้มี พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว
7.กรณีชุมชนที่อยู่ในระหว่างกระบวนการแก้ปัญหากับหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ชุมสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา และที่อยู่อาศัยได้
8ให้มีการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากคดีป่าไม้ที่ดินที่เกิดจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
โดยมีมาตรการดังนี้
(1) ให้มีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้สามารถมีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้เพียงพอต่อการยังชีพได้
(2) คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมให้หามาตรการในการจำหน่ายคดี
(3) ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองตามกฎหมายป่าไม้ให้ชะลอหรือยกเลิก (ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่เป็นการบุกรุกใหม่และเป็นผู้ยากไร้ตามคำสั่งที่ 66/2557)
(4) ให้มีคณะทำงานรวบรวมกลั่นกรองและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาคดีความที่เกิดจากปัญหาป่าไม้ที่ดินทั้งหมด
9.เร่งแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จำนวน 73 กรณี
10.ให้มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัยและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กับ ขปส. เช่น (1) กรณีบ้านกลาง จังหวัดลำปาง, (2) น้ำพาง จังหวัดน่าน, (3) หินลาดใน จังหวัดเชียงราย, (4) บ้านนาดอย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, (5) บ้านสบลาน จังหวัดเชียงใหม่, (6) ชาวเลพีพี จังหวัดกระบี่, (7) ชาวเลสุรินทร์ จังหวัดพังงา, (8) สระต้นโพธิ์ จังหวัดภูเก็ต, (9) ตามุ่ย จังหวัดอุบลราชธานี, (10) 5 ชุมชนในจังหวัดชัยภูมิ (บ้านซับหวาย, บ้านซับสะเลเต, หนองผักแว่น, ซอกตะเคียน, หินรู), (11) บ้านปลิว จังหวัดตรัง (12) บ้านหลังมุก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (13) ชุมชนเพิ่มทรัพย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (14) บางพระเหนือ จังหวัดระนอง (15) บ้านไร่โว่ จังหวัดกาญจนบุรี (16) ชุมชนมะลิแก้ว จังหวัดภูเก็ต (17) ชุมชนธนิต จังหวัดภูเก็ต (18) สะเหน่พ่อง จังหวัดกาญจนบุรี (19) ชุมชนสันติพัฒนา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น
11.ให้มีกลไกการประสานงานเพื่อติดตามความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/