วิทยุชุมชนเสื้อแดงไม่รับร่าง กสทช. ผู้ประกอบการค้านกำลังส่งแค่ 100 วัตต์
กสทช. เปิดเวทีรับฟังความเห็น 2 ร่างคุมวิทยุ 3 ประเภท ผู้ประกอบการค้านกำลังส่งแค่ 100 วัตต์ วิทยุชุมชนเสื้อแดงไฮปาร์คไม่รับร่าง
วันที่ 20 ก.ค. 55 ห้องประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือบอร์ดกระจายเสียง ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และร่างประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การทดสอบมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงสำหรับการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ตามกติกาการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ม. 28 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 โดยมีผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ ตัวแทนผู้บริโภค ภาคประชาชน และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังรวมกว่า 2,000 คน
สำหรับจุดประสงค์การประชุมครั้งนี้ถือเป็นความพยายามของ กสทช. ที่จะผลักดันให้กลุ่มผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงเข้าสู่การเป็น”ผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง” เพื่อเป็นมาตรการนำร่องในการจัดระเบียบวิทยุกระจายเสียงที่มีการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติตามรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การเป็น”ผู้ขอรับใบอนุญาตวิทยุกระจายเสียง”ต่อไปในอนาคต
โดยที่ประชุมเริ่มต้นเปิดชี้แจงร่างหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงในภาพรวมตั้งแต่เรื่องนิยาม ประเภท กระบวนการและการยื่นคำขอทดลองประกอบกิจการ สิทธิและหน้าที่ของผู้ทดลองประกอบกิจการ การกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง โดยปรากฎว่า ตัวแทนผู้ประกอบกิจการวิทยุฯ ส่วนใหญ่ที่แสดงความเห็นไม่ยอมรับร่างฉบับดังกล่าวในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องหลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่ทางเทคนิค ที่กำหนดกำลังคลื่นของเครื่องส่งไม่เกิน 100 วัตต์ ความสูงของเสาส่งที่ไม่เกิน 40 เมตร หรือความแรงของสัญญาณการกระจายเสียงที่มีรัศมีไม่เกิน 15 ก.ม. ในทั้ง 3 ประเภทกิจการทั้ง บริการสาธารณะ บริการชุมชน และทางธุรกิจ
รวมทั้งมีข้อท้วงติงในเรื่องของการประกอบกิจการที่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยเฉพาะในส่วนของการบริการธุรกิจจะต้องนำส่งรายได้เพื่อไปใช้สนับสนุนบริการชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าด้วยเงื่อนไขทางเทคนิคที่เท่ากันในทั้ง 3 ประเภทจะทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อีกทั้งการกำหนดให้ระยะเวลาทดลองออกอากาศมีกำหนด 3 ปีนั้นถือว่านานเกินไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวทีเปิดรับฟังความเห็นในครั้งนี้กลายเป็นการอภิปรายค้านร่างทั้ง 2 ฉบับ กรณีที่มีผู้ประกอบกิจการวิทยุฯ รายใดขึ้นมากล่าวแสดงความเห็นด้วยกับร่างฉบับนี้ก็จะถูกโห่ และกล่าวโจมตีว่า กสทช.ส่งหน้าม้าขึ้นมาแสดงความเห็น บรรยากาศการประชุมตอนหนึ่งถึงกับอึมครึมเมื่อตัวแทนกลุ่มวิทยุชุมชนเสื้อแดงระบุว่า รับไม่ได้กับร่างกฎหมายฉบับนี้ที่นำทรัพยากรของชาติมาหาประโยชน์และเอื้อต่อคนที่กำกับ ไม่เคยมาถามคนที่ประกอบกิจการวิทยุโดยแท้จริงก่อนร่างกฎหมาย หวังคุมกำเนิดกลุ่มวิทยุชุมชน พร้อมกับขู่ว่าหากการรับฟังความเห็นในครั้งนี้นำไปสู่การยกร่างจะมีการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อเพื่อคัดค้านอย่างถึงที่สุด และขอเปิดเวทีไฮปาร์คที่ด้านหน้าหอประชุมด้วย ซึ่งในช่วงบ่ายกลุ่มคนเสื้อแดงได้บุกขึ้นมาป่วนการประชุม
ต่อมาช่วงบ่ายเปิดให้มีการรับฟังความเห็นในส่วนของภาคผนวก แยกตามประเภทกิจการคือ บริการสาธารณะ บริการชุมชน และกิจการทางธุรกิจ ซึ่งมีการลำดับประเด็นเรื่องคุณสมบัติของการทดลองประกอบกิจการ ผังรายการและสัดส่วนรายการ การหารรายได้ หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ทดลองออกออากาศ มาตรฐานทางด้านเทคนิค และกระบวนการขั้นตอนการทดสอบมาตรฐานเครื่องส่ง
โดยตัวแทนผู้ประกอบวิทยุชุมชนได้สอบถามความชัดเจนเรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่ร้อยละ 20 ไม่มีการระบุว่าแบ่งให้แต่ละประเภทอย่างไร พร้อมกับแสดงความห่วงใยในประเด็นเรื่องของ การห้ามโฆษณาซึ่งการออกอากาศมีค่าใช้จ่ายมาก รวมถึงหากกฎหมายกำหนดเรื่องการจ่ายค่าธรรมเนียมและค่าตรวจสอบเครื่องจะทำให้มีปัญหาตามมา ขณะเดียวกันปัญหาคลื่นเบียดซ้อนกันเห็นว่าควรจะมีการจัดโซนบนแผงหน้าปัดวิทยุให้ชัดว่าประเภทนี้ควรอยู่ในช่องใด อีกทั้งมีเรื่องของระยะเวลาการนำเสนอผังรายการที่ระบุว่าต้องดำเนินการก่อน 30 วัน รวมถึงปัญหาทางเทคนิคเรื่องของการตรวจสอบเครื่องส่งสัญญาณ การตั้งเสาที่กำหนดว่าไม่เกิน 40 เมตรนั้นวัดจากระดับใด เนื่องจากมีบางสถานีไปตั้งเสาบนภูเขาทำให้มีข้อได้เปรียบ
นายทวีเดช เส้งแก้ว อนุกรรมการกิจการกระจายเสียงบริการชุมชน กล่าวชี้แจงว่า ยืนยันว่าวิทยุชุมชนไม่สามารถโฆษณาได้เลย เพราะกฎหมายกำหนดไว้ แต่ยืนยันว่าเงินอุดหนุนจากกองทุน กสท.มีอยู่ แต่ขณะนี้อนุกรรมการจัดสรรเงินกองทุนไม่มีเงินสักบาทเพราะไม่สามารถโอนเงินจากกองทุนที่มีไว้เพื่อกิจการโทรคมนาคมตามที่ตีความได้ แต่ทั้งนี้กองทุนจะเกิดขึ้นได้เมื่อเริ่มมีการประมูลและรับเงินจากฝั่งธุรกิจเข้ามาสนับสนุน ยืนยันว่าจะสนับสนุนวิทยุชุมชนมากกว่าประเภทอื่นเพราะรู้ว่าทุกคนมาจากจิตอาสาไม่อยากให้ควักเนื้อตนเองในการดำเนินการ
นายปริญญา ผ่องผุดพันธ์ อนุกรรมการกิจการกระจายเสียงบริการชุมชน กล่าวว่า แม้วิทยุชุมชนจะห้ามการโฆษณาหากศึกษาในภาคผนวกข้อ 3 เรื่องการหารายได้จะเห็นว่าข้อ 3.2 การประกาศเกี่ยวกับผู้อุดหนุนหรือผู้บริจาคต้องระบุถึงชื่อหรือองค์กรให้ชัดเจน แต่ต้องแยกส่วนจากเนื้อหารายการ ต้องไม่มีลักษณะส่งเสริมหรือสนับสนุนเชิงพาณิชย์คือโฆษณาจูงใจไม่ได้ แต่ประชาสัมพันธ์เรื่องการบริจาค และอุดหนุนได้ และน่าจะท้าทายผู้บริหารสถานีในเรื่องการหารายได้จากการทำกิจกรรมต่างในทางวัฒนธรรมประเพณีอื่นๆ นำมาเพื่อเสริมและสนับสนุนกิจการวิทยุชุมชนได้
นายทวีเดช ให้สัมภาษณ์ว่า จากการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้จะนำไปรวบรวมและปรับปรุงร่างเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยก็จะนำไปประกอบและดูถึงเหตุผลและความเป็นไป ในส่วนของวิทยุชุมชนซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องการหารายได้นั้นถ้าศึกษาจะพบว่ามีความยืดหยุ่นอยู่ แต่ที่คิดว่าเป็นข้อห่วงกังวลคือ ประเด็นเรื่องเสา และเครื่องส่ง จะต้องดูถึงเหตุผลที่นำเสนออีกครั้งว่าจะปรับเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร
นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า หลังจากเวทีนี้ สำนักงาน กสทช. ต้องรวบรวมประเด็นเสนอให้บอร์ด กสท. พิจารณาภายใน 30 วัน โดยบอร์ดก็ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งยังไม่มีระยะกำหนดที่ชัดเจน