“พันธบัตรป่าไม้” แรงจูงใจฟื้นป่าสมดุล 30 ปี 20 ล้านไร่
ท่ามกลางสถานการณ์ป่าไม้ถูกทำลาย พื้นที่ป่าลดลงต่อเนื่องจนเหลือเพียง 107.6 ล้านไร่ กิจกรรมปลูกป่าและฟื้นฟูป่ายังทดแทนได้ไม่เพียงพอ และยังขึ้นอยู่กับการลงมือทำของคนที่เห็นประโยชน์ “พันธบัตรป่าไม้” เป็นอีกเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยสร้างสมดุลคนกับธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง เพราะสามารถนำมาใช้ระดมทุนหรือทรัพยากรจากนักลงทุนภาคเอกชนและประชาชนได้กว้างขวางมากขึ้น
ผลศึกษาแนวทางการดำเนินการพันธบัตรป่าไม้สำหรับประเทศไทย แนะตั้งองค์การมหาชนดำเนินการออกพันธบัตรป่าไม้ระยะยาวมีผลตอบแทนทั้งดอกเบี้ยและเป็นเครื่องมือซีเอสอาร์สร้างภาพลักษณ์องค์กรเพื่อสังคม เพิ่มโอกาสให้ผู้สนใจร่วมปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าได้แม้ไม่ต้องลงมือเอง เพราะเงินจากการขายพันธบัตรจะนำไปใช้เพื่อปลูกป่าเพิ่ม เสริมป่าเก่า สร้างชุมชนคนรักษ์ป่า กำหนดตัวอย่างพันธบัตรระยะยาว 30 ปี ช่วยปลูกป่าและฟื้นฟูสภาพป่าเพิ่ม 20 ล้านไร่
ทั้งนี้ รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว. เปิดเผยความคืบหน้าการนำแนวทาง “พันธบัตรป่าไม้” มาใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่า โดยระบุว่า
ที่ผ่านมาพื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงไปมากและมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ โดยที่ไม่สามารถนำทรัพยากรจากงบประมาณปกติมาใช้เพื่อการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าได้มากนัก เนื่องจากข้อจำกัดของระบบการคลังในส่วนราชการ ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้และลดข้อจำกัดการพึ่งพิงทรัพยากรของภาครัฐ(งบประมาณและบุคลากร) คือ การนำระบบพันธบัตรป่าไม้มาใช้ เพราะเป็นระบบที่ทำให้สามารถระดมทรัพยากรภาคเอกชนและ ภาคประชาชนได้โดยตรง ไม่ต้องไปพึ่งงบประมาณของรัฐเป็นหลัก โดยระบบนี้มีดำเนินการแล้วในประเทศชิลีและมีอีกหลายประเทศสนใจอยู่ระหว่างศึกษาดำเนินการเช่นเดียวกับประเทศไทย คือ บราซิลและสหรัฐอเมริกา
พันธบัตรป่าไม้จะเป็นเครื่องมืออย่างดีในการเพิ่มโอกาสให้กับผู้สนใจที่ไม่มีโอกาสได้ลงมือปลูกต้นไม้ ฟื้นฟูสภาพป่า ได้เข้ามาลงทุนซื้อพันธบัตรป่าไม้ซึ่งเป็นพันธบัตรระยะยาวโดยมีผลตอบแทนคือดอกเบี้ย และมากกว่านั้นการลงทุนพันธบัตรป่าไม้ในภาคเอกชนยังเป็นเครื่องมือซีเอสอาร์สร้างภาพลักษณ์องค์กรได้อีกทางหนึ่ง แนวทางการดำเนินงานของพันธบัตรป่าไม้คือ การนำเงินที่ได้จากการซื้อพันธบัตรไปใช้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ ด้วยการปลูกป่า และบำรุงรักษาป่าอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากที่ผ่านมาลำพังการปลูกป่าตามภารกิจของหน่วยงานหรือตามโครงการ/วาระพิเศษต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนพยายามดำเนินการนั้นยังไม่เพียงพอและขาดความต่อเนื่องจึงไม่สามารถฟื้นคืนสภาพป่าได้มากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าซึ่งถูกทำลายต่อเนื่อง
