วิเคราะห์เหตุโจมตีกำลังพล ความรู้สึกคนยังต่อต้านรัฐ...บทสรุปไฟใต้ไม่ดีขึ้น
ช่วงใกล้ครบขวบปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลายคนและหลายสื่อมาชวนผมคุยเรื่องปัญหาภาคใต้ แทบทุกรายถามคำถามเดียวกันคือ "ปัญหาใต้ดีขึ้นบ้างไหม?" เป็นคำถามที่ถามง่าย แต่ตอบยากมาก เพราะสถานการณ์ภาคใต้มีหลายแง่มุม แล้วแต่จะหยิบมุมไหนขึ้นมาพูด
หากถามทหาร หรือคิดในมุมของทหาร ก็ต้องบอกว่าสถานการณ์โดยรวมดีขึ้น เพราะสถิติการก่อเหตุร้ายรายวันลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงหลังปี 2550 เป็นต้นมา แต่ 4-5 ปีนับจากนั้น สถานการณ์ในแง่ตัวเลขค่อนข้างทรงตัว ไม่ดีขึ้นแต่ก็ไม่เลวลง
ยิ่งระยะหลังฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ เขาเก็บสถิติเหตุรุนแรงของเขาเอง มีการบูรณาการข้อมูลการข่าวร่วมกัน จึงแยกแยะเหตุร้ายรายวันที่เรียกว่า "เหตุส่วนตัว" ออกจากเหตุร้ายที่เกิดจากการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เรียกว่า "เหตุความมั่นคง" ทำให้สถิติตัวเลขการก่อเหตุเฉพาะที่เป็น "เหตุความมั่นคง" ลดลงอย่างมาก
แต่ตัวเลขที่ลดลงนี้ก็มีคำถามอยู่เหมือนกันว่า แต่เดิม...หมายถึงก่อนที่จะมีการแยกแยะ "เหตุร้ายรายวัน" ออกไป จริงๆ แล้ว "เหตุความมั่นคง" ก็คงตัวอยู่ในระดับนี้อยู่แล้วหรือไม่? เพียงแต่ช่วงนั้นไม่ได้ลบ "เหตุร้ายรายวัน" ออก
หากมองในมุม ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องยอมรับว่า ศอ.บต.ในยุคที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ และมีอำนาจเต็มตามกฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่ (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) สามารถสร้างความหวังให้กับคนในพื้นที่มากขึ้น เป็นความหวังในแง่ของความเป็นธรรม และการได้รับการเหลียวแลเยียวยา
แต่ถ้าถามผม...ผมวัดแนวโน้มสถานการณ์ภาคใต้จาก 2 ประเด็น คือ 1.เหตุร้ายรายวันลดจำนวนลงจริงหรือ? กับ 2.ความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐในฐานะตัวแทน "รัฐไทย" ดีขึ้นบ้างหรือเปล่า?
เริ่มจากประเด็นแรกก่อน เหตุร้ายรายวันลดลงจริงหรือ? ดังที่เกริ่นไว้ในตอนต้นว่าหากพิจารณาจาก "ตัวเลข" ก็ต้องยอมรับว่าดีขึ้น แต่ถ้ามองลึกลงไปกว่านั้นล่ะ โดยเฉพาะ "วิธีการก่อเหตุ" และ "กำลังคน" ที่ใช้ในการก่อเหตุ ต้องบอกว่าสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเลย
พิจารณาจากเหตุรุนแรงล่าสุดก่อนที่ผมจะเขียนบทความชิ้นนี้เพียงไม่กี่ชั่วโมง คนร้ายน่าจะมากกว่า 10 คน ใช้รถกระบะสี่ประตู 2 คันและรถจักรยานยนต์อีก 3 คันเป็นพาหนะ พร้อมอาวุธสงครามครบมือ บุกโจมตีฐานทหารในท้องที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ทำให้มีกำลังพลเสียชีวิต 1 นาย ชาวบ้านสังเวย 2 ศพ บาดเจ็บอีกร่วมสิบราย
ให้สังเกตจำนวนคนที่ร่วมในการก่อเหตุและพาหนะที่ใช้ ต้องบอกว่าเป็นกองกำลังขนาดใหญ่กองหนึ่งเลยทีเดียว และในช่วง 2-3 หลังก็เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้บ่อยครั้งขึ้น เช่น การเฮโลเข้าโจมตีหน่วยพัฒนาสันติที่ 42-3 บ้านเกาะแลหนัง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อ 24 ส.ค.2554 หรือเหตุการณ์โจมตีฐานปฏิบัติการพระองค์ดำ สังกัดกองร้อยทหารราบที่ 15121 (ร้อย ร.15121) หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 ริมถนนสายมะรือโบตก-รือเสาะ หมู่ 1 ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อค่ำวันพุธที่ 19 ม.ค.ปีเดียวกัน
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่หลายปี และเพิ่งได้รับการเสนอชื่อขึ้นเป็น ผบ.ตร.คนใหม่เคยกางสถิติให้ผมดูว่า จำนวนผู้ก่อเหตุรุนแรงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เหตุร้ายรายวันลดลง แต่ที่ยังมีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้น เพราะคนร้ายใช้ยุทธวิธี "รวมการเฉพาะกิจ" คือรวมเอาสมาชิกแนวร่วมกลุ่มติดอาวุธจากหลายๆ พื้นที่มาก่อเหตุใหญ่ด้วยกัน เพื่อก่อผลทางจิตวิทยาว่าสถานการณ์ที่ปลายด้ามขวานยังไม่ดีขึ้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง (ในมุมมองของตำรวจ) กลุ่มแนวร่วมติดอาวุธเหลือน้อยถึงขั้น "ขาดแคลน"
คำถามก็คือ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอาจจะใช้ยุทธวิธี "รวมการเฉพาะกิจ" จริง แต่จำนวนแนวร่วมนั้นลดลงจริงหรือ? กลุ่มขบวนการใช้ยุทธวิธีนี้เพราะ "ขาดแคลนกำลังคน" ในการปฏิบัติงานจริงหรือไม่?
จากประสบการณ์ของผมเอง และข้อมูลที่ได้จาก "ทีมข่าว" ในพื้นที่ ยืนยันว่าข้อสังเกตเรื่องนี้ไม่น่าจะจริง เพราะกลุ่มแนวร่วมติดอาวุธไม่ได้ลดลง เพียงแต่ไม่ได้เลือกก่อเหตุร้ายรายวัน เพราะแต่ละวันมีเหตุร้ายอื่นๆ เกิดขึ้นมากอยู่แล้วจากปัญหา "ภัยแทรกซ้อน" ที่ปะทุรุนแรงขึ้นจากปัญหาความไม่สงบที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้จริง
ไม่ว่าจะเป็นการหักหลังกันของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าเถื่อน หรือความขัดแย้งของบรรดานักการเมืองท้องถิ่น รวมไปถึงปัญหาชู้สาวตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมากจนแทบกู่ไม่กลับ
แหล่งข่าวซึ่งเป็นแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหลายคน เคยให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ทุกวันนี้พวกเขาก่อเหตุน้อยลง เพราะมีเหตุรุนแรงรายวันเกิดขึ้นมากอยู่แล้วจากปัญหาแทรกซ้อนต่างๆ คนจากนอกพื้นที่ก็มักเข้าใจว่าเป็นการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการ ทำให้สภาพของพื้นที่ถูกตรึงไว้ด้วยความรุนแรงไปโดยปริยาย โดยที่พวกเขาไม่ต้องทำอะไร
แต่เมื่อได้จังหวะ พวกเขาก็จะก่อเหตุใหญ่กันสักครั้ง โดยมีเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่รัฐ กองกำลังประชาชนที่ถืออาวุธซึ่งได้รับการฝึกฝนจากรัฐ และเป้าหมายอ่อนแอที่ส่งผลทางจิตวิทยา เช่น ครู ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความแตกต่างของการก่อเหตุอันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนในปีนี้ หลังจากที่ต้องเสียมวลชนไปพอสมควรจากการก่อเหตุสะเปะสะปะที่อาจไม่ใช่การกระทำของขบวนการ แต่ชาวบ้านในพื้นที่เข้าใจว่าเป็นฝีมือขบวนการ
ความจริงในพื้นที่ที่น่าสนใจก็คือ แม้แนวร่วมกลุ่มติดอาวุธจะถูกปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมอย่างต่อเนื่องจากกองกำลังของฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะทหาร แต่ฝ่ายขบวนการก็ยังสามารถผลิตแนวร่วมรุ่นใหม่ออกมาได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอนเช่นเดียวกัน
การก่อเหตุในลักษณะ "วินาศกรรมในเมือง" โดยเฉพาะการลอบวางระเบิดพร้อมๆ กันหลายจุด เช่น ในเขตเทศบาลนครยะลากว่า 30 จุด เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2554 (ครบรอบ 7 ปีตากใบ) ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่จับได้ค่อนข้างชัดว่า มือไม้ที่ถูกใช้ในการนำระเบิดไปวาง ส่วนใหญ่เป็น "วัยรุ่น" และ "เยาวชน" ในพื้นที่ทั้งสิ้น
ข้อมูลใหม่ที่ผมเพิ่งได้รับทราบก็คือ ในระยะหลังมีการปลุกระดมเยาวชนในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในลักษณะให้ไปก่อความรุนแรง อาทิ การปลุกระดมให้ต่อต้าน "ยิว" ซึ่งในความหมายของแนวร่วมกลุ่มนี้ หมายรวมถึงทั้งอิสราเอล สหรัฐอเมริกา และชาติตะวันตกทั้งหลายที่ทำสงครามกับชาติอาหรับ หรืออีกนัยหนึ่งคือ "โลกมุสลิม"
เยาวชนกลุ่มนี้จะมีทัศนคติต่อต้านสินค้าจาก "ยิว" (ชาติตะวันตก) และออกปฏิบัติการโดยไปพร้อมกันเป็นกลุ่มใหญ่ (แบบที่ไม่ใช่ "รวมการเฉพาะกิจ" เพราะขาดแคลนกำลังคน เนื่องจากจริงๆ ไม่ได้ขาด) เพื่อไปขโมยสินค้าที่ผลิตจากชาติตะวันตกแล้วเอาไปทำลาย
ข้อมูลเท่าที่มีจนถึงขณะนี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่าการขโมยสินค้าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สร้างความมั่นใจในการฝึกแนวร่วมรุ่นใหม่ก่อนมอบหมายให้ไปก่อเหตุที่ร้ายแรงกว่าหรือไม่
แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่สอดรับกับข้อมูลนี้ก็คือ ผู้บริหารห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ที่ไปเปิดสาขาอยู่ในพื้นที่ยอมรับว่า สาขาที่ชายแดนใต้มีสถิติการถูกลักขโมยสินค้าสูงที่สุด สูงกว่าทุกสาขาในประเทศ และสินค้าที่ถูกโจรกรรมล้วนเป็นสินค้าที่สั่งนำเข้าจากชาติตะวันตกทั้งสิ้น
ที่สำคัญร้านรวงประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นห้างค้าปลีกระดับชาติหรือร้านค้าส่งระดับท้องถิ่น ก็ถูกลอบเผาทำลายโดยใช้ "ระเบิดเพลิง" บ่อยครั้งในระยะหลัง
หากจะบอกว่านี่เป็น "พลวัต" ของการหาประเด็นเพื่อปลุกระดมเยาวชนก็คงไม่ผิดนัก!
