สภาพัฒน์ฯ ชี้มติสมัชชาสุขภาพแค่เสือกระดาษ ราชการไม่รับลูก
สช.จัดประชุมวิชาการประเมินผลกระทบสุขภาพโดยชุมชนครั้งแรก เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน 4 กรณีศึกษา ชุมชนเขาหินซ้อนทำซีเอชไอเอแล้ว สภาพัฒน์ฯ ชี้กระทรวง- จังหวัด ร่างแผนไม่สนใจคน
วันที่ 17 ก.ค. 55 ที่โรงแรมรามา การ์เดนส์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดประชุมวิชาการ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2555 หัวข้อ “เอชไอเอชุมชน สร้างอำนาจทางปัญญาในการกำหนดอนาคตตนเองและสังคม” เพื่อเปิดพื้นที่ให้ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเอกชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายหนุนเสริมศักยภาพชุมชนให้แข็งแกร่งสามารถทำ ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ(เอชไอเอ)ด้วยตนเองได้
ทั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการเอชไอเอจาก 4 ชุมชนศึกษาประกอบไปด้วย กรณีโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้า อ.จะนะ จ.สงขลา การจัดการลุ่มน้ำท่าจีน จ.นครปฐม โรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และกรณีการคุ้มครองพื้นที่อาหาร อ่าวทองคำสิชล-ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งตัวแทนจากชุมชนได้ระบุถึงความคืบหน้าในกระบวนการดังกล่าวอาทิ ที่ชุมชนจะนะ มีการจัดทำและพิมพ์แผนที่ชุมชน กำหนดพื้นที่สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชนเขาหินซ้อนมีการดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ โดยชุมชน(ซีเอชไอเอ) แล้วเสร็จ
รวมทั้งในการประชุมกลุ่มย่อย ตัวแทนจากชุมชนที่ร่วมระดมความเห็นระบุถึงปัญหาเอชไอเอที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจาก ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจในการอนุมัติ อนุญาตโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เป็นผลทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีบทบาทอย่างแท้จริง บางครั้งทำให้เกิดอุปสรรคและปัญหาในการขับเคลื่อนกระบวนการอีกด้วย
พร้อมทั้งจัดให้มีการเสวนาประมวลข้อเสนอบทบาทและช่องทางของเอชไอเอ ชุมชนในกระบวนการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ โดยนายจิระพันธ์ กัลลประวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ และการวางแผนพัฒนาสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่ปี 40 ในแผนพัฒนา 8 เป็นต้นมาได้กำหนดให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา สภาพัฒน์ฯ ต้องถามประชาชนในทุกเรื่องว่าต้องการอะไร อยากเดินไปในทิศทางไหนทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศสะท้อนในแผนชาติ ขณะที่ของกระทรวงหรือจังหวัดเวลาทำแผนปฏิบัติการ ทำกันเองโดยไม่ถามภาคประชาชน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็พยายามผลักดันทำอย่างไรให้การวางแผนระดับกระทรวงลงไปถึงจังหวัดควรให้ ประชาชนมาร่วม เราอยากให้ท้องถิ่นดูแล เพราะท้องถิ่นรู้ปัญหาดีกว่า แต่เราสู้กับกระทรวงลำบาก
“อย่างภาคประชาชนเวลาเสนอ พัฒนานโยบายสาธารณะ มีกระบวนการสมัชชาสุขภาพขึ้นมา ทุกปีมี 6 -7 เรื่อง แต่ละปีเลือกประเด็นสนใจขึ้นมาเสนอไปที่ครม. ผมเองก็อยู่ในกรรมการติดตาม ส่งครม.แล้วก็หายไป หน่วยงานราชการไม่รับลูก ไม่รู้จะตามอย่างไร มันไม่มีกลไกไปบอกว่าถ้าไม่ทำแล้วจะผิดอย่างนั้นนี้” นายจิระพันธ์ กล่าว
ด้านนายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หัวใจการทำซีเอชไอเอ คือการจัดการปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่อย่างกว้างขวางในสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อชุมชน โดยกระบวนการนี้มีส่วนขยายไปสู่รูปแบบของประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมหรือมีการ หารือ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งกระบวนการซีเอชไอนำไปสู่การเปลี่ยนชาวบ้านจากที่เคยเป็นวัตถุการวิจัย มีคนเข้ามาปูยี้ปูยำมาตลอด มาเป็นประธานการทำวิจัยเอง นี่คือพัฒนาการของการศึกษานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม
โดยน.พ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาปิดเรื่อง “บทบาท และทิศทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในการพัฒนาเอชไอเอชุมชนสู่การตัดสินใจ นโยบายสาธารณะ” ตอนหนึ่งว่า เครื่องมือเอชไอเอในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติไม่ได้หวังใช้เป็นกลไกอำนาจตัดสิน หรืออนุมัติโครงการ แต่ออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือให้คนไทยนำไปใช้ทำงานร่วมกัน สช. คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (กสช.) มีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดการนำเครื่องมือนี้ไปใช้ทำงานร่วมกัน ไม่มีอำนาจไปบังคับใคร
“ที่บอกว่ามติของที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไม่มีผลอะไรที่ ครม. เห็นชอบ และไม่เคยเกิดผลในทางปฏิบัติ ถ้าเป็นในเชิงอำนาจนั้นจริง แต่ในอำนาจอ่อนนั้นกลับมีผล เพราะจะมีเจ้าของมติซึ่งเป็นคนที่ไปร่วมผลักดันมติเป็นคนคอยติดตาม ผลักดันและทวงถามว่าส่วนราชการนั้นทำตามมติหรือไม่ ที่ทำมาทั้งหมด พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ธรรมนูญสุขภาพ หรือแม้แต่เครื่องมือเอชไอเอนั้นคือการเสริมความเข้มแข็งชุมชนนั่นเอง” น.พ.อำพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้าน ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล และเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพั