แคนนาดา -ฝรั่งเศส-อังกฤษ นำโด่ง มีความเท่าเทียมทางเพศเรื่องการศึกษา
UNESCO แพร่รายงานการสร้างความเท่าเทียมทางเพศด้านการศึกษา พบ 'แคนนาดา -ฝรั่งเศส-อังกฤษ' นำโด่ง ผอ.รายงานการติดตามการศึกษาทั่วโลก จี้แก้ทัศนคติเชิงลบ ด้วยการเสริมพลังให้กับเด็กผู้หญิง ไปพร้อมๆ กับให้ความรู้แก่เด็กชาย ผู้ชาย สร้างแบบอย่างใหม่ๆ
จากรายงาน Gender Report ล่าสุดของ UNESCO’s Global Education Monitoring (GEM) ระบุว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้หญิงที่ไม่รู้หนังสือในประเทศที่มีรายได้น้อย เพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านคน
เมื่อเร็วๆ นี้ UNESCO ได้เผยแพร่รายงานการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ (Building bridges for gender equality) ในการประชุมรัฐมนตรี G7 (Group of Seven กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนํา 7 ประเทศ) เพื่อการพัฒนาและการศึกษาและการประชุมนานาชาติ G7-UNESCO ที่จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่
ในรายงาน ได้ระบุถึงผลลัพท์ความช่วยเหลือจาก G7 เรื่องการศึกษากับความเท่าเทียมทางเพศ เป็นไปอย่างล่าช้า บรรลุผลเพียงร้อยละ 55 เท่านั้น โดยแคนาดา นับเป็นประเทศที่เป็นผู้นำในด้านการจัดลำดับความสำคัญความเท่าเทียมกันทางเพศด้านการศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 92 ตามด้วยฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรอยู่ที่ร้อยละ 76
รายงานฉบับนี้ยังเน้นถึงความแตกต่างที่สำคัญและความก้าวหน้าที่ไม่เท่ากันในภูมิภาคต่างๆ
- 1 ใน 3 ของประเทศ ยังไม่มีความเท่าเทียมทางเพศเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา
- ประเทศครึ่งหนึ่งของโลก พบว่า ผู้หญิงจำนวนมากไม่ได้รับการศึกษาไปจนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
- มีเพียง 1 ใน 4 ประเทศเท่านั้นที่ มีความเสมอภาคทางเพศในการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
- แอฟริกาใต้เขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) อยู่ห่างจากทุกระดับการศึกษา และรัฐอาหรับเป็นครั้งแรกที่ห่างที่สุดในการบรรลุความเท่าเทียมกันทางเพศในการศึกษาระดับประถมศึกษา ซึ่งอาจเป็นผลจากความขัดแย้ง ขณะที่เอเชียกลางและเอเชียใต้ มีความก้าวหน้าที่ดี ที่เปลี่ยนแปลงเร็วสุด คือ อินเดีย
นางอังเดร อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการทั่วไป UNESCO กล่าวแสดงความยินดีกับการตัดสินใจของ G7 ที่จะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาของเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ของยูเนสโกในอีกหกปีข้างหน้า นี่คือการพัฒนาในเชิงบวก ไม่เพียงแต่การตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กหญิงและผู้หญิง แต่สำหรับทุกคนที่ทำงานเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนและสันติสุข
นอกจากนี้ ในรายงานยังแสดงผลการวิเคราะห์ 20 ประเทศที่มีช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศเรื่องการศึกษา โดยนโยบายที่นิยมแก้ปัญหามากสุด คือ การให้เงินสด และมอบรางวัลแก่ครอบครัวของเด็ก มีเพียง 1 ใน 5 ประเทศเท่านั้นที่ใช้มาตรการปฏิรูปหลักสูตรและตำราเรียนเพื่อรับประกันว่า การมีส่วนร่วมของเด็กผู้หญิงในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรมและคณิตศาสตร์หรือการเข้าถึงโรงเรียนอย่างปลอดภัย
นายมาโนส แอนโทนี่ (Manos Antoninis) ผู้อำนวยการรายงานการติดตามการศึกษาทั่วโลก กล่าวว่า เรากำลังพยายามแก้ไขบรรทัดฐานทางเพศและทัศนคติเชิงลบในสังคม เพราะมากกว่า 1 ใน 4 ของผู้คน ยังคิดว่า เด็กผู้ชายต้องได้รับการศึกษาถึงชั้นระดับมหาวิทยาลัยมากกว่าผู้หญิง ฉะนั้น เราต้องสร้างพลัง (empower) แก่เด็กผู้หญิง ไปพร้อมกับให้ความรู้แก่เด็กชายและผู้ชาย รวมถึงมีแบบอย่างใหม่ๆ ถึงจะเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ได้สำเร็จ
ทั้งนี้ ความไม่เท่าเทียมกันยังปรากฏอยู่ในระบบการศึกษา ใน 28 ประเทศที่มีรายได้สูง ส่วนใหญ่ 70% ของครูระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นเพศหญิง แต่มีครูใหญ่เพียง 53% เท่านั้น
ขณะที่การเรียนระดับอาชีวะศึกษา (technical and vocational programmes) ก็มีความไม่เสมอภาค เพราะเอื้อให้กับเพศชาย พบว่า มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่ผู้หญิงลงทะเบียนเรียนด้านนี้
ความไม่เสมอภาคด้านการศึกษานี้เอง ทำให้ยูเนสโกออกเรียกร้องประเทศต่างๆ มีนโยบาย มีกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศเรื่องการศึกษา