เมื่อการปลุกระดมยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และเยาวชนในพื้นที่จำนวนมากยังคงเดินเข้าสู่ร่มเงาของขบวนการฯ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขปัญหาของภาครัฐที่ผ่านมายังห่างไกลจากคำว่า "สำเร็จ"
เมื่อผนวกเข้ากับข้อสังเกตประเด็นที่ 2 ของผม คือความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐในฐานะตัวแทน "รัฐไทย" ซึ่งต้องยอมรับว่าแทบไม่ดีขึ้นเลย ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้อีกประการหนึ่งว่าการจัดการปัญหายังเต็มไปด้วยปัญหา และอาจผิดตั้งแต่ในระดับ "ยุทธศาสตร์" ด้วยซ้ำไป
สภาพการณ์จริงในพื้นที่ก็คือ รัฐบาล 6 ชุดที่ผ่านมา (ตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร ถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เลือกใช้ "ทหาร" เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลพื้นที่ ด้วยหวังจะใช้ปฏิบัติการทางทหาร "หยุด" สถานการณ์ร้ายรายวันให้ได้เสียก่อน จากนั้นค่อยแก้ปัญหาในมิติอื่นๆ ต่อไป
ทว่า "ทหาร" คือกำลังพลถืออาวุธ ธรรมชาติของทหารคือ "ทำการรบ" แต่คู่ต่อสู้ของทหารที่ชายแดนใต้กลับแฝงตัวอยู่ในหมู่ประชาชน ทั้งยังมีจุดเด่นอยู่ที่โครงสร้างองค์กรแบบ "ปิดลับ" ทำให้ทหารเสมือนหนึ่งรบอยู่กับศัตรูที่ไม่มีตัวตน บางคนเรียกว่า "รบกับผี" ฉะนั้นปฏิบัติการตั้งด่าน ปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุม จึงต้องใช้วิธี "เหวี่ยงแห" โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายพิเศษ ทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 หรือ "กฎอัยการศึก" และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"
แน่นอนว่ายิ่ง "เหวี่ยงแห" ก็ยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ยิ่งจับก็ยิ่งถูกต่อต้าน (อาจจะไม่มีการปลุกม็อบประท้วง แต่ในใจยังต่อต้านอยู่) จนเกิดความรู้สึกในหมู่คนพื้นที่ว่า หากถอนทหารออกไป สถานการณ์จะสงบ ทั้งๆ ที่ความจริงในพื้นที่ที่ปรากฏอยู่แต่เดิมคือ มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นก่อนแล้วรัฐบาลจึงค่อยส่งทหารลงไปควบคุมสถานการณ์
นี่คือจุดอ่อนของการใช้ "ยุทธศาสตร์ทางทหาร" ในการแก้ไขปัญหาที่ปลายด้ามขวาน ซึ่งส่วนตัวผมไม่โทษทหาร แต่โทษผู้กำหนดนโยบายซึ่งยังคงใช้ทหาร ทั้งๆ ที่สถานการณ์บานปลายมาร่วม 1 ทศวรรษ
นายทหารระดับสูงหลายคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เคยตั้งคำถามว่า กองทัพส่งทหารเข้าไปทำความดี ช่วยเหลือชาวบ้านทุกอย่างถึงในหมู่บ้าน แต่ทำไมทหารยังถูกลอบสังหาร ถูกลอบวางระเบิด คำตอบก็คือ ทหารเป็นกองกำลังติดอาวุธ เป็นสัญลักษณ์ของการสู้รบ จึงเป็น "คู่ต่อสู้" โดยตรงของกลุ่มก่อความไม่สงบ การปะทะกันจึงเป็นเรื่องของคนมีอาวุธด้วยกัน ชาวบ้านไม่เกี่ยว
แต่ในอีกด้านหนึ่งทหารยังใช้อำนาจตาม "กฎหมายพิเศษ" เข้าไปปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ซึ่งในมุมมองของชาวบ้านมองว่าเป็นการเข้าไปสร้างความเดือดร้อนให้กับเขา หลายๆ ครั้งญาติพี่น้องของเขาถูกจับกุม ถูกดำเนินคดี แถมสุดท้ายคดียกฟ้อง จนเกิดการตั้งคำถามว่าจับพวกเขาไปทำไม เป็นการกลั่นแกล้งกันหรือไม่ ประเด็นอ่อนไหวลักษณะนี้มักตกเป็นเหยื่ออันโอชะของการปลุกระดม!
