เดือนรอมฎอนกับการต่อสู้ระบบบริโภคนิยม
รอมฎอนเป็นเดือนแห่งความโปรดปรานของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เป็นเดือนแห่งความดี มุสลิมจึงควรถือโอกาสนี้นำโองการของเอกองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ที่พระองค์ทรงสั่งว่า "จงกินจงดื่มและจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย แท้จริงอัลลอฮ์ไม่ชอบผู้สุรุ่ยสุร่ายทั้งหลาย" (อัลอะอฺรอฟ : 31) ให้มุสลิมได้นำมาปฏิบัติเพื่อให้ตนดำเนินชีวิตอย่างสำรวม ไม่โอหัง และมีเมตตาต่อผู้อื่น
ดังนั้นในเดือนนี้ถ้าได้มีการช่วยกันรณรงค์ให้พี่น้องมุสลิมทุกคนนำโองการนี้มาต่อสู้กับระบบบริโภคนิยม ชุมชนสังคมก็จะมีเงินเหลือจ่ายสามารถนำมาบริจาคแก่ผู้ยากไร้ ผู้ขัดสน และพัฒนาสังคมได้มากขึ้น อีกทั้งยังจะทำให้พี่น้องมุสลิมทุกคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงจากการควบคุมการบริโภคอาหารอย่างมีคุณค่า สามารถลดค่าใช้จ่ายค่ารักษาสุขภาพได้เช่นกัน
เมื่อคนในชุมชนแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี ไม่ฟุ่มเฟือย เงินของมุสลิมที่เหลือจากการใช้จ่ายในระหว่างเดือนรอมฎอนก็สามารถนำไปบริจาคช่วยเหลือคนยากไร้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเงินบางส่วนก็จะถูกนำมาพัฒนาชุมชนให้ชุมชนมุสลิมของตนมีความเข้มแข็งเป็นที่พึ่งของสังคมได้
เดือนรอมฎอน เดือนแห่งความดีเป็นเดือนที่ผู้ศรัทธาจะได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) อย่างมากมาย ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่มุสลิมควรปฏิบัติ นอกจากการถือศีลอด การอ่านกุรอาน และการละหมาดตะรอเวียห์แล้ว นั่นคือการบริจาค โดยการปฏิบัติตามคำสั่งง่ายๆ จากอัลกุรอานที่อัลลอฮ์ได้ตรัสความว่า "จงกินจงดื่มและจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย" (อัลอะอฺรอฟ : 31)
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนั้น ทำให้มุสลิมได้ลดการกินอาหารประจำวันของตนไป 1 มื้อ คือมื้อเที่ยง เป็นการลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารการกินได้หนึ่งมื้อ รวมทั้งขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มด้วย เพราะถูกห้ามกินและดื่มในเวลาตั้งแต่แสงพระอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งพระอาทิตย์ตก ส่วนมื้อเช้ามุสลิมยังคงได้กินอาหารและดื่มน้ำอยู่เช่นเดิม แต่กินเร็วขึ้น กินในเวลาก่อนรุ่งสาง สำหรับมื้อเย็นนั้นยังกินได้อย่างปกติตั้งแต่หลังพระอาทิตย์ตก
แต่เหตุที่ไม่ปกตินั้นก็คือมื้อเย็นในเดือนรอมฎอน พี่น้องมุสลิมจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่เวลาละศีลอดตลอดจนถึงเวลากลางคืนได้กินอาหารกันมากเกินไป โดยกินเสมือนกับกินชดเชยอาหารมื้อเที่ยงที่ตนได้ละเว้น แล้วกินรวมกันทีเดียวสองมื้อ ทำให้ค่าใช้จ่ายค่าอาหารในเดือนรอมฎอนที่ควรจะน้อยลงกลับทำให้มากขึ้นกว่าเดือนปกติ
ปัจจุบันเดือนรอมฎอนในบริบทของกระแสบริโภคนิยมจึงเป็นเดือนมหกรรมแห่งการกิน เป็นเดือนที่มีอาหารขายกันมากมายเสมือนกับเป็นเทศกาลอาหาร ชุมชนมุสลิมมีการใช้จ่ายเงินค่าอาหารกันอย่างมโหฬาร เนื่องจากมุสลิมขาดความเข้าใจในเจตนารมณ์ของการถือศีลอดและลืมโองการของพระเจ้าที่พระองค์ได้สั่งไว้ "จงกินจงดื่มและจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย"
