- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- โชว์มาตรการ มท.ปราบโกงค่าอาหารกลางวันเด็ก กำชับ2หน-สั่งรายงานผล คืบหน้าถึงไหน?
โชว์มาตรการ มท.ปราบโกงค่าอาหารกลางวันเด็ก กำชับ2หน-สั่งรายงานผล คืบหน้าถึงไหน?
พลิกปูมมาตรการแก้ไขปัญหาทุจริตโครงการอาหารกลางวันฉบับกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น มท. ‘บิ๊กตู่’ พูดออกสื่อจี้ดำเนินการตรวจสอบ ร่อนหนังสือกำชับแล้ว 2 ฉบับ สั่งให้ผู้ว่าฯจี้ อปท. ทั่วประเทศส่รายงาน และแบบประเมินผล ผ่านมา 3 เดือนยังเหลือเกินครึ่งที่ไม่ทำ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ทวงถามความคืบหน้ารายงานผลการตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินงาน โครงการอาหารกลางวันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ใน 76 จังหวัด (ยกเว้น กทม.) ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน เนื่องจากจนถึงปัจจุบันมีเพียง อปท. 2,322 แห่ง ที่ส่งแล้ว เหลืออีก 5,433 แห่ง ยังไม่ได้ดำเนินการ และมีเพียงจังหวัดเดียวที่จัดทำรายงานจนครบคือ จังหวัดสตูล (อ่านประกอบ : มท.บี้ อปท.ทั่วประเทศส่งผลสอบโครงการอาหารกลางวันเด็ก-มีแค่ จ.สตูลแห่งเดียวทำครบ)
สาระสำคัญของกรณีนี้ เกิดขึ้นภายหลังเกิดการขุดคุ้ยของสื่อมวลชลช่วงกลางปี 2561 ถึงกรณีมีอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนหลายแห่ง ทุจริตเงินค่าอาหารกลางวันเด็ก จนนำไปสู่การเสนอข่าว และการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการแก้ไขปัญหาการทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็กเล็กในหลายจังหวัด โดยมีการคาดโทษไปแล้ว บางโรงเรียนมีความผิดหลายประการ ทำไมยังปล่อยอยู่ ได้กำชับให้ไปสอบสวนดู ถ้าทำผิดจริงลงโทษทั้งหมด การทุจริตต่าง ๆ ต้องถูกดำเนินคดี ถ้ามีหลักฐานต้องตรวจสอบ (อ้างอิงข่าวจาก : https://www.thairath.co.th/content/1300314)
ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขทั้งหมดแล้วหรือไม่ และมีความคืบหน้าประการใดบ้าง ?
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2562 ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อไปยังนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผ่านหน้าห้องทำงาน เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้
แต่ที่ผ่านมาช่วงปี 2561 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ออกมาตรการด่วนที่สุด ป้องกันการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนมาแล้วอย่างน้อย 2 ฉบับ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอให้สาธารณชนทราบ ดังนี้
ฉบับแรก เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2561 เป็นหนังสือด่วนที่สุด เรียนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ระบุว่า ตามที่การเผยแพร่ข่าว กรณีร้องเรียนว่ามีการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด อปท. จังหวัดพิจิตร โดยมีการกระทำเป็นกระบวนการ ในลักษณะสมยอมกันระหว่างสถานศึกษา ผู้ขาย/ผู้รับจ้าง และกรรมการตรวจรับ ด้วยวิธีการตรวจรับและเบิกจ่ายงบประมาณเต็มจำนวน ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนที่ได้รับจริงในแต่ละวัน เป็นเหตุให้อาหารกลางวันที่มีคุณค่าไม่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ส่งผลกระทบต่อภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียน และคุณภาพของการจัดการเรียนการสอน ถึงแม้ว่าจะยังอยู่ในกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ข้อยุติของหน่วยงานตรวจสอบที่รับผิดชอบก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ขอให้จังหวัดกำชับไปยัง อปท. ที่มีสถานศึกษาในสังกัด ดังนี้
1.ถือปฏิบัติตามแนวทางการตรวจสอบด้านการเงิน การคลัง การพัสดุ และการบัญชีของสถานศึกษาสังกัด อปท. ตลอดจนแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบบัญชีการเงินของ อปท. อย่างเคร่งครัด
2.เพื่อความโปร่งใส และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ให้ปิดประกาศรายการอาหาร และจำนวน หรือปริมาตรวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ประกอบอาหารในแต่ละวัน ให้ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนทราบ โดยพิจารณาปิดประกาศเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน ตามความเหมาะสม
3.ขอให้ผู้บริหารท้องถิ่น หมั่นตรวจติดตามการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันของสถานศึกษาในสังกัดให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยการแต่งตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจ หรือผู้บริหารท้องถิ่นลงพื้นที่สุ่มตรวจด้วยตนเอง เป็นระยะ
