Data Journalism ทางรอดสื่อมืออาชีพในยุคดิจิทัล
"...ที่สำคัญเป็นการรายงานข่าวที่ดีมีคุณภาพมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งตรงกับหนึ่งในหลักการทำหน้าที่สื่อคือ รายงานความจริงและถูกต้อง เพราะเป็นการรายงานข่าวที่มีข้อมูลจริงจากการใช้บิ๊กดาต้า ช่วยลดโอกาสที่สื่อจะถูกฟ้องร้องจากการนำเสนอข่าว และในกรณีที่ถูกฟ้องร้องจะช่วยให้สื่อสามารถป้องกันตัวเอง เพราะมีข้อมูลที่ใช้ในการเสนอข่าวเป็นหลักฐานว่าเป็นการรายงานตามข้อมูลข้อเท็จจริง..."
หมายเหตุ-บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง “Data Journalism สื่อมืออาชีพในยุคดิจิทัล: กรณีศึกษา สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
การเชื่อมต่อเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้รูปแบบสื่อ และสื่อมืออาชีพรูปแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไป มีสื่อหลายรูปแบบเกิดขึ้น ผู้บริโภครับข่าวสารผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ผู้บริโภคบางรายบางกลุ่มก็ทำตัวเป็นสื่อควบคู่ไปกับการบริโภคสื่อ การแข่งขันในการเสนอข่าวของสื่อมืออาชีพรุนแรงมากขึ้น เพราะข่าวสารที่ส่งไปยังผู้บริโภคมีจำนวนมาก มีตลอดเวลา ทำให้เกิดการเลือกอ่านข่าวบางประเภท เลือกอ่านข่าวที่มีคุณภาพ ข่าวที่นำเสนอบางข่าวอาจจะไม่ดึงดูดความสนใจผู้บริโภคอีกต่อไป
ในทางกลับกันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็เป็นโอกาสให้สื่อมืออาชีพมีเครื่องมือในการพัฒนาข้อมูลที่จัดเก็บในภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมหาศาล (Big Data) หรือ บิ๊กดาต้า ซึ่งมีทั้งข้อมูลเชิงลึกและข้อมูล ที่สามารถเผยแพร่ต่อสาธารณะในลักษณะข้อมูลเปิดเผย (Open Data) มานำเสนอข่าวได้ จากเดิมที่ข้อมูล เหล่านี้ไม่สามารถนำมาเสนอเป็นข่าวได้โดยตรง หรือนำเสนอด้วยวิธีการแบบเดิมได้
การนำบิ๊กดาต้า หรือข้อมูลเปิดเผยจำนวนมหาศาล มาผ่านกระบวนการวิเคราะห์และนำเสนอให้เป็นประเด็นข่าว เรียกกันว่า Data Journalism วารสารศาสตร์ข้อมูล คือ การรายงานข่าวที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเข้าถึง การวิเคราะห์และหาประเด็นข่าวจากข้อมูล หรือใช้ข้อมูลที่ผ่านการจัดระเบียบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นแกนหลักในการรายงานข่าว
Paul Bradshaw ผู้เชี่ยวชาญด้านวารสารศาสตร์ข้อมูล อธิบายว่า Data Journalism ต่างจากการนำเสนอข่าวแบบทั่วไปตรงที่ Data Journalism คือ การใช้ทักษะการสื่อข่าวแบบดั้งเดิมมาผสมผสานกับความสามารถในการเล่าเรื่องยาก ๆ ซับซ้อน ด้วยการใช้ข้อมูลดิจิทัลที่มีอยู่อย่างมากมายและหลากหลาย ที่สำคัญข้อมูลไม่มีวันหมด ตราบใดที่ผู้สื่อข่าวยังเดินหน้าหาข้อมูล ซึ่งแหล่งข้อมูลมีอยู่ทั่วทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน
การนำเสนอข่าว Data Journalism มี 4 ขั้นตอนคือ การเก็บรวมรวมข้อมูล (Finding Data) การตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด(Interrogating Data) การตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดช่วยให้มีความเข้าใจข้อมูล และสถิติได้อย่างถูกต้อง การแปลงข้อมูลออกมาเป็นภาพ (Visualizing Data) และการจัดการกับข้อมูล (Mashing Data) ให้เป็นเรื่องเดียวกันหรือชุดเดียวเพื่อนำเสนอข่าวหรือเรื่องราว ด้วยการใช้เครื่องมือที่มีให้เลือกใช้มากมาย
