ผักผลไม้ในห้างค้าปลีกแย่กว่าตลาดสด พบสารพิษตกค้าง ‘กวางตุ้ง-ส้ม’ มากที่สุด
ไทยแพนเปิดผลสำรวจผักผลไม้ ปี 62 พบ ‘กวางตุ้ง-ส้ม’ มีสารพิษตกค้างมากที่สุด จาก 24 ชนิด 286 ตัวอย่าง ขายในห้างค้าปลีกเเย่มากกว่าตลาดสด เตรียมนำข้อมูลหารือร่วม รมว.กษ.-สธ.
วันที่ 26 มิ.ย. 2562 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai Pan) จัดเเถลงข่าวผลการตรวจสารพิษตกค้างในผักเเละผลไม้ ปี 2562 ณ สวนชีววิถี จ.นนทบุรี
น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai Pan) เปิดเผยว่า จากการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ 24 ชนิด จำนวน 286 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-5 เม.ย. 2562 ครอบคลุมดังต่อไปนี้
ผัก 15 ชนิด ได้แก่ พริกแดง, กะเพรา, คะน้า, กวางตุ้ง, กะหล่ำปลี, มะเขือเปราะ, แตงกวา, ถั่วฝักยาว, กะหล่ำดอก, มะละกอดิบ, ผักบุ้งจีน, ผักชี, มะเขือเทศ, กระเทียมจีน และกระเทียมไทย
ผลไม้ 9 ชนิด ได้แก่ ส้ม, มะม่วงน้ำดอกไม้, แอปเปิ้ล, กล้วยหอม, แก้วมังกร, ฝรั่ง, ชมพู่, องุ่น และมะละกอสุก
โดยผักและผลไม้ทั้งหมดเก็บจากห้างค้าปลีก ได้แก่ บิ๊กซี, แม็คโคร, ท็อป ไทยแลนด์, เครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป และเทสโก้โลตัส ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจากตลาดกระจาย 7 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ ตลาดเมืองใหม่ ตลาดวงศ์สถาน จ.เชียงใหม่, ตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี, ตลาดศรีเมือง ตลาดรถไฟ ตลาดบ้านคำไฮ จ.ขอนแก่น, ตลาดสดเทศบาลเมืองยโสธร ตลาดตาดทอง แผงหน้าแมคโคร จ.ยโสธร, ตลาดศาลาลำดวน ตลาดสดเมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว, ตลาดโบว์ลิ่ง ตลาดสวนมะม่วง จ.จันทบุรี และตลาดริมทางรถไฟหาดใหญ่ และตลาดรัถการคอมเพล็กซ์ หาดใหญ่ จ.สงขลา
ผู้ประสานงาน Thai Pan กล่าวต่อถึงผลการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผัก พบว่า กวางตุ้งเป็นผักที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุด 10 จาก 12 ตัวอย่าง รองลงมา คะน้า 9 จาก 12 ตัวอย่าง, กะเพรา 8 จาก 12 ตัวอย่าง, พริก 7 จาก 12 ตัวอย่าง, กะหล่ำดอก 7 จาก 12 ตัวอย่าง, ผักชี 7 จาก 12 ตัวอย่าง, มะเขือเปราะ 6 จาก 12 ตัวอย่าง, มะเขือเทศ 5 จาก 12 ตัวอย่าง, ถั่วฝักยาว 4 จาก 12 ตัวอย่าง, ผักบุ้งจีน 4 จาก 12 ตัวอย่าง, แตงกวา 3 จาก 12 ตัวอย่าง และกะเทียมไทย 1 จาก 12 ตัวอย่าง
ส่วนผลไม้ที่พบสารพิษเกินมาตรฐานมากที่สุด คือ ส้ม 12 จาก 12 ตัวอย่าง รองลงมา ชมพู่ 11 จาก 12 ตัวอย่าง, ฝรั่ง 7 จาก 12 ตัวอย่าง, องุ่น 7 จาก 12 ตัวอย่าง, มะละกอสุก 5 จาก 12 ตัวอย่าง, แก้วมังกร 2 จาก 12 ตัวอย่าง, ส่วน แอปเปิ้ล มะม่วงสุก และกล้วยหอม ชนิดละ 1 จาก 12 ตัวอย่าง
ผู้ประสานงาน Thai Pan ระบุเมื่อเปรียบเทียมผลไม้นำเข้าและผลิตในประเทศ ปรากฎว่า ผลไม้นำเข้ามีสารพิษตกค้างเกินค่าเกินมาตรฐานเพียง 33.3% ขณะที่ผลไม้ผลิตในประเทศกลับพบเกินมาตรฐานสูงถึง 48.7%
ขณะที่ภาพรวมจาก 286 ตัวอย่าง พบผักมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 40% ขณะที่ผลไม้ 43% โดยที่ภาพรวม 41.3% ซึ่งดีกว่าปี 2560 ภาพรวมอยู่ที่ 46% อย่างไรก็ตามในต่างประเทศ ภาพรวมจะอยู่เพียง 1-3% เท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบผักผลไม้จำหน่ายในห้างค้าปลีกกับตลาด จะเห็นภาพค่อนข้างชัดว่า ภาพรวมในห้างค้าปลีกพบการตกค้างมากถึง 44% หรือ 52 จาก 118 ตัวอย่าง ขณะที่ตลาดพบเพียง 39% หรือ 66 จาก 168 ตัวอย่าง
