TDRI ประเมินผลงาน ปฏิรูป 5 ปี รัฐบาลประยุทธ์ (1): ติดตามความคืบหน้าแก้ปัญหาประเทศ
"...การประเมินผลงานนี้มุ่งหวังเพื่อเสนอให้รัฐบาลใหม่ รัฐสภา พรรคการเมือง องค์กรต่างๆ และประชาชนให้การสนับสนุนในการสานต่อนโยบายที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ริเริ่มนโยบายที่สมควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ และยกเลิกนโยบายที่ดำเนินการอยู่ที่ก่อให้เกิดปัญหา..."
วันที่ 10 ก.ค. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แถลงข่าว "ประเมินผลงาน ปฏิรูป 5 ปี รัฐบาลประยุทธ์ (1): ติดตามความคืบหน้าแก้ปัญหาประเทศ" ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ โดย ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ
1. บทนำ
รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดตั้งขึ้นมาภายหลังการทำรัฐประหารโดยคสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ท่ามกลางความแตกแยกทางการเมืองของคนไทย ในระยะเวลาต่อเนื่องกว่า 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้บริหารประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้างความ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” โดยดำเนินมาตรการต่างๆ มากมาย จากการใช้อำนาจเต็มที่ในด้านบริหารและนิติบัญญัติ เนื่องจากไม่มีพรรคฝ่ายค้านในสภา และสามารถออกคำสั่งตามมาตรา 44 ได้
ในด้านหนึ่งการใช้อำนาจของรัฐบาล โดยมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลน้อยกว่ารัฐบาลปรกติ ทำให้รัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ออกมาได้มาก เช่น ผ่านกฎหมายออกมากว่า 400 ฉบับ ปลดล็อกด้านกฎระเบียบต่างๆ และลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การใช้อำนาจดังกล่าวของรัฐบาลก็มีผลในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และก่อให้เกิดผลเสียในหลายครั้ง
รายงานฉบับนี้จะมุ่งประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ในด้าน “มั่งคั่งและยั่งยืน” โดยไม่รวมถึงด้านความ “มั่นคง” ซึ่งคณะผู้ประเมินไม่มีความถนัด ทั้งนี้ การประเมินจะให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ผู้ประเมินเห็นว่าเป็น “ผลงานหลัก” (Flagship) ของรัฐบาล ทั้งในด้านความมั่งคั่ง ซึ่งรวมถึง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาภาคเกษตรและประมง การคมนาคม การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการกำกับดูแล การปฏิรูปการศึกษา และการแก้ปัญหาแรงงาน ตลอดจนในด้านความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำและการให้สวัสดิการสังคม การต่อต้านคอร์รัปชัน และการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านเวลาและความถนัดของทีมผู้ประเมินทำให้ไม่สามารถประเมินผลการดำเนินงานของรัฐบาลในอีกหลายประเด็นที่มีความสำคัญ ซึ่งองค์กรอื่นๆ และภาคสังคมควรร่วมกันประเมินต่อไป
การประเมินผลงานนี้มุ่งหวังเพื่อเสนอให้รัฐบาลใหม่ รัฐสภา พรรคการเมือง องค์กรต่างๆ และประชาชนให้การสนับสนุนในการสานต่อนโยบายที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ริเริ่มนโยบายที่สมควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ และยกเลิกนโยบายที่ดำเนินการอยู่ที่ก่อให้เกิดปัญหา
2. ผลงานของรัฐบาลด้านความ “มั่งคั่ง”
รัฐบาลประยุทธ์ได้ประกาศวิสัยทัศน์ “Thailand 4.0” เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยมุ่งเน้นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นเสาหลักของรัฐบาลประยุทธ์ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve industries) จากเดิมที่รัฐบาลมุ่งเน้นพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน 10 แห่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลได้ออกกฎหมายที่สำคัญคือ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 เพื่อทำให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบาย และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
ผลการดำเนินการที่ปรากฏเป็นรูปธรรมได้แก่
• การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ซึ่งน่าจะสามารถเซ็นสัญญาในเร็วๆ นี้ ขณะที่ โครงการสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ยังคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา
• การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยสามารถทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนได้พอสมควร กล่าวคือในช่วงปี 2558-2561 มีมูลค่าการลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติการลงทุนรวม 1.014 ล้านล้านบาทในพื้นที่ EEC และ 1.110 ล้านล้านบาทในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายส่วนใหญ่ยังคงเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเดิมที่มีฐานอยู่ก่อน ได้แก่ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (20%) ยานยนต์และชิ้นส่วน (9%) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (8%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (7%) ขณะที่ การลงทุนในอุตสาหกรรม New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมการบิน ยังมีไม่มากนัก โดยกรณีของอุตสาหกรรมการบิน ความสำเร็จในช่วงแรกจะขึ้นอยู่กับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งยังอยู่ในช่วงการเจรจาระหว่างการบินไทยกับแอร์บัส
• การกำหนดมาตรการดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะมาตรการ “สมาร์ทวีซ่า” และการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 17 จากแรงงานทักษะสูงที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงบางส่วนได้ในระยะเวลาสั้น
• การดึงดูดให้มหาวิทยาลัยระดับโลกเข้ามาตั้งในประเทศไทย โดยเฉพาะ CMKL University ซึ่งเป็นสถาบันร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และการเปิดให้บางคณะของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) เข้ามาเปิดสอนในประเทศไทย นอกจากนี้ รัฐบาลยังร่วมมือกับญี่ปุ่นในการพัฒนาวิศวกรคุณภาพสูงภายใต้หลักสูตร “โคเซ็น” ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นจุดเริ่มที่สำคัญในการผลิตแรงงานทักษะสูง ที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย แม้จำนวนบัณฑิตที่สถาบันต่างๆ จะผลิตได้ในช่วงแรกจะยังน้อยมากก็ตาม
ในอีกด้านหนึ่ง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักในด้านต่อไปนี้
• การพัฒนากำลังคนคุณภาพสูง ซึ่งสามารถทำงานได้จริงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะแรงงานด้านอาชีวะ และวิศวกร
• การผลักดันให้สถาบันวิจัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมงานกับบริษัทที่ใช้อุตสาหกรรมระดับสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศ
• การสร้างส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ในการกำหนดนโยบาย รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากที่ดิน และการจัดทำผังเมือง ซึ่งจะทำให้ประโยชน์จากการพัฒนาไม่กระจุกตัวอยู่ในวงแคบ ไม่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และไม่เกิดผลกระทบในด้านลบต่อประชาชนบางกลุ่มในพื้นที่
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• สานต่อเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยยกระดับการพัฒนากำลังคนคุณภาพสูงจากการร่วมมือกับภาคเอกชน และผลักดันให้สถาบันวิจัยของรัฐและมหาวิทยาลัยร่วมงานกับภาคเอกชน
• เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส และปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับชุมชน เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน และทำให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
• จัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในเขตพัฒนาพิเศษ เพื่อทำให้การวางแผน การกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง
• ขยายผลบทเรียนในการบริหารจัดการที่ดีในการปรับปรุงกฎระเบียบ และการบริหารจัดการในเชิงบูรณาการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไปใช้ในพื้นที่อื่น ในลักษณะกระจายอำนาจ
นโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
รัฐบาลประยุทธ์ได้ประกาศนโยบายนำเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” และดำเนินมาตรการหลายอย่าง โดยส่วนใหญ่ผ่านกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งรวมทั้งรัฐวิสาหกิจในสังกัด 2 แห่งคือ ทีโอที และ กสท. โทรคมนาคม ตลอดจน กสทช. นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผ่าน “บริการรัฐบาลดิจิทัล” และการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และหน่วยงานอื่นๆ
ผลการดำเนินการที่ปรากฏเป็นรูปธรรมได้แก่
• การผลักดัน พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการข้อมูลของภาครัฐ ในการให้บริการประชาชน และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อประชาชน จากเดิมที่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ มักไม่ยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากต้องกรอกข้อมูลซ้ำหลายครั้ง
• การลดภาระให้แก่ประชาชนที่ติดต่อกับภาครัฐในหลายด้าน เช่น
- การเลิกใช้สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน เมื่อติดต่อกับหน่วยราชการ
- การเลิกกรอกแบบฟอร์ม ตม. 6 ในกรณีที่คนไทยเดินทางเข้าหรือออกประเทศ
- การเลิกการแจ้งความ กรณีที่ประชาชนทำบัตรประชาชน หรือใบขับขี่หาย
• การจัดประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการ 4G ซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร โดยมีการแข่งขันกันมากในระหว่างผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ภายหลัง ความสำเร็จนี้ต้องมัวหมองไปเมื่อรัฐบาลใช้คำสั่ง ม. 44 ในการ “อุ้ม” ผู้ประกอบการที่ประมูลคลื่นความถี่ได้ ดังจะกล่าวต่อไป
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังร่วมกับกระทรวงการคลังในการผลักดันให้เกิดระบบ “พร้อมเพย์” ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการชำระเงินและโอนเงินของประชาชน และเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
อย่างไรก็ตาม “บริการรัฐบาลดิจิทัล” อื่นๆ ส่วนใหญ่ยังมีความคืบหน้าน้อยมาก นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐาน “ข้อมูลแบบเปิด” (Open Data) ก็ยังแทบไม่เกิดขึ้น แม้รัฐบาลได้ประกาศการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) แล้วก็ตาม
รัฐบาลยังมีนโยบายอีกหลายด้านที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการ ซึ่งรวมถึง
• โครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งมุ่งลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในชนบทในการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยมีปัญหาในการส่งมอบโครงการ เนื่องจากใช้กลไกของรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนแทนการหนุนเสริมกลไกตลาดที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และมีผลทำให้โครงการนี้กลายเป็นเพียงการช่วยให้รัฐวิสาหกิจมีฐานะทางการเงินดีขึ้น แทนที่จะถูกปฏิรูปอย่างแท้จริง
• การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งหน่วยงานรัฐหลายแห่งแข่งกันทำ แต่ส่วนใหญ่ส่งเสริมไม่ถูกจุด จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาการที่ประเทศไทยยังไม่สามารถสร้าง “ยูนิคอร์น” หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 พันล้านดอลลาร์ได้ ในขณะที่หลายประเทศในอาเซียนมี “ยูนิคอร์น” แล้ว
• การพัฒนาบริการของรัฐผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดแอพพลิเคชั่นจำนวนมาก แต่เกือบทั้งหมดไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
ส่วนนโยบายที่ก่อให้เกิดผลเสียอย่างมากคือ การใช้คำสั่ง ม. 44 ที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. หลายครั้ง ดังนี้
• การยกเลิกการสรรหา กสทช. ชุดใหม่และภายหลังยังยืดวาระการทำงานของ กสทช. ชุดเดิมที่มีอายุเกินกว่า 70 ปี โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน ทั้งหมดนี้มีผลเป็นการแทรกแซง กสทช. ซึ่งควรเป็นองค์กรอิสระ ให้กลายเป็นองค์กรที่อยู่ใต้อาณัติของ คสช. และรัฐบาล
• การ “อุ้ม” ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งชนะการประมูลคลื่น 4G ทั้ง 3 รายคือ เอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทค ให้สามารถผ่อนชำระค่าใบอนุญาต ซึ่งมีผลทำให้ทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ไปเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ควบคู่ไปกับการ “อุ้ม” ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในระดับที่เกินกว่าสมควรมาก ทั้งหมดนี้มีผลทำลายความน่าเชื่อถือในการประมูลคลื่นความถี่ต่างๆ ในอนาคต นอกจากนี้ การผูกโยงการผ่อนชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 4G เข้ากับการได้รับการจัดสรรคลื่น 5G โดยไม่มีการแข่งขัน ยังมีผลทำให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายสามารถร่วมกันผูกขาดบริการ 5G ได้ต่อไป
• การออกกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อการส่งเสริม “เศรษฐกิจดิจิทัล” โดยเฉพาะ พ.ร.บ. การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ซึ่งให้ดุลพินิจแก่หน่วยงานภาครัฐในการใช้อำนาจสูงมาก โดยปราศจากกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม
รัฐบาลใหม่ควรเร่งดำเนินการดังต่อไปนี้
• ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย กสทช. โดยเร็ว เพื่อให้เกิดการสรรหา กสทช. ชุดใหม่
• เร่งรัดให้เกิด “บริการรัฐบาลดิจิทัล” ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยใช้กลไกของ พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562
• เร่งรัดให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลของรัฐตามมาตรฐาน “ข้อมูลแบบเปิด” (Open Data) เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวได้
• ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างมีเอกภาพ โดยมุ่งลดปัญหาจากกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ โดยร่วมมือกับหน่วยงานในภาคเอกชนที่เข้าใจปัญหา
• ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ให้เกิดความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
การพัฒนาภาคเกษตรกรรมและประมง
รัฐบาลประยุทธ์ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของภาคเกษตรกรและประมงมาก และสามารถผลักดันให้เกิดผลสำเร็จในหลายเรื่อง เช่น
