เคาะโซนนิ่งพื้นที่เกษตร 18 กลุ่มจังหวัด 10 พืชเศรษฐกิจ
กษ. เผยคืบหน้าโซนนิ่งพื้นที่เกษตร 18 กลุ่มจังหวัด กำหนด 10 พืชเศรษฐกิจหลัก มอบกรมพัฒนาที่ดิน-สศก.-เอกชน ร่วมวางแผน
วันที่ 18 ก.ค. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าภายหลังน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำเขตเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตร เพื่อรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก และแนวทางการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดรูปแบบการจัดทำโซนนิ่งในรูปกลุ่มจังหวัด เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนระดับพื้นที่ พร้อมวางแผนโครงการที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจ เช่น โครงการนิคมการเกษตร โครงการบริหารจัดการน้ำ สำหรับการดำเนินการเพื่อให้มีแหล่งผลิตอาหารบริโภคในชุมชน และสนองแนวคิดตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในลักษณะโครงการฟาร์มตัวอย่าง อ.บางแก้ว จ.พัทลุง และนำพื้นที่ว่างเปล่าของกรมธนารักษ์มาให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขจัดส่งผักปลอดสารพิษจากชุมชนยังโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเตรียมข้อมูลทางกายภาพในระดับตำบล เพื่อชี้แจงกับหน่วยงานในพื้นที่ ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรดูแลด้านการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ
ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสศก. กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำข้อมูลสินค้าเกษตรส่งออกของไทยที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ยางธรรมชาติ ข้าว อ้อย ปลา กุ้ง ผลไม้ มันสำปะหลัง เนื้อไก่ ผัก และปาล์มน้ำมัน และ 5 อันดับต้นการผลิตสินค้าเกษตรของแต่ละจังหวัดรวม 77 จังหวัด แบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม เพื่อขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ทั้งนี้จะเน้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อเกษตรกรมีแหล่งรับซื้อสินค้าที่แน่นอนและราคาที่เป็นธรรม ส่วนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะผลักดันให้มีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้วยการบูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เน้นการลดต้นทุน รวมทั้งงานวิจัย
สำหรับยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่ครัวโลกได้กำหนดกลยุทธ์ โดยดำเนินการในสินค้าเป้าหมาย ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน ตามกรอบแนวทางการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 1/2555 เมื่อ 29 มิ.ย. 55 แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับที่หนึ่ง คือ การมีส่วนร่วมหรือแนวทางการปฏิบัติ ประกอบด้วยการโซนนิ่งเพื่อการส่งเสริม ซึ่งเชื่อมโยงถึงโครงสร้างพื้นฐานการผลิต เพื่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากการลดต้นทุน ลดความเสี่ยง และมีคุณภาพ การโซนนิ่งเพื่อเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดในพื้นที่ และการโซนนิ่งเพื่อการป้องกันและไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ระดับที่สอง คือ ระดับภาพรวมของประเทศ ซึ่งจะพิจารณาในเชิงเศรษฐกิจทั้งในเรื่องระยะเวลา โดยการบริหารเวลาควบคุมให้ผลผลิตสินค้าเกษตรออกมาสอดคล้องกับตลาดบริโภค และบริหารจัดการขนส่งให้รวดเร็ว รูปแบบของสินค้าและคุณภาพมาตรฐาน
นอกจากนี้ช่วงท้ายรมว.กษ. ยังแจงถึงความคืบหน้าการก่อสร้างประตูกั้นน้ำในโครงการก่อสร้างป้องกันระบบน้ำท่วมในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ ว่าขณะนี้มีความคืบหน้าเกือบ 100% คาดว่าจะเสร็จทันกำหนดตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย ได้แก่ ต้นน้ำ-มิ.ย. กลางน้ำ-ก.ค. และปลายน้ำส.ค. ขณะที่การฟื้นฟูประตูระบายบางโฉมศรี จ.สิงห์บุรี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนซ่อมแซมเสร็จเกือบสมบูรณ์ ส่วนการปรับปรุงถาวรนั้นต้องใช้ระยะเวลา 2 ปี แต่มั่นใจจะสามารถวางโครงสร้างป้องกันน้ำหลากได้ทัน ซึ่งในวันที่ 25 ก.ค. 55 ตนจะลงพื้นที่ภาคกลางพร้อมหน่วยงานราชการและคณะสื่อมวลชนตรวจสอบความคืบหน้าอย่างละเอียดอีกครั้ง.