‘อภิสิทธิ์’ ชี้รธน. ปี 60 เป้าหมายไม่ชัด ปฏิรูป ตร. -การศึกษา ไร้รูปธรรม
วงเสวนาชี้ รธน. ปี 60 ถอยหลัง ‘ดร.ปริญญา’ ตั้งข้อสงสัยที่มา ส.ว. -หัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ด้าน ‘อภิสิทธิ์’ เชื่อไม่ใช่ฉบับสุดท้าย ยังมีต่ออีก ซัดมีเป้าหมายไม่ชัด ปฏิรูปประเทศ ‘ตำรวจ’ –‘การศึกษา’ ไม่เป็นรูปธรรม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน รัฐธรรมนูญ 60 : 60 ปี สมคิด เลิศไพฑูรย์ พร้อมเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 :เดินหน้าหรือถอยหลัง ณ หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงประสบการณ์การเข้าร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่าบ้านเมืองมีหลายฝ่าย และมีประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องกับบ้านเมือง ดังนั้นการอยู่ร่วมกันจำเป็นต้องมีกติกาเป็นการวางกรอบให้กับสังคม โดยกล่าว รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับคน มีบทบาทอย่างยิ่งกับทุกสถาบันตั้งแต่สถาบันสูงสุดของชาติจนถึงสถาบันที่ใช้อำนาจอธิปไตย แต่คนมักจะมองข้าม และสิ่งที่ภาคสังคมส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับการทำรัฐธรรมนูญคือระยะเวลาการใช้รัฐธรรมนูญนั้น ว่าจะบังคับใช้ได้นานหรือไม่ จะมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงตอนไหน เนื่องจากประสบการณ์การคงอยู่ของรัฐธรรมนูญของประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นระยะเวลาที่ไม่นาน
ถ้าหากพูดถึงประเด็นว่ารัฐธรรมนูญในวันนี้เดินหน้าหรือถอยหลัง อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เป้าหมายและจุดประสงค์ของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมอยากให้เกิดการเดินหน้า แต่การยกร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งนั้น จะมีเหตุการณ์ที่เป็นเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงเสมอ นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ
กระทั่งฉบับที่ 20 คือ ฉบับปี 2560 ที่มีจุดมุ่งหมายหลัก 4 ด้าน คือ 1.การวางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.การป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิด 3.การป้องกันการล้อมล้างรัฐธรรมนูญ และ 4.การปฏิรูปบ้านเมืองในด้านต่างๆ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีจุดเด่นคือป้องกันไม่ให้คนไม่ดี สามารถเข้ามาใช้อำนาจทางการเมือง หรือเมื่อเข้ามาได้ต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มแข็ง ซึ่งเนื้อหาอาจทำให้ทุกคนพอใจ แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เดินหน้าไปได้
ด้าน ผศ.ดร. ปริญญา รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความแตกต่างเป็นเรื่องพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่ถ้าพูดถึงตามโจทย์หัวข้อเสวนาที่ถามถึงว่าการเมืองไทยในปัจจุบันเดินหน้าหรือถอยหลังนั้น คิดว่าเป็นความล้มเหลว โดยวิเคราะห์การเมืองในปัจจุบันยุครัฐบาล คสช. ตามหลักการ เหตุผลตามทฤษฎี และการลงพื้นที่สำรวจและวิจัย
โดยกล่าวว่าการเมืองไทยในปัจจุบันมีเรื่องที่เป็นที่สุดในหลายเรื่อง อาทิ การมีพรรคการเมืองและมีพรรคร่วมรัฐบาลมากที่สุด 26 พรรค เป็นพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของโลก มีเสถียรภาพน้อยที่สุดของการเมืองไทย และมีการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ช้าที่สุด ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมาใช้เวลาไม่เคยเกิน 30 วัน ครั้งนี้ต้องขยายเวลาถึง 90 วัน แต่ใช้เวลารวมกันถึง 45 วัน ตั้งคณะรัฐมนตรีช้าที่สุด และปัจจุบันก็ยังไม่มีคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อสงสัยที่ไม่โปร่งใสหลายเรื่อง เช่น เป็นระบบแบบผสม (Hybrid System) ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ไม่ถือว่าคำชม แต่หมายถึงการมีประชาธิปไตยที่ไม่เต็มใบ ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ทั้ง 250 คน และเรื่องที่ต้องติดตามต่อคือเรื่องหัวหน้า คสช.นั้น ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญคือผู้คุมกฎกติกาในเรื่องนี้ แต่บรรดาองค์กรอิสระทั้งหลาย รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญใน 5 ปีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาจาก ส.ว. ที่มาจากสรรหาโดย คสช.
จึงเป็นที่มาของคำถามว่า เราจะตรวจสอบผู้ที่เลือกเข้ามาหรือไม่ ในเรื่องของหลักของการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) ซึ่งตรงข้ามกับอำเภอใจ มีการแบ่งอำนาจเป็นนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้ถ่วงดุลอำนาจกันนั้น แต่การเมืองในขณะนี้พบว่ามาตรา 44 ยังคงใช้มีการใช้ต่อไป โดยที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จภายในคนคนเดียว ดังนั้นตราบใดที่มีมาตรา 44 จะเรียกการปกครองโดยกฎหมายหรือไม่ พร้อมทั้งยืนยันว่ารัฐธรรมนูญไทยถอยหลังมากกว่าก้าวหน้า
ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มีศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ระบุตอนหนึ่ง ไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะดีที่สุด เเละไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญต่อ ๆ ไป ใครจะมาร่างก็เเล้วเเต่ จะดีไปกว่านี้ หรือจะดีมาก ไม่เถียงว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ในลักษณะของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญโดยบทบัญญัติเทียบกับฉบับปี 2550 เเละ 2560 ต้องก้าวหน้ากว่าอยู่เเล้ว เพราะวิธีการเขียน เเนวคิด การผลักดัน เเต่ท้ายที่สุดถามว่า ใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เเล้ว ทำให้บ้านเมืองก้าวหน้ากว่า ปี 2550 เเละ 2560 หรือไม่นั้น เทียบกับ 2550 คิดว่าไม่ เเต่เทียบกับ 2560 ไม่ทราบ
เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นความก้าวหน้าของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เวลาใช้จริง ทุกคนเห็นเเล้วว่าก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง ส่วนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 อาจถอยหลังไปเมื่อเทียบเป็นบทบัญญัติกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือเเม้กระทั่ง ปี 2550 เเต่ในการใช้งาน เราต้องการเดินไปที่ไหน เราต้องการนำพาประเทศนี้เดินไปสู่จุดใด นั่นเป็นสิ่งที่ต้องมาคุยกันในการใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ถ้าฉบับนี้พูดเรื่องความก้าวหน้าหรือถอยหลัง เป็นกีฬาประเภทเเข่งไปข้างหน้าอย่างเดียว เช่น วิ่งเเข่ง ว่ายน้ำ ถ้าเป็นไปในลักษณะนั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันถอยหลัง
หากเปรียบเป็นกีฬาฟุตบอล เกมรับที่ดีที่สุดคือเกมรุก เเต่ไม่จำเป็นต้องรุกตลอด ถ้ากีฬาเทียบกับการเมืองเป็นเช่นนั้น ย่อมต้องมีทั้งถอย เดินหน้า รุก เเละรับ ต้องทำให้กีฬากลายเป็นกีฬา สร้างให้เกิดกลไกทำอย่างไรให้ผู้เล่นทุกคนรู้เเพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เเละเห็นด้วย ผู้เล่นต้องเป็นผู้เล่น ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุด คือ กรรมการมาเป็นผู้เล่นด้วย โค้ชก็ลงเล่น ผู้จัดการก็ลงเล่น เจ้าของทีมก็ลงเล่น ไม่รู้ว่า รัฐธรรมนูญตกลงให้ใครเป็นผู้เล่น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างกลืนไปหมด จะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลไม่ดีนัก เเละต่อไปจะก่อให้เกิดปัญหามากขึ้นไปอีก ทำให้ต้องเเก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว หวังว่าจะเเก้ไขในรัฐสภา เเม้จะยากง่าย ขออย่าให้เป็นการฉีกทิ้ง โยนทิ้ง เเล้วเข้าสู่วงจรรัฐประหาร ยกร่างกันใหม่
สุดท้าย นายอภิสิทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญของประเทศไทยมีมากถึง 20 ฉบับ ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่มีเพียง 1-2 ฉบับเท่านั้นและฉบับที่ 20 นี้ไม่ใช่ฉบับสุดท้ายแน่นอน รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับที่เกิดขึ้นล้วนมีเป้าหมายและต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดอนาคตของประเทศ แต่เมื่อยังมีการใช้ตัวแทนประชาชนอยู่นั้น หลักสำคัญจึงอยู่ที่การทำให้คนใช้อำนาจใช้ให้ถูกต้องและถูกหลัก หรือที่เรียกว่าหลักธรรมาภิบาลโดยยึดหลักนิติธรรม ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และสามารถตรวจสอบได้ โดยเกณฑ์สำคัญในการวัดผล คือ ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศ
จากประวัติศาสตร์การปกครองที่ผ่านมาแสดงได้เห็นถึงรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ราบรื่น แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปมีเป้าหมายและเหตุผลที่ชัดเจน แต่ฉบับปี 2560 เป้าหมายนั้นไม่ชัดเจน จะกล่าวว่าทำเพื่อปฏิรูปประเทศ แต่ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรียังไม่มีการแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์เรื่องการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปตำรวจ เป็นสองเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องพื้นฐานอย่างการซื้อขายตำแหน่ง และเรื่องการต่อต้านการทุจริต (Corruption) หรือ การปราบโกง อย่างที่ประกาศไว้นั้น ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม
อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นการเลือกตั้งที่ใช้เงินรุนแรงมากที่สุดกว่าทุกครั้ง มีการซื้อเสียงทำอย่างโจ่งแจ้ง มีการใช้ทรัพยากรรัฐ กติกาเอื้อประโยชน์ และมีพฤติกรรมที่ตอกย้ำถึงวิธีการที่ไม่ถูกต้อง การตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถเอาผิดได้ ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจนและสามารถหาได้ง่ายเพราะปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยี เพียงแค่หยิบโทรศัพท์ออกมาก็สามารถถ่ายภาพและคลิปได้แล้ว มีเพียงกรณีเดียวที่มีการสืบสวนและแจงความผิดคือการแจกใบส้ม แต่ในกรณีอื่นๆนั้นเงียบหาย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวเน้นย้ำถึงปัญหาในขณะนี้คือการปล่อยให้การเมืองเดินไปรูปแบบเดิมโดยไม่ได้หยิบยกมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ปัญหาการแบ่งฝ่ายจะมีต่อไป โดยหากฝ่ายที่ชอบทำผิดนั้นถือว่าไม่เป็นไรแต่หากอีกฝ่ายทำนั้นจะเล่นกันถึงตาย ความขัดแย้งดังกล่าวกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลต้องเอาความขัดแย้งมาคลี่ออกและวางแผนระบบเพื่อหาคำตอบร่วมกันให้ได้ โดยยืนยันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่างจากทุกฉบับ ทำให้การแก้ไขได้ยาก แต่ถ้าหากไม่แก้ ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง ก็จะจบแบบเดิม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/