ภาคประชาสังคมจี้รัฐหยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า -เร่งรับรองแผนจัดการที่ดินยั่งยืน
เครือข่ายภาคประชาสังคมกว่า 83 องค์กร แถลงการณ์จี้ “หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า” ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เผยไม่นิ่งเฉย กรณีชาวบ้านไทรทอง ถูกจำคุก ประสาน ก.ยุติธรรม หาทางออก ‘ศ.ดร.คณิต’ ชี้รัฐใช้อำนาจต้องมีความรับผิดชอบต่อองค์กรอื่น-ประชาชน
วันที่ 10 ก.ค. 2562 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคมมหาวิทยาลัยรังสิต และภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กร จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากับผลกระทบต่อคนจน: กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง” จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบาย มาตรการทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่งคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ประกอบคำสั่ง ที่ 66/2557 ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 1 อาคารรัตนคุณากร มหาวิทยาลัยรังสิต
Therese Bjork ตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Office of High Commissioner for Human Rights – UNOHCHR) กล่าวว่า ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกการเข้าถึงที่ดินเป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญที่สุดขององค์การสหประชาชาติ ที่ผ่านมา UN ได้ทำงานกับชุมชนหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่แก่งกระจาน พื้นที่ชุมชนคลองไทรที่สุราษฎร์ธานี และพื้นที่ชุมชนไทรทอง เพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิในการเข้าถึงที่ดินของประชาชนได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการถือครองที่ดินในประเทศไทยเป็นประเด็นซับซ้อนและมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการถือครองที่ดินที่การกระจุกตัวของที่ดินตกอยู่ในปัจเจกไม่กี่คนและกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความรุนแรง
ทั้งนี้ จากการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุสัดส่วนการถือครองที่ดินในประเทศไทยว่า ที่ดินร้อยละ 30 ในประเทศไทยเป็นของโดยเอกชน ส่วนที่เหลือเป็นเจ้าของโดยรัฐ กรมป่าไม้และกรมที่ดิน และที่ดินร้อยละ 20 ในสิทธิครอบครองของเอกชนเป็นพื้นที่ร้อยละ 80 ของเอกชนทั้งหมด มีชาวไร่ชาวนาเกษตรกรเพียงร้อยละ 29 เท่านั้นที่ได้ครอบครองที่ดิน ส่วนใหญ่อยู่ในมือของนักธุรกิจและนักการเมือง การกระจายที่ดินอย่างไม่เท่าเทียมทำให้ชาวบ้านเรียกร้องให้เกิดการแบ่งสรรที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม ความพยายามของรัฐไทยในการกำจัดการถางไม้ทำลายป่าคือการประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2562 ทำให้การแก้ปัญหาที่ดินในประเทศไทยมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ตัวแทน UNOHCHR กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ทำให้เกิดคำสั่งของ คสช.ที่ร้ายแรงต่อการเข้าถึงที่ดินทำกิน ทำให้การต่อสู้ของชุมชนเพื่อมีที่ดินทำกินยากลำบากมากยิ่งขึ้น คำสั่งของคสช.ที่จำกัดสิทธิในการแสดงออก สิทธิในการรวมตัวกันอย่างสันติจำกัดความสามารถของชุมชนในการรวมตัวกันในการแสดงออกทางความคิดข้อกังวลต่าง ๆ ทั้งนี้ ถึงแม้ข้อพิพาททางด้านที่ดินระหว่างรัฐกับชุมชนดำเนินมาหลายทศวรรษ แต่ คสช.ได้ออกคำสั่งที่เมื่อนำไปปฏิบัติเป็นธรรมแล้วทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นและสวนทางกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีพ.ศ. 2557
Therese Bjork
“เราได้รับรายงานเกี่ยวกับกับการนำคำสั่ง คสช.ที่นำไปสู่การบังคับคดีในเรื่องที่ดินที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลากหลายคดี โดยการนำคำสั่งคสช.ไปปฏิบัติไม่ได้นำประเด็นสิทธิชุมชนเข้ามาพิจารณาในการดำเนินการด้วย นอกจากนี้ประเทศไทยเองได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลากหลายฉบับที่พูดเรื่องการปกป้องสิทธิชุมชนและการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถทำมาหากินหรือหาอาหารและเครื่องนุ่งห่มเพื่อปากท้องของตนเองได้ ซึ่งในเรื่องของอาหารนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน และการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนำเสนอประเด็นของตนในพื้นที่สาธารณะได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน นอกจากนี้ในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ CEDAW ที่ไทยได้ลงนามได้ระบุในอนุสัญญาอย่างชัดเจนว่าให้รัฐไทยเปิดโอกาสให้สตรีมีส่วนร่วมในการปกป้องตนเองและท้องถิ่นได้ แต่ในข้อเท็จจริงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในเรื่องที่ดินและชุมชนยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ”
