นักวิชาการเผยถั่วเน่ามีสารต้านมะเร็งเต้านม-ต่อมลูกหมาก ดันขึ้นโอทอปท่าโป่ง
นักวิชาการดัน “ถั่วเน่าท่าโป่ง” ขึ้นแท่นสินค้าโอทอปช่วยเกษตรกร เตรียมขยายศูนย์เรียนรู้ เผยมีสารต้านมะเร็งเต้านม-ต่อมลูกหมาก
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ ร่วมกับชุมชนบ้านท่าโป่ง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ จัดทำผลิตภัณฑ์แปรรูปถั่วชีวภาพ หนึ่งในโครงการสร้างชุมชนต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นางทองใบ แก้วกุณนา ประธานกลุ่มผู้แปรรูปถั่วชีวภาพบ้านท่าโป่ง กล่าวว่า อดีตหมู่บ้านได้รับงบประมาณจากอบต.บ้านแม เพื่อผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ซึ่งสมาชิกในกลุ่มเลือกทำถั่วเน่าแผ่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสินค้าไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีแนวคิดล้มเลิกทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว กระทั่งเจ้าหน้าที่อบต. บ้านแม และนักวิชาการจากม.เชียงใหม่ มรภ.สวนดุสิตได้เข้ามาส่งเสริมความรู้ด้านวิธีการหมักแบบใหม่ ทั้งยังแนะนำการออกแบบผลิตภัณฑ์และการสร้างมูลค่าทางการตลาด นอกจากนี้ยังร่วมสมทบทุนช่วยเหลือ จึงทำให้สมาชิกกลับมาประกอบอาชีพแปรรูปถั่วชีวภาพได้อีกครั้ง
ประธานกลุ่มผู้แปรรูปถั่วชีวภาพ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันได้ขยายการผลิตสินค้าเพิ่ม เช่น ข้าวเกรียบกุ้ง น้ำพริกคั่วทราย น้ำพริกตาแดง และเปิดให้ผู้สนใจมาศึกษาดูงานผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม นับว่าอาชีพนี้สร้างรายได้ให้สมาชิกกลุ่มวันละหลายพันบาท ซึ่งเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งจากการทำเกษตร
ด้านนายเรวัตร พงษ์พิสุทธินันท์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ ระบุว่า ถั่วเหลืองที่ชาวบ้านใช้เป็นวัตถุดิบทำถั่วเน่า มีสารไอโซฟลาโวน ทำงานคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการและสามารถลดอาการร้อนในร่างกาย อารมณ์แปรเปลี่ยนง่ายของสตรีวัยทอง ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมในเพศหญิง และการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชายได้ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของผลิตภัณฑ์อาหารจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน
ขณะที่ดร.ศักดา พรึงลำภู หัวหน้าโครงการการสร้างชุมชนต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ถั่วชีวภาพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ กล่าวว่า การถนอมอาหารพื้นบ้านภาคเหนือมีเอกลักษณ์ทั้งรสชาติ คุณค่าทางโภชนาการ ที่สามารถสร้างการยอมรับได้ ซึ่งหากชาวบ้านสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จะทำให้ชาวบ้านเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้นักวิชาการและอบต. ทั่วประเทศต้องเข้าไปมีบทบาทต่อการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและให้ชุมชนสร้างอาชีพได้ด้วยตนเอง
“เราจะเข้าไปจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อชุมชนรวมกลุ่มเรียนรู้จนเกิดความเข้มแข็ง จำเป็นต้องเปิดศูนย์ศึกษาเพื่อเป็นตัวถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วย ซึ่งปัจจุบันมี 2 ชุมชน คือ ต.บ้านแม อ.สันป่าตอง จ. เชียงใหม่ และ ต.ห้วยซ้อ อ.เชียงของ จ.เชียงราย” หัวหน้าโครงการฯ กล่าว.