มธ. ผนึกทีมผลิตคนป้อนโลกศตวรรษ 21 รู้ลึกวิทยาศาสตร์ มีความคิดผู้ประกอบการ
นักวิชาการ มธ. แท็กทีมผลิตคนป้อนโลกศตวรรษ 21 รู้ลึกด้านวิทยาศาสตร์ มีความคิดผู้ประกอบการ พัฒนาทักษะอารมณ์ ต่อกร AI คล่องตัวดิจิทัล แนะสถาบันการศึกษาเติมเต็มความรับผิดชอบ-อดทน ให้เด็กรุ่นใหม่
วันที่ 19 ก.ค. 2562 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จัดงาน Grooming Next-Generation Leaders:University-Industry Partnership ครั้งที่ 1/ม.ธรรมศาสตร์-เครือเจริญโภคภัณฑ์ “Defining the Future:กำลังคนในศตวรรษที่ 21 ณ ห้อง 107-108 คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
ทั้งนี้ ภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “Defining the Future:กำลังคนในศตวรรษที่ 21 โดยมีผศ.ดร.ภาสพงศ์ ศรีพิจารณ์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มธ., รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ., รศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. และรศ.ดร.สถาพร โอภาสานนท์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ร่วมเสวนา
รศ.ปกรณ์ กล่าวถึงการสร้างกำลังคนในอาชีพภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปว่า อาชีพในวันนี้อาจไม่มีในวันที่เรียนจบและร้อยละ 60 ของงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงยังไม่มีในวันนี้ ทำให้เรามองไม่เห็นว่า จะสร้างเด็กขึ้นมารองรับอย่างไร อย่างไรก็ตาม คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. เล็งเห็นว่า จะต้องสร้างผู้เรียนให้สามารถสร้างงานตนเองได้ เพื่อไม่ต้องพึ่งพิงเป็นลูกจ้างทำงานในองค์กรเอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐ
การเตรียมคนจึงต้องสร้างองค์ความรู้ลึกในเรื่องวิทยาศาสตร์และมีความคิดเกี่ยวกับผู้ประกอบการไปด้วย มีความกล้าคิด กล้าทำ มีนวัตกรรมสร้างสรรค์ คิดสิ่งใหม่ มีทักษะการสื่อสาร การนำเสนอ บุคลิกเป็นผู้นำ ซื่อสัตย์ และมีจริยธรรม ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้ผู้เรียนศึกษาเป็นแท่ง ๆ เรียนคณิตศาสตร์หรือสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ดังนั้น เด็กในศตวรรษที่ 21 จึงไม่ใช่คนที่มีความรู้เรื่องเดียวอีกต่อไป
ด้าน รศ.ดร.สถาพร ระบุว่า ไม่เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ด้านสังคมศาสตร์ยังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน สังเกตได้จากปัจจุบันอยากให้ใครเกลียดใครสักคนหนึ่ง เพียงเข้าไปโลกอินเทอร์เน็ต ติดแฮชแท็ก ทำให้คนนั้นกลายเป็นคนดีหรือไม่ดีได้ แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลง กลับมองเห็นเป็นโอกาสของคณะพาณิชยศาสตร์ฯ ในการทำให้ภาพรวมดีขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงการศึกษาจะมีเรื่องความรู้และทักษะ โดยคนในยุคอนาคตต้องมีความคล่องตัวในดิจิทัล ผู้เรียนที่ศึกษาจบสามารถประยุกต์เป็นผู้ใช้งานดิจิทัลได้
“เรื่องความรู้ไม่ค่อยเป็นห่วงมาก เพราะปัจจุบันอยู่ปลายนิ้วมือเรา แต่อีกส่วนหนึ่งคณะพาณิชยศาสตร์ฯ พยายามผลักดัน ทักษะ ซึ่งไม่มีใครแย่งได้ เนื่องจากต้องอาศัยการฝึกฝน ดังนั้น จะเห็นว่า ในศตวรรษที่ 21 สถาบันการศึกษาต้องให้ความสำคัญด้านทักษะอารมณ์ (Soft Skill) ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำไม่ได้” รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.
ขณะที่ รศ.ดร.ธีร กล่าวว่า สถาบันการศึกษามีหน้าที่ผลิตวิศวกร แต่ต้องยอมรับว่า เด็กรุ่นใหม่และรุ่นเก่าไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างเยอะมาก แม้เด็กรุ่นใหม่จะพัฒนาความรู้ความสามารถได้ แต่สิ่งที่ขาดและสถาบันการศึกษาควรเติมเต็ม คือ ความรับผิดชอบและความอดทน โดยเฉพาะความอดทนกลายเป็นสิ่งที่คาดหวังอยากให้วิศวกรมีในคุณสมบัตินี้ เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม
สุดท้าย ผศ.ดร.ภาสพงศ์ กล่าวว่า พลเมืองยุคใหม่ของโลก ผู้เรียนคณะศิลปศาสตร์ต้องมีสุขภาพจิตดี รู้รอบ คิดค้นคว้า รู้จักตั้งคำถาม มีทักษะการวิจัย วิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ และต้องเก่งภาษา นอกจากภาษาอังกฤษ จะต้องเก่งภาษาที่สามด้วย ซึ่งไม่ได้หมายถึงผู้เรียนคณะศิลปศาสตร์เท่านั้น แต่รวมถึงเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ของไทยมีคุณสมบัติดังกล่าว มีประสบการณ์ทำงาน เรียน แลกเปลี่ยนต่างประเทศ และตระหนักรู้ในเรื่องที่โลกให้ความสนใจ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/