ชูเผด็จการประชาธิปไตย! ‘เสรี สุวรรณภานนท์’ กก. 5 บริษัท-ธุรกิจร่วม ‘พันธ์เลิศ ใบหยก’
มุมธุรกิจ ‘เสรี สุวรรณภานนท์’ ส.ว.บทเฉพาะกาล คสช. ก่อนหลุดวาทะร้อน ‘นิยมเผด็จการประชาธิปตย’ ในวันโหวตเลือกนายกฯ เป็นกรรมการบริษัท 5 แห่ง เปิดพื้นที่ให้เช่าทำตลาดร่วมกับ ‘พันธ์เลิศ ใบหยก’ – เคยร่วม ‘สมเกียรติ ศรลัมพ์’ หน.พรรคประชาภิวัฒน์ อดีต ส.ส.เพื่อไทย ทำศูนย์รวมข้อมูลคดี แต่เสร็จการชำระบัญชีแล้ว
ในการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีการอภิปรายกันอย่างดุเดือดระหว่าง 7 พรรคร่วมฝ่ายต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และบรรดาพรรคหนุน ‘บิ๊กตู่’ รวมถึง ส.ว. เกี่ยวกับประเด็นคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.สรรหาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือหนึ่งใน ‘ไฮไลต์’ ในวันดังกล่าว เนื่องจากเกิดวิวาทะกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และนายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ถึงกับบอกว่า “ไปกันใหญ่แล้ว” (อ่านประกอบ : สีสันสภา! วิวาทะ‘ปิยบุตร-คารม’ vs ‘เสรี’ปมหนุน-ต้าน‘บิ๊กตู่-ธนาธร’นั่งนายกฯ?)
โดยเฉพาะวรรคทองของนายเสรีในวันดังกล่าวที่สื่อหลายสำนัก รวมถึงประชาชนแชร์กันอย่างแพร่หลายคือ “ผมนิยมเผด็จการประชาธิปไตย แต่ไม่นิยมประชาธิปไตยจอมปลอม”
ช่วงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นายเสรี คือ 1 ใน 249 ส.ว. (จาก 250 ราย) โหวตดัน ‘บิ๊กตู่’ นั่งดับเบิ้ลเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 สมัยที่ 2 เว้นแค่นายพรเพชร ที่งดออกเสียงตามธรรม ในฐานะรองประธานรัฐสภาเท่านั้น
มุมธุรกิจ นายเสรี เป็นกรรมการ 5 บริษัท ยังเปิดทำการอยู่ 4 แห่ง ได้แก่
1.บริษัท หยกสุวรรณมนตรี จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2558 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจ กิจการให้เช่าพื้นที่ทำตลาด
ปรากฏชื่อนายพันธ์เลิศ ใบหยก (ประธานกรรมการเครือโรงแรมใบหยก และอดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทยคนแรก) นายเสรี สุวรรณภานนท์ และนายสมพงษ์ วิริยะมนตรี เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 7,412,211 บาท รายจ่ายรวม 6,877,448 บาท กำไรสุทธิ 499,546 บาท
2.บริษัท บิสซิเนส แอนด์ ซัคเซ็ส (2007) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2550 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจ กิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และให้เช่าพื้นที่ตลาด
ปรากฏชื่อนายเสรี สุวรรณภานนท์ และนายสมพงษ์ วิริยะมนตรี เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 37,158,033 บาท รายจ่ายรวม 18,097,242 บาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 7,599,349 บาท กำไรสุทธิ 481,774 บาท
3.บริษัท ศูนย์รวมกฎหมายกรุงเทพฯ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2550 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจ กิจการให้บริการรับว่าความและเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
ปรากฏชื่อนายเสรี สุวรรณภานนท์ และนางรำไพพรรณ สุวรรณภานนท์ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 550,174 บาท รายจ่ายรวม 483,696 บาท กำไรสุทธิ 66,577 บาท
4.บริษัท สุวรรณมนตรี จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2559 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจการเช่าและดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเอง หรือเช่าจากผู้อื่น
ปรากฏชื่อนายเสรี สุวรรณภานนท์ และนายสมพงษ์ วิริยะมนตรี เป็นกรรมการ
ยังไม่แจ้งงบการเงินปี 2561 เมื่อปี 2560 มีรายได้รวม 18,750 บาท รายจ่ายรวม 19,021 บาท ขาดทุนสุทธิ 271 บาท
อีก 1 แห่งที่แจ้งเสร็จการชำระบัญชีไปแล้ว คือ บริษัท ศูนย์ข้อมูลคดี จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2547 ทุน 2 แสนบาท แจ้งประกอบธุรกิจ ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทางด้านคดีความต่าง ๆ เพื่อประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ และนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ เป็นกรรมการ
นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ปัจจุบันคือหัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์ และเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น 1 ในกลุ่ม 10 พรรคเล็กที่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ก่อนหน้านี้นายสมเกียรติ เคยเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และช่วงปี 2551 เป็น ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน ที่โหวตเลือก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่แพ้ให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
บทบาทนายเสรี ก่อนหน้านี้เป็น ส.ว.กทม. อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2539 (ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540) และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 (ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550) เคยเป็นอดีตเลขาธิการสภาทนายความฯ ในช่วงหลังรัฐประหารระหว่างปี 2557-2562 ดำรงตำแหน่งกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) อดีตประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ช่วงปี 2561 ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย และภรรยา ถือครองหุ้นเกินกว่า 5% ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นและหุ้นส่วนของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 และไม่ได้แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยกำหนด โดยนายเสรี เป็นหนึ่งในทีมทนายความของนายดอน ต่อสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 เห็นว่า นายดอน ไม่ได้กระทำความผิด
กระทั่งปี 2562 คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ของ คสช. ได้เลือกนายเสรีมาเป็น ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และโหวตเลือก 'บิ๊กตู่' เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างที่ทราบกันไปแล้ว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/