• การขายข้าวจากโครงการจำนำข้าวทุกเม็ดที่มีอยู่จริงในสต๊อครัฐบาลจำนวน 17.76 ล้านตันได้ในเวลาไม่ถึง 4 ปี ซึ่งถือว่าเร็วกว่าในอดีต (ยกเว้นส่วนที่ติดคดีประมาณ 3.45 แสนตัน) โดยใช้วิธีประมูลอย่างโปร่งใส ซึ่งช่วยลดภาระการขาดทุน และลดแรงกดดันราคาข้าวไทยให้อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ชาวนาได้ประโยชน์และการค้าข้าวกลับสู่ภาวะปกติ และไทยสามารถทวงคืนส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมในฮ่องกงที่สูญเสียให้แก่เวียดนามในช่วงนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด
• การอุดหนุนโดยตรงแก่เกษตรกร องค์กรของเกษตรกรและโรงสี เช่น การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว การให้สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว การชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสีในการเก็บสต็อกข้าว เป็นต้น ซึ่งโดยรวมแล้ว ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิสูงขึ้น โดยรัฐไม่เข้าแทรกแซงหรือสร้างผลกระทบต่อตลาดมาก อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้มีต้นทุนสูงถึง 1.27 แสนล้านบาทในปี 2561 ซึ่งมากกว่างบประมาณทั้งหมดของกระทรวงเกษตรฯ (1.23 แสนล้านบาท) และทำให้รัฐบาลขาดงบประมาณที่จะใช้ในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตในระยะยาว โดยเฉพาะงบการวิจัย นอกจากนี้ มาตรการอุดหนุนต่างๆ ยังทำลายแรงจูงใจของชาวนาในการปรับโครงสร้างการผลิตตามนโยบายข้าวครบวงจร
• การแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานหรือขาดการควบคุม (IUU) โดยรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วตามแรงกดดันของสหภาพยุโรป ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าประมงไปสหภาพยุโรปได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาในระยะแรกละเลยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมงพื้นบ้าน และให้การเยียวยาผู้เสียหายล่าช้ากว่า 4 ปี โดยเพิ่งชดเชยค่าซื้อเรือในงวดแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาขัดแย้งระหว่างประมงชายฝั่งกับประมงเชิงพาณิชย์ที่ยังไม่ได้รับแก้ไขอย่างเพียงพอ
ในขณะเดียวกัน มีหลายนโยบายที่รัฐบาลยังไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการ ซึ่งรวมถึง
• “นโยบายข้าวครบวงจร” ซึ่งพยายามบูรณาการนโยบายและมาตรการของกระทรวงเกษตร กับกระทรวงพาณิชย์ โดยเข้าใจสาเหตุของปัญหาราคาข้าวตกต่ำอย่างผิดพลาดว่า เกิดจากผลผลิตมีมากกว่าความต้องการของตลาด จึงต้องการลดการผลิตให้สอดคล้องกับ “การคาดคะเนความต้องการของตลาด” โดยใช้มาตรการต่างๆ ได้แก่ การลดพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสม การส่งเสริมให้ชาวนาหันไปปลูกอ้อย เลี้ยงวัว หรือปลูกข้าวโพดแทนการทำนาปรัง ฯลฯ ทั้งที่ปริมาณการผลิตข้าวของไทย โดยเฉพาะข้าวนาปรังขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในเขื่อน ไม่ได้ขึ้นกับมาตรการของรัฐ ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยังเข้าใจผิดว่า การลดอุปทานข้าวในประเทศจะทำให้ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้น ทั้งที่ราคาถูกกำหนดโดยราคาในตลาดโลก โดยแม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่ก็ไม่มีอำนาจกำหนดราคา
• นโยบาย “นาแปลงใหญ่” ซึ่งมุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แต่ก็มีผลเป็นเพียงการรวมกลุ่มเกษตรกรให้ซื้อปัจจัยการผลิต และใช้เทคโนโลยีการผลิตเหมือนกัน โดยยังไม่มีการรวมแปลง จึงไม่สามารถทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด (economies of scale)
• การจัดตั้งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในปี 2558 โดยการยุบรวม 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยยาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และองค์การสวนยาง เพื่อให้เกิดการบริหารยางแบบครบวงจรและมีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่ปรากฏผลงานที่เป็นรูปธรรม นอกจากนั้นการที่ กยท. เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำให้ภารกิจส่วนใหญ่เป็นการตอบสนองกลุ่มชาวสวนยาง และกลุ่มโรงงานแปรรูปกลางน้ำ แต่ไม่มีการส่งเสริมส่วนปลายน้ำโดยตรงเหมือนสถาบันวิจัยยางของมาเลเซีย (RRIM) ทำให้การเพิ่มมูลค่าจากผลิตภัณฑ์ยางปลายน้ำเป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้การอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกข้าว ยาง ปาล์ม ข้าวโพด โดยใช้งบประมาณและเงินนอกงบประมาณไปไม่น้อย แต่ไม่ได้มีผลในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตในระยะยาว
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการพัฒนาสาขาเกษตรในระยะยาวดังต่อไปนี้
• จัดให้มีการวิจัยที่อิงความต้องการของตลาด โดยเน้นการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง และช่วยเกษตรกรปรับตัวรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง เป้าหมายและออกค่าใช้จ่ายบางส่วน
• ปรับบทบาทของรัฐจากผู้ดำเนินการส่งเสริมเอง มาเป็นผู้สนับสนุนทุนและทรัพยากรในการส่งเสริมการเกษตรของภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน มหาวิทยาลัยและกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มผลิตภาพ และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เกษตรกรและระบบการผลิตที่แตกต่างกัน
• ปรับโครงสร้างภาคเกษตรให้มีความสามารถในการแข่งขัน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรลงทุนปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในระยะยาว ทั้งการเปลี่ยนชนิดพืช เทคโนโลยี ลงทุนปรับปรุงที่ดินเพื่อทำเกษตรมูลค่าเพิ่มสูง หรือเกษตรแปลงใหญ่ โดยให้เกษตรกรผู้เช่าและเจ้าของที่ดินร่วมกันลงทุนระยะยาวในรูปนิติบุคคลหรือในระบบพันธะสัญญา เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน โดยรัฐบาลสนับสนุนด้านความรู้และการเงิน และขจัดอุปสรรคด้านกฎระเบียบต่างๆ เช่น กฎหมายเช่าที่ดินเกษตรและกฎหมายบังคับคดี ซึ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินเพื่อลงทุนการเกษตรอยู่ในระดับสูง
การปฏิรูปการศึกษา
รัฐบาลประยุทธ์ประกาศนโยบายปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ของประชาชน ตลอดระยะเวลา 5 ปี รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่างๆ มากมาย และมีผลงานที่ปรากฏเป็นรูปธรรมหลายอย่างได้แก่
• การตั้ง “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ซึ่งสร้างระบบสารสนเทศเพื่อระบุตัวตนเด็กยากไร้ รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ และจัดสรรเงินช่วยเหลือเด็กยากจน โดยได้จัดสรรไปแล้วราว 4 แสนคน
• การจัดตั้ง “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ขึ้นมาใน 6 พื้นที่ เพื่อใช้กลไกจังหวัดขับเคลื่อนการศึกษา ขยายผลนวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ และเพิ่มอิสระให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ซึ่งเข้าร่วม
• การออก พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 เพื่อสร้างหลักประกันให้เด็กเล็กได้รับการดูแลพัฒนาการอย่างเหมาะสม
ความสำเร็จดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลเลือกใช้กลไกของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานนอกระบบราชการ ทำให้มีช่องทางที่หน่วยงานภายนอก ทั้งภาคประชาสังคมและภาควิชาการ สามารถให้ข้อเสนอแนะและผลักดันนโยบายจนเกิดแรงขับเคลื่อนมากกว่าการขับเคลื่อนด้วยระบบราชการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการต่างๆ เพิ่งเริ่มต้นขึ้น ระดับของความสำเร็จจึงจะขึ้นอยู่กับการสานต่อและขยายผลของรัฐบาลใหม่
