คารวะ ศ.ยรรยง จิระนคร: รำลึกความสำคัญของยูนนาน
"...ยูนนานในความเห็นของหลายท่านจึงไม่ใช่เอเชียตะวันออกเท่าไร จะเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ตกอยู่ในแดนจีนเสียมากกว่า ก็ว่าได้ รวมทั้งภูมิอากาศก็ใกล้เคียงกัน แต่ก็พูดไม่เต็มปาก เพราะยูนนานก็มีลักษณะทิเบตปนอยู่ด้วย และยังต่อเชื่อมกับอินเดีย หรือ เอเชียใต้ ผ่านพม่าได้ด้วย และทั้งหมดนี้ ก็คือความอลังการของยูนนาน..."
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 ศ.ยรรยง จิระนคร หรือ “อาจารย์เจี่ย” ในวัย 89 ปีได้จากพวกเราไปอย่างสงบ ท่านเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนจากหาดใหญ่ที่ไปศึกษาในจีนช่วงสงครามต่อต้านญี่ปุ่น และในที่สุดปักหลักปักฐานอยู่ที่คุนหมิง มณฑลยูนนาน ท่านเป็นนักวิชาการที่สนใจค้นคว้าเรื่องชาติพันธ์ไท-ไต-ลาว ในยูนนานและจีนมากที่สุดผู้หนึ่งในโลกก็ว่าได้ ผมเคยไปเยี่ยมคารวะที่บ้านท่าน และได้ความรู้หรือแง่คิดจากท่านมากมายเรื่องยูนนาน และเคยเชิญท่านมาพูดถึงความเชื่อมโยงลึกซึ้งในประวัติศาสตร์ไทกับจีน จัดที่กรุงเทพฯ
ในวันนี้จึงขอคารวะท่านด้วยการพินิจและรำลึกถึงความสำคัญของยูนนานที่ท่านรัก ศึกษา และ เป็นบ้านแห่งสุดท้ายในชีวิตท่าน
ยูนนานเป็นมณฑลใต้สุดมณฑลหนึ่งของจีน พื้นที่เป็นเขตภูเขาส่วนใหญ่สูง 2-4 พันเมตร ยอดเขาสูงสุดสูงเกือบ 7 พันเมตร มีที่ราบบ้าง แต่ไม่มาก มีไม่ถึง 20 เปอร์เซนต์ของพื้นที่ทั้งหมด และด้วยเหตุที่อยู่ติดกับหิมาลัยและทิเบต
จึงมีความสำคัญยิ่งต่อระบบแม่น้ำของจีน แม่น้ำแยงซี ที่ใหญ่และยาวที่สุดในจีน แม่น้ำล้านช้าง (เรียกเช่นนี้ในจีน ซึ่งก็คือแม่น้ำโขงนั่นเอง) ซึ่งครึ่งหนึ่งของความยาวอยู่ในจีนเองก็อยู่ในมณฑลนี้ แม่น้ำจูเจียง (Pearl River) เส้นชีวิตของมณฑลกวางตุ้ง ในตอนต้นก็ไหลออกจากยูนนาน นี่เอง
ที่น่าสนใจสำหรับเอเชียอาคเนย์ คือ ยูนนานยังเป็นต้นธารของแม่น้ำแดง ที่ไหลส่งน้ำไปให้เวียดนามในตอนเหนือและลงทะเลที่อ่าวตังเกี๋ย ยังมีแม่น้ำโขงที่กล่าวมาแล้ว เมื่อไหลออกจากยูนนานแล้วก็เข้าสู่พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และไปลงทะเลที่เวียดนามใต้ใกล้เมืองโฮจิมินห์ ยังมี แม่น้ำสาละวินและแม่น้ำอิระวดี มหานทีของพม่าเองก็ไหลลงมาจากทิเบตผ่านยูนนานก่อนเช่นกัน
พูดง่ายๆ ยูนนานนั้นเป็น “หัวน้ำ” หรือ “ต้นน้า”ของแม่นำ้ใหญ่ทั้งในจีน ทั้งในเอเชียอาคเนย์ภาคพื้นทวีป หรือ ไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งหมด ก็ว่าได้ หากไม่มียูนนาน จีนและเอเชียอาคเนย์ก็แทบจะขาดน้ำ แทบจะขาดชีวิต
ยูนนานมีแนวเขตแดนยาวสี่พันกว่ากิโลเมตร ติดกับพม่า ลาว เวียดนาม สามประเทศ และตอนใต้มีระยะห่างจากไทยวัดเป็นเส้นตรงอยู่ในระดับร้อยกิโลเมตรเท่านั้นเอง สมมติเล่นครับ หากมหาอำนาจตะวันตกไม่เข้ามาแบ่งรัฐฉาน สิบสองปันนา และสิบสองจุไท ออกไป ไทยทุกวันนี้น่าจะมีดินแดนติดยูนนานแล้ว คิดไปแล้วพม่ากับลาวทุกวันนี้ก็เป็นรัฐกันชนกั้นเรากับมหาอำนาจอันดับสองของโลก ไทยกับจีนนั้นแม้จะไม่มีดินติดกัน แต่เรามีน้ำติดกัน ครับ คือแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาละวินที่ผ่านเรานั้นไหลมาจากจีน มาจากยูนนาน และเรายังต่อหรือติดกับจีนโดยผ่านนำ้ทะเล ด้วย กล่าวคือทะเลจีนใต้นั้นต่อติดกับอ่าวไทยของเราครับ
สุดท้ายต้องไม่ลืมว่าในยูนนานเคยมีอาณาจักรน่านเจ้า ซึ่งแม้ชนชั้นนำและผู้ปกครองจะไม่ใช่ไทย แต่ก็มีคนไท-ไต-ลาว อาศัยอยู่ในนั้น น่าจะไม่น้อย และยังมีเมืองสิบสองปันนา ที่อยู่ของไทลื้อ ซึ่งพูดจาสำเนียงใกล้เคียงกับคนไทยในภาคเหนือและภาคอีสาน มีเมืองใต้คง (เต้อหง) ซึ่งผู้คนพูดภาษาไต หรือ ไทใหญ่ ใกล้เคียงมากกับคนไทยหมู่มากในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ยูนนานในความเห็นของหลายท่านจึงไม่ใช่เอเชียตะวันออกเท่าไร จะเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ตกอยู่ในแดนจีนเสียมากกว่า ก็ว่าได้ รวมทั้งภูมิอากาศก็ใกล้เคียงกัน แต่ก็พูดไม่เต็มปาก เพราะยูนนานก็มีลักษณะทิเบตปนอยู่ด้วย และยังต่อเชื่อมกับอินเดีย หรือ เอเชียใต้ ผ่านพม่าได้ด้วย และทั้งหมดนี้ ก็คือความอลังการของยูนนาน