4.แต่งตั้งกรรมการตรวจรับพัสดุ ให้มีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนบุคลากรมาทำหน้าที่ เว้นแต่มีข้อจำกัดด้านบุคลากรในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว (ดูเอกสารประกอบ)
คล้อยหลังมา 1 เดือน (2 วันต่อมาหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2561 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คลอดหนังสือด่วนที่สุด กำชับมาตรการป้องกันการทุจริตงบประมาณอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเพิ่มเติม เป็นฉบับที่ 2 เรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สรุปได้ว่า เพื่อความต่อเนื่องในการดูแลคุณค่าทางโภชนาการอาหารกลางวันเด็ก และป้องกันมิให้ผู้ไม่สุจริตอาศัยโอกาส และช่องว่างต่าง ๆ ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แสวงหาประโยชน์จากงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน จึงขอให้จังหวัดกำชับผู้กำกับดูแลและ อปท. ถือปฏิบัติ ดังนี้
1.ให้พิจารณานำระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch : TSL) มาใช้ในสถานศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมความร่วมมือระหว่างสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จัดทำ และพัฒนาขึ้นให้มีความครอบคลุมทั้งในด้านคุณค่าทางโภชนาการ ตามหลักวิชาการ และความสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม หรือบริบทของแต่ละสถานศึกษา และได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
2.สถานศึกษาใดใช้วิธีการจัดหาในรูปแบบการซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารกลางวันเอง ให้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนหรือชุมชน ได้แก่ ผู้ปกครอง กลุ่มแม่บ้าน ศิษย์เก่า อาสาสมัคร ที่มีอยู่ในท้องถิ่น สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันช่วยสถานศึกษาดำเนินการ เช่น การตรวจสอบจำนวน หรือปริมาตรวัตถุดิบ การประกอบหรือการปรุงอาหาร เป็นต้น หากสถานศึกษาใดใช้วิธีจ้างเหมาบริการ ให้มีการตรวจสอบจำนวนหรือปริมาตรวัตถุดิบสำคัญก่อนการประกอบอาหารด้วยทุกครั้ง
3.เพื่อความโปร่งใสและเสริมสร้างการมีส่วนร่วม ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ให้ปิดประกาศรายการอาหารและจำนวนหรือปริมาตรวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ประกอบอาหารในแต่ละวัน ให้ผู้ปกครองและนักเรียนทราบ โดยพิจารณาปิดประกาศเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือนตามความเหมาะสม
4.ให้ผู้กำกับดูแลและผู้บริหารท้องถิ่น หมั่นตรวจติดตามการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันของสถานศึกษาในสังกัดให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยการแต่งตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจ หรือผู้กำกับดูแล และผู้บริหารท้องถิ่นลงพื้นที่สุ่มตรวจด้วยตนเองเป็นระยะ
5.การแต่งตั้งกรรมการตรวจรับพัสดุ ให้มีหมุนเวียนสับเปลี่ยนบุคลากรมาทำหน้าที่ เว้นแต่มีข้อจำกัดด้านบุคลากรในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
6.หากพบว่ามีการร้องเรียน หรือการกระทำที่ไม่สุจริตขึ้น ให้ผู้กำกับดูแลหรือผู้บริหารท้องถิ่นเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติโดยเร็ซ และดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)
หลังจากนั้นในช่วงเดือน พ.ย. 2561 ภายหลังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ออกมาตรการด่วนกำชับแก้ไขปัญหาการทุจริตค่าอาหารกลางวันเด็กไปแล้ว ยังขอความร่วมมือให้จังหวัด แจ้งให้ อปท. และสถานศึกษา ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินโครงการอาหารกลางวันดังกล่าว
แต่จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2562) ผ่านมาประมาณ 3 เดือนเศษ ยังมี อปท. อีกถึง 5,433 แห่ง ยังไม่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้แต่อย่างใด จนต้องถูกขีดเส้นตายครบกำหนดในวันที่ 15 มี.ค. 2562
นี่คือที่มาที่ไปของเรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขปัญหาการทุจริตเงินค่าอาหารกลางวันเด็ก ที่ถือเป็นอนาคตของชาติ และมีตัวอย่างอดีตเจ้าหน้าที่รัฐที่โกงเงินดังกล่าว ถูกศาลสั่งจำคุกเป็นบทเรียนไปแล้วจำนวนไม่น้อย !
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ : เปิดคดีทุจริตค่าอาหารกลางวันเด็ก ป.ป.ช.เชือด 8-ศาลสั่งคุกแล้ว 2-ผอ.ร.ร.เพียบ