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีความพยายามพัฒนาระบบในหลายด้าน โดยมีผลงานเป็นรูปธรรมบางส่วน แม้จะยังไม่สะท้อนไปถึงผลการเรียนรู้ของนักเรียนที่วัดจากการสอบมาตรฐานต่างๆ คือ
• การประเมินและพัฒนาครูอย่างจริงจัง ทั้งปรับเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะ ผลักดันให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ของครูในระดับโรงเรียน และสนับสนุนให้ครูพัฒนาตนเองผ่านโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร (“คูปองครู”) ทั้งหมดนี้ดำเนินการอย่างเป็นระบบในลักษณะบูรณาการ ทำให้มีผลพลอยได้ในการชะลอและลดโครงการพัฒนาต่างๆ ที่มีจำนวนมากและแยกส่วนกัน
• การปรับปรุงกรอบการประกันคุณภาพภายนอกของ สมศ. โดยสนับสนุนให้โรงเรียนใช้การประเมินภายใน และชะลอการประเมินรอบ 4 ของ สมศ. ตามเสียงเรียกร้องของโรงเรียน ทำให้สถานการณ์การคืนครูสู่ห้องเรียนมีแนวโน้มดีขึ้น กล่าวคือ จากการสำรวจครูสอนดีจำนวน 319 คนทั่วประเทศโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) พบว่า ครูใช้เวลานอกชั้นเรียนกับกิจกรรมที่ไม่ใช่การเรียนการสอนลดลงจาก 84 วันต่อปี ในปี 2557 เหลือ 65 วันต่อปีในปี 2559
อย่างไรก็ตาม มีการดำเนินงานหลายอย่างที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เช่น
• การพัฒนาขีดความสามารถของโรงเรียนในด้านการเรียนการสอนส่วนใหญ่ยังไม่แตกต่างจากโครงการเดิมๆ ที่มีมามากนัก (เช่น “โครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล” คล้ายคลึงกับ “โครงการโรงเรียนดีประจำตำบล” และ “โครงการโรงเรียนในฝันประจำตำบล”) โดยโครงการเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนโดยสำนักส่วนกลางตามนโยบายของผู้บริหารในลักษณะ top-down จึงมักเกิดปัญหาในการปฏิบัติจริง เช่น “โครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” มีจุดมุ่งหมายให้นักเรียนได้เรียนรู้จากกิจกรรมอื่นนอกจากการเรียนในห้องเรียน แต่ในทางปฏิบัติ มีครูจำนวนมากที่ไม่สามารถออกแบบการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมได้ ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
• การพัฒนาอาชีวศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการดำเนินมาตรการต่างๆ มากมาย รวมทั้งการขอความร่วมมือจากภาคเอกชน แต่ติดปัญหาที่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดสรรงบประมาณอุดหนุนอาชีวศึกษาให้ทัดเทียมกับอุดมศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการของรัฐบาลที่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ซึ่งรวมถึง
• การออกคำสั่งของ คสช. โดยใช้ ม.44 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา รวม 19 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการบริหารจัดการบุคลากรภายในกระทรวงศึกษาธิการ เช่น การตั้งคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด (กศจ.) ศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาค และยุบคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) และตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อ.กศจ.) เพื่อดำเนินการโยกย้ายบุคลากรแทน โดยมุ่งแก้ปัญหาทุจริตซื้อขายตำแหน่งระดับเขต แต่กลับส่งผลให้การโยกย้ายบุคลากรล่าช้า โรงเรียนขาดครูนานขึ้น และเมื่อประสบปัญหาในทางปฏิบัติมากเข้า ก็ออกคำสั่งใหม่เพื่อแก้ไขคำสั่งเดิม (เช่น ออกคำสั่ง 19/2560 เพื่อยกเลิกคำสั่ง 10/2559, 11/2559, 38/2559 และ 1/2560)
• การย้ายสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนจากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไปอยู่ใต้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เนื่องจากต้องการให้ทิศทางพัฒนาอาชีวศึกษาของทั้งภาครัฐและเอกชนสอดคล้องกัน แต่ในทางปฏิบัติ สอศ. ไม่มีระเบียบรองรับการกำกับดูแลสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนมาก่อน ทำให้การกำกับดูแลและจัดสรรเงินอุดหนุนให้สถาบันอาชีวศึกษาเอกชนล่าช้า
ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การใช้ ม. 44 เพื่อปฏิรูปการศึกษานั้นมีข้อจำกัด เพราะขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติ และหลายครั้งก็ขาดการเตรียมการล่วงหน้า
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• เพิ่มทรัพยากรให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ให้สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้มากขึ้น
• สนับสนุนการจัดการการศึกษารูปแบบใหม่ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 พื้นที่ซึ่งดำเนินการไปแล้ว โดยออกกฎระเบียบระดับรองเพื่อลดอุปสรรคในการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา กระตุ้นให้หน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐในพื้นที่ให้การสนับสนุน และส่งเสริมการประเมินผลการดำเนินงานบนฐานของข้อมูลจริง
• ทบทวนคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ทำให้เกิดปัญหา โดยเปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำเสนอข้อคิดเห็น และร่วมออกแบบระบบใหม่
• เพิ่มการพัฒนาทักษะผู้อำนวยการโรงเรียนให้สามารถเป็น “ผู้นำวิชาการ” ที่ทำให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครู (PLC) ได้จริง และเพิ่มช่องทางในการจัดสรรเงินงบประมาณการพัฒนาครูโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งจะทำให้ครูไม่ต้องออกนอกพื้นที่และสามารถร่วมพัฒนาโรงเรียนไปในทิศทางเดียวกันได้
• ลดภาระจากการประเมิน โดยลดจำนวนโครงการต่างๆ ที่สร้างภาระการประเมินให้แก่ครูเพื่อคืนครูสู่ห้องเรียนเพิ่มขึ้น โดยสำรวจโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่และบูรณาการโครงการที่มีเป้าหมายคล้ายคลึงกันเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะโครงการด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่ซ้ำซ้อนกันจำนวนมาก
การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการกำกับดูแล
รัฐวิสาหกิจไทยหลายแห่งประสบปัญหาขาดทุนไม่สามารถเลี้ยงตนเอง ทำให้เป็นภาระต่อประชาชน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริหารงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรือมีคอร์รัปชันมาก ในขณะที่หลายแห่งมีกำไรจากการผูกขาด ซึ่งสร้างต้นทุนสูงให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และหลายแห่งยังให้บริการที่รัฐไม่ควรต้องดำเนินการด้วยตนเองอีกต่อไป
แนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ควรดำเนินการจึงควรประกอบด้วย การยุบเลิกรัฐวิสาหกิจในบริการที่รัฐไม่ควรต้องดำเนินการด้วยตนเองอีกต่อไป ยกเลิกสิทธิผูกขาด หรือมีมาตรการป้องกันการผูกขาดไม่ให้สร้างต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจ และการเร่งฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจไทยหลายแห่งที่ประสบปัญหาขาดทุน ให้สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน
รัฐบาลประยุทธ์ประกาศนโยบายการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเป็นนโยบายสำคัญประการหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ดำเนินการผ่าน คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ “ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ” ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการที่มีชื่อเสียงจากภาคธุรกิจและภาคราชการหลายคน นอกจากนี้ รัฐบาลยังเปลี่ยนกรรมการของรัฐวิสาหกิจต่างๆ จำนวนมากเช่นเดียวกับรัฐบาลก่อนหน้า โดยหวังผลให้เกิดการฟื้นฟูกิจการและลดการรั่วไหล
ผลการดำเนินการที่ปรากฏเป็นรูปธรรมได้แก่
• การแยกการกำกับดูแลออกจากการประกอบกิจการในสาขาขนส่ง ทั้งการจัดตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ขึ้นเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งทางอากาศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการแก้ปัญหา “ธงแดง ICAO” การโอนอำนาจในการออกใบอนุญาตเดินรถเมล์ในกรุงเทพและปริมณฑลจาก ขสมก. มายัง กรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นก้าวแรกในการสร้างการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และยกระดับคุณภาพของบริการรถเมล์ ตลอดจนการตั้งกรมการขนส่งทางราง ขึ้นเป็นหน่วยงานกำกับดูแลระบบราง ซึ่งเป็นก้าวแรกในการปฏิรูประบบการขนส่งทางราง อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางรางยังไม่สามารถใช้อำนาจในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลได้เต็มที่ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องออกมา
• การกลั่นกรองโครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ โดยซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ เช่น การปรับปรุงโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มจะแข่งขันในการประมูลน้อย โดยลดมูลค่าของสัญญาลงจากสัญญาละกว่า 2 หมื่นล้านบาท จำนวน 5 สัญญา เหลือสัญญาละ 5,000-10,000 ล้านบาท จำนวน 13 สัญญา ทำให้มีการแข่งขันในการประมูลมากขึ้น
• การตัดสิทธิประโยชน์ที่ไม่เป็นตัวเงินและค่าเลี้ยงรับรองของประธานและกรรมการรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ซึ่งช่วยลดต้นทุนและลดการรั่วไหลของรัฐวิสาหกิจ
ส่วนผลงานที่ยังไม่บรรลุผลเป็นรูปธรรมคือ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในเชิงโครงสร้าง จากการไม่สามารถผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ .... ซึ่งกำหนดให้จัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” (Super-holding Company) ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับ Temasek ของสิงคโปร์ เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของที่ชัดเจน และลดการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในการแต่งตั้งกรรมการของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวถูกต่อต้านจากทั้งหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่จะสูญเสียอำนาจ ตลอดจนจากความวิตกกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในการคัดเลือกกรรมการของบรรฺษัทเอง ซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาการคอร์รัปชันในรัฐวิสาหกิจได้แล้ว ยังอาจทำให้เกิดการคอร์รัปชันแบบรวมศูนย์ด้วย
กล่าวโดยสรุป การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของไทยในเชิงโครงสร้างมีความคืบหน้าในส่วนของการแต่งตั้งหน่วยงานกำกับดูแลในสาขาขนส่ง การแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า โดยเฉพาะปัญหา “ธงแดง ICAO” และการกลั่นกรองโครงการขนาดใหญ่บางโครงการ แต่ไม่ได้ทำให้เกิดกลไกการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่จะมีประสิทธิผลในระยะยาว
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• เร่งสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐ เช่น ออกกฎหมายการประกอบกิจการขนส่งทางราง และพัฒนาเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยให้สามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลได้อย่างเต็มรูปแบบ
• กำหนดให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะในระดับเดียวกันกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
• หาพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ให้มาร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
• ปรับปรุงกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ให้มีความโปร่งใส และได้บุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
• ปรับปรุงข้อเสนอ “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” โดยลดจุดอ่อนต่างๆ ที่มีอยู่ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในระยะยาว
การคมนาคม
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลประยุทธ์ในการพัฒนาระบบคมนาคม โดยรัฐบาลพยายามขับเคลื่อนโครงการตามแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ศ. 2558–2565) วงเงิน 3 ล้านล้านบาท โดยนำโครงการใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาปรับปรุงเพิ่มเติม
ความสำเร็จสำคัญของรัฐบาลประยุทธ์คือ สามารถอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนระบบราง ซึ่งเป็นผลมาจากเสถียรภาพของรัฐบาล โดยโครงการที่เกิดขึ้นรวมถึง
• โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งได้อนุมัติให้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว 5 เส้นทาง เพิ่มเติมจากเส้นทางเดิมที่มีการก่อสร้างอยู่แล้ว ซึ่งจะมีผลให้มีการเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ อย่างน้อยปีละหนึ่งเส้นทาง ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปต่อเนื่องไปหลายปี
• โครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งได้อนุมัติให้เริ่มก่อสร้างไปแล้วหลายช่วง ซึ่งจะทำให้ระบบรถไฟระหว่างเมืองซึ่งเดิมเป็นทางเดี่ยว มีความจุและมีคุณภาพของบริการที่ดีมากขึ้นในอนาคต และคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนในการก่อสร้างและงานระบบกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ต่อเนื่องไปตลอด 3-4 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีผลงานอื่นๆ ในด้านการขนส่งดังต่อไปนี้
• การจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งสามารถย้ายจุดจอดรถตู้โดยสารระหว่างจังหวัดไปยังสถานีขนส่ง ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด แม้จะทำให้เกิดความไม่สะดวกของผู้ใช้บริการบางส่วน
• การจำกัดอายุรถตู้โดยสารสาธารณะไว้ที่ 10 ปี และติดตั้ง GPS กับรถโดยสารประจำทางเพื่อกำกับดูแลด้านความเร็ว ซึ่งช่วยลดอุบัติเหตุร้ายแรงได้บางส่วน
• การจัดระเบียบรถแท็กซี่ในโครงการ Taxi OK โดยติดตั้ง GPS และระบบด้านความปลอดภัยอื่นๆ ซึ่งช่วยให้สามารถดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมต่างๆ ดังต่อไปนี้
• การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่ขาดการวางแผนในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ทำให้ระบบรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางคือ เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา (รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) กับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตลอดจนเส้นทางอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มีหลายระบบผสมกัน ซึ่งจะไม่เกิดการประหยัดจากขนาดจากการใช้อะไหล่และการซ่อมบำรุงร่วมกัน