Therese ยังกล่าวว่า มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 33 คนที่เป็นเหยื่อและเป้าหมายจากการฆาตกรรมและอุ้มหาย ในจำนวนนั้นมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 27 คน ถูกฆาตกรรมทำให้เสียชีวิตในเรื่องที่ดินและชุมชนในรอบสิบปีที่ผ่านมา และความรุนแรงต่อนักปกป้องสิทธิยังคงดำเนินต่อไป UN ได้ลงพื้นที่ภาคเหนือพบปัญหาเจ้าหน้าที่ทหารได้บุกรุกที่ดินไร่สวนต่าง ๆ ของชาวบ้านในพื้นที่ป่าสงวน มีการทำลายพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากที่ดินทำกินทำให้ชาวบ้านเกิดความกลัว ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2014 เป็นต้นมามีการดำเนินคดีบุกรุกป่า นอกจากนี้แล้วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีชาวบ้านกว่า 100 ครอบครัวที่ถูกดำเนินคดีทางอาญาในคดีที่ดิน ในพื้นที่ของจังหวัดลำปางชาวอาข่าก็ถูกดำเนินคดีบุกรุกป่า ซึ่งเขาก็ต้องยอมรับผิด ในพื้นที่แม่ฮ่องสอนมีชาวกะเหรี่ยงกว่า 37 คน โดนดำเนินคดีในข้อหามีไม้ไว้ในครอบครอง ชาวบ้านส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่าก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างโดยวิธีดั้งเดิมของพวกเขา
ล่าสุดกรณีของไทรทอง ศาลอ่านคำพิพากษาซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน นอกจากนี้เรายับพบว่าในส่วนของชาวบ้านที่ต้องคำพิพากษาศาลจำคุกในกรณีนี้ 14 คน มีปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ถูกจับกุมคุมขังที่มีอายุมาก มีผลกระทบทางด้านปัญหาสุขภาพมากที่สุด UNOHCHR เราไม่ได้นิ่งเฉย เราได้ประสานร่วมกับกระทรวงยุติธรรมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้และเราจะทำงานกับชุมชนต่อไปเพื่อหาทางออกให้สิทธิมนุษยชนได้รับความเคารพ
ด้าน นายไพโรจน์ วงงาน ตัวแทนชาวบ้าน ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนป่า กล่าวว่า กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ มี 5 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ความเป็นมา ก่อนที่จะประกาศเป็นอุทยาน เดิมทีภาครัฐได้ผุดโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือ คจก. เมื่อมีชาวบ้านเข้ามาทำกินอยู่อาศัย พอประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2541 ได้มีการขอคืนและไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ จนชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ ยกตัวอย่างกรณี นายทองพูน วงษ์งาม จากการสำรวจพื้นที่และพิกัด พบว่ามาการเข้ามาอยู่ก่อนการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ และไกลกว่าเขตที่ประกาศกว่า 10 กิโลเมตร กลับกลายเป็นว่า นายทองพูน กลายเป็นผู้บุกรุกอีกแปลง ที่บ้านทรัพย์หวายเป็นเคสที่คล้าย ๆ กัน เป็นความผิดพลาดจากการจับพิกัดการตีแปลง เป็นเหตุให้มีชาวบ้านต้องคดีบุกรุก มั่นใจว่า จะมีกรณีแบบนี้เพิ่มขึ้นอีก
“การแก้ปัญหา เราเคยมีการเสนอให้มีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและชาวบ้าน ที่ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ผ่านการมีป่าชุมชน ป่าวัฒนธรรม ป่ากันชน รวมไปถึงพื้นที่ริมห้วย ซึ่งการมีป่าประเภทนี้ เราไม่จำเป็นต้องจ้างเจ้าหน้าที่มาดูแลป่า ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่เขาจะดูแลให้เอง ตรงนี้เราสามารถเพิ่มพื้นท่าได้กว่าร้อยละ 70 เลยทีเดียว นี่คือแผนที่เราต้องทำร่วมกัน แต่ที่ผ่านมา เมื่อมีการเสนอไป แผนนี้ก็ไม่มีการผลักดันแบบเต็มรูปแบบ เราจึงอยากผลักดันแผนนี้ในการเป็นโมเดลในการจัดการร่วมกัน” ตัวแทนชาวบ้าน ต.วังตะเฆ่ ระบุ
