ชาวบ้านใต้ ถกฟ้องศาลปกครองรัฐประกาศป่าทับที่ชุมชนทั่ว ปท.- เสนอยุบรวม กม.ป่าไม้
เครือข่ายที่ดินถกกระบวนการยุติธรรมลักหลั่นนายทุน-ชาวบ้าน กลไกรัฐพึ่งไม่ได้ ม็อบแก้ปัญหาชั่วคราว ดันชุมชนร่วมร่าง รธน.-ยุบรวม กม.ป่าไม้ เตรียมฟ้องศาลเพิกถอนรัฐประกาศป่าทับชาวบ้าน
วันที่ 22 ก.ค.55 ที่หลาเรียนรู้ศาลาชุมชน มูลนิธิอันดามัน ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จาก จ.ตรัง-พัทลุง-สตูล และสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านกฎหมายกับเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
นายเลาฟั้ง บัณฑิตาทอดสกุล ทนายความเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าปัญหาที่ดินเป็นปัญหาร่วมของคนทั้งประเทศ จึงควรมีการแก้ไขอย่างเป็นระบบครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้มีชุมชนจำนวนมากอยู่ในเขตป่ามาก่อนประกาศอุทยานแห่งชาติ แต่กฎหมายไม่รับรอง ซึ่งมาตรา 66 และ 67 ของรัฐธรรมนูญรองรับเรื่องสิทธิชุมชน เครือข่ายเห็นว่าการที่จะแก้ปัญหาให้ได้ในทางปฏิบัตินั้นจะต้องใช้สิทธิชุมชนฟ้องกรมป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ กับศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนพื้นที่ซึ่งประกาศทับที่ชาวบ้านดั้งเดิม และการต่อรองขอใช้สิทธิ์ทำกินเมื่อมีการขยายชุมชนกับพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐ
นายบุญฤทธิ์ ภิรมย์ กรรมการสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ กล่าวว่าชาวบ้านต้องทำอะไรมากกว่าวอนขอจากรัฐ แม้จะมีสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่ากฎหมายลูกของกรม กระทรวงต่างๆมีอำนาจเหนือกว่า เมื่อมองในมุมกลับขณะที่แปลงยางของชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯถูกเจ้าหน้าที่ตัดฟันทำลาย แต่สวนปาล์มน้ำมันที่สุราษฎร์ธานีของบริษัทที่ปลูกในพื้นที่ป่าเช่นกันกลับไม่ถูกดำเนินการ
“กรรมสิทธิ์ต้องเกิดจากการต่อสู้ให้ชาวบ้านเข้าถึงทรัพยากร เราไม่สามารถพึ่งกลไกรัฐได้ และต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีอำนาจอย่างชอบธรรม ขณะที่โครงสร้างการปกครองประเทศไม่เป็นธรรม” นายบุญฤทธิ์ กล่าว
นายสุรพล สงฆ์รักษ์ ผู้ประสานงานสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ กล่าวว่าชาวบ้านกำลังเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรมแบบจารีตนิยม เช่น กรณีชุมชนสันติพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานี ถูกกรมบังคับคดีให้รื้อถอนหมู่บ้าน เป็นคำพิพากษาที่อัปยศโดยเหวี่ยงแหชาวบ้านกว่า 100 คน อย่างไม่เคยสนใจใยดี ทั้งๆที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯลฯ ตรวจสอบแล้วว่าบริษัทได้ที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ถูกนำไปพิจารณาในศาล เมื่อประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยแท้จริงคือ ปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกไม่จบไม่สิ้น ชาวบ้านทำได้แค่ต่อสู้เฉพาะหน้าชุมนุมประท้วงศาลากลางจังหวัด หน้าทำเนียบรัฐบาลแค่เพียงครั้งคราว ดังนั้นชาวบ้านต้องเข้าไปมีส่วนร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ เอื้อให้เกิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมและเกิดศาลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีระบบไต่ส่วนที่คำนึงถึงสิทธิชุมชน
นายบุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่าในอนาคตเครือข่ายจะใช้สิทธิชุมชนฟ้องเพิกถอนพื้นที่ซึ่งประกาศทับที่ที่ชาวบ้านอยู่มาก่อน แต่ในวันนี้ต้องมีการเตรียมตัวอย่างเป็นระบบเป็นรูปธรรม ทั้งด้านข้อมูลความรู้ และกฎกติกาชุมชน เช่น ธรรมนูญชุมชน ธรรมนูญจังหวัด
“ไม่นานมานี้มีมติ ครม.ยุบกรมอุทยานแห่งชาติฯ รวมกับกรมป่าไม้ และอาจมีแนวโน้มยุบรวมกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ทั้ง 5 ฉบับเป็นฉบับเดียว ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย” นายบุญ กล่าว.