ถ้าสังคมมุสลิมไม่ลืมความหมายนี้ มุสลิมก็จะได้พบเห็นว่าเฉพาะเงินค่าอาหารมื้อเที่ยงที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของผู้ถือศีลอดแต่ละคน เงินที่เหลือก็คงได้นำมาทำทานกับผู้ขัดสน ผู้ยากไร้ และเด็กกำพร้าได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 40 บาทต่อคน ในจำนวน 29 วัน ก็เท่ากับ 40x29 = 1,160 บาทต่อคน ถ้าในชุมชนเล็กๆ มีมุสลิม 500 คน ชุมชนนั้นก็จะมีเงินเหลือค่าอาหารกลางวันได้นำไปบริจาคถึง 580,000 บาท เพื่อช่วยเหลือคนจนคนขัดสน และเด็กกำพร้าในชุมชนของตนโดยบริจาคผ่านมัสยิด แล้วมัสยิดก็จะสามารถดูแลคนด้อยโอกาสเหล่านี้ให้มีโอกาสของชีวิตได้อย่างดี และคนในชุมชนก็จะมีความสัมพันธ์กับมัสยิดและมีความห่วงใยกันและกัน
อัลลอฮ์ (ซ.บ.) กล่าวว่า "พวกเจ้าจงอย่าได้เป็นเหมือนกับบรรดาผู้ที่หลงลืม อัลลอฮ์ (ซ.บ.) มิฉะนั้นอัลลอฮ์จะทำให้เขาลืมตัวของเขาเอง ชนเหล่านั้นแหละเป็นผู้ฝ่าฝืน" (อัลฮัชรฺ : 19)
ทำอย่างไรที่จะทำให้มุสลิมไม่หลงลืมคำสั่งที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ที่สั่งไว้ "จงกินจงดื่มและจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย" และท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ยังได้กล่าวว่า "ไม่มีอีมานคนใดในหมู่สูเจ้า จนกว่าเขาจะรักพี่น้องเหมือนกับรักตัวเอง" (อัลบุคคอรี และมุสลิมจากอนัส)
ประการแรก ในเดือนรอมฎอนนี้ขอเชิญชวนพี่น้องทุกท่านรวมทั้งครอบครัวของท่านด้วยให้ช่วยกันรณรงค์ให้คนในครอบครัวและพี่น้องมุสลิมบ้านใกล้เรือนเคียงได้ประหยัด อย่าสุรุ่ยสุร่าย แล้วเอาเงินค่าอาหารกลางวันที่ไม่ได้จ่ายตลอดทั้งเดือนรอมฎอนนำไปทำทานให้กับผู้ขัดสน ผู้ยากไร้ และเด็กกำพร้าใกล้บ้านโดยผ่านมัสยิดเพื่อสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนและพี่น้องที่ขัดสน ยากจน เด็กกำพร้า คนลำบากเหล่านี้ก็จะได้มีอาหารกินในเดือนรอมฎอน นั่นเป็นประการแรก
ประการที่สอง ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยด้านบันเทิงและเรื่องไร้สาระก็จะลดลง เช่นผู้ที่ชอบดูหนังฟังเพลงก็จะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ ผู้ที่ชอบท่องเที่ยวในวันหยุดก็จะหยุดเที่ยวในเดือนนี้ เงินของเขาก็จะเหลือเก็บ ผู้ที่ชอบพูดคุยทางโทรศัพท์มือถือนานๆ กับเพื่อนฝูงก็จะคุยน้อยลง เงินค่าโทรศัพท์ก็จะถูกจ่ายน้อยลง หรือผู้ที่ชอบดูโทรทัศน์ก็จะไม่ได้เปิดดูในเดือนรอมฎอน จึงทำให้ประหยัดเงินค่าไฟฟ้าไปได้ส่วนหนึ่ง และยังมีค่าใช้จ่ายกระจุกกระจิกอีกมากมายที่ผู้ถือศีลอดไม่มีโอกาสได้จ่ายในเดือนรอมฎอน เงินค่าใช้จ่ายเหล่านั้นก็จะคงเหลือและสามารถนำมาสร้างผลบุญอันเป็นความดีให้แก่ตนได้ด้วย การบริจาคให้บุคคลที่ยากไร้หรือบริจาคสร้างสาธารณประโยชน์ในชุมชน เงินบุญนั้นก็จะทำให้ชุมชนที่อ่อนแอกลับมาสู่ความเข็มแข็งได้
ประการที่สาม ในวิถีอิสลามนั้นมีความดีมากมายที่มุสลิมยังไม่สามารถแสดงให้ปรากฏต่อสังคมได้รับรู้ ดังนั้นความประหยัดในเดือนรอมฎอนจึงเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้ความดีในอิสลามนั้นปรากฏขึ้นสู่สังคมได้ ผู้มีโอกาส ผู้มั่งมีซึ่งมีฐานะเป็น "มือบน" คือมือของผู้ให้ ก็จะเป็นผู้ให้ ส่วนผู้ที่มีฐานะยากไร้ยากจนก็จะเป็น "มือล่าง" คือมือของผู้รับ เมื่อสองมือมาประสานกัน พลังแห่งความดีก็จะเกิดขึ้น จากการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมเช่นนี้ สังคมมุสลิมก็จะเข้มแข็ง นี่เป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวที่สามารถปฏิบัติได้เลย
