ผบ.ทบ.ลงใต้กลางสถานการณ์ร้อน โผล่ดูสนามบินเบตง!
ผบ.ทบ.ลงพื้นที่ชายแดนใต้แบบ "วันเดย์ทริป" ด้วยกำหนดการพลิกความคาดหมายพอสมควร เพราะมุ่งหน้าไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างสนามบินเบตง ท่ามกลางสถานการณ์ความมั่นคงสุดอ่อนไหวที่เกิดขี้นถี่ในช่วงนี้ ทั้งยิงอุสตาซในปอเนาะ และเหตุการณ์ลอบทำร้ายชาวบ้านไทยพุทธ 4 รายต่อเนื่อง
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือ "บิ๊กแดง" ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พร้อมด้วย พล.ท.ณรงค์พล จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของกำลังพลที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใน อ.ธารโต และ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของ "บิ๊กแดง" สมัยรับราชการในดินแดนปลายด้ามขวาน พร้อมไปตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง โดยมี พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ หรือ "บิ๊กเดฟ" แม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ร.ท.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รอให้การต้อนรับ
พล.อ.อภิรัชต์ พร้อมคณะลงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 5 ก.ค.62 ไปที่หน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 อ.ธารโต จากนั้นได้พบปะกับฝ่ายปกครองและผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ พร้อมระบุว่ารู้สึกดีใจที่พื้นที่นี้มีความเจริญไปมาก อยากให้ช่วยกันดูแล โดยเฉพาะสนามบินเบตงที่ก่อสร้างในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 58 ส่วนพื้นที่ อ.ธารโต ที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ให้คำนึงถึงเรื่องสิ่งเเวดล้อมและสาธารณสุขด้วย
จากนั้น ผบ.ทบ.ได้่ให้โอวาทหน่วยเฉพาะกิจตำรวจชายแดนที่ 44 ว่า แม้ว่า อ.ธารโต และ อ.เบตง จะมีความสงบสุขมากกว่าสมัยที่ตนเคยรับราชการ แต่ต้องไม่ประมาทและมีความพร้อมอยู่เสมอ ที่สำคัญต้องดูแลประชาชนในพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัยต่อเนื่อง เฝ้าระวังบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาก่อเหตุ โดยเฉพาะสนามบินเบตงกำลังจะแล้วเสร็จ การใช้เส้นทางต้องปลอดภัยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
"ที่สำคัญขออย่าเข้าไปมีส่วนร่วมในสิ่งผิดกฎหมาย เพราะเราเป็นข้าราชการในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นข้าราชการในกองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีความภาคภูมิใจ และการปฏิบัติงานในหน้าที่ขอให้ยึดถือตามหลักกฎหมาย" พล.อ.อภิรัชต์ ย้ำ
ต่อจากนั้น ผบ.ทบ.เดินทางไปตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง และกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของสนามบินเบตงมาจาก นายคุณวุฒิ มงคลประจักษ์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเบตง ที่มีความคิดริเริ่มอยากให้มีสนามบินตั้งแต่ปี 38 จากนั้นอีก 10 ปีต่อมา คือปี 48 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ได้ลงพื้นที่มาเยี่ยมกำลังพลและดูการปฏิบัติงาน
ถัดมาอีก 10 ปี คือ ปี 58 คณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า ได้อนุมัติการก่อสร้างสนามบินเบตง โดยมีวิสัยทัศน์ว่าสนามบินแห่งนี้อยู่ในแผนพัฒนา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุม 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเดิมสนามบินนี้ทำรันเวย์แค่ 1,800 เมตร ภายหลังมีการขยายเพิ่มอีก 300 เมตร เพื่อให้เครื่องบินแอร์บัส และโบอิ้ง 737 โบอิ้ง 747 สามารถลงจอดได้ โดยรัฐบาล คสช.มีวิสัยทัศน์เปิดประตูการค้าขาย เปิดประตูอาเซียนและการค้าเสรี
ปัจจุบันสนามบินเบตงอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการแบบครบวงจรในปี 64 นำมาสู่ความเจริญหลายด้าน และพื้นที่นี้จะกลายเป็นศูนย์การท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุด นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ชาวไทยพุทธและมุสลิมอยู่กันอย่างมีความสุข
