เงินใต้โต๊ะ ต้องจ่ายเท่าไหร่?
"...การเอาชนะปัญหาเรื้อรังเช่นนี้ไม่ใช่การไล่เอาตัวคนผิดมาลงโทษ เพราะไม่มีวันจับได้หมดสิ้น แต่ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องยกเครื่อง “ระบบและวัฒนธรรมการทำงาน” เสียใหม่ ให้โปร่งใส ไม่ยุ่งยาก ไม่เป็นภาระเกินควรแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่มาติดต่อใช้บริการ ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการอนุญาตอนุมัติของราชการฯ และแนวปฏิบัติหลายๆ ประการที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแนะไว้..."
“สินบน - เงินใต้โต๊ะ” ในการก่อสร้างบ้านและอาคาร โดยมากเกิดเมื่อผู้ไปยื่นขอใบอนุญาตแล้วถูกเจ้าหน้าที่เห็นแก่ได้บางกลุ่มกลั่นแกล้งดึงเรื่องให้ช้า ไม่จบสิ้นด้วยสารพัดข้ออ้างแม้จะทำทุกอย่างถูกต้องดีแล้ว เพื่อตัดรำคาญและมิให้เกิดความเสียหายเขาจึงต้องจ่ายไป มีบ้างที่เป็นการจ่ายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปิดหูปิดตา เพราะมีการกระทำบางอย่างผิดกฎหมายหรือผิดขั้นตอน จนทำให้คนจำนวนมากเชื่อกันว่า ถ้าต้องการต่อเติมบ้านหรือร้านค้าที่ไม่ใหญ่โตนัก ก็ยอมจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ไปเลยโดยไม่ยอมเสียเวลาไปติดต่อยื่นขอใบอนุญาตให้มากเรื่อง
ต้องจ่ายมากเท่าไหร่..
1. ชาวบ้าน คนค้าขายทั่วไป มีตั้งแต่ 3,000 – 5,000 บาท หรือ 50,000 บาท จนถึงหลักแสนแล้วแต่กรณี โดย ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโน เคยเขียนไว้ว่า เรื่องการขออนุญาตก่อสร้างนี้ถ้าให้ “นายช่าง” ของหน่วยงานเป็นผู้เขียนแบบก็จะได้อนุมัติเร็ว แต่ต้องทำใจจ่ายแพงและได้แบบไม่สวยนัก
2. ผู้ประกอบการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม โดยทั่วไปมีราคามาตรฐาน มากน้อยขึ้นกับขนาดและทำเล หรือพื้นที่ที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังบูมก็แพงขึ้น ถ้าเป็นต่างจังหวัดราคาจะไม่แน่นอน แต่อย่างไรก็ต้องจ่ายพิเศษให้ “ผู้มีอำนาจ” บางคนในทุกหน่วยงานที่ต้องไปขออนุญาต (ที่มีมากถึง 48 รายการ) ตัวอย่างเช่น
- ขออนุญาตก่อสร้างทั้งโครงการ บ้านเดี่ยว/ตึกแถว 5,000 – 7,000 บาทต่อหลัง ทาวน์เฮ้าส์ 3 ชั้น 3,500 บาทต่อหลัง บ้านแฝดบ้านแถวสองชั้น 3,000 บาทต่อหลัง คอนโดไม่เกิน 8 ชั้น อาคารละ 100,000 บาท เกินกว่า 8 ชั้นอาคารละ 500,000 บาท
- ขอใบอนุญาตจัดสรร 50,000 – 80,000 บาท
- ค่าออกเอกสารสิทธิ์ห้องชุดคอนโด ห้องละ 1,000 บาท
- ค่าทำรังวัดที่ดินนอกรอบ ไร่ละ 1,000 บาท รังวัดเป็นทางการ เหมารวม 20,000 - 25,000 บาท การชี้แนวเขตที่ดินครั้งละ 3,000 บาท ทำผังและพล็อตโฉนด/ตรวจสอบผังรังวัด/เขียนโฉนดฝ่ายทะเบียน รายการละ 12,000 – 15,000 บาท
- ค่าตัดแต่งต้นไม้หน้าโครงการ 2,000 – 3,000 บาท แต่ถ้าให้ ตัดหรือย้ายต้นไม้ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 20,000 – 30,000 หมื่นบาท
- ขอสร้างบ้านตัวอย่าง 20,000 – 35,000 บาท สร้างห้องตัวอย่างคอนโด 180,000 บาท สร้างสำนักงานขาย 20,000 – 60,000 บาท สร้างที่พักคนงาน 20,000 บาท สร้างซุ้ม,ป้อมยาม,ป้าย 7,000 – 30,000 บาท สร้างรั้ว,เขื่อนกันดิน 30,000 บาท
- ขอสร้างสโมสร สระว่ายน้ำ 40,000 – 50,000 บาท
- ค่าเลขที่บ้าน 100 – 200 บาทต่อหน่วย ค่าทะเบียนบ้านห้องละ 500 บาท
- ค่าเชื่อมทาง เชื่อมท่อน้ำทิ้ง รายการละ 10,000 – 50,000 บาท ค่าลัดคิวปักเสาไฟฟ้า 5,000 บาท
- ทำถนน สะพานข้ามคลอง 90,000 – 120,000 บาท
- หัวหน้าส่วนงานแบบ 50,000 บาท
- ค่ารับรองกรรมการตรวจสาธารณูปโภค คนละ 5,000 บาท แต่ถ้าเป็นกรรมการตรวจ EIA ราคาจะสูงกว่านี้
- ขอติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างในโครงการ 10,000 บาท
การเอาชนะปัญหาเรื้อรังเช่นนี้ไม่ใช่การไล่เอาตัวคนผิดมาลงโทษ เพราะไม่มีวันจับได้หมดสิ้น แต่ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องยกเครื่อง “ระบบและวัฒนธรรมการทำงาน” เสียใหม่ ให้โปร่งใส ไม่ยุ่งยาก ไม่เป็นภาระเกินควรแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่มาติดต่อใช้บริการ ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการอนุญาตอนุมัติของราชการฯ และแนวปฏิบัติหลายๆ ประการที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแนะไว้
ดร. มานะ นิมิตมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)