นักวิชาการชี้เลือกตั้ง 62 ปลุก HATE SPEECH คืนชีพ เกิดมากในข่าวลวง
นักวิชาการสื่อชี้ HATE SPEECH สร้างเกลียดชังบนฐานอัตลักษณ์ร่วม ตีตรา ดูหมิ่นดูแคลน ปลุกคืนชีพในข่าวลวง ยกงานวิจัย ปี 53 พบเกี่ยวกับการเมืองชัดเจน ‘วาสนา นาน่วม’ ยกกรณี เฌอปราง-ปั้นจั่น รับผลกระทบ ด้านอัยการเผยไทยต้องมีกม. ‘ไซเบอร์ สเปซ’ หนุนรัฐ-ประชาสังคมให้ความสำคัญแพลตฟอร์มใหม่ สร้างแรงร่วม ดันเป็นวาระชาติ
วันที่ 22 มิ.ย. 2562 ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาสาธารณะ เรื่อง HATE SPEECH บนโลกออนไลน์ บาดแผลร้ายที่ใครต้องรับผิดชอบ ณ อาคารปฏิบัติการวิทยุโทรทัศน์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า HATE SPEECH หรือการใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคม สร้างความเกลียดชังบนฐานอัตลักษณ์ร่วม ตีประเด็นทำให้รู้สึกดูถูก ดูหมิ่น ดูแคลน หรือตีตราเหมือนบุคคลนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกที่ไม่พึงประสงค์ของสังคม โดยงานวิจัย ปี พ.ศ. 2553 ซึ่งอยู่ในช่วงเคลื่อนไหวทางการเมือง พบว่า เกิด HATE SPEECH เรื่องการเมืองค่อนข้างชัดเจน
ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญของ HATE SPEECH เกี่ยวกับการแบ่งแยกมี 2 ระดับ ได้แก่
1.แบ่งแยกโดยไม่ตั้งใจ
กรณีการสร้างภาพยนตร์ เรื่อง หมากเตะโลกตะลึง ซึ่งผู้กำกับภาพยนตร์มีความตั้งใจจะนำเสนอทีมฟุตบอลของประเทศไม่พัฒนาไปแข่งในฟุตบอลโลก โดยนำประเทศลาวเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทันทีที่มีตัวอย่างฉายออกไป คนชนชาติลาวมองว่า เป็นการดูหมิ่น เพราะมีการนำเสนอภาพใส่เสื้อฟุตบอลทีมลาว ย้อมขนรักแร้สีทอง เปิดเพลงชาติลาว ซึ่งเกิดความไม่ตั้งใจ
2.แบ่งแยกโดยตั้งใจ
ปลุกเร้าให้เกิดการเกลียดชัง และสุดท้ายปลุกเร้าให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งมีการใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพ ไปฆ่า ไปรุมโทรม จนกระทั่งหรือไล่ออกไปในสังคม
นักวิชการจุฬาฯ กล่าวถึงการเลือกตั้ง ปี 2562 ทำให้เกิด HATE SPEECH ปรากฎกลับมาใหม่อีกครั้ง โดยเกิดขึ้นในข่าวลวงข่าวลือเยอะมาก จากนั้นจะทวีความรุนแรงขึ้น มีการแชร์ส่งต่อกัน และยังมีเพื่อมุ่งให้กระทบกับมติมหาชนเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรียกว่ามีวาระชัดเจน
ส่วนมาตรา 112 กลายเป็นที่มาของ HATE SPEECH หรือไม่นั้น ศ.ดร.พิรงรอง ระบุ การใช้มาตรา 112 ไม่ใช่แค่ยุคนี้ แต่ลองย้อนมองกลับไปเหตุการณ์ 6 ต.ค. มีประเด็นเรื่องสถาบันอยู่เป็นศูนย์กลาง ฉะนั้นคนรักและเทิดทูน ซึ่งการดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เพียงพอแล้วสำหรับการสร้างกระแส ฉะนั้นมาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือมากกว่า
ด้าน ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี พิธีกรและนักแสดง กล่าวถึง CYBER BULLY หรือพฤติกรรมการกลั่นแกล้งผู้อื่น สมัยก่อนมีเพียงหนังสือพิมพ์ ซึ่งเวลาเขียนข่าวดาราแต่ละครั้ง ชอบเขียนนำใบหน้าตีพิมพ์ขึ้นไปก่อน แล้วเขียนประเด็น จากนั้นจะให้ตอบคำถามอีกสัปดาห์หนึ่ง เพราะหนังสือพิมพ์ดารารายสัปดาห์ ดังนั้นกว่าที่เราจะแก้ไขข่าวต้องรออีก 1 สัปดาห์ ซึ่งระหว่างนั้นโดนด่าไปแล้ว
“เคยโดนหนักมาก ถึงขนาดไม่อยากอยู่ในวงการเลย ถูกหาว่าไปขายที่นาที่บรูไน ซึ่งความจริง ตนเองไปเป็นพิธีกรในงานคอนเสิร์ตของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ทำงานระดับชาติ ด้วยเหตุผลเพียงว่า เจ้าของสื่อนั้นขอออกเดทด้วย ซึ่งได้ปฏิเสธ จึงถูกเขียนข่าวเพื่อแสดงให้เห็นอิทธิฤทธิ์ว่า สื่อมีอิทธิพลมากกว่าดาราขนาดไหน”
ขณะที่ น.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวถึงผู้สื่อข่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง HATE SPEECH ยอมรับว่า แก้ไขยาก แม้จะบอกให้คิดหลายรอบก่อนโพสต์อะไรลงไป ยิ่งตนเองแล้ว สิ่งที่โพสต์ลงไปนั้นอาจเป็นบทวิเคราะห์หรือข้อมูลเชิงลึกบางอย่าง บางครั้งไม่ทันคิดว่าจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง ฝั่งกองเชียร์จะเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า ทำไมผู้สื่อข่าวคิดแบบนี้ ฉะนั้นหากมีเวลาจะชี้แจงเป็นข้อมูลที่ได้รับมา แต่ความจริงแล้วต้องดูพื้นฐานของคนไทยขณะนี้ได้แบ่งขั้วเรียบร้อยแล้ว และไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมได้
“กรณีของเฌอปราง BNK48 และปั้นจั่น คนวงการบันเทิงได้รับผลกระทบจากการเมืองเยอะมาก โดยการเมืองซึมแทรกเข้าไปและทำให้เกิดความขัดแย้งในทุกด้าน ซึ่งพูดไปแล้วเหมือนสิ้นหวัง ฉะนั้นการเมืองสร้างความแตกแยกไปหมด” ผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์ ระบุ
สุดท้าย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า สมัยก่อนไม่มีออนไลน์ เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ ดังนั้น เมื่อมีการด่าทอกันจะเจ็บแค้นช่วงนั้น แต่ถ้าด่าทอผ่านโลกออนไลน์ จะอยู่อย่างนั้นไปชั่วนิรันดร์ ทั้งนี้ สนับสนุนความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับ ‘ไซเบอร์ สเปซ’ โดยทำอย่างไรให้ภาครัฐและภาคประชาสังคมให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มใหม่นี้ให้มากขึ้น เพื่อสร้างแรงร่วมและเห็นเป็นวาระแห่งชาติ ไม่เฉพาะเรื่อง SPEECH เท่านั้น แต่รวมถึงทุกสิ่งที่เกิดจากแพลตฟอร์มออนไลน์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/