นักข่าวยังมีที่ยืน ถ้าปัญญาประดิษฐ์ยังไม่ฉลาดพอ
การที่ปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้ในวงการสื่อ แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างระบบอัตโนมัติกับนักข่าว ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ยุค สื่อสารมวลชนผสมผสาน ระหว่าง มนุษย์กับเครื่องจักรอัตโนมัติที่ต้องทำงานร่วมกัน
ด้วยประโยชน์และคุณค่าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence :AI) ทำให้ประเทศหลายประเทศต่างมุ่งเข็มพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวมทั้งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับประชาชนของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองยักษ์ใหญ่แห่งปัญญาประดิษฐ์ของโลกอย่างจีนและสหรัฐอเมริกามักจะมีสินค้าและบริการจากความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ออกมาให้ชาวโลกได้ตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ
วิวัฒนาการด้านปัญญาประดิษฐ์ของโลกสร้างความหวั่นไหวต่อผู้ที่อยู่ในอาชีพต่างๆ เกือบทุกอาชีพ แม้แต่อาชีพสื่อซึ่งต้องการความสามารถเฉพาะตัวสูง ก็ยังมีความหวั่นใจต่อการถูกแย่งงานจากปัญญาประดิษฐ์ มิใช่เฉพาะการอ่านข่าวเท่านั้นที่มนุษย์จำลอง ซึ่งถูกสร้างด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกของจีนสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ แม้แต่งานเขียนข่าว ซึ่งเคยเป็นภารกิจของนักข่าว ก็กำลังถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์เช่นกัน
สำนักข่าวใหญ่ๆของโลก เช่น เดอะ วอชิงตันโพสต์ เอพี บีบีซี รอยเตอร์ บลูมเบอร์ก NHK รวมทั้งสำนักข่าวขนาดเล็กจำนวนไม่น้อย ได้เริ่มนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยเขียนข่าวและสร้างบริการใหม่ให้กับธุรกิจสื่อ
บริษัท Narrative science ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของสหรัฐอเมริกาประมาณการว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า ข่าว 90 เปอร์เซ็นต์จะถูกเขียนด้วยโปรแกรมอัตโนมัติ แต่ไม่ได้หมายความว่างานของนักข่าว 90 เปอร์เซ็นต์จะหายไปด้วย
การที่ปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้ในวงการสื่อเนื่องจาก มีความรวดเร็วในการประมวลข่าวที่มีปริมาณมาก มีศักยภาพในการหาแหล่งข่าวที่หลากหลายและมีความแม่นยำ ที่สำคัญคือมีต้นทุนที่ต่ำกว่าแรงงานมนุษย์มาก รวมทั้งไม่สร้างปัญหาเรียกร้องผลประโยชน์และไม่สร้างข้อพิพาทอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในที่ทำงานด้วย
สื่อใหญ่ๆหลายสำนักจึงมีปัญญาประดิษฐ์เป็นของตัวเองเพื่อวัตถุประสงค์ต่างกันไป เช่น สำนักข่าว บีบีซี มีปัญญาประดิษฐ์ที่เรียกว่า Juicer ในการรวบรวมข่าว ในขณะที่ สำนักข่าวรอยเตอร์มีปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า News Tracer ตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์เพื่อนำไปพาดหัวข่าวด่วนและวอชิงตันโพส มีปัญญาประดิษฐ์ชื่อ Heliograf เพื่อติดตามเกมการแข่งขันฟุตบอลของโรงเรียนมัธยม เป็นต้น
แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์จะมีประโยชน์มากมายต่อวงการสื่อก็ตาม ในขณะเดียวกันปัญญาประดิษฐ์ก็สร้างความหวั่นเกรงต่อผู้คนในวงการสื่อต่อการสูญเสียงานอยู่ไม่น้อย แต่ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่กำลังมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการผลิตสื่อ ทำให้สื่อหลายสำนักอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการตัดสินใจนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้งานซึ่งน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของธุรกิจสื่อ ในมุมมองของนักเทคโนโลยี อย่างน้อยที่สุดในประเด็นต่อไปนี้
1. การรายงานข่าวจะมีความรวดเร็วและหลากหลาย สามารถรายงานข่าวที่มีปริมาณมากด้วยความฉับไว ซึ่งอาจทำให้ตำแหน่งงานของนักข่าวส่วนหนึ่งหายไป นอกจากนี้ ทักษะในการ หาข่าว เขียนข่าว แปลข่าว ตรวจสอบข่าว ที่นักข่าวได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นอาจหายไปด้วย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อคุณค่าของงานหรือค่าจ้างได้เช่นกัน
