เป็นอำนาจตาม รธน.! ศาล ปค.สูงสุดไม่รับคำร้องปม คสช.ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.
ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำร้องปม คสช. ตั้ง กก.สรรหา ส.ว. มิชอบ-ไม่มีความเป็นกลาง เหตุเป็นอำนาจหน้าที่ตาม รธน. มิใช่ข้อพิพาทจากการกระทำของ จนท.รัฐ ชี้เมื่อไม่รับคำร้องแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียกคำสั่งตั้ง กก.สรรหา ส.ว.มาอีก ด้านตัวแทนคณะราษฎรไทยน้อมรับ แต่ยังสู้ต่อ เตรียมร้องอียู
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562 ศาลปกครองกลางอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำร้องคณะราษฎรไทยแห่งชาติ กับพวกรวม 34 ราย ผู้ร้อง ที่ยื่นฟ้องต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ผู้ถูกร้อง กรณีการตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยมิชอบ เนื่องจากแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง
ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ คสช. และนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 รองรับ ผู้ถูกร้องถือเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อสรรหาบุคคลไปทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ กรณีนี้จึงไม่ใช่ข้อพิพาทจากการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง
ส่วนที่ผู้ถูกร้อง ระบุว่า ศาลปกครองกลางไม่เรียกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. มาพิจารณาก่อนที่จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องนั้น รับฟังไม่ได้ เนื่องจากตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2553 ข้อ 54 กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลส่งเอกสารหลักฐานได้ แต่เป็นดุลพินิจของศาลจะพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการหรือไม่ กรณีนี้เมื่อศาลไม่รับคำร้องไว้พิจารณาจึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ศาลจะต้องเรียกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว.ตามที่ร้องขอ เช่นเดียวกับกรณีที่ขอให้นำเรื่องนี้เสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดนั้น ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุด ใช้ดุลพินิจว่าจะนำเรื่องใดเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของทั้งตุลาการ และผู้ร้องจะมีสิทธิเสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุดได้
ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งดังกล่าว นายพลภาขุน เศรษฐญาบดี แกนนำคณะราษฎรไทยแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า น้อมรับคำพิพากษา โดยถือว่าทำหน้าที่ประชาชนเพื่อร้องเรียนตามช่องทางของกฎหมายจบแล้ว แต่ในฐานะประชาชนที่รักความเป็นธรรมยังไม่จบ โดยจะนำเรื่องไปร้องต่อที่สหประชาชาติและสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อให้รู้ว่าตัวแทนปวงชนชาวไทยที่ทำหน้าที่ในสภาไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง พร้อมกับฝากถึงผู้ทำงานด้านกฎหมายว่า เราต่างก็เห็นอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนว่า กรรมการสรรหาต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ทุกคนรู้ภาษาไทยหมดและเห็นการกระทำของผู้ใช้อำนาจรัฐด้วยกันทั้งสิ้นว่าไม่เป็นไปตามนั้น อยากถามว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญไทยนี้มีไว้เพื่อใคร เพื่อปวงชนชาวไทยจริงหรือไม่ จึงเชิญชวนคนดีทั้งหลายโปรดช่วยปวงชนชาวไทยในภาวะเช่นนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้ศาลปกครองกลางเคยมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีนี้เป็นกรณีเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา ส.ว. อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิใช่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครอง ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 197 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกอบกับมาตรา 9 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/