"เบตงเป็นพื้นที่ที่มีคุณลักษณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ และด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่สนามบินเบตงห่างจากสนามบินอื่นเกิน 100 กิโลเมตรขึ้นไป โดยสนามบินที่ใกล้ที่สุดอยู่ฝั่งมาเลเซีย คือสนามบินปีนัง จึงเชื่อมั่นว่าหากสนามบินเบตงเปิดให้บริการ จะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ถึงปีละ 1 ล้านคน และในชั่วโมงเร่งด่วนสามารถรับผู้โดยสารชั่วโมงละ 300 คน ถือว่าความฝันที่เบตงจะเป็นประตูการค้าได้เกิดขึ้นในสมัยของ คสช. ถือเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผมดีใจที่ได้มาเห็นความสำเร็จ และขอให้การดำเนินงานผ่านไปด้วยความราบรื่น" ผบ.ทบ. กล่าว
นอกจากนั้น พล.อ.อภิรัชต์ ยังได้กำชับเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานในอนาคต โดยทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) จะหารือกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยต่อไป โดยสนามบินเบตงจะอยู่ภายใต้การดูแลของสนามบินนราธิวาส ขณะที่การดูแลในพื้นที่รอบนอกเป็นหน้าที่ของทหารและภาคประชาชนในพื้นที่ร่วมกัน
ลงใต้ในสถานการณ์ร้อน
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุรุนแรงที่นำไปสู่การสร้างข่าวทั้งจริงทั้งลวงขยายวงขัดแย้งหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. คนร้ายลอบยิง นายยูโซะ ยะลา ครูสอนศาสนาในปอเนาะพ่อมิ่ง หรือโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นปอเนาะเก่าแก่และมีชื่อเสียง โดยคนร้ายบุกเข้าไปยิงถึงในปอเนาะ ทำให้นายยูโซะได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยทั้งช่วงก่อนและหลังเกิดเหตุ มีการปล่อยข่าวลือว่าเหตุยิงครูสอนศาสนาอิสลามเป็นแผนและเป็นปฏิบัติการของฝ่ายเจ้าหน้าที่
ต่อมาวันที่ 2 ก.ค. ทหารพรานได้เข้าไปเชิญตัวผู้ต้องสงสัยถึงในปอเนาะ ทำให้เกิดการปลุกระดมนักเรียนออกมาล้อมกรอบขัดขวาง แต่โชคดีที่เจ้าหน้าที่คุมสถานการณ์ไว้ได้ จากนั้นกระแสข่าวลือแรงขึ้น ทำให้วันที่ 3 ก.ค. คนร้ายไล่ยิงชาวบ้านไทยพุทธเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 รายในพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา แล้วยังลอบวางระเบิดทหารพรานชุดตรวจที่เกิดเหตุ เสียชีวิตไปอีก 1 นาย
สถานการณ์ค่อนข้างตึงเครียดทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหมออกมาแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมสั่งกำชับฝ่ายความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ ปกครอง และฝ่ายข่าว ให้ความสำคัญกับการติดตามเชื่อมโยงของข่าวความเคลื่อนไหวของเครือข่ายกลุ่มบุคคลเป้าหมาย และให้เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น รวมทั้งเร่งติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็วที่สุด
แต่เมื่อช่วงค่ำของวันพฤหัสบดีที่ 4 ก.ค. ก็ยังเกิดเหตุรุนแรงซ้ำอีก โดยคนร้ายใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะก่อเหตุยิงชาวบ้านบริเวณหน้าวัดยางแดง ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ทำให้มีชาวบ้านไทยพุทธผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีบาดเจ็บอีก 1 ราย ผู้เสียชีวิต คือ นายนิพนธ์ เอกนก อายุ 51 ปี ส่วนผู้บาดเจ็บ คือ นางเพิ่ม ส่งธนู อายุ 84 ปี ทั้งคู่ถูกยิงด้วยปืนลูกซอง
จากความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาตลอดสัปดาห์ ทำให้การลงพื้นที่ของ ผบ.ทบ.ได้รับการคาดหมายว่าจะไปติดตามความคืบหน้าคดีความมั่นคงเหล่านี้ ทว่า ผบ.ทบ.กลับไปปรากฏตัวที่ อ.ธารโต กับ อ.เบตง แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้บัญชาการทหารบกได้รับรายงานเรื่องนี้่และสั่งการให้แก้ไขปัญหาด้วยช่องทางเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ หรือการสั่งตรงไปที่หน่วยผู้รับผิดชอบ
-------------------------------------------------------------------------