บางทีพี่น้องมุสลิมก็ได้ลืมปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ดังนั้นเมื่อมีการรณรงค์ให้มุสลิมปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของพระเจ้าในเรื่องนี้ ความดีก็จะปรากฏขึ้นมาสู่สังคมได้ การปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้าก็เกิดขึ้นเช่นกัน เพราะนี่คือการตอบสนองโองการของพระองค์
ประการที่สี่ อิสลามนั้นเป็นประชาชาติตัวอย่าง เป็นประชาชาติที่ดี คือประชาชาติที่เรียกร้องมนุษย์สู่ความดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง และยับยั้งความชั่วร้ายที่เกิดบนหน้าผืนแผ่นดิน วันนี้ระบบบริโภคนิยมได้สร้างความเสียหายกับสังคมมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย คนส่วนน้อยในสังคมที่มีเงินทุนหรือผู้ผลิตเป็นผู้ได้ประโยชน์จากระบบนี้ แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้บริโภคนั้นก็จะได้รับผลกระทบที่เสียหายกับตนเอง กับครอบครัวและสังคมอย่างรุนแรง เด็กเยาวชนติดเกมส์ เด็กเยาวชนติดแฟชั่น ติดความบันเทิงและดารานักร้อง จึงทำให้พ่อแม่ต้องทำงานหนักขึ้นมีเวลาให้กับลูกน้อยลงเพื่อหาเงินมาให้ลูกได้ใช้จ่าย
ดังนั้นสาเหตุที่เด็กเยาวชนทำผิดประเวณี (ซินา) ลักขโมย ปล้นจี้ ขายยาบ้า ก็เกิดจากการที่เด็กเยาสชนเหล่านั้นต้องการนำเงินมาใช้จ่าย แต่ฐานะของพ่อแม่ไม่สามารถหาเงินมาให้ลูกใช้จ่ายได้ตามความต้องการ เด็กเยาวชนเหล่านั้นจึงจำเป็นต้องหาเงินเอง เมื่อไม่มีความสามารถที่จะหาเงินมากๆ ได้ด้วยวิธีสุจริต จึงจำเป็นต้องหันเข้าหาวิธีที่ผิดคุณธรรม ด้วยการขายตัวค้าประเวณี ค้ายาบ้า หรือลักขโมย ซึ่งล้วนแต่สร้างความเสียหายต่อสังคมอย่างใหญ่หลวงนัก
การแก้ปัญหามันคงไม่ง่ายนักที่จะต้องฝืนกระแสสังคม ในขณะที่มุสลิมกำลังดำรงชีวิตอยู่ในระบบของการบริโภคนิยมอย่างรุนแรง แต่มันก็ไม่ยากนักถ้าพี่น้องมุสลิมมีความพยายามช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้ให้จริงจังในเดือนรอมฎอน เดือนที่มุสลิมอยากทำความดีเพื่อให้อีมานฝังลงลึกเข้าไปในหัวใจที่แข็งกระด้างของตนให้อ่อนลงและหวังว่าเดือนแห่งความดีเดือนที่ชัยฏอนถูกกักขังจะทำให้การรณรงค์ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นถ้ามุสลิมสามารถทำได้ในเดือนรอมฎอน มุสลิมส่วนหนึ่งก็สามารถฝึกฝนให้ตนมีความมัธยัสถ์และนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตในเดือนอื่นๆ ตลอดไปได้เป็นอย่างดี
จงมาร่วมกันประกาศสงครามกับระบบบริโภคนิยมกันเถิดเพื่อมุสลิมจะได้ตอบสนองโองการของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) "จงกินจงดื่มและจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย แท้จริงอัลลอฮ์ไม่ชอบผู้สุรุ่ยสุร่ายทั้งหลาย" (อัลอะอฺรอฟ : 31)
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : * ไพศาล ดะห์ลัน เป็นที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนศรัทธา "กัมปงตักวา" กรรมการซูรอ สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย และกรรมการซูรอ สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข