“หมออำพล จินดาวัฒนะ” : ปลุกพลังมวลชนหนุนชุมชนทำเอชไอเอ
ก้าวต่อไปของกระบวนการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้รู้เท่าทันโครงการพัฒนาหลากประเภทที่ส่งผลกระทบเชิงลบอาทิ โรงไฟฟ้า เหมืองแร่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเครื่องมือเอชไอเอชุมชนในมุมมองของเลขาธิการคสช. ...
น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว ปาฐกถาเรื่อง “บทบาทและทิศทางของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในการพัฒนาเอชไอเอชุมชน สู่การตัดสินใจนโยบายสาธารณะ” ในงานประชุมวิชาการเอชไอเอชุมชน ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2555 ที่โรงแรมรามา การ์เดนส์ กรุงเทพฯ ว่า อยากพูดถึงเรื่องปัญหาคลิตี้ จ.กาญจนบุรี คนลงทุนรวยแล้วไปอยู่ที่ไหนไม่รู้ แต่วันนี้ในเลือดเนื้อของคนที่นั่นมีสารตะกั่ว และในแหล่งน้ำ แผ่นดินของไทย
ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นที่อื่นเช่นกัน เมื่อเร็วๆ นี้เห็นข่าวที่จ.สระบุรี มีบ่อรับขยะพิษจากโรงงาน ผู้จัดการให้สัมภาษณ์ทีวีชัดเจนว่าทุกอย่างทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ชุมชนซึ่งไม่เคยมีสารโลหะหนักมาก่อน ทำไมอยู่ในเลือดของเด็กและในแหล่งน้ำ...?
ให้เครื่องมือเสริมชุมชนรู้เท่าทัน
ที่ยกกรณีตัวอย่างเพราะ ต้องการชี้ให้เห็นว่าทำไมต้องมีเครื่องมือให้ภาคประชาชนมีโอกาสเรียนรู้เท่าทันสิ่งต่างๆ เพราะที่ผ่านมาการพัฒนารวมศูนย์ ตามอำนาจรัฐรวมศูนย์ และแบ่งการทำงานตามกฎหมายที่แตกต่างกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้นวันดีคืนดีเกิดขึ้น ล้อมรั้วลงมือลงไม้ ภูเขาทั้งลูกอาจถูกให้สัมปทานเพื่อใช้ทำอะไรบางอย่าง
“ถ้าชาวบ้านเดินเข้าไปเก็บหน่อไม้กลายเป็นเรื่องผิด แต่ในพื้นที่เดียวกันรัฐมีอำนาจให้ใครลงทุนเจาะหายไปทั้งภูเขาได้”
ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น คนที่ลงทุนไม่ใช่คนอยู่ที่นั่น วันนี้เงินไหลบ่าข้ามโลก ไม่รู้เงินลงทุนของใคร ได้กำไรเติบโตไปเรื่อยๆ แล้วก็ไป แต่คนที่ได้รับผลกระทบแน่นอนคือคนที่อยู่ที่นั่น ถึงเวลาที่คนไทยต้องเห็นตรงนี้ และจะต้องช่วยกัน
“เอชไอเอ และซีเอชไอเอ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะให้โอกาสชุมชนได้มีโอกาสรู้เท่าทันข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเขาเอง โดยมีตัวช่วยเป็นคนนอก ให้ชุมชนรู้เท่าทันข้อมูลต่างๆ อาจถูกเรียกว่าต่อต้านการพัฒนาไม่เป็นไร แต่เราทำเพื่อสุขภาวะของคนที่นั่น”
ชี้ข้อมูล ความรู้ ถูกยึดไปอยู่ศูนย์กลาง
