เมื่อเงินใต้โต๊ะ ทำให้คนไทยซื้อบ้านแพงขึ้น!!
"...เงินใต้โต๊ะที่ประชาชนต้องจ่ายให้กับข้าราชการบางกลุ่มตั้งแต่ระดับล่างจนถึงผู้บริหาร เมื่อไปยื่นขอใบอนุญาตสร้างบ้านและอาคารใน กทม. จะมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี..."
มีประชาชนสอบถามมามากว่า จริงหรือ..บ้านและคอนโดที่คน กทม. ต้องควักกระเป๋าซื้อมาแพงๆ เป็นเพราะคนขายบวก “เงินใต้โต๊ะ” ที่ต้องจ่ายให้ข้าราชการบางคนเข้าไปด้วย? แล้วมันเยอะมากแค่ไหน?
คำตอบคือจริงครับ เพราะผู้ประกอบการแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องจ่ายเพื่อให้ได้ใบอนุญาตจัดสรร ใบอนุญาตก่อสร้างและอีกสารพัด ตามที่สำนักงาน ป.ป.ท. รายงานไว้ แต่จ่ายมากแค่ไหน มาดูข้อมูลต่อไปนี้
ปี พ.ศ. 2561 มีโครงการจัดสรรบ้านและคอนโดมิเนียมเปิดขาย ทั้งขนาดเล็ก – กลาง – ใหญ่ แยกเป็น คอนโดมิเนียม 61,000 ห้อง และอาคารแนวราบหรือบ้านเดี่ยว/ทาวน์เฮ้าส์/ตึกแถว 22,000 หลัง
ประเภท คอนโดมิเนียม ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ 2,700 – 4,100 บาทหรือเฉลี่ย 3,455 บาท/ห้อง x 61,000 ห้อง คิดเป็นเงิน 210,755,000 บาท
ประเภท บ้านเดี่ยว/ตึกแถว/ทาวเฮ้าส์ ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ 5,800 – 12,000 บาทต่อหลังหรือเฉลี่ย 8,995 บาท/หลัง x 22,000 หลัง คิดเป็นเงิน 197,890,000 บาท
รวม 2 รายการ เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 408,645,000 บาท
ที่กล่าวมายังไม่รวม “ค่าดูแล” หรือ “ค่ามองไม่เห็น” ที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้คนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากสารพัดหน่วยงาน ที่มาเรียกเก็บเป็นรายเดือนหรือคิดเหมาตลอดระยะเวลาที่มีการก่อสร้าง
เงินเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราคาบ้านและคอนโด ที่ผู้ซื้อทุกคนต้องรับภาระไปหลังจากผู้ประกอบการได้บวกดอกเบี้ยและค่าดำเนินการเพิ่มเข้าไปอีก
ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะในปี 2561 มีคน กทม. ที่สร้างบ้านเองและผู้ประกอบการที่สร้างบ้านขายจำนวนน้อยจึงไม่เข้าเกณฑ์เป็นบ้านจัดสรร อีก 27,000 หลัง ซึ่งเชื่อเถอะครับว่า ทุกรายต้องจ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่กล่าวมาหลายเท่าตัว
ส่วนพวกก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อพาร์ทเม้นท์ โรงงาน โกดัง และ ประชาชนทั่วไปหรือคนค้าขายที่ต่อเติมบ้าน - ร้านค้า ที่มีจำนวนมาก แต่ยังไม่มีข้อมูลจำนวนและวงเงิน
จึงเชื่อได้ว่า เงินใต้โต๊ะที่ประชาชนต้องจ่ายให้กับข้าราชการบางกลุ่มตั้งแต่ระดับล่างจนถึงผู้บริหาร เมื่อไปยื่นขอใบอนุญาตสร้างบ้านและอาคารใน กทม. จะมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
ตัวเลข “ค่าใช้จ่ายพิเศษ” เหล่านี้เป็นข้อมูลที่รวบรวมจากผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง มิใช่งานศึกษาวิจัยทางวิชาการ โดยผู้เขียนมีเจตนาที่จะแสดงข้อมูลให้เห็นภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสังคม
ดร. มานะ นิมิตมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
ข่าวเกี่ยวเนื่อง:
- สนง. ป.ป.ท. “การศึกษารูปแบบการทุจริต กรณีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในเขตกรุงเทพมหานคร”, 2561 http://bit.ly/2Xrfov8
- องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยื่นจดหมายถึงผู้ว่า กทม. ให้เร่งแก้ปัญหาสินบน - เงินใต้โต๊ะ
- https://www.isranews.org/isranews/77924-open-77924.html
- เงินใต้โต๊ะ ต้องจ่ายเท่าไหร่ https://www.isranews.org/isranews-article/77985-money-77985.html
- ขนิษฐา ฮงประยูรกับคณะ (2560), รายงานการศึกษาเรื่อง “คอร์รัปชันในกรุงโซลและกรุงเทพฯ” https://tdri.or.th/2018/02/corruption-in-seoul-and-bangkok/
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Siamedunews