น.ส.ปรกชล กล่าวต่อว่า การตรวจสอบในปีนี้ยังพบสารพิษตกค้างทั้งหมด 90 ชนิด ในจำนวนนี้ถ้าไม่ส่งตรวจที่อังกฤษ แต่ส่งจากในไทย และตรวจ iTem ปกติ ในยาฆ่าแมลง 4 กลุ่ม จะเจอสารพิษตกค้างเพียง 19 ชนิด ส่วนอีก 71 ชนิดจะมองไม่เห็น ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของประเทศไทยยังไม่สามารถยกระดับห้องปฏิบัติการให้ครอบคลุมกับสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้ได้ ถึงแม้ยกระดับได้ยังต้องมาดูเรื่องราคาที่สามารถเข้าถึงได้ด้วย
ทั้งนี้ สารพิษตกค้าง 90 ชนิดที่พบเป็นสารดูดซึม 50 ชนิด คิดเป็น 56% ของสารทั้งหมดที่พบการตกค้าง โดยคะน้าเป็นผักที่พบสารพิษตกค้างมากที่สุด 27 ชนิด รองลงมา ผักชี 25 ชนิด และพริก 23 ชนิด ส่วนน้อยที่สุด คือ กะเทียม 2 ชนิด
ส่วนผลไม้ พบว่า ส้มมีสารพิษตกค้างมากที่สุด 32 ชนิด รองลงมา องุ่น 31 ชนิด และชมพู่ 18 ชนิด ส่วนน้อยที่สุด คือ มะม่วงสุก 2 ชนิด
“สารพิษตกค้างพบมากที่สุด คือ คาร์เบนดาซิม จำนวน 57 ตัวอย่าง ส่วนคลอร์ไพริฟอส อยู่ในลำดับ 5 จำนวน 38 ตัวอย่าง”
ขณะที่วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และสารที่ไม่ขึ้นทะเบียน ผู้ประสานงาน Thai Pan ระบุมี Methamiddophos มี 8 ตัวอย่าง ได้แก่ พริกแดง ตัวอย่างจากเทสโก้โลตัส บางกรวย-ไทรน้อย ตลาดศรีเมือง ราชบุรี และตลาดริมทางรถไฟ หาดใหญ่ จ.สงขลา, คะน้าจากตลาดริมทางรถไฟ หาดใหญ่ จ.สงขลา, มะเขือเปราะ จากแมคโคร จรัญสนิทวงศ์ และตลาดศรีเมืองทอง ขอนแก่น, ฝรั่ง จากเทสโก้โลตัส หาดใหญ่ และมะละกอสุก จากสยามพารากอน
Carbofuran มี 9 ตัวอย่าง ได้แก่ กะเพราจากสยามพารากอน, ส้มสายน้ำผึ้ง 7 ตัวอย่าง จากแมคโคร จรัญสนิทวงส์ บิ๊กซี ราชดำริ ตลาดรถไฟขอนแก่น แผงหน้าแมคโคร เชียงใหม่ ตลาดศรีเมือง ราชบุรี ตลาดศาลาลำดวน สระแก้ว รัถการคอมเพล็กซ์ หาดใหญ่ และส้มโชกุน ตลาดโบว์ลิ่ง จันทบุรี
Methomyl มี 8 ตัวอย่าง ได้แก่ มะละกอดิบ จากบิ๊กซี ราชดำริ, ส้มสายน้ำผึ้งจากตลาดศาลาลำดวน สระแก้ว, ฝรั่ง 3 ตัวอย่าง จากแมคโครแจ้งวัฒนะ ท็อปส์ เซ็นทรัลเวิลด์ และตลาดศรีเมือง ราชบุรี, ชมพู่ 2 ตัวอย่าง จาก บิ๊กซี ราชดำริ และตลาดศรีเมือง ราชบุรี, กล้วยหอม ตลาดรัถการคอมเพล็กซ์ หาดใหญ่, องุ่น 2 ตัวอย่าง จากเซ็นทรัลเวิลด์ และสยามพารากอน
น.ส.ปรกชล ยังกล่าวว่า ไทยแพนจะจัดเตรียมผลการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวและประเด็นหารือไปเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) หลังจากมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้ว โดยจะเรียกร้องให้ทั้ง 2 กระทรวงเดินหน้ายุติการใช้สารพิษอันตรายร้ายแรง 3 ชนิด ได้แก่พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยเร็วที่สุด และเสนอให้จัดการแก้ปัญหาสารพิษที่ตกค้างบ่อย และตรวจพบตกค้างเป็นอันดับต้น ๆ เช่น สารคาร์เบนดาซิม รวมถึงแนวทางจัดการกับหน่วยราชการที่ปล่อยให้มีการจำหน่ายและใช้จนสามารถตรวจพบการตกค้าง
ส่วนกรณีผักผลไม้ที่ขายในห้างค้าปลีก โดยเฉพาะส่วนที่พบว่ายังมีการใช้สารพิษร้ายแรงที่ประเทศไทยได้ห้ามใช้แล้ว Thai Pan จะนำข้อมูลดังกล่าวไปมอบให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อให้มีการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดต่อไป .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/