ต้องถือว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมาการพัฒนาซีเอชไอเอ หรือเอชไอเอเป็นแค่ปฐมบท ยังต้องทำต่อไป เชื่อว่าการประชุมวิชาการในครั้งหน้าจะมีพลังต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมากมายถ้าประชาชน ชุมชน นักวิชาการ ผู้มีความปรารถนาดี ข้าราชการ ที่เห็นสิ่งเหล่านี้ไปช่วยหนุนเสริมชุมชนก็จะเกิดพลังในการทำสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง
“แต่จะไปบอกให้ชุมชนทำด้วยตัวเองแบบเบ็ดเสร็จทำไม่ได้ครับ เพราะข้อมูลความรู้ เทคโนโลยี อำนาจ ทั้งหลายถูกยึดไปนานแล้ว เข้าไปอยู่ที่ส่วนกลาง มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ราชการ นายทุน”
เอชไอเอไม่ใช่กลไกอำนาจอนุมัติ-อนุญาต
วันนี้เราได้กำหนดว่า คำว่าสุขภาพไม่ใช่การป่วยแบบหาหมอกินยาเท่านั้น แต่หมายถึงสุขภาวะการอยู่ร่วมกัน บางครั้งเราพูดเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ โครงการต่างๆ บางคนยังพูดแต่เรื่องโรค ซึ่งขณะนี้ไปไกลกว่านั้นแล้ว ที่กำหนดในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มีเครื่องมือหลายอย่างรวมทั้งเอชไอเอด้วย
“เอชไอเอไม่ได้หวังเป็นกลไกอำนาจแบบการตัดสินอนุมัติ อนุญาต แต่เป็นเครื่องมือให้คนไทยได้เข้ามาทำงานร่วมกัน โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) และ สช. มีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดการใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อทำงานร่วมกัน เมื่อทำแล้วไม่มีอำนาจไปบังคับใคร”
ยันมีผู้ติดตามทวงถามมติสมัชชาสุขภาพ
ส่วนที่ผู้แทนจากสภาพัฒน์อภิปรายบนเวทีว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไม่มีผลอะไร หลังครม.เห็นชอบ ถ้ามองเชิงอำนาจจริง แต่ถ้ามองเชิงอำนาจอ่อนมีผล เพราะเจ้าของมติ ที่ไม่ใช่หน่วยงาน แต่เป็นผู้ร่วมผลักดันมติ จะคอยติดตามว่าส่วนราชการทำหรือไม่ แล้วจะทวงถาม ผลักดัน เป็นอำนาจอ่อนของสังคม กระบวนการที่เราทำทั้งหมดภายใต้ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ เอชไอเอ คือเครื่องมือเสริมความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนเข้ามาใช้
คุณค่าของเอชไอเอ ข้อหนึ่งคือ ช่วยให้ประชาชนคนเล็กน้อย ทุกภาคส่วนที่สนใจได้เข้ามาร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะร่วมกัน ซึ่งก่อนนี้เป็นเรื่องรัฐ ส่วนกลางกำหนดทั้งสิ้น เราเป็นคนแบมือ ต้องการอะไรบอก ไม่ต้องการก็ให้
“วันนี้เรามีส่วนขอกำหนดเรื่องนั้นนี้ มีสิทธิมีเครื่องมือทำให้กระบวนการกำหนดมีมากขึ้น เราไม่วิ่งไล่ตามปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเอชไอเอต้องไปดักหน้าปัญหาคือมีการประเมินก่อนที่จะลงมือทำ อย่าไปรกระบวนการอีเอชไอเอเท่านั้น จะต้องสร้างกระบวนการที่ภาคประชาชน ชุมชน และสังคมมีการประเมินผลกระทบด้วยตัวเอง ”
กระบวนการภาคประชาชนต้องอดทน