การรายงานข่าวแบบ Data Journalism มีความสำคัญต่อสื่อมืออาชีพ ในยุคที่ผู้บริโภคเลือกรับข่าวเลือกอ่านข่าว เพราะเป็นการสร้างจุดแข็งขององค์กรสื่อ เมื่อสื่อมืออาชีพซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำข่าว นำเทคโนโลยีหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แอปพลิเคชันต่าง ๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการออกแบบการนำเสนอข่าวจากบิ๊กดาต้า จะช่วยให้กำหนดทิศทางการนำเสนอข่าวได้อย่างชัดเจน รวมทั้งสามารถนำเสนอข่าวในหลายลักษณะ เช่น การรายงานในลักษณะข่าวต่อเนื่อง (series) การรายงานข่าวแบบเจาะลึก (Investigative news) รวมทั้งนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การออกแบบตารางประกอบข่าว การออกแบบเป็นอินโฟกราฟิก หรือเป็นภาพ ซึ่งจะทำให้การนำเสนอข่าวนั้นมีความน่าสนใจ อ่านง่าย เข้าใจง่ายมากขึ้น
ที่สำคัญเป็นการรายงานข่าวที่ดีมีคุณภาพมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งตรงกับหนึ่งในหลักการทำหน้าที่สื่อคือ รายงานความจริงและถูกต้อง เพราะเป็นการรายงานข่าวที่มีข้อมูลจริงจากการใช้บิ๊กดาต้า ช่วยลดโอกาสที่สื่อจะถูกฟ้องร้องจากการนำเสนอข่าว และในกรณีที่ถูกฟ้องร้องจะช่วยให้สื่อสามารถป้องกันตัวเอง เพราะมีข้อมูลที่ใช้ในการเสนอข่าวเป็นหลักฐานว่าเป็นการรายงานตามข้อมูลข้อเท็จจริง
การนำเสนอข่าวด้วยข้อมูล กำลังใช้กันมากในต่างประเทศ โดย Google News Lab หน่วยงานหนึ่งของ Google ได้รายงานผลสำรวจ ความเห็นผู้สื่อข่าวมากกว่า 900 คน ผ่านระบบออนไลน์ และสัมภาษณ์เจาะลึกผู้สื่อข่าว 56 คน จากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศสเกี่ยวกับการรายงานข่าวแบบ Data Journalism ประจำปี 2560 ไว้ว่า 51% ขององค์กรข่าวในสหรัฐอเมริกาและยุโรปให้ความสำคัญกับ ผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวด้วยการใช้ข้อมูล หรือ Data Journalist มากขึ้น นอกจากนี้จำนวน Data Journalist ในประเทศที่ทำการสำรวจส่วนใหญ่มีสัดส่วนเกิน 50% ของกองบรรณาธิการ
สำนักข่าวต่างประเทศที่มีการรายงานข่าวแบบ Data Journalism ทีชื่อเสียงคือ The Guardian ขณะที่ International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ) เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก จากการรายงานข่าวหนึ่งที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ Panama Papers เปิดเผยข้อมูลขนาดใหญ่มากถึง 2.6 เทอร์ราไบต์และมีเอกสารกว่า 11.5 ล้านหน้า ที่ได้จากเอกสารลับการทำงานของบริษัทกฎหมายสัญชาติปานามา Mossack Fonseca ที่ช่วยเหลือลูกค้ารายใหญ่ ทั้งนักการเมือง ผู้นำประเทศทั่วโลกในการฟอกเงินและหลีกเลี่ยงภาษี
ในประเทศไทย พบว่า สำนักข่าวที่มีแนวทางการรายงานข่าวแบบ Data Journalism อย่างชัดเจนมีจำนวนไม่มาก เช่น สำนักข่าวอิศราซึ่งจัดว่าเป็น Data Journalism ในระดับหนึ่ง คือ มีการรายงานข่าวที่ใช้ข้อมูลเข้ามานำเสนอและประกอบข่าว ส่วน Data Journalism ในระดับที่สอง การรายงานข่าวที่ใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในการจัดการกับข้อมูล และอาจจะมีการใช้สถิติเข้ามาช่วยเสริมบ้างนั้น พบได้ในการรายงานข่าวของบางสำนักข่าวในบางครั้ง
สำหรับ Data Journalism ในระดับสามที่มีความเข้มข้นและมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย มีการใช้อัลกอริธึม หรือการเขียนโปรแกรมในการเข้ามาจัดการข้อมูล มีเพียงสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ารายเดียว
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 เน้นการนำเสนอข่าวในแนวทาง Data Journalism บนแพลตฟอร์มออนไลน์ มุ่งการรายงานข่าวเจาะข่าวเชิงลึกหรือ Investigative reporting ซึ่งเป็นการรายงานที่ต้องใช้ข้อมูล ซึ่ง Data Journalism ช่วยในการรายงานข่าวเจาะข่าวเชิงลึกได้ดีกว่าการรายงานแบบ ทั่วไป เพราะเสนอข่าวได้หลายรูปแบบทั้ง ตาราง รูปภาพ อินโฟกราฟิก เข้าใจความซับซ้อนของข่าวได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างการรายงานข่าวแบบ Data Journalism ของสำนักข่าวไทยพับลิก้า ที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาจัดระเบียบข้อมูล ได้แก่ การนำเสนอข่าวสืบสวนกระบวนการจัดสรรโควตาสลากของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลใน series ข่าว “เจาะลึกโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาล”
โดยหลังจากตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลรายชื่อตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค พร้อมจำนวนโควต้าที่ได้รับจัดสรรทั้งหมดซึ่งจัดเก็บไฟล์เป็น PDF และบันทึกลง CD-ROM จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้ระดมผู้สื่อข่าว และนักศึกษาฝึกงาน ทำการ “Cleaning Big Data” โดยการกรอกข้อมูลใหม่ให้อยู่ในรูปของไฟล์ Excel และใช้โปรแกรม Excel ค้นหาความสัมพันธ์ จัดเรียงลำดับผู้ได้รับการจัดสรรโควตา จากมากไปหาน้อย และแบ่งกลุ่มแยกประเภท โดยกดแป้นพิมพ์ “Ctrl+f” แล้วป้อนคำที่ต้องการเข้าไป เช่น มูลนิธิ โปรแกรมก็จะคัดแยกข้อมูลที่มีคำว่า มูลนิธิออกมา นำไปใช้ได้ เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้ว นำมาจัดลำดับอีกครั้ง เพื่อดูว่ามูลนิธิใดได้รับการจัดสรรโควตาสลากฯมากที่สุด
กระบวนการจัดการกับข้อมูลนี้นำไปสู่การนำเสนอข่าวแรก “เปิดไอ้โม่ง ต้นเหตุ “สลากเกินราคา” ตะลึง!โควตา 74 ล้านฉบับ “มูลนิธิสำนักงานสลากฯ” กวาด 9.2 ล้านฉบับ/งวด – รายย่อย 37,000 รายได้เฉลี่ย 12 เล่ม/งวด” ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นตอนแรกใน series ข่าว “เจาะลึกโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาล”
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ายังนำข้อมูลรายชื่อตัวแทนจำหน่ายสลาก และจำนวนโควตาที่ได้รับจัดสรรมารายงานข่าว ในรูปแบบของ Data Visualization โดย บริษัทบุญมีแล็บ จำกัดพัฒนาข้อมูลเป็นเกมส์ Interactive ซึ่งเมื่อผู้อ่านกดเล่นเกมส์ ซื้อสลากกินแบ่ง จะเข้าใจเนื้อหาที่มีความซับซ้อนของข้อมูลได้ง่ายมากขึ้นว่า เงิน 80 บาทที่จ่ายไปนั้นได้ไปอยู่ที่ไหนบ้าง ไปยังกลุ่มผู้ค้ากลุ่มไหน
การจัดระเบียบข้อมูลชุดเดิม ทำให้นำเสนอข่าวเจาะลึกได้อีก 20-30 ข่าว ใน series เดียวกัน และจัดทำ Infographic ได้กว่า 10 ภาพ มีการรายงานข่าวจากข้อมูลชุดนี้ต่อเนื่อง
แม้การรายงานข่าวแบบ Data Journalism สามารถนำเสนอได้หลายรูปแบบ แต่การทำข่าวแบบ Data Journalism ในไทยประสบปัญหาและอุปสรรคหลัก คือ แหล่งข้อมูล เพราะแหล่ง Open Data ในไทยมีน้อย ส่วนราชการบางแห่งมีข้อมูลแต่ไม่อนุญาตให้ใช้ บางครั้งข้อมูลไม่ครบถ้วน จัดเก็บในรูปเอกสาร ไม่ได้อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบออนไลน์ที่สามารถนำออกมาวิเคราะห์ได้ทันทีปัญหาจากแหล่งข้อมูล ส่งผลต่อการรวบรวมข้อมูล ที่ต้องใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้อง เอกสารหรือข้อมูลบางอย่างจากทางราชการต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลต่อกันในหลายระดับซึ่ งบางกรณี ความสัมพันธ์บางช่วงขาดไป ทำให้ข้อมูลที่รวบรวมได้ไม่ครบถ้วน การทำงานต้องใช้เวลานานขึ้น มีส่วนทำให้ไม่สามารถนำเสนอข่าวจำนวนมากได้ และไม่สามารถนำเสนอข่าวแบบรวดเร็วได้
อุปสรรคอีกด้านคือ ทักษะด้านเทคโนโลยีของผู้สื่อข่าว ทำให้การรวบรวมข้อมูล การจัดระเบียบข้อมูลในเบื้องต้นอาจจะต้องใช้เวลานาน รวมทั้งมีข้อจำกัดด้านเงินทุนทำใหไม่สามารถใช้โปรแกรมขั้นสูงบางอย่างได้
Data journalism ไม่ได้เหมาะกับกลุ่มผู้รับสารทุกกลุ่ม ไม่ได้เหมาะกับประเด็นข่าวทุกประเด็น จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะ แต่สิ่งสำคัญคือ การทำข่าวแบบ Data Journalism ทำให้ข่าวมีความน่าเชื่อ ถือ มีความโปร่งใสเพราะเป็นการรายงานข่าวบนข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
การทำข่าวแบบ Data Journalism อยู่บนพื้นฐานของการใช้ข้อมูล หากมีข้อมูลที่ครบถ้วนและเข้าถึงได้ จะทำให้การรายงานข่าวของสื่ออาชีพรักษามาตรฐานความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใสไว้ได้ และยกระดับการรายงานข่าวที่ทำให้เกิดการจุดประเด็นทางสังคมที่กว้างมากขึ้น
การทำข่าวแบบ Data Journalism จะดึงความสนใจคนอ่านท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น ในยุคที่กระแสข่าวเกิดขึ้นตลอดเวลา ข่าวปลอม (Fake News) ก็มี ความรู้และข้อมูลจากช่องทางต่างๆ มีมากมาย เพราะเป็นการเปิดกว้างในการแสวง เสาะหาเรื่องมาเล่าเป็นข่าว และการใช้ข้อมูลมานำเสนอข่าว จะช่วยให้พบประเด็นข่าวใหม่ๆ ที่จะนำเสนอ ขณะเดียวกันเมื่อนำทักษะในการรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวโดยทั่วไปที่มีอยู่แล้วมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี ทำให้การเสนอข่าวนั้นมีความน่าเชื่อถือ มีสีสัน แต่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ชัดเจน
Data Journalism ไม่ได้เป็นเพียงทางรอดของสื่อมืออาชีพ แต่เป็นทางหลักของการทำข่าว ในยุคปัจจุบัน ที่สามารถสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ให้กับทุกภาคส่วน เพราะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นจริง ผู้บริโภคเข้าใจได้มากขึ้นว่าข่าวที่ได้รับนั้นมีความน่าเชื่อถือ ส่วนภาคธุรกิจนำข้อมูลไปต่อยอดได้ และที่สำคัญนอกจากช่วยให้นำเสนอปัญหาที่ประเทศ สังคมกำลังประสบต่อรัฐบาลให้แก้ไข กำหนดนโยบายได้อย่างชัดเจนแล้ว ยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับภาครัฐในการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องต่อประชาชน