เครือข่ายรักษ์ทะเล ค้านกรมประมงผ่อนผันจดทะเบียนอวนลากผิด กม.
เครือข่ายประมง-องค์กรอนุรักษ์ทะเล ออกแถลงการณ์ค้านนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน หวั่นแย่งชิงทรัพยากรชายฝั่ง-ทำลายทะเลเสื่อมโทรม
เครือข่ายประมงพื้นบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านทรัพยากรทางทะเล ออกแถลงการณ์ “คัดค้านการพิจารณาผ่อนผันการจดทะเบียนเรือประมงอวนลากที่ผิดกฎหมาย” ใจความว่ากรมประมงและรัฐบาลบิดเบือนเจตนารมณ์ของสหภาพยุโรป ดำเนินการผ่อนผันให้มีการจดทะเบียนเครื่องมือประมงอวนลากที่ผิดกฎหมายให้กลับมาใช้ได้อีก โดยอ้างผลการศึกษาว่าทะเลไทยสามารถเพิ่มปริมาณเรืออวนลากได้อีกถึง 2,107 ลำ การกระทำนี้ถือเป็นการ "เปลี่ยนผิดเป็นถูก" และจะสร้างผลกระทบต่อทรัพยากรและชาวประมงอื่นๆอย่างมาก
แถลงการณ์ดังกล่าว ให้รายละเอียดว่า ทะเลไทยเป็นแหล่งทำการประมงที่สำคัญ และเป็นแหล่งอาหารสัตว์น้ำที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่เมื่อมีเครื่องมือประมงบางประเภทเกิดขึ้นทำให้ทะเลไทยเกิดความเสื่อมโทรมลงอย่างมาก มีผลการศึกษาวิจัยที่ชัดเจนว่าการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงอวนลากได้ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็กมากเกินไป และเป็นเครื่องมือที่ทำลายระบบนิเวศจนในหลายประเทศเริ่มห้ามมิให้ใช้เครื่องมือชนิดนี้ทำการประมง องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ร่วมกับกรมประมงทำการศึกษาเรื่องการจัดการกำลังผลิตของการทำประมงทะเลในน่านน้ำไทยในปี พ.ศ. 2547 และเสนอผลการศึกษาไว้ว่าเพื่อคงไว้ซึ่งศักยภาพการผลิตสูงสุดของสัตว์หน้าดิน การทำประมงสัตว์หน้าดินในอ่าวไทยซึ่งส่วนใหญ่จับโดยอวนลากต้องลดลงอีก 40%
ประเทศไทยเองก็มีนโยบายควบคุมเครื่องมือประมงประเภทอวนลาก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 ห้ามไม่ให้เครื่องมือชนิดนี้เข้ามาทำการประมงในระยะ 3,000 เมตรจากชายฝั่ง ต่อมาก็มีนโยบายควบคุมจำนวนเครื่องมือประมงอวนลากไม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้นอีกตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 และควบคุมให้ค่อยๆลดจำนวนลง กระนั้นก็ยังมีนายทุนบางกลุ่มลักลอบทำอวนลากอย่างผิดกฎหมาย เป็นเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ล่าสุดสหภาพยุโรปออกมาตรการ IUU (Illegal, unreported and unregulated) Fishing ส่งเสริมให้ประเทศที่ส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรปปรับปรุงระบบการจัดการประมงของประเทศตนให้มีความรับผิดชอบ เพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
แต่ปัจจุบัน กรมประมงและรัฐบาลกลับการบิดเบือนเจตนารมณ์ของสหภาพยุโรป ด้วยการดำเนินการผ่อนผันให้มีการจดทะเบียนเครื่องมือประมงอวนลากที่ผิดกฎหมายให้กลับมาใช้ได้อีก ซึ่งเครือข่ายฯเคยคัดค้านตามขั้นตอน แต่กรมประมงกลับชี้แจงว่าจะดำเนินการต่อไปและส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว และวันที่ 18 ก.ค.55 ได้จัดประชุมพิจารณาการผ่อนผันการจดทะเบียนอวนลากขึ้นอีก โดยเชิญตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านให้มาเผชิญหน้ากับตัวแทนกลุ่มทุนผู้ประกอบการประมงอวนลาก ซึ่งเครือข่ายฯเห็นว่าการจัดการทรัพยากรประมงไม่ใช่เรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ จะใช้วิธีจัดให้คนสองกลุ่มมาตกลงกันไม่ได้ การผ่อนผันการจดทะเบียนอวนลากและการจัดประชุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม และจะเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งขึ้นอีก ซึ่งเครือข่ายฯยืนยันว่าจะคัดค้านการผ่อนผันการจดทะเบียนเรืออวนลากที่กระทำผิดกฎหมาย ไม่ให้กลับมาจดทะเบียนถูกกฎหมายอีก
“เราขอประกาศว่าจะไม่ร่วมกับกรมประมงในการพิจารณาผ่อนผันการจดทะเบียนเรืออวนลากในทุกกรณี และเรียกร้องให้กรมประมงเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยทางวิชาการที่กล่าวอ้างว่าทะเลไทยสมควรเพิ่มเครื่องมือประมงอวนลากได้อีกกว่า 2,000 ลำ ต่อสาธารณะ” แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุ
ทั้งนี้ เครือข่ายประมงพื้นบ้าน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านทรัพยากรทางทะเล ประกอบด้วย สมาคมคนรักเลกระบี่ สมาคมรักษ์ทะเลไทย สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร สมาคมชาวประมงพื้นบ้านคลองวาฬ สมาคมชาวประมงพื้นบ้านคั่นกะได สมาคมประมงพื้นบ้านอำเภอสิงหนคร สมาคมชาวประมงรักษ์ทะเลสาบสงขลา อ.ปากพะยูน สมาคมสตรีประมงพื้นบ้านภาคใต้ สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เครือข่ายรักษ์อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี เครือข่ายชุมชนคนรักษ์ลุ่มน้ำทะเลสาบ จ.พัทลุง เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองยัน จ.สุราษฎร์ธานี เครือข่ายอนุรักษ์อ่าวปัตตานี เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง และสมาพันธ์ชาวประมงรอบทะเลสาบสงขลา