ยิ่งทำก่อนมีแผนงานโครงการได้ยิ่งดี ต้องมีคนที่มีความปรารถนาดี มีคนที่ไปช่วยกันทำ แต่ละเรื่องที่ออกมาเป็นกรณีตัวอย่างไม่ใช่พลิกฝ่ามือแล้วออกมาได้ เป็นการทำงานที่ทรหดอดทนของคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปช่วยกันทำให้ชุมชนสามารถเรียนรู้และเท่าทัน
“ชาวบ้านทำแผนที่ชุมชน ทั้งที่ปกติไม่มีทางรู้ถ้าอยู่กันในแบบเดิม รอให้คนอื่นมากำหนดแผนที่ วันนี้ชาวบ้านสามารถใช้จีไอเอส จีพีเอสทำแผนที่ได้ไปไกลแล้ว เราต้องช่วยกันส่งเสริม ขอเรียกร้องนักวิชาการ คนที่อยู่ข้างนอกที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปช่วยประชาชนให้เขามีเครื่องมือเหล่านี้ในการดำเนินการ”
แนะทำด้วยเหตุผลและหัวใจ
อย่างไรก็ตามเอชไอเอ ไม่ใช่เครื่องมืออนุมัติ อนุญาตเอาเป็นเอาตายบนเหตุและผล รวมทั้งทางเทคนิค วิชาการ เครื่องมือเอชไอเอจะต้องใช้หัวใจด้วยเสมอ “เพราะหัวใจมีเหตุผลที่เหตุผลไม่รู้จัก” มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ ต้องมีการใช้หัวใจคู่กับเหตุผล ในหัวใจมีเหตุผล เป็นเหตุผลทั่วๆ ไปที่ไม่รู้จัก
การพัฒนาที่เดินไปได้ต้องมีเรื่องนี้ แต่ตอนนี้มีน้อยมาก เพราะโรงงานบอกถูกกฎหมาย กำหนดเขตถูกต้องได้รับอนุญาต และห้ามเข้า ทุกอย่างทำถูกต้อง แต่ปู ปลา น้ำ พืชมีโลหะหนัก เลือดของเด็กและผู้ใหญ่ที่นั่นมีโลหะหนัก ทั้งที่อยู่กันมาชั่วนาตาปีไม่มี ซึ่งถ้าพูดด้วยหัวใจไม่ต้องไปไล่อะไรมาก....
สร้างกัลยาณมิตรพี่เลี้ยงช่วยชุมชน
“ซีเอชไอเอถ้าเป็นคำสวยๆ บอกว่า เอชไอเอของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ไม่ได้ อย่าไปเปรียบเทียบแบบนี้ เพราะคล้ายๆ กับว่าโยนให้เป็นความรับผิดชอบของชุมชนเบ็ดเสร็จทำไม่ได้ เพราะความรู้ เทคนิค วิทยาการทั้งหลายถูกไฮแจ๊คไปจากชุมชน ชุมชนถูกทำให้อ่อนแอมาเป็นร้อยปี”
เพราะฉะนั้นเอชไอเอชุมชนจะรู้เท่าทันได้ต้องมีคนเข้าไปช่วยเป็นกัลยาณมิตร โดยชุมชนเป็นคนทำเป็นหลักโดยมีสุขภาวะชุมชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เงิน ถ้าเข้าไปทำโดยมีเงินเป็นตัวตั้ง ผลผลัพธ์จะเป็นอีกอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้
ทิศทางการพัฒนาที่ถูกต้องเคารพธรรม
ทั้งนี้การพัฒนาที่ดีต้องเป็นไปอย่างให้เกียรติและเคารพธรรมคือธรรมะ เคารพความเป็นธรรมชาติ วิถีชีวิตของกันและกันไม่ใช่ซ้ำเติม ไม่ฉวยโอกาสเอาแต่ประโยชน์ โดยไม่สนใจเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่งรอบตัว นี่คือการพัฒนาที่ถูกต้อง ต้องช่วยกันให้เดินไปในทิศทางนี้
“อยากให้กำลังใจว่า เรากำลังทำในสิ่งที่ปกติเกิดไม่ได้ ถ้าเรากำลังทำในสิ่งที่มันเกิดไม่ได้ในระบบปกติ ประชาชนที่ไหนจะมีสิทธิประเมินเอชไอเอ มาหาข้อมูล เขียนแผนที่ เก็บและเสนอข้อมูล มีสิทธิกำหนดอนาคตตัวเองไม่มี เพราะฉะนั้นเมื่อเริ่มทำจากจุดหนึ่งไปต่อไปเรื่อยๆ... เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย”