ป.ป.ช.แพร่มติฟันทุจริตจำนำข้าวปี 46/47 สองคดีรวด-พนง.บ.ซัลมานฯเพียบ-'เสี่ยเปี๋ยง'โดนด้วย
ป.ป.ช. แพร่มติฟันอาญาทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ปี 2546/2547 ในส่วนดูแลเคลื่อนย้ายข้าว 2 คดีรวด เผย 'ขรก. อคส.-อตก.-ตัวแทนบริษัทเอกชน' ถูกชี้มูลนับ 10 สิบราย พนง.บ.ซัลมานฯ เพียบ มีชื่อ 'เสี่ยเปี๋ยง-เพรซิเด้นท์' ด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2562 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติชี้มูลคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ปี 2546/2547 ที่เกี่ยวกับการดูแลและเคลื่อนย้ายข้าว จำนวน 2 คดี ซึ่งมีชื่อ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กรรมการผู้จัดการบริษัท เพรซิเด้นท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด ปรากฎชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย
คดีแรก กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ปี 2546/2547 ทำให้มีข้าวสารเก่าของโครงการ ปี 2545/2546 และ โครงการอื่น ๆ ปะปนอยู่ใน คลังสินค้าจำนวนมาก
ผู้ถูกกล่าวหา มีจำนวน 10 ราย ได้แก่ 1. นายประทีป อยู่สถาพร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้จัดการเขต 9 สำนักงาน อ.ต.ก.เขต 9 จังหวัดอุดรธานี ทำหน้าที่หัวหน้าคลังสินค้า 2. บริษัท ซัลมาน อินสเปคชั่น จำกัด ในฐานะนิติบุคคล 3. นายชาลี บู่ซัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัลมาน อินสเปคชั่น จำกัด 4. นายสุรเดช ยูนุต พนักงานบริษัท ซัลมาน อินสเปคชั่น จำกัด 5. นายรอฟิก มะรุมดี พนักงานบริษัท ซัลมาน อินสเปคชั่น จำกัด 6. นายบุญหมาย กุหลาบวรรณ พนักงานบริษัท ซัลมาน อินสเปคชั่น จำกัด 7. นายรุจศิษฏ์ บู่ซัน พนักงานบริษัท ซัลมาน อินสเปคชั่น จำกัด 8. นายพูนศักดิ์ อีซา พนักงานบริษัท ซัลมาน อินสเปคชั่น จำกัด 9. บริษัท เพรซิเด้นท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด ในฐานะนิติบุคคล 10 . นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กรรมการผู้จัดการบริษัท เพรซิเด้นท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล นายประทีป อยู่สถาพร ว่ามีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงาน เรียก รับ หรือยอม จะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อ กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือ มิชอบด้วยหน้าที่ ฐานเป็นพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็น การเสียหายแก่องค์การหรือหน่วยงาน และฐานเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของ พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 มาตรา 8 และ มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และมาตรา 91 มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ฐานจงใจไม่ปฏิบัติ ตามระเบียบข้อบังคับของ อ.ต.ก. เป็นเหตุ ให้เสียหายแก่ อ.ต.ก. อย่างร้ายแรง ฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่ง ในกิจการของ อ.ต.ก. โดยชอบ และ การขัดคำสั่งนั้นเป็นเหตุให้เสียหายแก่ อ.ต.ก. อย่างร้ายแรง และฐานกระทำ- การหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อ ว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อ เกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงาน และลูกจ้าง พ.ศ.2544 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2544 ข้อ 60 (4) (5) (6) และ (9)
ส่วน บริษัท ซัลมาน อินสเปคซั่น จำกัด นายชาลี บู่ซัน นายสุรเดช ยูนุต นายรอฟิก มะรุมดี นายบุญหมาย กุหลาบวรรณ นายรุจศิษฏ์ บู่ซัน และนายพูนศักดิ์ อีซา มีมูลความผิดอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงาน มีหน้าที่ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็น การเสียหายแก่องค์การหรือหน่วยงาน และฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่\โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วย ความผิดของพนักงานในองค์การหรือ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 90
ขณะที่บริษัท เพรซิเด้นท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อ กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบ ด้วยหน้าที่ ฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการ เสียหายแก่องค์การหรือหน่วยงาน และ ฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงาน ปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วย ความผิดของพนักงานในองค์การหรือ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 90 สำหรับความผิดทางวินัย เนื่องจาก องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ได้มีคำสั่งที่114/2550 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 ไล่นายประทีป อยู่สถาพร ออกจากงานแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และ คำวินิจฉัย ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อ ดำเนินการทางวินัย ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (2) อีก
เบื้องต้น ได้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนิน คดีอาญาแล้ว เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 62
สำหรับนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง เป็นอดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ปัจจุบันถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 48 ปี กรณีทุจริตในโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
คดีสอง ยินยอมให้โรงสีต่าง ๆ นำข้าวสาร ปี 2545/2546 ไปไว้ในคลังสินค้า ตามโครงการ รับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2546/2547
ผู้ถูกกล่าวหา มีจำนวน 3 ราย คือ 1. นายวิโรจน์ รวงผึ้งทอง ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกอำนวยการ สำนักงาน อ.ต.ก.เขต 8 ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าคลังสินค้าดีลักกี้ ตำบลยางตลาด อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ 2. บริษัท ซัลมาน อินสเปคชั่น จำกัด 3. นายชาลี บู่ซัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัลมาน อินสเปคชั่น จำกัด
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลว่า นายวิโรจน์ รวงผึ้งทอง มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงาน มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้น เป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ฐานเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่ โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ และฐานเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของ พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 มาตรา 8และ มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ฐานจงใจไม่ปฏิบัติ ตามระเบียบข้อบังคับของ อ.ต.ก. เป็นเหตุให้เสียหายแก่ อ.ต.ก. อย่างร้ายแรง ฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในกิจการ ของ อ.ต.ก. โดยชอบ และการขัดคำสั่งนั้น เป็นเหตุให้เสียหายแก่ อ.ต.ก. อย่างร้ายแรง และฐานกระทำการหรือยอมให้ผู้อื่น กระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ.2544 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2544 ข้อ 60 (4) (5) (6) และ (9)
ส่วน บริษัท ซัลมาน อินสเปคชั่น จำกัด และนายชาลี บู่ซัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัลมาน อินสเปคชั่น จำกัด มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงาน มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้น เป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือ โดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และ ฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงาน ของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 และมาตรา 8 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 90
เบื้องต้น ได้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนิน คดีอาญาแล้ว เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 62
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 2 คดี ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/