เทียบขุมพลัง ปัญญาประดิษฐ์ : จีน vs อเมริกา
นักเทคโนโลยีจากจีนมั่นใจว่า ความก้าวหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในวันนี้จะไม่ห่างไกลกันนับสิบปีอีกต่อไป แต่จะห่างกันแค่นับวัน หรือนับชั่วโมงเท่านั้น และอาจแซงหน้าสหรัฐอเมริกาได้ หากเป้าหมายของจีนที่จะเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งเป้าไว้
ท่ามกลางบรรยากาศสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่ยังคงร้อนระอุและส่งผลกระทบไปทั้งโลก ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเฝ้ามองนโยบายการค้าของทั้งสองประเทศและมาตรการการโต้ตอบระหว่างกันอย่างไม่วางตา ขณะเดียวกันการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence :AI) ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางและกำลังจะกลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่มนุษย์ต้องพึ่งพาในอนาคตอันใกล้นั้น ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาต่างขับเคี่ยวกันเพื่อชิงความเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ของโลก
ประเทศที่มีจุดเด่นด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในโลกนี้ นอกจาก จีน สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส และอังกฤษแล้ว ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ กลับมียุทธศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ชัดเจนเหนือกว่าประเทศใกล้เคียงอื่นๆ ดังนั้นจึงถือได้ว่า ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์เป็นประเทศที่เตรียมพร้อมต่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แถวหน้าของโลกประเทศหนึ่ง
สิ่งที่ทำให้จีนและสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจต่อปัญญาประดิษฐ์เพราะสองประเทศนี้เล็งเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์คือเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศมหาอำนาจทั้งสองในเวลาอีกไม่นาน
ข้อมูลเปรียบเทียบขุมพลังปัญญาประดิษฐ์ทั้ง 10 ข้อต่อไปนี้คือสถานภาพโดยทั่วไปในปัจจุบันและแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของจีนและสหรัฐอเมริกาต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของทั้งสองประเทศ
1.ยุทธศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนต่างให้ความสำคัญต่อปัญญาประดิษฐ์ โดยแต่ละประเทศได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ดังนี้
ประเทศสหรัฐอเมริกา : เมื่อปลายปี 2016 ก่อนที่ประธานาธิบดี บารัคโอบามาจะพ้นจากตำแหน่ง ทำเนียบขาวได้แถลงยุทธศาสตร์ เรื่องการเตรียมการสำหรับปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต ( Preparing for the Future of Artificial Intelligence) สำหรับสหรัฐอเมริกา โดยเห็นว่า ปัญญาประดิษฐ์คือวาระสำคัญและเร่งด่วนของชาติ อย่างไรก็ตาม จะด้วยเหตุผลว่าประธานาธิบดี บารัค โอบามา กำลังจะพ้นจากตำแหน่งหรือด้วยเหตุผลอื่นก็ตามที รายงานจากทำเนียบฉบับนี้ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อเท่าที่ควรและไม่ได้กระตุ้นความสนใจต่อคนอเมริกันทั่วไปในเรื่องการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์มากนัก
เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ระยะแรก ประธานาธิบดี ทรัมป์ ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องปัญญาประดิษฐ์มากเท่าที่ควร จนกระทั่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ประธานาธิบดี ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งบริหารสำหรับ ”ยุทธศาสตร์ขั้นต้นสำหรับปัญญาประดิษฐ์ของสหรัฐอเมริกา ” ( The American AI Initiative ) เพื่อส่งเสริมการวิจัยและการกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชนและวงการการศึกษา โดยเน้นความสำคัญต่อปัญญาประดิษฐ์ใน 5 เรื่องด้วยกันคือ การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ การใช้ทรัพยากรด้านปัญญาประดิษฐ์ การกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลงานด้านปัญญาประดิษฐ์ การสร้างแรงงานด้านปัญญาประดิษฐ์ และการมีส่วนร่วมกับนานาประเทศและปกป้องความได้เปรียบด้านปัญญาประดิษฐ์ของสหรัฐอเมริกาเอง
ยุทธศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ฉบับนี้จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ ของโลก รวมทั้งจะเป็นการเตรียมการสำหรับแรงงานในอนาคต สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนอเมริกัน ช่วยให้เกิดการสร้างงานใหม่ สร้างคุณค่าแก่ประเทศและช่วยให้คนอเมริกันมีความปลอดภัยทั้งในบ้านตัวเองและที่อื่นๆในโลก
ประเทศจีน : เมื่อปี 2017 สภาแห่งรัฐของจีนได้กำหนดแผนพัฒนาสำหรับปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่ (Development Plan for a New Generation of Artificial Intelligence) ซึ่งกล่าวถึง การพยากรณ์และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์และกำหนดวิสัยทัศน์สำหรับปัญญาประดิษฐ์เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก จีนจะอยู่ในแถวหน้าของการใช้ AI เพื่อเศรษฐกิจภายในปี 2020 ระยะที่สอง จีนตั้งเป้าว่าต้องประสบความสำเร็จในการค้นพบสิ่งใหม่ๆของปัญญาประดิษฐ์ภายในปี 2025 ระยะที่ 3 จีนจะเป็นผู้นำของโลกภายในปี 2030
จะเห็นได้ว่า ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญต่ออนาคตของปัญญาประดิษฐ์ด้วยกันทั้งคู่ แต่สหรัฐอเมริกายังไม่ได้กำหนดกรอบการพัฒนาและเป้าหมายของปัญญาประดิษฐ์ที่ชัดเจนนัก ส่วนจีนได้กำหนดเป้าหมายของปัญญาประดิษฐ์ไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะเป้าหมายในการเป็นผู้นำของโลกด้านปัญญาประดิษฐ์ในอีก 11 ปีข้างหน้านั้นเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับจีน รวมทั้งน่าจะสร้างแรงกดดันต่อสหรัฐอเมริกาไม่มากก็น้อย
2.เทคโนโลยีด้านชิพประมวลผล ปัญญาประดิษฐ์ต้องการปัจจัยในการขับเคลื่อนหลัก 3 ประการ ได้แก่ ข้อมูลขนาดใหญ่ ศักยภาพของหน่วยประมวลผลของคอมพิวเตอร์ และอัลกอริทึม (ลำดับคำสั่งที่บอกให้คอมพิวเตอร์ทำงาน) ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาต่างมีเทคโนโลยีด้านหน่วยประมวลผลปัญญาประดิษฐ์ไม่น้อยหน้ากัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกา มีผู้ผลิตชิพหน่วยประมวลผลรายสำคัญของโลก เช่น Intel และ Qualcomm รวมทั้งผู้ผลิตชิพที่เน้นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ เช่น Nvidia แต่จีนก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่ากันเพราะมีผู้ผลิตชิพหน่วยประมวลผลที่เกิดใหม่และเน้นการนำหน่วยประมวลผลไปใช้กับอุปกรณ์ปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะ เช่น Horizon Robotics Bitmains และ Cambricon Technologies เป็นต้น
แม้ว่าสหรัฐอเมริกายังนำหน้าจีนในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตชิพเนื่องจากมีบริษัทผลิตชิพที่มีความแข็งแกร่งอยู่เป็นทุนเดิม แต่ในโลกของการผลิตชิพปัญญาประดิษฐ์ จีนอาจตีเสมอสหรัฐอเมริกาได้ในอนาคตอันใกล้เนื่องจาก การสนับสนุนงบประมาณของรัฐบาลเพื่อมุ่งเน้นการประดิษฐ์ชิพปัญญาประดิษฐ์ของจีนให้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าสหรัฐอเมริกา การเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตชิพของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งหากจีนเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชิพได้เข้าไปลงทุนในจีนโดยไม่เข้มงวดหรือได้รับการยกเว้นข้อจำกัดบางประการสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ก็จะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับจีนในเรื่องการผลิตชิพด้านปัญญาประดิษฐ์มากยิ่งขึ้น
3.งานวิจัย ด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ งานวิจัยคือหนึ่งในตัวชี้วัดความก้าวหน้าและกิจกรรมของปัญญาประดิษฐ์ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่เคยครองแชมป์ด้านความก้าวหน้าด้านการตีพิมพ์งานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ที่เผยแพร่ตลอดมานั้น กลับต้องเสียแชมป์ให้กับจีนตั้งแต่ช่วงปี 2014 เป็นต้นมา ทำให้จีนเป็นประเทศที่มีการตีพิมพ์งานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์มากที่สุดในโลก ส่วนสหรัฐอเมริกา มีงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ตีพิมพ์เป็นอันดับสอง ในส่วนของงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จึงถือว่า จีน เหนือกว่า สหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีการตีพิมพ์งานวิจัยอันดับ 3 ได้แก่ ออสเตรเลีย และอันดับ 4 ได้แก่ สิงคโปร์
