สสว.ชี้เทรนด์ธุรกิจเพื่อผู้สูงวัย ต้องเป็นงานถนัด เสี่ยงต่ำ ลงทุนไม่มาก
สสว. เผย 5 เทรนด์ ธุรกิจสำหรับผู้สูงวัย ‘เฟรนไชส์- Influencer-ค้าขาย-เกษตร-ฟรีแลนซ์’ย้ำต้องเป็นงานถนัด เสี่ยงต่ำ ลงทุนไม่มาก เชื่ออีก 20 ปี สังคมผู้ประกอบการจะมีอายุเพิ่มขึ้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ 17 องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ในนามที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) จัดประชุมวิชาการ ทอพ. ครั้งที่ 6 หัวข้อ “Silver Society ขับเคลื่อนสังคมและระบบเศรษฐกิจไทย” โดยมีการเสวนาเรื่อง “ผู้ประกอบการสูงวัย” (Silver Entrepreneurship) ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 5,6 โรงแรม เซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงแทพฯ
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า สัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทยคือผู้สูงอายุ เรามีอีก 20 ปีที่จะเรียนรู้ว่านับจากนี้ไปสังคมผู้ประกอบการก็อายุเพิ่มเติมมากขึ้น ดังนั้นมองผู้สูงอายุเป็นทางได้กลุ่มลูกค้า แต่วันนี้เราจะขอมองเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจากการรวบรวมของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจเมื่อเข้าสู้สังคมผู้สูงอายุ ได้แก่ แรงงานไทยลดลงตั้งแต่ปี 2561 มีผู้ทำงานนอกระบบร้อยละ 60 ส่วนใหญ่ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการ รายได้ต่อหัวคนไทย 5,700 เหรียญสหรัฐฯ/คน/ปี ต่ำกว่าประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ผู้สูงอายุมีรายได้ของตัวเองร้อยละ 31 และมีจำนวนร้อยละ 40 ที่มีรายได้เพียงพอหลังเกษียณ และคนวัยทำงานรับภาระผู้สูงอายุและวัยเด็กร้อยละ 50 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 64 ในปี 2570
“ธุรกิจที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุจึงควรเป็นงานที่ผู้สูงอายุมีความถนัด ใช้ประสบการณ์ความชอบ งานอดิเรก มีความเสี่ยงต่ำและใช้เงินลงทุนไม่มาก”
ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวต่อว่า สำหรับ 5 Trends ธุรกิจสำหรับผู้สูงวัย ได้แก่ 1. ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างง่ายและเหมาะสมกับผู้สูงอายุเพราะรูปแบบธุรกิจเป็นแบบกึ่งสำเร็จ ผู้สูงอายุสามารถลงทุนและค้าขายได้เลย
2.ธุรกิจ Influencer เป็นธุรกิจที่อาศัยอิทธิพลทางความคิดโดยอาศัยการให้ข้อมูลของเหล่า influencer ซึ่งในปัจจุบันผ่านสื่อดิจิทัลและโซเชียลมีเดียเพื่อโน้มน้าวเหล่าผู้ติดตาม ตัวอย่างเช่น Facebook Page คุณยายแกะกล่อง
3.ธุรกิจฟรีแลนซ์รวมถึงการเป็นที่ปรึกษา เนื่องจากผู้สูงอายุค่อนข้างที่จะมีประสบการณ์มาก ดังนั้นธุรกิจที่เหมาะสมอีกธุรกิจคือการเป็นที่ปรึกษาให้แก่คนรุ่นใหม่ในด้านต่างๆ
4.ธุรกิจค้าขาย ทั้ง online และ offline
5.ธุรกิจเกษตร ธุรกิจที่เหมาะกับผู้สูงอายุมาก เพราะว่าได้พักผ่อนไปในตัวได้ออกแรงเล็กๆ น้อยๆ ไปในตัวพรวนดินปลูกต้นไม้สามารถขยายเกิดรายได้ได้แปลว่ามีทั้งความสุขมีทั้งรายได้ดี
“ในปัจจุบันธุรกิจรายใหญ่มีการจ้างแรงงานสูงวัย ตัวอย่างเช่น Tesco Lotus มีโครงการ 60 ยังแจ๋ว ทางสสว.มีแนวคิดแนวทางการส่งเสริมผู้สูงอายุให้เป็นผู้ประกอบการ SME และหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ดูแลธุรกิจ SME ไทยทั้งประเทศพร้อมยกระดับส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถ SME ไทยสามารถเติบโตเข้มแข็งและแข่งขันได้ในระดับสากลและยังเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วย โดยภายใต้วิสัยทัศน์การส่งเสริม SME ว่า “SME ไทยเติมโตเข้มแข็ง แข่งขันได้ในระดับสากล และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” นายสุวรรณชัย กล่าว
ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสื่อสร้างสรรค์ กล่าวถึงความรู้ทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ ว่าการเงิน ( financial literacy) เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อวางแผนการเงินสำหรับชีวิตในอนาคต เนื่องจากเมื่อเราเข้าสู่วัยสูงอายุ การทำงานก็น้อยลง รายได้ก็หดหาย ทำให้เราควรวางแผนด้านการเงินตั้งแต่วัยทำงาน
“เราควรจะต้องเป็นห่วงหรือว่ากังวลกันขึ้นมากขึ้น คือ เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี เพราะในยุคปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีถึงร้อยละ 82 คนไทยใช้ Social Media ชนิดที่เรียกว่า Active ถึง 51 ล้านคนหรือว่าประมาณร้อยละ 74 ของประชากรทั้งหมด โดยใช้ทางมือถือ จากการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ คนไทยใช้ Facebook ประมาณ 50 ล้านคน เป็นอันดับ 8 ของโลก และใช้ Line ประมาณ 44 ล้านคน เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น”
ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ กล่าวต่อว่า พฤติกรรมการใช้สื่อของคนเราเปลี่ยนไปอย่างมาก เด็กและเยาวชนใช้สื่อในหนึ่งวันไม่น้อยกว่า 6 - 7 ชั่วโมง บางคนอาจจะใช้เป็น 10 ชั่วโมง ผู้สูงอายุหรือว่าคนรุ่น Baby boomer หันมาใช้สื่อใหม่ๆมากขึ้น แม้จะไม่คล่องแคล่วเหมือนกับเด็กรุ่นหลังที่เกิดมาในยุคที่เรียกว่าเป็นยุคดิจิทัลหรือยุคอินเทอร์เน็ตที่เรียกกันว่า Digital native ทำให้ต้องเรียนรู้ต้องหัดใช้เรื่องพวกนี้เหมือนกับการเปลี่ยนจากยุคหนึ่งมาสู่อีกยุคหนึ่ง
โดยการใช้มีตั้งแต่ใช้สวัสดีวันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ ถึงวันอาทิตย์ มีเรื่องพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกิน เรื่องยา จนถึงถกกันเรื่องการบ้านการเมือง เนื่องจากผู้สูงวัยหันมาใช้สื่อใหม่ๆ มากขึ้น ผู้สูงวัยจึงต้องการทักษะในการใช้สื่อใหม่ๆ ซึ่งทักษะที่สำคัญคือการรู้เท่าทันสื่อ ทักษะในการรู้เท่าทันข้อมูลสารสนเทศและรู้เท่าทันดิจิทัล ( Media information Digital literacy) นับเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้สูงวัยนี้ต้องเรียนรู้และก็ต้องเข้าใจ มิฉะนั้นโอกาสที่จะพลาดหรือโอกาสที่จะถูกหลอกลวง
ทั้งนี้ จากสถิติการกระทำผิดในระบบคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนที่ทางตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้รับแจ้งเมื่อปี 2561 ซึ่งมี 973 คดี มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 500 ล้านบาท โดยความเสียหายส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการหลอกให้โอนเงินผ่านทางอีเมล์ ในแง่ของภัยออนไลน์
อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องระมัดระวังกัน คือ Fishing เป็นการหลอกลวงทางอีเมล์ ทาง SMS หรือทางหน้าเว็บไซต์ปลอม และภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งหลอกให้เกิดความตื่นตระหนก ทางธนาคารกสิกรไทยได้ทำแคมเปญออกมาเมื่อประมาณซัก 2-3 เดือนที่ผ่านมา ภายใต้คำขวัญว่า "ใช้สติป้องกันสตางค์" เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวัง มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาได้โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่ทำงานมาตลอดชีวิตทำงานมา 30 - 40 ปีเก็บหอมรอมริบ มีเงินมีทอง ถ้าถูกหลอกก็จะส่งผลเสียหายได้ ดังนั้นเราควรมีสติในการรับข้อมูลหรือเสพสื่อต่างๆ
ภาพประกอบ:http://www.thaiticketmajor.com/variety/lifestyle/6104/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/