• การให้เอกชนมาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าในเมือง ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และลดภาระงบประมาณของภาครัฐ แต่ก็ทำให้เกิดอัตราค่าโดยสารในระดับที่สูง ซึ่งจะไม่จูงใจให้ประชาชนใช้บริการมากเท่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้าหลายสายต่อเนื่องกัน
• การที่บริการรถรับจ้างสาธารณะที่เรียกผ่านแอพพลิเคชั่นยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น UBER (ในอดีต) และ Grab ทั้งในส่วนของรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• วางกลไกให้ระบบรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางต่างๆ สามารถใช้งานร่วมกันได้ เพื่อสร้างการประหยัดจากขนาด และเพิ่มประสิทธิภาพของบริการ
• วางกลไกบริหารจัดการสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาค่าโดยสารที่จะมีราคาแพงในอนาคต
• จัดระเบียบรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตลอดจนเปิดเสรีบริการการใช้แอพพลิเคชั่นเรียกรถรับจ้างสาธารณะ ควบคู่ไปกับการปรับอัตราค่าโดยสารขั้นต่ำของรถแท็กซี่
3. ผลงานของรัฐบาลด้านความ “ยั่งยืน”
รัฐบาลประยุทธ์มองว่า ความเหลื่อมล้ำและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งในสังคม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้การพัฒนาประเทศไทยไม่มีความยั่งยืน
การแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน
รัฐบาลประยุทธ์แถลงนโยบายว่า จะมุ่งต่อต้านคอร์รัปชันและเร่งสร้างความโปร่งใสในภาครัฐ ในทางปฏิบัติ รัฐบาลเลือกใช้มาตรการหลักคือ การลดดุลพินิจในการอนุญาตของหน่วยราชการ และการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
ผลการดำเนินการที่ปรากฏเป็นรูปธรรมได้แก่
• การเร่งรัดการออกใบอนุญาตโรงงาน (รง. 4) ซึ่งคั่งค้างมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้า โดยมีรายงานข่าวว่า กระบวนการดังกล่าวเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน โดยมีการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการที่ขอรับใบอนุญาต
• การออก พ.ร.บ. การอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยกำหนดว่าหน่วยงานรัฐที่ออกใบอนุญาตต้องแจ้งระยะเวลาที่ใช้พิจารณา เอกสารที่ต้องใช้ ค่าธรรมเนียม และเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ประชาชนทราบ ในด้านหนึ่ง กฎหมายดังกล่าวไม่มีประสิทธิผลนัก เนื่องจากหน่วยราชการจำนวนมากประกาศขยายเวลาที่ใช้ในการพิจารณาอนุญาต เนื่องจากเกรงว่าจะไม่สามารถทำได้ตามกำหนด แต่ในอีกด้านหนึ่ง กฎหมายดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นโครงการปรับปรุงการอนุญาตทางราชการ 2 โครงการใหญ่
1. การปรับปรุงการออกใบอนุญาตของหน่วยราชการ ซึ่งถูกใช้ในการจัดทำดัชนีความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลก
2. โครงการ “กิโยตินกฎหมาย” (Regulatory Guillotine) ซึ่งเสนอให้ยกเลิกการอนุญาตจากทางราชการ 480 เรื่อง จาก 1,000 เรื่องที่ทบทวน โดยหากทำได้สำเร็จ คาดว่าจะช่วยให้ประเทศไทยลดต้นทุนของภาคเอกชนลงได้ 2.1 หมื่นล้านบาทต่อปี
• การปรับปรุงความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยการออก พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งในด้านหนึ่ง มีผลทำให้ความคล่องตัวของหน่วยงานรัฐต่างๆ ลดลงไปมาก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ช่วยเพิ่มความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดการคอร์รัปชัน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังรับโครงการสร้างมาตรฐานความโปร่งใสในระดับสากลอย่างน้อย 4 โครงการ มาใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและการตรวจสอบโดยประชาชน ได้แก่
• โครงการ “ข้อตกลงคุณธรรม” (Integrity Pact) ซึ่งผลักดันโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยถูกบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ และถูกนำไปใช้กับโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ประมูลและทำสัญญาแล้ว 47 โครงการ มูลค่า 2.16 แสนล้านบาท โดยประมูลได้ในราคาที่ต่ำกว่างบประมาณถึง 7 หมื่นล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 33
• โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) ซึ่งถูกนำไปใช้ในโครงการก่อสร้างภาครัฐ 108 โครงการ รวมมูลค่าสัญญา 5 หมื่นล้านบาท โดยมีราคาประมูลได้ต่ำกว่างบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 22
• โครงการรัฐบาลโปร่งใส (Open Government Partnership) และ
• โครงการความโปร่งใสในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (EITI)
อย่างไรก็ตาม 2 โครงการสุดท้ายยังมีความคืบหน้าไม่มากพอที่จะทำให้ไทยเข้าสู่มาตรฐานสากล นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นในการลดการคอร์รัปชันของรัฐบาลยังถูกตั้งคำถามในวงกว้างเมื่อเกิดกรณีอื้อฉาวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนใกล้ชิดผู้นำรัฐบาล แล้วรัฐบาลแสดงท่าทีปิดกั้นการเปิดเผยข้อมูล และการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เป็นอิสระ อย่างน้อยใน 3 เรื่องใหญ่คือ การก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ การที่ญาติของผู้นำรัฐบาลเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐหลายแห่ง และกรณี “นาฬิกายืมเพื่อน”
นอกจากนี้ แม้ในช่วงแรกของรัฐบาล การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจจะดำเนินการไปด้วยความโปร่งใสพอสมควร แต่ในช่วงประมาณ 2 ปีหลังของรัฐบาล กลับมีความไม่โปร่งใสในหลายโครงการ เช่น การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ที่มีการย้ายตำแหน่งที่ตั้งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 โดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคำถามต่อความโปร่งใสในการร่วมทุนกับเอกชนที่เกิดขึ้นในรัฐบาลก่อนหน้าต่อเนื่องมาถึงสมัยรัฐบาลประยุทธ์ เช่น การประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีและการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูมิภาคอีก 3 แห่ง ซึ่งผู้ประกอบการรายเดิมชนะการประมูลทั้ง 3 สัญญา โดยส่วนหนึ่งเพราะเกณฑ์ในการให้คะแนนให้น้ำหนักกับข้อเสนอทางเทคนิคมาก ซึ่งเปิดช่องในการใช้ดุลพินิจของหน่วยงานรัฐคู่สัญญาสูง
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• สานต่อโครงการสร้างมาตรฐานความโปร่งใสในระดับสากลทั้ง 4 โครงการ ซึ่งเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดคอร์รัปชัน
• เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและสัมปทานต่างๆ อย่างโปร่งใส
• ปราบปรามคอร์รัปชันอย่างเข้มงวด ไม่ละเว้นแม้ในกรณีที่เกิดคอร์รัปชันกับคนใกล้ชิดผู้นำรัฐบาล
สวัสดิการสังคมและการลดความเหลื่อมล้ำ
ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และด้านสินทรัพย์สูงมาก เช่นเดียวกับหลายรัฐบาลก่อนหน้า รัฐบาลประยุทธ์ประกาศให้ความสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและดูแลความเป็นอยู่ของคนไทย โดยกล่าวว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
รัฐบาลมีผลงานที่สำคัญในด้านการลดความเหลื่อมล้ำและการให้สวัสดิการแก่ประชาชนดังนี้
• การจัดทำโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ซึ่งมุ่งช่วยเหลือประชาชนยากจนแบบเจาะจง ประมาณ 14.5 ล้านคน โดยบูรณาการข้อมูลจากแหล่งต่างๆ จำนวนมาก แทนการให้สวัสดิการถ้วนหน้าที่ใช้ในรัฐบาลก่อนหน้า (เช่น โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า) ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ จากโครงการนี้มีส่วนช่วยลดภาระทางการเงินที่เป็นรายจ่ายประจำ ทำให้ผู้ถือบัตรสามารถวางแผนการใช้จ่ายระยะปานกลางได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การให้สวัสดิการแบบเจาะจง มีผลทำให้ประชาชนยากจนบางส่วนตกหล่น โดยปัญหานี้ยังไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลมากนัก นอกเหนือไปจากการรับจดทะเบียนเพิ่มในรอบ 3 ที่เน้นคนพิการและผู้ป่วยติดเตียง นอกจากนี้ การโอนเงินให้ผู้ถือบัตรในช่วงจังหวะที่อาจทำให้เกิดความได้เปรียบทางการเมืองในบางครั้ง ยังทำให้เกิดคำถามต่อเป้าหมายในการให้สวัสดิการดังกล่าวด้วย
• โครงการให้เงินอุดหนุนการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในครอบครัวยากจน ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวที่มีผลตอบแทนการลงทุนทางสังคมสูงมาก อย่างไรก็ตาม การมุ่งช่วยเหลือครอบครัวยากจนแบบเจาะจงก็มีผลทำให้เกิดการตกหล่นของเด็กแรกเกิดยากจนประมาณร้อยละ 30 ภายหลัง รัฐบาลได้ขยายความครอบคลุมมากขึ้นเป็นระยะ เช่น การเพิ่มอายุเด็กที่จะได้รับเงินอุดหนุน การเพิ่มเงินอุดหนุนรายเดือน การขยับรายได้เกณฑ์ขั้นต่ำขึ้น เป็นต้น
• การออก พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ได้สำเร็จภายในเวลา 1 ปีหลังรับตำแหน่ง และออก พรบ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ในช่วงปลายรัฐบาล ทั้งที่รัฐบาลก่อนหน้าไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ในความพยายามลดความเหลื่อมล้ำ แม้มาตรการนี้มีประสิทธิผลน้อย เมื่อดูจากจำนวนผู้เสียภาษีและภาษีที่ได้รับในกรณีภาษีมรดก และอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกปรับลดลงหลายครั้ง จนคาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มไม่มากอย่างน้อยในระยะแรก ซึ่งทำให้แทบไม่มีผลในการลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ ภาษีที่ดินยังถูกแปลงเจตนารมณ์จากเดิมที่ตั้งใจให้เป็นเครื่องมือในการกระจายอำนาจทางการคลังสู่ท้องถิ่นด้วย
ในขณะเดียวกัน การดำเนินการหลายอย่างของรัฐบาล ก็อาจมีผลในการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจ มากกว่าที่จะส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นมีความสามารถในการดูแลประชาชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายด้านสวัสดิการที่รัฐบาลให้ความสำคัญน้อยมากคือ การเตรียมความพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว (Technological Disruption) ของแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุเกิน 40 ปี และมีการศึกษาไม่เกินมัธยมต้น ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 40 ของแรงงานไทยทั้งหมด
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• พัฒนาโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ต่อเนื่องไป โดยปรับปรุงรายละเอียดของโครงการตามผลการประเมิน ซึ่งควรดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกัน ควรใช้สวัสดิการแบบถ้วนหน้าสำหรับสวัสดิการที่สำคัญและมีผลตอบแทนในการลงทุนสูงเช่น สวัสดิการเด็กปฐมวัย
• เร่งเตรียมความพร้อมของแรงงานกลุ่มเสี่ยง ทั้งการพัฒนาระบบเพื่อสร้างทักษะที่เหมาะสมกับประชากรกลุ่มเสี่ยง และเตรียมสร้างตาข่ายสังคม (Safety Net) เพื่อรองรับแรงงานที่ตกงานจากการตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
การคุ้มครองแรงงาน
รัฐบาลประยุทธ์มีผลงานด้านนโยบายแรงงานที่ประสบผลสำเร็จบางเรื่องดังต่อไปนี้
• การจัดระเบียบแรงงานแรงงานต่างด้าวให้เข้าระบบ ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้าทำไม่สำเร็จ โดยสามารถจดทะเบียนพิสูจน์สัญชาติ ทำให้แรงงานต่างด้าวจากลาว กัมพูชา และเมียนมาร์เข้าระบบเกือบทั้งหมด และยกเลิกการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่ โดยให้นำเข้าแรงงานผ่านระบบ MOU เท่านั้น
• การให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ฉบับที่ 188 ของ ILO (C188) ซึ่งเป็นการแสดงออกต่อประชาคมโลกว่า ไทยมีความมุ่งมั่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ ซึ่งจะทำให้ภาคประมงของไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี และส่งผลบวกต่อการส่งออกและการจ้างงานในสาขาประมง
ในขณะเดียวกัน ยังมีนโยบายในหลายด้านที่รัฐบาลยังไม่ได้มีความมุ่งมั่นในการผลักดันอย่างเต็มที่ จึงยังไม่เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ 21.4 ล้านคน ซึ่งยังมีรายได้ต่ำ ไม่แน่นอน และไม่ได้รับสวัสดิการที่พอเพียง
รัฐบาลใหม่ควรมุ่งเน้นคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ทั้งในด้านอัตราค่าจ้าง สวัสดิการและชั่วโมงทำงาน โดยพิจารณาออกกฎหมายขึ้นมาเป็นการเฉพาะ
นโยบายด้านการรักษาพยาบาล
รัฐบาลประยุทธ์ให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลในราคาไม่สูง โดยมีผลงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่ต่อเนื่องจากเดิม ได้แก่
• การปรับระบบการแพทย์ฉุกเฉินวิกฤติ (UCEP) ซึ่งริเริ่มโดยรัฐบาลก่อน ที่กำหนดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิต สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้ในช่วงแรก มีความคืบหน้ามากขึ้นในช่วงรัฐบาลนี้ แม้ว่าจะยังมีปัญหาที่โรงพยาบาลเอกชนจำนวนหนึ่งยังเห็นว่าค่าตอบแทนที่รัฐจ่ายให้ไม่คุ้มทุน และยังปรากฏข่าวว่าโรงพยาบาลเอกชนจำนวนหนึ่งยังพยายามกดดันผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ามารับการรักษาให้ไม่ใช้สิทธิ์นี้
• การปรับการบริหารในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อแก้ไขปัญหาในรายละเอียด รวมทั้งขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมยาราคาแพงบางตัว
อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว รัฐบาลยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลคุณภาพดีในราคาไม่สูง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่สังคมไทยยังไม่มีฉันทามติในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีส่วนทำให้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่มีผู้มารับบริการมากขึ้น ทำให้การพัฒนาคุณภาพทำได้จำกัด และการที่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสถานพยาบาลของเอกชน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ป่วยจากประเทศที่มีรายได้สูง (Medical Tourist) เข้ามารับบริการเพิ่มขึ้นจำนวนมากในสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยยังมีผลดึงราคาค่ารักษาพยาบาลของประเทศในภาพรวมให้สูงขึ้นด้วย
ในประเด็นเรื่องการขาดฉันทามติเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น เราได้เห็นผู้นำรัฐบาลแสดงความเห็นต่อสาธารณะในหลายครั้งว่าประเทศไทยไม่ได้มีฐานะดีพอที่จะทำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และพยายามชักชวนประชาชนที่พอมีกำลังจ่ายเองได้ไม่ให้ไปใช้สิทธิ นอกจากนี้ ในปี 2559 รัฐบาลยังออกกฎระเบียบที่สร้างปัญหาการใช้เงินของโรงพยาบาลชุมชนจำนวนมาก จนต้องออกคำสั่งตามมาตรา 44 ตามมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว หลังจากนั้น รัฐบาลก็ดำเนินโครงการนี้ในรูปแบบที่ไม่ต่างจากรัฐบาลก่อนๆ มากนัก ด้วยงบที่จำกัด โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่งจึงพยายามระดมทุนโดยขอรับบริจาคจากเอกชนเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ในขณะที่ภาคประชาชนบางส่วนก็จัดโครงการต่างๆ เพื่อระดมทุนให้โรงพยาบาล เช่น โครงการ “ก้าว” ของ ตูน บอดี้สแลม