ขณะที่ นายปราโมทย์ ผลภิญโญ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า พี่น้องทั้ง 14 ราย กรณีบ้านซับหวาย จังหวัดชัยภูมิ แม้จะมีการยกเลิกประกาศของ คสช.ฉบับที่ 64 ในการทวงคืนผืนป่าไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2562 แต่ 5 ปีที่ผ่านมา บาดแผลของชาวบ้านก็ยังคงอยู่ ซึ่งทั้ง14ราย มี 3 ราย ที่ได้รับการสำรวจตามมิติคณะรัฐมนตรี แต่ยังถูกลงโทษตามคำพิพากษา นำมาซึ่งการขอพื้นที่คืน ในกระบวนการการดำเนินคดี ชาวบ้านแจ้งว่ามีการให้เซ็นยินยอม ถ้าไม่เซ็น ก็จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยอ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2541 ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว จนต้องเซ็นยินยอม ทั้งการประกาศใช้มติคณะมนตรี รวมไปถึงการประกาศใช้นโยบายการทวงผืนป่าของ คสช. ถือเป็นระบบการใช้อำนาจนิยมหรือการผูกขาดในระบบราชการ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้าน นำมาซึ่งการจับกุมคุมขัง
สุรพงษ์ กองจันทึก
นาย สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศึกษากะเหรี่ยงศึกษาและพัฒนา กล่าวว่า เรื่องของการจับชาวบ้านกรณีที่มีการบุกรุกป่า มีมานานหลายสิบปี กรณีที่มีประกาศของคสช. ฉบับที่ 64 ในการทวงคืนผืนป่าของคสช. ฉบับที่ 66 ระบุชัดเจนว่า จะไม่กระทบต่อผู้ยากไร้ แต่ในปัจจุบันกลับพบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ยากไร้ทั้งนั้น ล่าสุดแม้จะมีการยกเลิกประกาศนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ยกตัวอย่างกรณี ชาวบ้าน 3 ครอบครัวที่จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ถูกฟ้องร้องโดยกรมอุทยานฯ กรณีรุกป่าจำนวน 3 ไร่ และถูกเรียกร้องค่าเสียหายรวมทั้งสิ้นกว่า 3 แสนบาท ซึ่งมีโอกาสลงไปในพื้นที่จริง เพื่อนำข้อมูลนี้ไปยืนยันต่อศาลฎีกา พบว่า ป่ายังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ได้เกิดความเสียหาย ซึ่งศาลก็เห็นพ้องต้องกัน โดยให้เหตุผลว่า กรณีกรมอุทยานฯ อ้างผลวิจัยเกี่ยวกับความเสียหาย เป็นการเก็บข้อมูลแบบคาดเดาไม่ใช่งานวิจัย สุดท้ายคดีนี้ชาวบ้านเป็นผู้ชนะ
ด้าน ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดและประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า การใช้อำนาจรัฐต้องมีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับต้องตรวจสอบได้ และกลไกในการตรวจสอบต้องเป็นการตรวจสอบแบบภายนอกแนวราบไม่ใช่แนวดิ่ง การใช้อำนาจรัฐต้องมีความรับผิดชอบต่อองค์กรอื่นและต่อประชาชนด้วย นอกจากนี้ในส่วนของการดำเนินคดีโดยรัฐทุกฝ่ายจะต้องกระตือรือร้นในการตรวจสอบค้นหาความจริง กระบวนการยุติธรรมจะต้องสร้างความเชื่อถือศรัทธา โดยศาลสามารถที่จะไต่สวนมูลฟ้องเองได้ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวเนื่องมาที่กระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย และศาลเองจะต้องประกันความบริสุทธิ์จำเลยได้ ที่สำคัญอัยการเองต้องตรวจสอบพยานหลักฐานให้ดีเพราะอัยการสามารถที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีเหล่านี้ได้ถ้ากระบวนการยุติธรรมในบ้านเมืองเราดีบ้านเมืองก็จะสงบ คดีนี้อัยการปฏิบัติภารกิจน่าจะสั่งไม่ฟ้องได้
ศ.ดร.คณิต ณ นคร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายของการเสวนา ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมกว่า 83 องค์กรได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เพื่อ “หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า คืนความเป็นธรรมให้คนจน”มีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1)ให้ยกเลิกนโยบาย และยุติการปฏิบัติการตามแผนการทวงคืนผืนป่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยทันที
2)ให้รัฐบาลเร่งพิจารณารับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทองโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันในการอาศัย ทำกิน และแก้ไขปัญหาคดีความที่เกิดขึ้นในพื้นที่
3)ให้รัฐบาลกำหนดมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาชาวบ้านผู้ถูกคดีทั้ง 14 ราย ทั้งในทางกระบวนการยุติธรรม และผลกระทบจากการดำเนินคดี
4)ให้รัฐบาลและรัฐสภามีมาตรการในการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวมทั้งปรับปรุง แก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้มีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ
5)ให้ศาลยุติธรรมเปิดโอกาสให้ชาวบ้านซึ่งเป็นจำเลยได้ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุดในชั้นฎีกา เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมและเพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/