4. ข้อมูล นอกจากความสามารถของหน่วยประมวลผลแล้ว ตัวข้อมูลเองคือหนึ่งในพลังสำคัญในการขับเคลื่อนปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำให้เราทราบถึงกิจวัตรประจำวันและความเป็นตัวตนของบุคคล
จากจำนวนประชากรที่มากกว่าสหรัฐอเมริกาถึงสี่เท่า จีนจึงมีข้อมูลสำหรับการเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆของประชากรผ่านสื่อสังคมออนไลน์และแอปพลิเคชั่นที่มากเพียงพอที่จะนำไปพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ได้ อย่างแทบไม่จำกัด ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนต่างก็มีข้อมูลประเภทต่างๆเพื่อใช้ในการเรียนรู้และสร้างสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมมนุษย์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่จีนได้ข้อมูลพฤติกรรมประชาชนของตัวเองในโลกแห่งความจริง ซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาลสำหรับป้อนให้กับบริษัทที่พัฒนาปัญญาประดิษฐ์
นอกจากนี้ความไม่เคร่งครัดของภาคประชาชนและกฎระเบียบของรัฐต่อการนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ประโยชน์มากนักจึงทำให้จีนก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีการใช้ข้อมูลสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างแทบไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่นๆต่างให้ความสำคัญต่อการละเมิดการนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้งาน จึงอาจทำให้มีข้อจำกัดต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในบางแง่มุม
5. วัฒนธรรมการสร้างเทคโนโลยี นักเทคโนโลยีและผู้ประกอบการจากสหรัฐอเมริกาและจีนล้วนเกิดมาจากวัฒนธรรมในการทำธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน ผู้ประกอบการใน ซิลิคอน แวลลีย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกามักจะเป็นเด็กหนุ่มสาวที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน เช่น เป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกร นักการศึกษา ทันตแพทย์ ฯลฯ คนหนุ่มสาวเหล่านี้มีความฝันอันบรรเจิดอยู่เสมอว่า พวกเขาสามารถจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยความคิดเชิงนวัตกรรม ดังนั้นการลอกเลียนแบบสินค้าหรือความคิดของผู้อื่นจึงเป็นเหมือนการทรยศต่อภูมิปัญญาและเป็นการกระทำที่เสื่อมเสียต่อคุณสมบัติในการเป็นผู้ประกอบการที่แท้จริง ด้วยสิ่งแวดล้อมดังกล่าวผู้ประกอบการที่เติบโตจาก ซิลิคอน แวลลีย์ มักจะมีแนวคิดการขับเคลื่อนธุรกิจโดยใช้พันธกิจนำ (Mission- driven)
ในขณะที่บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมของจีน กลับเป็นตรงกันข้าม เพราะบริษัทปัญญาประดิษฐ์ส่วนใหญ่ของจีนถูกขับเคลื่อนโดยใช้การตลาดนำ (Market-driven) โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การหาเงินเข้ากระเป๋าและทำกำไรให้มากที่สุด นอกจากนี้ผู้ประกอบการในจีนเห็นว่า การผลิตสินค้าเพื่อตอบโจทย์ทางการตลาดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการกอบโกยกำไรของตัวเองนั้น ไม่ว่าแนวความคิดนั้นจะมาจากไหนหรือเป็นของใคร ผู้ประกอบการเหล่านี้ก็จะรับมาใช้พร้อมปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยไม่ลังเล ผู้ประกอบการเหล่านี้มักเป็นผู้หิวกระหายต่อการสร้างสิ่งใหม่ๆ เป็นผู้ประกอบการที่ทำงานหนัก และปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจได้ตลอดเวลา แนวคิดเหล่านี้จึงกลาย ระบบนิเวศน์ทางอินเทอร์เน็ตที่เอื้ออำนวยให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของจีนเป็นไปแบบก้าวกระโดด
6. ยักษ์ใหญ่ของโลกปัญญาประดิษฐ์ ในโลกนี้มีบริษัทที่ทำธุรกิจสื่อสังคมออนไลน์ ซื้อขายสินค้าออนไลน์และ ระบบซอฟแวร์ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ซึ่งมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั้งโลกอยู่ 9 บริษัทด้วยกัน เรียกกันว่า “เก้ายักษ์ใหญ่” (The Big Nine) 3 บริษัทอยู่ในจีน และ 6 บริษัท อยู่ในสหรัฐอเมริกา
ประเทศสหรัฐอเมริกา : บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ Google Facebook Amazon Microsoft IBM Apple
ประเทศจีน : บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ Baidu Alibaba Tencent (BAT)
