ฉลาดซื้อจี้อย. ลงโทษปรับ หลังพบ 'ไซบูทรามีน' ยาลดน้ำหนัก จากห้างออนไลน์
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ขายห้างออนไลน์ พบวัตถุออกฤทธิ์จิตประสาท 'ไซบูทรามีน' 3 ยี่ห้อ ขณะที่ผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพเพศชาย มียาอันตราย ซิลเดนาฟิล- ทาดาลาฟิล-วาร์เดนาฟิล เรียกร้อง อย. ลงโทษปรับสูงสุด
วันที่ 13 มิ.ย. 2562 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เเถลงข่าวผลทดสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มลดน้ำหนักรอบสอง โดยสุ่มซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จำนวน 15 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชาย จำนวน 10 ตัวอย่าง จากห้างออนไลน์ 6 แห่ง (Lazada, Shop at 24, We mall, Shopee, Watsons และ 411estore)
ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตรวจวิเคราะห์กลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ได้แก่ ไซบูทรามีน (Sibutramine) และยาอันตราย อีกจำนวน 3 ชนิด ได้แก่, ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine), เฟนฟลูรามีน (Fenfluramine) และ บิซาโคดิล (Bisacodyl) พบ 3 ตัวอย่าง มีส่วนผสมยาไซบูทรามีน ดังนี้
1.ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ S-Line สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Lazada
2. ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ ชะหลิว 2 (CHALIEW2) สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Lazada
3. ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ เดลี่ บาย เอ็นคิว (DELI By NQ) สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Lazada
ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพเพศชาย ตรวจวิเคราะห์ยาอันตราย 3 ชนิด ได้แก่
ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาดาลาฟิล (Tadalafil) และ วาร์เดนาฟิล (Vardenafil) พบ 7 ตัวอย่าง มีส่วนผสมยาอันตราย ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ ดราโค (DRACO) สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Shopee ตรวจพบ ซิลเดนาฟิล
2. ผลิตภัณฑ์ แซต 4 (Z4) ยี่ห้อ เพลย์ส (PLAYS) สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Watsons ตรวจพบ ซิลเดนาฟิล
3. ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ โมชา (MO CHA) สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Shopee ตรวจพบ ทาดาลาฟิล
4. ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ โซคูล (So Kool) สั่งซื้อจากเว็บไซต์ We mall ตรวจพบ ซิลเดนาฟิล และทาดาลาฟิล
5. ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ โอเอ็มจี (OMG) สั่งซื้อจากเว็บไซต์ 411estore ตรวจพบ ซิลเดนาฟิล และทาดาลาฟิล
6. ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ ชูว์ (CHU) สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Lazada ตรวจพบ ซิลเดนาฟิล และทาดาลาฟิล
7. ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ ไวทัลแมกซ์ ไวทอลิตี้ รีบอร์น (Vitalmax, Vitality Reborn) สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Lazadaตรวจพบ ซิลเดนาฟิล และทาดาลาฟิล
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศให้ไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 กำหนดให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 – 2,000,000 บาท
ผู้ใดขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท
ผู้ใดครอบครองจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงผู้ที่บริโภคก็ถือว่าเป็นความผิดด้วย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำหนังสือพร้อมแนบผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ตรวจพบวัตุถออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและยาอันตรายดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)เพื่อขอให้ยกเลิกทะเบียนผลิตภัณฑ์ทั้ง 10 รายการ และขอให้ อย. ลงโทษปรับอัตราสูงสุดจำนวน 2 ล้านบาทกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททั้ง 3 รายการ
พร้อมเรียกร้องลงโทษผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพเพศชาย ให้ปรับสูงสุดที่ 120,000 บาท เพราะถือเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของยาถือเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังอาจเข้าข่ายอาหารปลอมที่มีฉลากเพื่อลวงให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ตามมาตรา 25 (2) ประกอบมาตรา 27 (4) มีโทษตามมาตรา 59 คือ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ฉลาดซื้อ ได้สุ่มทดสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก จำนวน 16 ตัวอย่าง จากห้างออนไลน์ 8 แห่ง ในเดือนมิถุนายน 2561 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 208) พบว่ามีผลิตภัณฑ์ 6 ตัวอย่าง ผสมยาไซบูทรามีนและฟลูออกซิทีน ซึ่งเป็นยาอันตรายที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/