“สุชาติ” ยันบล็อกสิ่งไม่ดีในแท็บเล็ต “ครูประทีป”ชี้ปัญหาสำคัญขาดครูดี
“สุชาติ” มั่นใจบล็อกสิ่งไม่ดีในแท็บเล็ต ป.1 “ชินภัทร”เสริมช่วยผลสัมฤทธิ์การศึกษาเด็กไทยเพิ่ม นักวิจัยชี้เครื่องบรรจุสาระหนังสือ 8 เล่ม “ครูประทีป”มองปัญหาสำคัญกว่าสร้างพัฒนาการเด็ก-ขาดครูดี
วันที่ 19 ก.ค.55 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จัดเสวนา "แท็บเล็ตช่วยตอบปัญหาการศึกษาไทยได้อย่างไร" โดยนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เยี่ยมชมการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตห้องสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ของเด็ก ป.1 และกล่าวว่ารัฐบาลเชื่อว่านโยบายแท็บเล็ตมีความจำเป็นและเหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็ก แม้ที่ผ่านมาจะมีคำถามมากมาย ก็เหมือนสมัยหนึ่งมีการนำกระดาษมาใช้แทนกระดานชนวนก็มีคนไม่เห็นด้วยมาก แท็บเล็ตก็เช่นเดียวกัน
"หลายคนเป็นห่วงว่าแท็บเล็ตจะทำให้เด็กติดเกมมากขึ้น ไม่ต้องกังวลเพราะ ศธ.มีระบบดูแลและจะบล็อคสิ่งต่างๆที่ไม่พึงประสงค์ และที่ ศธ.แจกแท็บเล็ต ป.1 เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่อายุ 30 กว่าปียังเข้าใจยุคเทคโนโลยี เมื่อเด็กกลับบ้านจะมีครูเพิ่มอีก 2 คน คือพ่อแม่ที่จะช่วยสอนได้" รมว.ศธ.กล่าว
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่านโยบายแท็บเล็ตนักเรียนเป็นการลงทุนที่มุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้ สอดคล้องกับสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แท็บเล็ตจะแก้ปัญหาการศึกษา ได้แก่ 1.ความเหลื่อมล้ำที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน 2.มาตรฐานทางการศึกษาของไทยที่ย่ำอยู่ในสภาวะผลสัมฤทธิ์เด็กไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะเรื่องภาษา 3.ปัญหาเด็กนิสัยไม่สนใจใฝ่รู้รักการอ่าน เด็กติดเกม และ 4.แก้ปัญหาเด็กไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง แท็บเล็ตจะสร้างการทำงานเป็นทีมได้
นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา นักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ในฐานะผู้จัดทำเนื้อหาแท็บเล็ต กล่าวว่า แท็บเล็ตเป็นเพียงจิกซอร์ตัวหนึ่ง ที่จะเข้ามาช่วยจัดการศึกษา ไม่ได้เป็นคำตอบหรือยารักษาโรคทุกอย่าง สิ่งที่จำเป็นมากกว่าตัวแท็บเล็ตคือสื่อการเรียนการสอน เนื้อหาที่จะบรรจุในแท็บเล็ต ซึ่งหลายคนเป็นห่วงกลัวว่าไม่มีสื่อ ซึ่งขอยืนยันว่าในแท็บเล็ต 7 นิ้ว มีสื่อที่เหมาะสมพอสมควร มีหนังสือ 8 เล่ม มีข้อมูลกว่า 300 เรื่องและมีพื้นที่เหลือพอใช้งานอื่นๆ
ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่ามูลนิธิฯร่วมมือกับบริษัทไมโครซอฟท์ฯ นำเทคโนโลยีมาใช้สอนเด็กด้อยโอกาสมา 8 ปีแล้ว เพราะคนยากคนจนถ้าไม่มีความรู้จะยากจนอยู่อย่างนั้น หลังจากที่ผู้ด้อยโอกาสได้เรียนรู้นำเทคโนโลยีมาค้นคว้าให้เกิดประโยชน์ ทำให้สร้างรายได้ ดังนั้นถ้าเราไม่อยากโง่จบเจ็บไม่อยากอยู่ในวัฎจักรที่ชั่วร้าย ต้องเรียนรู้และนำแท็บเล็ตมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าแท็บเล็ตคือขาดครูที่กระตุ้นการเรียนรู้
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการนำแท็บเล็ตมาใช้ จะช่วยค้นหาความสามารถของเด็กที่ซ่อนอยู่ได้ โดยต้องเปิดโอกาสให้แก่เด็ก และครูต้องเพิ่มบทบาทในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นพี่เลี้ยง นำแท็บเล็ตมาสร้างให้เด็กเกิดพัฒนาการ
"ครูต้องมีทักษะ 3 ด้าน เพื่อเพิ่มเติมการเรียนรู้ให้เด็ก ได้แก่ 1.สอนเรื่องทักษะชีวิต 2.รู้เท่าทันสื่อ 3.สอนให้เด็กเข้าใจสังคม รู้จักยับยั่งชั่งใจ ต้องมีการพัฒนาศักยภาพครูในการใช้แท็บเล็ตสอน เพราะมีหลายส่วนที่ครูยังไม่รู้ และต้องสอนให้ตรงกับพัฒนาการของเด็กด้วย" นพ.สุริยเดว กล่าว .