ในด้านกฎหมาย รัฐบาลได้ผลักดันให้ยกร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับใหม่ ขึ้นมาตั้งแต่ประมาณปี 2559 แต่ในสภาวะที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีฉันทามติในเรื่องนี้ การแก้ พ.ร.บ. ก็ยังไม่สามารถหาจุดร่วมที่ลงตัว และในที่สุดก็ยังไม่สามารถออก พ.ร.บ. ฉบับใหม่มาได้
ในด้านค่ารักษาพยาบาลนั้น กระทรวงพาณิชย์พยายามเข้าไปควบคุมราคา โดยเฉพาะราคายาในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งหลายกรณีแพงกว่าของโรงพยาบาลรัฐหลายเท่าตัว แต่ก็ยังไม่ได้มีความคืบหน้าในการดำเนินการมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้มีส่วนร่วม และอีกส่วนหนึ่งเพราะค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลัง ซึ่งเกิดจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ Medical Tourism โดยทุกรัฐบาลยังไม่ได้พิจารณาใช้มาตรการใดในการลดผลกระทบในส่วนนี้ลง
ปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขในปัจจุบันล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาพื้นฐานที่สืบเนื่องมาเป็นเวลาเกือบยี่สิบปี สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการคือ หาทางแก้ปัญหาพื้นฐานโดยควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• จัดให้มีการศึกษาวิจัยด้านระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง เนื่องจากการขาดฉันทามติในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และระบบสาธารณสุขในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันมาก การแก้ไขปัญหาต่างๆ จึงต้องมีพื้นฐานความรู้เชิงระบบ ข้อมูลทางวิชาการและประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติ จึงจะสามารถนำไปสู่การสร้างฉันทามติได้ และทำให้การปฏิรูปไม่สร้างให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาแทน
• ศึกษาผลกระทบของ Medical Tourism อย่างรอบด้าน เพราะแม้จะสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ก็มีผลกระทบต่อส่วนอื่น เช่น ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ และค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในภาพรวม
• ในกรณีที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้มีการร่วมจ่าย (Copayment) การมีราคามาตรฐานก็จะมีความจำเป็นมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข
การจัดระบบทรัพยากรธรรมชาติและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลประยุทธ์มีผลงานหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบทรัพยากรธรรมชาติ ดังต่อไปนี้
• การออก พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้สำเร็จจากเดิมที่เคยล้มเหลวมาหลายครั้งในอดีต ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการแก้ไขความขัดแย้งในการช่วงชิงอำนาจการจัดการน้ำระหว่างหน่วยงานราชการต่างๆ โดยการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทำหน้าที่ในการจัดทำฐานข้อมูล และให้อำนาจการบริหารจัดการน้ำในภาวะฉุกเฉินอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี และสามารถบูรณาการนโยบายและมาตรการของหน่วยงานที่จัดการน้ำกว่า 40 หน่วยงาน นอกจากนี้ รัฐบาลยังกำหนดแผนแม่บทการจัดการน้ำระยะยาว และเริ่มมีการลงทุนในโครงการที่สำคัญตามแผน โดยเฉพาะโครงการระบายน้ำหลาก “บางบาล-บางไทร” เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดอยุธยา
• การมอบสิทธิทำกินในพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาประชาชนที่เข้าอาศัยในพื้นที่ป่ามาเป็นระยะเวลานาน โดยที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นของรัฐ ไม่สามารถเปลี่ยนมือหรือขายได้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังยุติการแจกเอกสารสิทธิ์ให้เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินเป็นรายบุคคล แต่ดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ผู้ยากไร้แบบแปลงรวมแทน
• การยกเลิกข้อบัญญัติเกี่ยวกับไม้หวงห้าม ซึ่งกำหนดให้ไม้สักและไม้ยางนาตามมาตรา 7 ใน พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และไม้ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 106/2557 อีก 15 ชนิด รวม 17 ชนิด ไม่เป็นไม้หวงห้ามต่อไป ซึ่งมีผลในการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังนี้
• พัฒนาภาษีการพัฒนาพื้นที่ (Land Betterment Tax) แทนการเก็บภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะจากการซื้อขายที่ดิน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม บนพื้นฐานของการประเมินมูลค่าที่ดินและการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำที่เหมาะสมของสิ่งปลูกสร้าง
• ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น ยกเลิกการห้ามใช้กฎหมายเลื่อยโซ่ยนต์ (ปี 2545) ซึ่งเป็นอุปสรรคในการจัดการป่าไม้และสวนป่าเศรษฐกิจ และสนันสนุนให้สามารถขนย้ายไม้และส่งออกไม้ได้อย่างเสรี
• ปรับภาษีประจำปีของรถยนต์ให้สะท้อนการปล่อยมลพิษ และปรับภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้สะท้อนปริมาณมลพิษของน้ำมันแต่ละประเภท ตลอดจนยกระดับมาตรฐานน้ำมันจาก Euro 4 เป็น Euro 5 เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากภาคขนส่ง และศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันจากภาคเกษตร
• สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์โฟมตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 และนำมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกมาใช้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้ถุงประเภทที่ใช้ซ้ำได้มากขึ้น
• ปรับรูปแบบในการเก็บค่าขยะจากแบบเหมาจ่ายรายเดือนเป็นการเก็บค่าขยะตามปริมาณขยะที่ทิ้ง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการคัดแยกขยะที่ต้นทางมากขึ้น
• ให้การอุดหนุนการนำขยะหรือเศษวัสดุทางการเกษตรมาผลิตพลังงานชีวมวล เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษ
4. บทส่งท้าย
ตลอดระยะเวลา 5 ปีในการดำรงตำแหน่ง รัฐบาลประยุทธ์ได้สร้างผลงานที่สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมไว้หลายด้าน ริเริ่มโครงการใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งสมควรได้รับการสานต่อ
ในทางกลับกัน รัฐบาลก็ดำเนินนโยบายอีกหลายด้านที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นจากทั้งความเข้าใจผิด การกำหนดนโยบายโดยไม่ผ่านการปรึกษาหารืออย่างรอบด้าน การรวมศูนย์อำนาจ การใช้ระบบราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย โดยละเลยกลไกอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ตลอดจนการที่รัฐบาลถูกแทรกแซงโดยกลุ่มผลประโยชน์ นโยบายในกลุ่มหลังนี้สมควรได้รับการทบทวนและปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งยกเลิกไปโดยรัฐบาลใหม่