รุมค้านลงทะเบียนซิมการ์ดรอบใหม่ชายแดนใต้
มีเรื่องวุ่นๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของสงขลาที่เป็น "พื้นที่ความมั่นคง"
ที่นั่นกำลังมีกระแสที่เกิดขึ้นจากประกาศของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่ให้ประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่ ไปลงทะเบียน "ซิมการ์ด" ใหม่ ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์ ภายในวันที่ 31 ต.ค.ปีนี้ หากไม่ดำเนินการตามกำหนด มือถือจะไม่สามารถใช้บริการได้
ข้อความแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ที่อ้างถึง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า ขอให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึง 4 อำเภอรอยต่อของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) นำ "ซิมการ์ดมือถือ" ไปลงทะเบียนใหม่ ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์ ภายในวันที่ 31 ต.ค.62
ข้อความประชาสัมพันธ์ยังระบุให้ผู้ใช้บริการมือถือเช็คสถานะซิมได้ โดยกดหมายเลข *165*5* ตามด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน และ # (เครื่องหมายสี่เหลี่ยม) แล้วโทรออก ทั้งยังสามารถกดฟังข้อมูลเป็นภาษายาวีได้อีกด้วย พร้อมกับย้ำว่าหากไม่ดำเนินการภายในวันที่กำหนด ซึ่งก็คือ 31 ต.ค. หรือราวๆ 4 เดือนเศษนับจากนี้ โทรศัพท์จะใช้การไม่ได้
รณรงค์ผ่านเว็บ change อ้างต้านเผด็จการ
หลังจากข้อความนี้เผยแพร่ออกไป ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และพรรคการเมืองบางพรรคที่มีฐานเสียงในพื้นที่ได้ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย และมีการรณรงค์ใน www.change.org รวมพลังคน 3 จังหวัด ไม่จดทะเบียนซิม ไม่สแกนใบหน้า ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และล่วงเลยไปถึง "ไม่เป็นทาสเผด็จการทหาร"
วาทกรรมที่ใช้ในกระแสคัดค้าน มีการใช้คำว่า "สแกนใบหน้า" รวมทั้ง "พิสูจน์อัตลักษณ์" ซึ่งไม่ตรงกับถ้อยคำที่ประชาสัมพันธ์จาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่แจ้งให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือไปลงทะเบียนซิมการ์ด
สำหรับผู้ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนการรณรงค์เรื่องนี้ในเว็บ change ตรวจสอบ ณ เวลา 23.30 น. วันจันทร์ที 24 มิ.ย.62 อยู่ที่ 625 คน โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 คน ผู้ที่ระเริ่มรณรงค์ระบุตัวตนว่าเป็นสมาชิกพรรคประชาชาติ
"ทวี ประชาชาติ" ชี้ละเมิดสิทธิ์-ผิดรัฐธรรมนูญ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ โดยบอกว่า พรรคประชาชาติสนับสนุนให้แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหลักนิติธรรม สนับสนุนให้หน่วยงานด้านความมั่นคงบูรณาการทำงานร่วมกับภาคประชาชนเพื่อความสงบสุขของพื้นที่ โดยปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด คือบุคคลทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง และถูกบังคับใช้กฏหมายอย่างเสมอภาค
พ.ต.อ.ทวี บอกว่า กรณีการบังคับลงทะเบียนซิมโทรศัพท์และพิสูจน์อัตลักษณ์นั้น มีประเด็นน่าจะขัดรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 26 การจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่เป็นไปตามเงื่อนไขที่บทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แมาตรา 36 รับรองเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันของประชาชน การกระทําด้วยประการใดๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีคําสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ส่วนที่มีการอ้างระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.นั้น ระเบียบนี้ไม่ใช่กฎหมาย และมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมาย รวมถึงรัฐธรรมนูญ
ฉะนั้นถ้า กอ.รมน.หรือรัฐบาลมีความจำเป็นตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์จากซิมมือถือ รัฐบาลต้องบัญญัติเป็นฏหมาย โดยให้รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.จำนวน 500 คน และ ส.ว.จำนวน 250 คน ได้ร่วมกันพิจารณาเป็นกฏหมายตามรัฐธรรมนูญต่อไป ในการนี้พรรคประชาชาติได้ตั้งคณะทำงานที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด และจะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
"อังคณา" ถามหาหลักประกันคุ้มครองข้อมูลบุคคล
อีกหนึ่งเสียงที่ออกมาตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ คือ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. โดยอังคณาได้โพสต์เฟซบุ๊คระบุว่า เป็นคนหนึ่งในหลายๆ คนที่ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับข้อความจากผู้ใช้นามว่า #ISOC4 หรือ กอ.รมน.ภาค 4 เรื่องขอให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์ ภายในวันที่ 31 ต.ค.
อังคณา ตั้งข้อสังเกตว่า ต้องไม่ลืมว่าประชาชนไม่ได้ติดตามอ่านประกาศเรื่องนี้ในราชกิจจานุกเบกษาทุกคน และที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากเนื่องจากข้อความนี้ส่งมาจากบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในนามของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยไม่มีแถลงการณ์ ประกาศ หรือคำอธิบายอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล หรือ กอ. รมน.มาก่อน และไม่มีการแจ้งหรืออธิบายเหตุผลว่าทำไมผู้ใช้บริการโทรศัพท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องไปลงทะเบียนซิมด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์ เพราะใบหน้าและอัตลักษณ์เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวพันกับการเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ ของบุคคลนั้นๆ
นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่ไม่มีการชี้แจงก็คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ มีหลักประกันใดในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้ให้เป็นความลับ เพื่อป้องกันมิให้มีการนำข้อมูลนี้ไปใช้โดยไม่สุจริต และมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ฉะนั้นแม้รัฐจะมีอำนาจในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ก็ต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ ในขณะที่ประชาชนต่างมีสิทธิในการที่จะได้รับความคุ้มครองในสิทธิและข้อมูลอันเป็นส่วนตัวด้วยเช่นกัน