จ่านิว-ไฟใต้-ไอโอ
อีก 7-8 วันก็จะครบ 1 เดือนที่ "จ่านิว" นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกดักทำร้าย โดยไม่มีวี่แววว่าตำรวจจะจับมือใครดมได้ ท่ามกลางการสาดโคลนกล่าวหากันทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนของฝ่ายที่สนับสนุนเขา กับฝ่ายที่ต่อต้าน หมั่นไส้ หรือแม้กระทั่งเกลียดชังเขา
หลายคนเรียกปรากฏการณ์ฝุ่นตลบของข่าวสารและการสร้างข่าวที่เกิดขึ้นนี้ว่า "ไอโอ" หรือ Information Operations แปลเป็นไทยว่า "ปฏิบัติการข่าวสาร"
แม้ความหมายตามทฤษฎี กับความหมายตามความเข้าใจของสังคมจะไม่ค่อยตรงกันนัก แต่เมื่อเอ่ยคำว่า "ไอโอ" วันนี้ทุกคนเข้าใจ
ผ่านมาเกือบเดือน ข่าวคราวเริ่มซา ความคืบหน้าทางคดีไม่มี แต่สิ่งที่หลงเหลือตกค้างคือ "แผลเป็นทางความรู้สึก" ที่ทั้งสองฝ่ายพร้อมหยิบขึ้นมาฟาดฟันกันอีกเมื่อมีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้น
ผมรู้สึกตะหงิดๆ ว่าสังคมการเมืองไทยแบบที่เป็นอยู่นี้ คล้ายคลึงสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากทีเดียว
หลังเกิดเหตุการณ์ทำร้าย "จ่านิว" ไม่นานนัก ผมเขียนบทความอธิบายประเด็นนี้เอาไว้ในคอลัมน์ "โหมโรง" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ มีถ้อยความบางช่วงบางตอนเป็นแบบนี้....
ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความไม่สงบเกิดขึ้น และรัฐ (โดยมีกองทัพเป็นหน่วยนำ) เข้าไปจัดการปัญหา แต่ผลที่ออกมาคือความล้มเหลว โดยเฉพาะในแง่ของการสถาปนาความเชื่อมั่่นในอำนาจรัฐ
ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นเพราะเลือกใช้เครื่องมือผิด กำหนดนโยบายพลาด ความสามารถไม่พอ มือไม่ถึง หรือสู้การจัดตั้งของอีกฝ่ายไม่ได้ ฯลฯ ก็ต้องถือเป็นความล้มเหลว
ผ่านมา 15 ปี บรรยากาศที่นั่นดูจะย่ำแย่ลงกว่าเก่า ความเชื่อถือเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ (ที่นำโดยกองทัพ) แทบไม่มีเหลือ มีแต่ความหวาดระแวง จับผิด ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ เหมือนไม่ได้อยู่ประเทศเดียวกัน
ขณะที่สงครามข่าว ไอโอ สาดโคลน ข่าวเท็จ ข่าวลือ หนักหนาสาหัสไม่แพ้สมรภูมิที่ใช้ปืนใช้ระเบิด
ช่วงต้นๆ ของสถานการณ์ เวลาเกิดเหตุรุนแรง เจ้าหน้าที่มักจับคนร้ายไม่ค่อยได้ ทำให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมลดต่ำ ต่อมาพอดักทางคนร้ายได้ แต่ก็ดูจะสายเกินไป เพราะถูกตั้งคำถามใหม่ว่าจับถูกตัวหรือเปล่า หนำซ้ำหลายๆ ครั้งยังถูกโจมตีว่าปฏิบัติการเกินกว่าเหตุ
แทบทุกครั้งที่เกิดความรุนแรงขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่มักถูกด่าว่ามีกำลังพลมากมาย มีด่านตรวจเต็มเมือง ทำไมถึงปล่อยให้คนร้ายก่อเหตุได้ ข้างฝ่ายรัฐก็ไม่ได้มุ่งจะปรับยุทธวิธีอะไร แต่สิ่งที่ทำคือสร้างกระแสโต้กลับว่าทำไมไม่ด่าคนก่อเหตุ แถมมุ่งจับผิดว่าใคร-องค์กรไหนไม่ร่วมประณาม ก็จะถูกตั้งคำถามว่าเป็นแนวร่วมโจรหรือไม่...ก็วนกันไปแบบนี้
ครั้นรัฐบาลหรือฝ่ายความมั่นคงผุดนโยบายอะไรขึ้นมา ก็ถูกรุมค้าน รุมต้าน จับโกหก อย่างนโยบายลงทะเบียนซิมการ์ด แม้ว่าจะเป็นโครงการที่ดีสำหรับงานความมั่นคง แต่เมื่อสร้างความเชื่อมั่นไม่ได้ ก็ถูกปฏิเสธ
สภาพการณ์เช่นนี้ต่างจากสังคมการเมืองในภาพใหญ่ตรงไหน? แตกต่างจากกรณี "จ่านิว" อย่างไร? คำตอบคือมันไม่ต่างกันเลย
อย่าเอาแต่ตั้งคำถามว่างานนี้จัดฉากหรือโดนจริง อย่าเอาแต่ด่าทอว่าใครเป็นแนวร่วมในการมุ่งใส่ร้ายป้ายสีผู้ถืออำนาจรัฐ เพราะถ้าผู้มีอำนาจทำความจริงให้ปรากฏไม่ได้ ก็ต้องตกเป็นจำเลยไม่มีที่สิ้นสุด
บ้านเมืองจะเจริญรุดหน้าบนความแตกแยก แบ่งฝ่าย โจมตี ใส่ร้าย ไอโอ เหมือนที่ใครบางคนคิดฝันแถวๆ เวทีจี20 ได้จริงๆ หรือ?
ฉะนั้นอย่ามัวแต่คาดการณ์เลยว่ารัฐบาลนี้จะอายุสั้นเพราะเสียงปริ่มน้ำ หรือมีแต่เรื่องทะเลาะแย่งชามข้าว รุมทึ้งเก้าอี้ เพราะโจทย์ใหญ่กว่านั้นคือสถานการณ์แบบนี้...อนาคตประเทศไทยก็คงสั้นพอกัน!
----------//------------
นับจากวันที่ผมเขียนบทความนี้จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ยังไม่มีอะไรเปลี่ยน และกำลังซ้ำรอยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะสงครามไอโอ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังรอเหยื่อสถานการณ์รายใหม่เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือห้ำหั่นกันต่อ
เราจะอยู่ในบรรยากาศแบบนี้กันจริงๆ หรือ?
-------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : จ่านิว เมื่อครั้งเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 58
อ่านประกอบ : "จ่านิว"กับมุมมองปัญหาชายแดนใต้ "ความเป็นชาติไทยไม่ได้มีก้อนเดียว"