สำหรับแนวทางการดำเนินการพันธบัตรป่าไม้ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยนั้น การศึกษาได้ประมาณการรายรับและรายจ่าย โดยยึดหลักการที่ว่าเมื่อป่าไม้มีคุณค่าอนันต์ผู้ใช้หรือผู้ได้ประโยชน์จากป่าก็ควรจ่ายเพื่อนำเงินนั้นไปฟื้นฟูบำรุงรักษาธรรมชาติให้สมดุล รายรับจึงมาจากผู้ใช้ประโยชน์ระบบนิเวศป่าไม้ที่สมบูรณ์ขึ้นและให้ประโยชน์ได้ภายใต้การจัดการดูแลให้สมดุล ได้แก่ รายได้การทำไม้อย่างยั่งยืน การขายคาร์บอนเครดิตในภาคป่าไม้ การเก็บค่าน้ำจากผู้ใช้น้ำรายใหญ่ บางส่วนจากงบประมาณป้องกันปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งของรัฐบาล การเก็บภาษีคาร์บอน กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และรายรับอื่น ๆ เช่นงบประมาณด้านการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และงบประมาณในการฟื้นฟูดินเค็ม เป็นต้น
ประมาณการมูลค่าผลตอบแทนทางการเงินของป่าไม้เบื้องต้น ตลอดอายุพันธบัตร 30 ปี จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าปลูก 20 ล้านไร่ โดยมีต้นทุนในการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่จะมีรายรับจากระบบนิเวศป่าที่ดีขึ้น(รายรับ 5 แหล่ง) ประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ผลตอบแทนทางการเงินของป่าไม้ตลอดอายุพันธบัตรจึงมีความคุ้มค่าคือราว 3 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อพันธบัตรเมื่อครบกำหนดเวลาได้
“สำหรับต้นทุนในการปลูกป่าและฟื้นฟูป่านั้น ต้นทุนส่วนใหญ่คือการปลูกป่าและบำรุงรักษา ประมาณ 1.3 แสนล้านบาทตลอด 30 ปี โดยการลงทุนจะน้อยลงเรื่อย ๆตามสภาพป่าที่ดีขึ้นในแต่ละปี ส่วนต้นทุนในการทำไม้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท โดยเลือกดำเนินการในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและพื้นที่บุกรุกปลูกพืชเศรษฐกิจ จากกรมป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช”
การศึกษายังเห็นว่าแนวทางที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนคือต้องมีการตั้งองค์การมหาชนขึ้นดำเนินการ โดยการศึกษานี้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนสภาพองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ให้เป็นองค์การมหาชนที่มีภารกิจด้านการปลูกป่า มีกฎหมายเป็นของตนเอง สามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนได้ และมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นของรัฐ
อย่างไรก็ตาม แนวทางหนึ่งในการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าในพื้นที่ซึ่งมีชุมชนอยู่กับป่า หรือมีการบุกรุกปลูกพืชเศรษฐกิจอยู่แล้ว ก็อาจปรับเปลี่ยนสร้างความร่วมมือ สร้างอาชีพใหม่ให้ทำหน้าที่ปลูกป่าและดูแลป่าและมีรายได้เพียงพอดำรงชีพ โดยไม่ต้องออกจากพื้นที่ ในระยะยาวคนเหล่านี้จะกลายมาเป็นผู้ปกป้องดูแลพื้นที่ป่า และพันธบัตรป่าไม้ยังสามารถทำควบคู่ไปได้กับกิจกรรมปลูกป่าหรืออนุรักษ์ป่าอื่น ๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ กองทุนสวนป่า และ ธนาคารต้นไม้ เป็นต้น
ดร.อดิศร์ กล่าวด้วยว่า การปลูกป่าและฟื้นฟูป่าปีละ 1 ล้านไร่ก็ถือว่ามากแล้ว และสิ่งที่ควรจะทำใน ระยะ 1-2 ปีแรกคือการสร้างรูปแบบชุมชนป่าไม้ให้เป็นที่ประจักษ์กับชาวบ้าน ให้เป็นตัวอย่างชุมชน (1ชุมชนหรือ 1 ยูนิต )จะใช้เนื้อที่ป่าประมาณ 2-3 หมื่นไร่เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีขนาดใหญ่พอสมควร และจะแสดงให้เห็นว่า ฐานะความเป็นอยู่ รายได้ อาชีพเสริม โรงเรียน สาธารณสุข ทุกอย่างลงตัวไม่ต้องอพยพมาในเมือง อยู่ในนั้นครอบครัวก็อยู่ด้วยกัน และที่สำคัญรัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ไม่มั่นใจอย่างที่ผ่านมาซึ่งมีลักษณะ “วันหนึ่งบอกให้เขาปลูกต้นไม้ และวันหนึ่งบอกให้เขาตัดต้นไม้”.