ไม่มีรัฐบาลไหนทำ "ยกเลิก" โครงการอาหารกลางวัน ร.ร.ประถม
ทางรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายแต่อย่างใด ยังคงมีโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนตามปกติ และจะปรับปรุงโครงการอาหารกลางวัน-นมโรงเรียนให้ดีขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาการเด็กให้เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีรัฐบาลไหนจะทำแบบนั้นอย่างแน่นอน
กรณีสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข่าวว่า รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ มีผลนับตั้งแต่ 30 มิ.ย. เป็นต้นไป นั้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยืนยัน เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทางรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายแต่อย่างใด ยังคงมีโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนตามปกติ ที่สำคัญ ทางกระทรวงมหาดไทยจะปรับปรุงโครงการอาหารกลางวันและโครงการนมโรงเรียนให้ดีขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาการเด็กให้เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง
"ไม่มีรัฐบาลไหนจะทำแบบนั้นอย่างแน่นอน ทุกรัฐบาลมีแต่จะทำให้คุณภาพชีวิตเด็กดีขึ้นไป"
ขณะที่นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า โครงการอาหารกลางวันเป็นนโยบายของรัฐบาล เป็นโครงการที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องมี เพราะช่วยดูแลสุขภาพนักเรียน ให้นักเรียนสามารถเรียนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งสอดคล้องกับนายทรงวุฒิ มะลิวัลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเพื่อโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนประถมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ยืนยันว่า ไม่มีการยกเลิกโครงการอาหารกลางวันแน่นอน และ สพฐ.ไม่มีอำนาจในการสั่งยกเลิก
“เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบนโยบายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนทั่วประเทศส่งเสริมและสร้างเครือข่าย เพื่อสนับสนุนอาหารเช้าให้กับนักเรียนที่ขาดแคลน หรือนักเรียนที่ไม่ได้กินอาหารเช้ามา เพื่อให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายทรงวุฒิกล่าว
สำหรับโครงการอาหารกลางวัน สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ในสัดส่วนเงินอุดหนุนให้แก่ท้องถิ่น (เฉพาะเงินที่โอนผ่านกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น) มีทั้งหมด 7 โครงการ ได้แก่ เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินเบี้ยยังชีพผู้พิการ เงินเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ ค่าตอนแทน อสม. ค่าใช้จ่ายเรียนฟรี 15 ปี ค่าอาหารกลางวัน และค่าอาหารเสริม (นม) นั้น รัฐให้เงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันเป็นเงินไม่น้อยเลยทีเดียว (อ่านประกอบ:รัฐอุดหนุนงบฯ ค่าอาหารกลางวัน พุ่งอับดับ 2 รองจากเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ)
ความเป็นมาของโครงการอาหารกลางวัน เป็นโครงการที่เกิดจากความตระหนักของรัฐบาลในอดีต ที่มุ่งแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก ซึ่งพบว่านักเรียนประถมศึกษา จำนวนมากขาดแคลนอาหารกลางวันหรือมีอาหารกลางวันแต่ปริมาณไม่เพียงพอ หรืออาหารมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ ทำให้ภาวะการจริญเติบโต ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข
โครงการอาหารกลางวันเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2495 กระทรวงศึกษาธิการได้ทดลองจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในสังกัด ซึ่งพบว่า โรงเรียนขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ทำให้ไม่สามารถจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนขาดแคลนได้อย่างทั่วถึง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการอาหารกลางวัน จึงกำหนดนโยบาย ให้โรงเรียนดำเนินโครงการอาหารกลางวันทุกโรงเรียน ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ภายใต้คำขวัญ 60 พรรษามหาราชา เด็กประถมศึกษาไม่หิวโหย
ช่วงปลายปีงบประมาณ 2534 รัฐบาลเร่งรัดช่วยเหลือเด็ก ในระดับประถมศึกษาที่มีภาวะทุพโภชนาการ และขาดแคลนอาหารกลางวัน กำหนดให้มีกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535
สาระสำคัญคือ จัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา วงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่าย สำหรับการสนับสนุนและช่วยเหลือภาวะโภชนาการของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา และการประชาสัมพันธ์ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็ก
ในปี พ.ศ. 2542 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่โรงเรียนไม่สามารถดำเนินการแต่ลำพังได้ ส่งผลกระทบต่อนักเรียนขาดแคลน อีกจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2542 ให้ถือว่าการส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับประทาน อาหารกลางวันอิ่มทุกวันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเห็นชอบไห้มีความร่วมมือ ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารอิ่มทุกวัน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการ
และตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ถ่ายโอนงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ไปให้กระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดตั้ง และจัดสรรงบประมาณเอง มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 จนถึงปัจจุบัน
มาระยะหลังช่วงปี 2561 สังคมไทยมักได้ยินข่าว ทุจริตอาหารกลางวันเด็กนักเรียนอยู่หลายแห่ง ทั้งกรณีขนมจีนคลุกน้ำปลา ข่าวผู้ปกครองรวมตัวขับไล่ ผอ.โรงเรียน มีการสั่งย้าย หรือแม้แต่อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนถูกศาลลงโทษจำคุกก็มี (อ่านประกอบ:โชว์มาตรการ มท.ปราบโกงค่าอาหารกลางวันเด็ก กำชับ2หน-สั่งรายงานผล คืบหน้าถึงไหน? /เปิดคดีทุจริตค่าอาหารกลางวันเด็ก ป.ป.ช.เชือด 8-ศาลสั่งคุกแล้ว 2-ผอ.ร.ร.เพียบ)
จนกระทั่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด วันที่ 14 สิงหาคม 2561 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการประเด็นการศึกษา 1 ใน 4 ข้อ มีเรื่องของการป้องกันการทุจริตโครงการอาหารกลางวัน มีแนวทางการดำเนินการและมาตรการกำกับติดตามอย่างเป็นระบบ เช่น ให้โรงเรียนจัดเมนูอาหารกลางวันโดยใช้โปรแกรม Thai School Lunch
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นักวิชาการชี้งบฯ เรียนฟรี 15 ปี –นมโรงเรียน- อาหารกลางวัน ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนล้าน
7 วันถึงมือ อธิบดีสถ.ยันไม่ล่าช้า ส่งเงินอาหารกลางวันเด็กให้รร.สังกัดสพฐ.
'ทรงวุฒิ มลิวัลย์' เคลียร์ปม สนง.กองทุนอาหารกลางวัน ถูกครหาไม่ก้าวหน้า
ผู้บริหารกองทุนฯ ยันไม่ปรับ ‘ค่าหัวอาหารกลางวัน’ -ถัวเฉลี่ย 20 บ./คน เพียงพอแล้ว
ถอดบทเรียนจากถาดอาหารกลางวันเด็ก ที่ให้มากกว่าขนมจีนคลุกน้ำปลา
รัฐอุดหนุนงบฯ ค่าอาหารกลางวัน พุ่งอับดับ 2 รองจากเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
สถ.ล้อมคอกออก 4 มาตรการป้องกันทุจริตงบฯ อาหารกลางวันเด็ก
สถ.กำชับท้องถิ่น จัดซื้อวัตถุดิบอาหารกลางวันเด็ก ให้ชุมชน ภาคปชช.มีส่วนร่วม