แม้ว่าบริษัทใหญ่ๆด้านปัญญาประดิษฐ์ที่คนทั่วโลกรู้จักและใช้บริการจะเป็นบริษัทของสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจนของรัฐบาลจีน จึงเชื่อได้ว่า บริษัทจากประเทศจีนจะเป็นที่รู้จักและมีบทบาทในสังคมโลกมากขึ้นใกล้เคียงบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกาในอนาคตอันใกล้
7. ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์
เมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว ศาสตราจารย์ นอร์เบิร์ท วีเนอร์(Norbert Weiner) แห่งสถาบันเทคโนโลยี MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา เขียนหนังสือชื่อ ไซเบอร์เนติกส์ (Cybernetics : การควบคุมและการสื่อสารในสัตว์และเครื่องจักร) ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่องระบบอัตโนมัติและการควบคุมตัวเองของเครื่องจักร และแนวคิดนี้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่พัฒนาไปสู่คำว่า “ ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence) ในเวลาต่อมา
ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สหรัฐอเมริกาคือต้นกำเนิดของปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งเป็นที่ผลิตนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลชั้นนำของโลกซึ่งเป็นบุคลากรที่จำเป็นในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในยุคหลัง
ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI คนดังๆของโลกมีฐานที่มั่นอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้หลายคนไม่ได้เป็นคนอเมริกันโดยกำเนิดและบางคนเป็นคนเชื้อสายจีน แต่มาศึกษาและทำงานในสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านปัญญาประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญบางคนเคยทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านปัญญาประดิษฐ์ ทั้งในจีนและในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งและสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศ
อย่างไรก็ตามผู้ที่ทรงอิทธิพลต่อทิศทางของปัญญาประดิษฐ์ของโลกในขณะนี้ คือ คนสามคนที่คนในวงการมักเรียกกันแบบติดตลกว่า “ สามมาเฟียแห่งแคนาดา ” หรือบ้างก็เรียกว่า “ ก็อดฟาเธอร์ปัญญาประดิษฐ์” ซึ่งได้แก่
ยอชัว เบนจิโอ( Yoshua Bengio) ศาสตราจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยมอนทรีออล ประเทศแคนาดา
เจฟฟรี ฮินตัน( Geoffrey Hinton) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดาและผู้บริหาร Google
รวมไปถึง ยาน เลอคัน( Yann LeCun) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย นิวยอร์คและผู้บริหารของ Facebook
ซึ่งนอกจากบุคคลทั้งสามจะมีอิทธิพลอย่างสูงต่อทิศทางของปัญญาประดิษฐ์ของโลกแล้ว ทั้งสามคนยังได้รับรางวัล Turing Award ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลโนเบลด้านคอมพิวเตอร์ของปี 2018 ด้วย
ในมุมมองด้านผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์คนสำคัญๆ ที่ถือว่า มีอิทธิพลต่อโลกนั้น สหรัฐอเมริกาจึงยังน่าจะมีแต้มต่อจีนอยู่มากพอสมควร ส่วนนักปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ทั่วไปนั้น แม้ว่านักปัญญาประดิษฐ์ของสหรัฐอเมริกา จะได้รับอิทธิพลจาก ก็อดฟาเธอร์ ด้านปัญญาประดิษฐ์หลายๆคนและได้รับการบ่มเพาะจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง รวมทั้งบริษัทปัญญาประดิษฐ์หลายแห่งก็ตาม แต่การที่จีนมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเวทีต่างๆ รวมทั้งมีการสร้างบุคลากรในด้านปัญญาประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนและการได้ทำงานในบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ทำให้ศักยภาพของบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ด้านปฏิบัติการทั่วไปของจีนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และน่าจะตามหลังสหรัฐอเมริกาอยู่ไม่ห่างนัก
8. ค่าแรงงานด้านปัญญาประดิษฐ์ นอกจากการสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาลจีนต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แล้ว ค่าแรงของวิศวกรด้านปัญญาประดิษฐ์ของจีนยังถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา จากข้อมูลค่าแรงของบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองเจียเซียน ของมณฑลเหอหนาน พบว่า ค่าแรงวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้านปัญญาประดิษฐ์ทั่วไปตกอยู่ราว 400 - 500 เหรียญต่อเดือนเท่านั้น และอัตรานี้เป็นค่าแรงที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของค่าแรงทั่วไปของมณฑลเหอหนานด้วย
