EECI-เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจ ปตท.คาดภายใน 5 ปีเกิดจุดสตาร์ท
ไม่ถึง 2 ปี โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกคืบไปมาก ปตท.คาดปี 2564 เปลี่ยนโฉม ตอบโจทย์ 12 อุตสาหกรรม
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ โรงแรมเมอรีเนียน เวียนนา ประเทศออสเตรีย ถึงโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECI@Wangchan Valley) จังหวัดระยอง จำนวน 3,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เก่าของกลุ่มปตท. ว่า เมื่อรัฐบาลมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 EECI จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ ให้เป็นแหล่งนวัตกรรม ศูนย์เรียนรู้ และเป็นแหล่งสตาร์ทอัพของประเทศ โดยมีการพัฒนาร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สร้างพื้นที่แบบร่วมกัน และมีการเชิญบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก มาลงทุนที่นี่ เพื่อเป็นแซนบล็อกสำหรับทดลอง นวัตกรรมใหม่ๆ
"คนไทยจะเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อคนไทยจะก้าวทันโลก"
ขณะที่ นางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บมจ.ปตท. กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการนี้ว่า ปตท.เป็น 1 ใน 50 หน่วยงานที่ลงนามกับ ภาครัฐ และสวทช.เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ปัจจุบันไม่ถึง 2 ปีพบว่า คืบหน้าไปมาก คาดว่า โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งการก่อสร้าง การปรับพื้นที่ จะเสร็จปี 2563 และภายใน 5 ปีจะเกิดจุดสตาร์ท โดยปี 2564 EECI พื้นที่วังจันทร์จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จากที่สวทช.คาดไม่พัฒนาพื้นที่นี้ไม่ต่ำกว่า 20 ปี
นางหงษ์ศรี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีพื้นที่ นวัตกรรม EECI ถือเป็นแห่งแรก ตอบโจทย์ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก(S-Curve for Target Industries) หากไม่มี EECI ไทยแลนด์ 4.0 ไม่เกิด เพราะไทยแลนด์ 4.0 เกิดได้ เป็นเรื่องของนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
"ใน 12 อุตสาหกรรม กระทรวงวิทย์ฯ คิดมา 6 อุตสาหกรรม อยากให้เกิดในไทย และ EEC มีความเหมาะสม คือ อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และไบโอเทค อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและไบโอเคมีคอล อุตสาหรรมแบตเตอรี่ และพลังงานไฟฟ้า อุตสาหกรรมเอไอ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ และอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์" ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ กล่าว และว่า เขตนวัตกรรมจึงต่างจากงานวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยเราขาดกำลังคนด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ หากขาดกำลังคนขานี้ ฐานการพัฒนาเราจะไม่มั่นคงในอนาคต
นางหงษ์ศรี กล่าวต่อว่า EECI ไม่สามารถเกิดโดย ปตท.หรือกระทรวงวิทย์ฯ ตามลำพัง ก่อนหน้านี้ เราลงทุนฐาน Education Zone เป็นหมื่นล้านบาท เพื่อสร้างคนและบุคลากร ซึ่งไม่สามารถลงทุนเพียงเครื่องจักรและอาคารอย่างเดียวได้
"วันนี้ EECI กำลังพัฒนา Innovation Zone และCommunity Zone เพื่อทำให้เมืองนี้เป็นเมืองจริงๆ เมืองที่นักวิจัย นวัตกรอยู่แบบเป็นเมือง ไม่ใช่วันศุกร์ไปเช้าวันจันทร์มา"
ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ยังกล่าวถึงงบลงทุน ใน EECI ในส่วนของปตท.ไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท สวทช.1.2 พันล้านบาท คาดว่า สวทช.จะของบฯ เพิ่มกว่า 3 พันล้านบาทเพื่อลงทุนอุปกรณ์และเครื่องมือวิจัย
"พื้นที่นี้ไม่มีโรงงานแต่จะเป็นศูนย์นวัตกรรม แนวคิดจึงไม่เหมือนมาบตาพุด ประเทศไทยไม่มีศูนย์นวัตกรรม นี่คือเหตุผลทำไมไทยผลิตนักวิจัย นักนวัตกรรมจึงไปอยู่นอกประเทศ เพราะเราไม่มีเส้นทางอาชีพให้เขาเหล่านั้น"