นักข่าวอาวุโสแนะสื่อต้องก้าวข้ามระบบทุน-เกาะติดปัญหาคนชายขอบ
สื่ออาวุโสชี้นักข่าวยุคใหม่ไม่กล้าแหวกกระแสทุน-เกาะไม่ติดคนชายขอบ เอ็นจีโอเตือนสื่ออย่าทำตัวเป็นมูลนิธิสงเคราะห์ ละเลยเสนอข้อเท็จจริง ชาวบ้านเล่ารูปธรรมพื้นที่ วอนรัฐใส่ใจความเหลื่อมล้ำสังคม
เร็ว ๆ นี้ ที่ห้องสมุดธรรมะ บ้านอารีย์ กรุงเทพฯ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม (สสส.) เปิดเผยในเวที “คนเคลื่อนข่าว ข่าวเคลื่อนคน 2” ซึ่งเป็นโครงการสื่อสารสุขภาพชุมชนชายขอบ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนชายขอบในสังคมได้สื่อสารปัญหาตนเองต่อสาธารณะ โดยการเผยแพร่ข้อเท็จจริง กิจกรรม ผ่านสื่อมวลชนส่วนกลางลงพื้นที่ทำข่าวเพื่อสื่อไปยังภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยกระดับการเคลื่อนไหวให้เกิดทางออกร่วมกัน เช่น สำรวจความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่อ่าวไทย ตอนบนและรับทราบข้อเรียกร้องของชาวบ้านในการรักษาทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทย, สำรวจพื้นที่ต้นน้ำภาคเหนือที่รับผลกระทบจากน้ำท่วมทุกปี, ติดตามความเดือดร้อนของแรงงานนวนครที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมปี 54
“เป้าหมายสำคัญของเราต้องการให้เรื่องคนชายขอบถูกสื่อกระแสหลักนำเสนออย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นวาระทางสังคม พร้อมคนทำงานสื่อเข้าไปเขย่าคนทำงานสื่อด้วยกันเองให้หลุดจากพันธนาการระบบทุนและคำนึงถึงจรรยาบรรณวิชาชีพที่จะเลือกนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน” ผอ.สสส.กล่าว
ด้านนายวรพล ดวงล้อมจันทร์ แกนนำเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน (อ่าวตัวก.) กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาทำให้น้ำจืดไหลลงสู่ทะเลมาก ทำให้สัตว์ทะเลที่เลี้ยงไว้ เช่น หอยแมลงภู่ โป๊ะปลาทู ได้รับผลกระทบเสี่ยงต่อการน๊อกน้ำ จึงต้องรีบเก็บตั้งแต่ยังเล็กขายเป็นอาหารสัตว์แทน เมื่อสื่อมวลชนลงพื้นที่ได้นำเสนอข่าวจนได้รับความช่วยเหลืออย่างดี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อปัจจุบันรับใช้นายทุนและภาครัฐ ดังนั้นสื่อสาธารณะจึงเป็นทางออกสำหรับประชาชนที่มองคุณค่าความเป็นคนสะท้อนกลุ่มคนยากลำบากได้
นายจงกล โนจา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฮอด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมนาน 7 เดือน/ปี สูง 3-6 เมตร เนื่องจากตั้งอยู่เหนือขอบเขื่อนภูมิพลซึ่งพยายามไม่ให้น้ำไหลหลากพื้นที่ใต้เขื่อน ซึ่งส่วนใหญ่คือจังหวัดภาคกลางและกรุงเทพฯ แต่ไม่เคยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนที่มุ่งนำเสนอข่าวพื้นที่แหล่งอุตสาหกรรมเท่านั้น แม้จะพยายามร้องเรียนไปยังภาครัฐกลับได้รับคำตอบว่า “อย่ามาโทษ เพราะคุณรับค่าเวนคืนไปแล้ว”
“ทุกคนไม่เคยสนใจปัญหาคนชายขอบ จนสื่อมวลชนกลุ่มนี้ลงพื้นที่นำเสนอข่าวออกไป จึงเกิดการเคลื่อนไหวในการแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะรัฐไม่เคยมองถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม และชาวบ้านกลับมองถึงความเหลื่อมล้ำ เมื่อมองไม่เหมือนกันก็ยากที่จะแก้ไขได้” รองนายกอบต.ฮอดกล่าว
ขณะที่นายวีรณัฐ โรจนประภา ผู้บริหารมูลนิธิบ้านอารีย์ กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันใช้ระบบประชานิยมในการขับเคลื่อนประเทศ ทำให้ชนชั้นกลางและระบบอุปถัมภ์ที่อยู่คู่สังคมไทยมานานถูกทำลาย เพราะระบบดังกล่าวมุ่งเพียงปัจเจกบุคคล ทำให้เกิดปัญหาตามมา สื่อมวลชนจึงกลายเป็นที่พึ่งของประชาชนในการนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมปี 54 แต่หากสื่อเป็นเพียงตัวกระตุ้นการทำงานของรัฐและชุมชนก็ไม่ต่างอะไรจากประชานิยม เพราะหากคนชายขอบต้องพึ่งพิงสื่อตลอดก็เหมือนมูลนิธิชอบสงเคราะห์ สื่อจึงควรระวังการทำหน้าที่ของตนเองด้วย
นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร บรรณาธิการอำนวยการบริษัท มติชน จำกัด กล่าวว่า สื่อมวลชนมักอ้างว่าถูกกระแสทุนทำให้จิตวิญญาณการนำเสนอข่าวเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เราสามารถนำเสนอข้อเท็จจริงตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพได้มากมายเพื่อให้กลุ่มคนชายขอบมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะคำว่าชายขอบมีอยู่ทุกพื้นที่แต่กลับไม่ได้รับการนำเสนอข้อเท็จจริงให้สังคมรับรู้ถึงปัญหา เช่น กรณีแรงงานไม่จำเป็นต้องรอสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่จึงนำเสนอข่าวได้ เราสามารถนำเสนอข่าวได้ทุกเวลาด้วยประเด็นหลากหลาย สื่อมวลชนจึงไม่ควรทำงานแบบเคยชิน เพราะจะไม่เกิดสิ่งดีให้สังคม.