แต่การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้งานจะถูกชดเชยด้วยงานที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนหนึ่งที่อาจไม่มากเท่าเดิมและปัญญาประดิษฐ์จะทำงานได้ดีกว่ามนุษย์เฉพาะงานบางประเภทในบางสถานการณ์เท่านั้น ดังนั้นการใช้โปรแกรมอัตโนมัติในงานข่าวจึงเป็นการลดภาระของนักข่าวสำหรับงานบางชิ้น ซึ่งนักข่าวอาจได้รับมอบหมายให้ทำงานอื่นที่ปัญญาประดิษฐ์ยังทำไม่ได้หรืองานอื่นที่สร้างสรรค์กว่างานเขียนข่าวประเภทที่ซ้ำซากจำเจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวสืบสวนในเชิงลึกซึ่งปัญญาประดิษฐ์สามารถที่จะช่วยให้การสืบหาข่าวเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันนักข่าวเองจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมเพื่อทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ด้วย
อย่างไรก็ตาม หากมีการนำเสนอข่าวจากปัญญาประดิษฐ์ที่มากเกินความจำเป็น ข่าวเหล่านั้นอาจกลายเป็น “ข่าวขยะ” ที่ไม่มีใครอยากอ่านและผู้อ่านอาจต้องหันกลับมาหาไขว่คว้าหา “ข่าวคุณภาพ” จากนักข่าวในที่สุด
2. ข่าวที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์มักจะเป็นข่าวที่อยู่ในรูปแบบเดียวและมีลักษณะซ้ำๆกัน เนื่องจากที่มาของข่าวมาจากข้อมูลแบบมีโครงสร้าง จำกัดและถูกวิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึมที่ออกแบบให้ทำงานเฉพาะอย่างในขอบเขตที่กำหนด ดังนั้นเนื้อหาของข่าวที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์จึงเป็นข่าวที่อยู่บนเหตุผลและความเข้าใจที่อัลกอริทึมประมวลมาให้ ซึ่งอาจไม่ถูกจริตของผู้บริโภคสื่อ เพราะผู้บริโภคสื่อยังคงต้องการความมีสีสันเพิ่มเติมจากเนื้อข่าวล้วนๆ รวมทั้งผู้บริโภคสื่อยังต้องการ การเรียกร้องความสนใจ การแสดงออกทางอารมณ์และความเห็นในแง่มุมต่างๆ จากนักข่าว ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถทำได้
3. ความรวดเร็วมักตามมาด้วยความผิดพลาดได้เสมอ แม้ว่าอัลกอริทึมจะถูกออกแบบมาอย่างดีเพียงใดก็ตามแต่อาจมีการแสดงผลผิดได้ หากมีการเชื่อมโยงไปยังแหล่งข่าวที่ไม่ถูกต้อง เท่าที่พบจากรายงานข่าว มีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้วจากข่าวแผ่นดินไหว 6.8 ริกเตอร์ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งปัญญาประดิษฐ์เป็นผู้รายงานโดยนำเอาเหตุการณ์จากฐานข้อมูลที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี 1925 มารายงานข่าวแผ่นดินไหวในปี 2017 เป็นต้น
4. แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์จะมีความสามารถมากเพียงใดก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถสกัดกั้น ข่าวปลอม (Fake news)ได้ และมาตรการการสกัดกั้นข่าวปลอมที่ผู้ผลิตสื่อนำมาใช้เท่าที่ผ่านมามักไม่ได้ผล ข่าวปลอมต่างๆ จึงอาจเกิดขึ้นได้ในยุคของปัญญาประดิษฐ์ และอาจเกิดมากขึ้นหากมาตรการควบคุมไม่รัดกุมเพียงพอ
จากการศึกษาของสถาบันรอยเตอร์เมื่อปี 2018 พบว่าผู้คนมากถึง 58 เปอร์เซ็นต์มีความกังวลต่อข่าวปลอมที่เกิดขึ้นจากแหล่งข่าว
5. ข่าวจากปัญญาประดิษฐ์ มีโอกาสที่จะเกิดประเด็นทางจริยธรรมหรือการฟ้องร้องทางกฎหมายได้ หากปัญญาประดิษฐ์รายงานข่าวที่มีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของบุคคลทั่วไปหรือทำลายชื่อเสียงของบุคคลบางคน ซึ่งสำนักข่าวผู้นำเสนอข่าวต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
6. ความสามารถในการทำงานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพของปัญญาประดิษฐ์จะทำให้องค์กรประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ในขณะเดียวกันองค์กรสื่อจะต้องเพิ่มบุคลากรรองรับเทคโนโลยีใหม่จากปัญญาประดิษฐ์ เช่น การดูแลรับผิดชอบงานด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของปัญญาประดิษฐ์ งานตรวจสอบผลลัพธ์และความเที่ยงตรงของอัลกอริทึม งานด้านความปลอดภัยของระบบ งานอธิบายความหมายที่อาจมีความกำกวมหรือไม่ชัดเจนจากผลลัพธ์ของปัญญาประดิษฐ์ งานบำรุงรักษาและปรับปรุงฐานข้อมูล เป็นต้น
การที่ปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้ในวงการสื่อ แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างระบบอัตโนมัติกับนักข่าว ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ยุค สื่อสารมวลชนผสมผสาน ( Hybrid Journalism) ระหว่าง มนุษย์กับเครื่องจักรอัตโนมัติที่ต้องทำงานร่วมกัน
7. จริยธรรม กฎหมาย ความโปร่งใส ความแม่นยำ กฎเกณฑ์ และ ความน่าเชื่อถือ จากการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้งานคือความท้าทายใหม่ที่ ภาครัฐ องค์กรวิชาชีพสื่อและผู้ผลิตสื่อเองจะต้องรับมือและให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เมื่อนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้งาน ความไม่ชัดเจนของประเด็นทางจริยธรรม การกำกับดูแล และความผิดพลาดจากผลลัพธ์ของปัญญาประดิษฐ์ อาจสร้างปัญหาต่อผู้ผลิตสื่อหรือสร้างความสับสนและความขาดความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภคสื่อโดยทั่วไปได้ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ปัญญาประดิษฐ์เหมาะกับการเสนอข่าวบางประเภทเท่านั้น
