เครือข่ายลุ่มน้ำเหนือร้องเปิดทีโออาร์แก้น้ำท่วม 3 แสนล้าน หวั่นไม่โปร่งใส
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ค้าน กบอ.สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น-แม่วงก์-ยมบน ล่าง-แม่ปิงบน-สาละวิน-น้ำโขง ร้องเปิดทีโออาร์น้ำ 3 แสนล้านหวั่นไม่โปร่งใส ชงแนวทางจัดการน้ำโดยชุมชนแก้น้ำท่วมยั่งยืน
วันที่ 23 ก.ค.55 เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ออกแถลงการณ์เรื่อง “ข้อเสนอการจัดการน้ำของประเทศไทย โดยแนวทางการจัดการน้ำโดยชุมชน เพื่อความยั่งยืน ที่สมดุล และเป็นธรรม” โดยระบุว่า
ตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดเชิญบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มาทำทีโออาร์เพื่อจัดจ้างให้ทำแผนแม่แบบ (Conceptual Plan) ในการแก้ปัญหาน้ำของประเทศไทยทั้งระบบตลอด 25 ลุ่มน้ำ อันประกอบด้วย 14 เมกะโปรเจกต์ในวงเงิน 350,000 ล้านบาทตามกรอบของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยหรือ กบอ. ซึ่งได้มี "แผนงานโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ" ในพื้นที่ 5 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และลุ่มน้ำป่าสัก รวมความจุประมาณ 1,807 ล้าน ลบ.ม.ใช้งบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาทนั้น
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนืออันประกอบด้วยคณะทำงานในลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน กก อิง หงาว งาว สาละวิน และโขง ซึ่งได้ดำเนินงานในการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมมาโดยตลอด เห็นชัดเจนว่าแผนงานดังกล่าวของรัฐบาลขาดความโปร่งใส ชัดเจน และการมีส่วนร่วม ดังนั้นจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยทีโออาร์สามแสนล้านต่อสาธารณะชน ยุติแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำโดยการทำลายป่าอันเป็นแนวทางที่ไร้เหตุผล และให้ความสำคัญต่อการจัดการน้ำชุมชนเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศไทย พร้อมกับมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมของทุกภาคส่วนในประเทศ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนตามบริบทนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ดังนี้
1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ อนุรักษ์ป่า จัดการป่าชุมชนโดยการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้คืนมาสมดุลยั่งยืนเหมาะกับระบบนิเวศแต่ละพื้นที่ เป็นการป้องกันปัญหาอุทกภัยที่ถูกจุด 2.ผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นแผนแม่บทการจัดการน้ำแห่งชาติ โดยการผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมินิเวศ การจัดการน้ำแบบใหม่ การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและองค์รวม 3.กำหนดนโยบายสาธารณะในการบริหารจัดการลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน เป็นองค์รวมทั้งระบบนิเวศลุ่มน้ำ(ดิน น้ำ ป่า) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
4.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา ในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณแค่เฉลี่ยหมู่บ้านละ 3 ล้าน 5. กักเก็บน้ำระดับตำบล “หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ” โดยการมีส่วนร่วมประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนไม่มากนัก แต่มีประโยชน์โดยตรงในแต่ละพื้นที่ 6.ฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่ตามธรรมชาติโดยการขุดลอกตะกอนแม่น้ำ แก้ไขปัญหารุกล้ำลำน้ำ การทำพื้นที่แก้มลิง และรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่ต้นน้ำเพื่อชะลอน้ำ
7.จัดแบ่งพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท เช่น พื้นที่เกษตร แหล่งท่องเที่ยว ประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายชีวภาพ นอกจากสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ตอนล่าง 8.กระจายอำนาจและงบประมาณให้ชุมชนท้องถิ่นวางแผนระบบการจัดการน้ำ สนับสนุนงบฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบจัดการน้ำชุมชนท้องถิ่น ให้อำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่นโดยมีกฎหมายรองรับ 9.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือนและระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อหรือสระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
10.ทบทวนนโยบายส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชเหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่าลดปริมาณใช้น้ำทำเกษตรนอกฤดู 11.ขอให้ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแม่น้ำปิงตอนบน เขื่อนสาละวิน เขื่อนแม่น้ำโขง ฯลฯ โดยหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชนดังได้กล่าวมาแล้ว .