ลองย้อนดูสถิติคดียกฟ้องปีล่าสุด (2554) ที่มีมากถึง 78% ยิ่งตอกย้ำให้คนในพื้นที่เข้าใจว่าคนที่ถูกจับกุมไม่ได้กระทำความผิดจริง คนที่ชาวบ้านเชื่อมั่นเชื่อถือหรือมีความสัมพันธ์ฉันท์ญาติมิตรไม่ได้กระทำผิดดังที่ถูกกล่าวหา ฯลฯ เหล่านี้ทำให้ภาพพจน์ของทหารยิ่งตกต่ำลง
ซ้ำร้ายข้อสงสัยเรื่องการซ้อมทรมานที่กลายเป็นคดีความขึ้นสู่ศาล เกือบทั้งหมดชาวบ้านเป็นฝ่ายชนะคดี และตัวแทนของกองทัพก็ไปยอมรับบนศาลว่า "กระทำละเมิดจริง" จากนั้นก็จบลงด้วยการจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย นี่คือความจริงที่ยิ่งตอกย้ำให้ทหารมีสภาพเป็น "ผู้ร้าย"
ทั้งๆ ที่ทหารเองก็ทำความดีมากมาย รับผิดชอบภารกิจวันละถึงกว่า 2,600 ภารกิจ ต้องรักษาความปลอดภัยกลุ่มคนและสถานที่ที่มีความอ่อนไหวต่อการถูกโจมตีอีกเยอะแยะ ท่ามกลางความเสี่ยงอันตรายที่ทหารเองก็ตกเป็นเป้าหมายของการลอบยิง ลอบวางระเบิดได้ทุกเมื่อ
เมื่อทหารพลีชีพ มีพิธีส่งศพกลับบ้าน พวกเขาส่วนใหญ่มากจากจังหวัดภาคเหนือและอีสาน เมื่อลูกหลานกลายเป็นศพมีธงชาติคลุมกลับบ้าน ความรู้สึกคั่งแค้นต่อคนที่ปลายด้ามขวานย่อมเกิดขึ้น
ผมยังมองไม่ออกว่าหากรัฐบาลยังใช้ยุทธศาสตร์นี้ต่อไป สถานการณ์จะไปจบลงที่ตรงไหน...
แต่ปัญหานี้โทษทหารฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะต้องยอมรับความจริงว่าหน่วยงานอื่นแทบไม่มีใครกล้าลงพื้นที่ บางหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจรับโครงการและงานก่อสร้างต่างๆ ลงไปแค่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เท่านั้น (จนเกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ก่อสร้างอาคารผิดแบบในพื้นที่เป็นจำนวนมาก) ขณะที่ภารกิจอีกมากมายของหน่วยงานอื่นยกให้ทหารทำหมด
แต่การปฏิบัติของทหารอีกด้านหนึ่งก็คือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและอิสรภาพของประชาชนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ทำให้ประชาชนเกลียดทหารในฐานะ "ตัวแทนรัฐไทย" (เหมือนคนทั่วไปไม่ชอบตำรวจ เพราะมักถูกตำรวจจับเวลาทำผิดกฎจราจร แต่ในพื้นที่ชายแดนใต้ความรู้สึกจะรุนแรงกว่า) นี่คือปัญหางูกินหางที่ต้องนำมาขบคิดว่าจะหยุดวงจรนี้อย่างไร ไม่อย่างนั้นแต่ละปีที่ผ่านไปก็ไม่มีทางที่อะไรๆ จะดีขึ้น
ในโอกาส 1 ปีของรัฐบาล และใกล้จะครบ 9 ปีของสถานการณ์ไฟใต้ ผมอยากให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีเสียงข้างมากท่วมท้นในสภาผู้แทนราษฎร แสดงความกล้าหาญทางการเมืองด้วยการทบทวนการประเมินสถานการณ์และผลงานที่ฝ่ายความมั่นคงรายงานทุกๆ 3 เดือนเวลาจะขอขยายเวลาการใช้กฎหมายพิเศษออกไป ว่าเป็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาจริงๆ หรือไม่ และอยากให้ค้นหายุทธศาสตร์อื่นๆ มาทดลองใช้บ้าง ไม่ใช่อะไรๆ ก็โยนให้ทหาร
เพราะแม้แต่อดีตทหารที่คร่ำหวอดในวงการงานข่าวและความมั่นคงอย่าง พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) และอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) ยังสรุปแบบฟันธงระหว่างให้สัมภาษณ์ผมเมื่อไม่นานนี้ว่า ทหารไม่ได้มีหน้าที่แก้ปัญหาภาคใต้ เพียงแต่เป็นผู้สร้างบรรยากาศให้ดีขึ้นสำหรับการแก้ไขปัญหาเท่านั้น