ในขณะที่ค่าแรงของวิศวกรด้านปัญญาประดิษฐ์ ของสหรัฐอเมริกาสูงกว่าค่าแรงในประเทศจีนหลายเท่าตัว ดังนั้นปัจจัยค่าแรงจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว
นอกจากปัจจัยค่าแรงแล้ว ทรัพยากรด้านฮาร์ดแวร์ของจีนที่มีอยู่มากมายเหลือเฟือทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถที่จะแสวงหาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆไปใช้ในการทดลองได้ไม่ยากด้วยราคาที่ไม่แพง
9. เค้กปัญญาประดิษฐ์ จากการคาดคะเนของบริษัท PricewaterhouseCooper ประมาณการว่า ในปี 2030 ปัญญาประดิษฐ์จะเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโลกราว 15.7 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดประเทศจำนวนมากจึงมุ่งเข็มมาสู่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะสองประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกากับจีนนั้น หากการประมาณการถูกต้อง คาดว่าทั้งสองประเทศจะมีส่วนแบ่งจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของทั้งโลกรวมกันถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว และดูเหมือนว่าเค้กชิ้นใหญ่นี้ได้ถูกแบ่งเอาไว้สำหรับสองประเทศยักษ์ใหญ่ด้านปัญญาประดิษฐ์เรียบร้อยแล้วดังนี้
ประเทศสหรัฐอเมริกา :คาดว่า เป้าหมายลูกค้าปัญญาประดิษฐ์ ส่วนใหญ่คือประเทศที่พัฒนาแล้ว
ประเทศจีน : คาดว่าเป้าหมายลูกค้าปัญญาประดิษฐ์ส่วนใหญ่คือ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกาและตะวันออกกลาง
หากการพยากรณ์ถูกต้อง สัดส่วนของเค้กปัญญาประดิษฐ์ในอีก 11 ปีข้างหน้าของทั้งสองประเทศน่าจะอยู่ในตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน
10. ปัญญาประดิษฐ์ในภาพรวม ถ้าแบ่งธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ออกเป็น 4 กลุ่มเพื่อดูคะแนนศักยภาพในแต่ละกลุ่มทั้งของจีนและสหรัฐอเมริกา จะพบว่า ปัจจุบันจีนมีคะแนนตามหลังสหรัฐอเมริกาอยู่ในบางด้าน แต่จากการคาดคะเนในอนาคต เชื่อว่า จีนอาจจะตามทันสหรัฐอเมริกาในบางด้านและเหนือกว่าในบางด้าน ดังแสดงในตาราง
แม้ว่าสถานภาพด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันของจีนอาจเป็นรองสหรัฐอเมริกาอยู่บ้าง ต่างกับในอดีตซึ่งห่างกันหลายสิบปี แต่นักเทคโนโลยีจากจีนมั่นใจว่าความก้าวหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในวันนี้จะไม่ห่างไกลกันนับสิบปีอีกต่อไป แต่จะห่างกันแค่นับวันหรือนับชั่วโมงเท่านั้น และอาจแซงหน้าสหรัฐอเมริกาได้ หากเป้าหมายของจีนที่จะเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งเป้าไว้
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มักมาพร้อมกับข่าวดีและข่าวร้ายในเวลาเดียวกัน ปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและช่วยแบ่งเบาภาระของมนุษย์ ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับโลก แต่เมื่อใดก็ตามที่ปัญญาประดิษฐ์ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการทำร้ายหรือทำลายล้างมนุษย์ด้วยกันเอง คุณค่าของปัญญาประดิษฐ์จะเปลี่ยนไปในทันที
สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายของมนุษย์ที่ต้องสร้างความสมดุลจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมในวันข้างหน้า ซึ่งภาครัฐจะต้องให้ความเอาใจใส่และพิจารณาอย่างรอบด้านโดยไม่หวังผลจากปัญญาประดิษฐ์มากจนเกินไปจนกระทั่ง ลืมไปว่าเทคโนโลยีมีสองด้านเสมอ
ปัญญาประดิษฐ์เป็นความฝันของมนุษย์เมื่อหลายสิบปีก่อนและความฝันอันสูงสุดของมนุษย์ในการสร้างปัญญาประดิษฐ์คือ การสร้างเครื่องจักรที่สามารถคิดเองได้เหมือนกับความสามารถในการคิดของมนุษย์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ และไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า มนุษย์จะสามารถสานฝันอันสูงสุดนั้นให้เป็นความจริงได้ภายในอีกกี่สิบปีหรืออีกกี่ร้อยปีข้างหน้า
อ้างอิง
1. AI Superpower โดย Kai - Fu Lee
2. AI Advantage โดย Thomas H. Davenport
3. Possible Minds โดย John Brockman
ภาพประกอบ https://steemit.com/cryptocurrency/@harleymechanix/5-things-america-must-thwart-in-the-next-few-years-or-china-will-be-a-hegemonic-power-o r-how-they-relate-to-crypto-currency