8. เมื่อปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้งาน ผู้ผลิตสื่อจึงมีช่องทางที่จะสร้างสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับสื่อได้อย่างมากมายมหาศาลนับตั้งแต่ การรับจ้างผลิตสื่อ ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก การใช้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายข้อมูล การจัดรูปแบบการโฆษณา ฯลฯ ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตและขยายโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้ศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์เพื่อทดสอบ ความชอบ – ไม่ชอบ ในเนื้อหาข่าว เพื่อปรับปรุงเนื้อหาที่นำเสนอให้เหนือกว่าคู่แข่งอีกด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสและความท้าทายสำหรับนักข่าวและบุคลากรในวงการสื่อในการใช้ศักยภาพของตัวเองรับมือกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์
9.ทันทีที่ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาในวงการสื่อ ผู้ผลิตสื่อจำเป็นต้อง สร้างงานใหม่และจัดสรรบุคลากรเพื่อรองรับบริการที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งงานบางประเภทอาจไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมทั้งต้องเตรียมการสร้างความสมดุลระหว่างตำแหน่งงานที่อาจจะหายไปกับงานที่เกิดขึ้นใหม่ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจไม่เกิดขึ้นในเวลาชั่วข้ามคืน แต่การเตรียมการเพื่อรองรับการสร้างงานใหม่มีความจำเป็นและจะต้องทันต่อสถานการณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือน หรือสถานการณ์อื่นที่คาดไม่ถึงจากผลกระทบของเทคโนโลยี
10. เมื่อสื่อถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ การผลิตบุคลากรด้าน สื่อสารมวลชนในสถาบันการศึกษา อาจต้องมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชา ด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data science) และ เทคโนโลยี เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาที่เกี่ยวกับ ปัญญาประดิษฐ์ เช่น Big Data อนาไลติค (Analytics) Data Visualization Machine learning Machine translation เทคโนโลยีจดจำใบหน้า อัลกอริทึม และซอฟแวร์วิเคราะห์ข้อมูลสำหรับสื่อ การนำข้อมูลดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น
จุดมุ่งหมายสูงสุดของมนุษย์คือ การสร้างเครื่องจักรที่สามารถคิดเองได้เทียบเท่าความสามารถในการคิดของมนุษย์หรือเหนือกว่ามนุษย์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้และมนุษย์ยังคงมีความสามารถเหนือกว่าปัญญาประดิษฐ์ในแง่มุมของ สามัญสำนึก ความคิดสร้างสรรค์ ความกระฉับกระเฉง การแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนร่วมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในการใช้มือของมนุษย์นั้นยากที่จะหาเครื่องจักรใดๆเลียนแบบได้ และเมื่อใดก็ตามที่ปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้งาน มนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ต้องทำงานร่วมกัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ข้อจำกัดของปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานได้เฉพาะอย่างและยังต้องพึ่งพามนุษย์อยู่ตลอดเวลานั้นเป็นโอกาสที่นักข่าวจะพิสูจน์ตัวเองว่า มีคุณสมบัติเหนือปัญญาประดิษฐ์ด้วยผลงานที่ละเมียดละไมและความคิดที่ซับซ้อนเกินกว่าเครื่องจักรจะทำได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์ยังไม่อาจทำงานทุกอย่างแทนมนุษย์ไม่ว่าในวันนี้หรือวันข้างหน้าก็ตาม
ที่สำคัญยิ่งคือการปลูกฝังแนวคิดการใช้ปัญญาประดิษฐ์เสริมความสามารถของมนุษย์ ในการสร้างประโยชน์แก่ผู้บริโภคสื่อและสร้างสิ่งดีงามเพื่อความยั่งยืนร่วมกัน มากกว่าแนวคิดการนำปัญญาประดิษฐ์มาแทนที่มนุษย์เพื่อลดต้นทุนแต่เพียงอย่างเดียว
อ้างอิง
1. https://knowledge.wharton.upenn.edu/article/ai-in- journalism/?utm_source=kw_newsletter&utm_medium=email&utm_campaign=2019-04-09
2. Automating the news โดย Nicholas Diakopoulos
3. Architects of Intelligence โดย Martin Ford
ภาพประกอบ https://knowledge.wharton.upenn.edu/article/ai-in-journalism/