ส่วนปัญหาจะแก้อย่างไร พล.อ.ไวพจน์ หัวเราะก่อนตอบว่า "ไม่รู้เหมือนกัน เพราะยังไม่เห็นมีนโยบายยุทธศาสตร์ที่แท้จริงเลย"
ขณะที่ พ.อ.ธีรนันท์ นันทขว้าง นายทหารนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง บอกว่า ปัจจุบันแทบไม่มีชาติไหนในโลกที่ใช้ทหารเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบภายใน เพราะทหารมีหน้าที่รบกับอริราชศัตรูจากนอกประเทศ สู้กับภัยคุกคามจากต่างประเทศ ไม่ใช่แก้ปัญหาภัยคุกคามหรือความขัดแย้งของคนในประเทศเดียวกันเอง
ผมคิดว่าระยะเวลาเฉียดๆ 9 ปี น่าจะมากพอที่จะสรุปทฤษฎีอะไรได้พอสมควร จึงอยากให้รัฐบาลหยุดทบทวนและวางยุทธศาสตร์ใหม่อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ "ยุทธศาสตร์โต๊ะจีน" ด้วยการเรียกผู้เกี่ยวข้องมาระดมความเห็นและกินข้าวร่วมกันแล้วทุกอย่างจบ โดยใช้ศัพท์แสงหรูหราว่า "เวิร์คชอป" แต่กลับไร้ผลในการขับเคลื่อน ถ้าเป็นอย่างนั้นคงแก้ไขอะไรไม่ได้
เหมือนอย่างการประชุมเพื่อบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ของรัฐบาลที่มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา แม้จะมีบทสรุปการเดินหน้า 9 ยุทธศาสตร์ 29 เป้าหมาย และ 5 แนวทางขับเคลื่อน แต่ผมลองสอบถามผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัวที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่ายังแทบไม่มีใครทราบรายละเอียด และยังไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานแต่อย่างใด
ผมคิดว่าถ้ารัฐบาลยังไม่สร้างความชัดเจนในเรื่องใหญ่ที่สุดนี้เสียตั้งแต่ต้นว่าจะเอาอย่างไร ก็ป่วยการที่จะพูดถึงการแก้ปัญหาในมิติอื่นๆ เช่น การเจรจา การพูดคุยสันติภาพ พูดคุยกับกลุ่มที่เห็นต่าง หรือทิศทางการกระจายอำนาจ เพราะสถานการณ์ก็จะหมุนวนอย่างนี้ต่อไป เกิดเหตุใหญ่กันทีก็วิ่งวุ่นกันที พอฝุ่นหายตลบ ทุกอย่างก็เหมือนเดิม
ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ ควรจำกัดบทบาททหารให้อยู่ในกรอบงานรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่ถอนทหาร แต่ใช้ตามความจำเป็น ไม่ใช่ไปสร้างภาพประหนึ่งว่าทหารเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ทั้งหมด แก้ปัญหาทุกเรื่อง จนสุดท้ายต้องกลายเป็น "แพะ" จากนั้นรัฐบาลต้องเดินหน้ายุทธศาสตร์ด้านอื่นที่ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดีแล้วไปพร้อมกัน โดยทุกหน่วยงานต้องเลิก "หาวเรอ" และลงไปทำงานในพื้นที่อย่างจริงจังเสียที...
ไม่ใช่ไปหลบสัมมนาอยู่ตามโรงแรม หรือลงใต้แค่หาดใหญ่เท่านั้น!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภารกิจ รปภ.โรงเรียนและดูแลความปลอดภัยครูกับนักเรียน เป็นอีกหนึ่งงานของทหารที่ต้องปฏิบัติทุกวัน
2-3 พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตรวจเยี่ยมการให้บริการทางการแพทย์ของชุดแพทย์เคลื่อนที่ ศูนย์แพทย์ทหารบกจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา กับกิจกรรมมอบวีลแชร์และรถสามล้อโยกให้กับผู้พิการในพื้นที่ อ.ยะหา กาบัง และกรงปินัง จ.ยะลา ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 สะท้อนภาพทหารทำภารกิจทุกอย่างที่ชายแดนใต้อย่างแท้จริง