อานันท์ ปันยารชุน :ศธ.ต้องเล็กที่สุด ไม่มีใครเป็นเจ้าของ กำกับดูแล-ควบคุมโดยปชช.
“...สมัยผมอยู่อังกฤษ ไม่มีกระทรวงศึกษาธิการ แต่หากไทยจะมีต่อไป ซึ่งผมคิดว่าต้องมีต่อไป ต้องให้เล็กที่สุด และเขียนทีโออาร์ใหม่ว่ามีเพื่ออะไร ไม่ใช่มีเพื่อเป็นเจ้าของ ห้ามเด็ดขาด จะเอารัฐบาลหรือหน่วยราชการมาเป็นเจ้าของชีวิตเราไม่ได้...ผมหวง...ถามว่าเราเริ่มมีความรู้สึกนั้นหรือยังในสังคมไทย อย่าว่าแต่กระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลก็ใหญ่เกินไป กระทรวงต่าง ๆ ก็ใหญ่เกินไป ถ้าใหญ่แล้วไม่มีอำนาจ จะมีให้ใหญ่เพื่ออะไร แต่ถ้าใหญ่แล้วมีอำนาจ นี่อันตราย!”
วันที่ 9 มิ.ย. 2562 นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษาไทย ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เด็ก เยาวชนไทย...ศักยภาพประเทศไทย” ในงาน TEP Forum 2019 ภูมิทัศน์ใหม่การศึกษา:เส้นทางการพัฒนาสรรถนะเด็กไทย ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่
นายอานันท์ กล่าวตอนหนึ่งว่า คุณพ่อของผมไม่ค่อยสอน ไม่ค่อยอบรม แต่จะมีวิธีพูดกับลูก ให้รู้ว่าประเด็นปัญหาอยู่ที่ไหน และการคุยกับลูกเหมือนที่ครูควรจะคุยกับนักเรียน ไม่ใช่ว่าอะไรผิดอะไรถูก เมื่อตั้งโจทย์ขึ้นมาต้องมีผิดมีถูก แต่ไม่ใช่ทุกอย่างในโลกนี้เรียกว่าผิดถูก
“ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องผิดและไม่ใช่เรื่องถูก ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งที่สำคัญ คือ เมื่อไม่สำเร็จแล้ว คนนั้นล้มจะสามารถยืนหยัดขึ้นมาเดินต่อไปได้หรือไม่ อันนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”
ทั้งนี้ ผมยืนยันเสมอว่า ในแวดวงการเมืองก็ดี หรืออะไรต่าง ๆ ก็ดี ‘มืดมน’ ในสังคมที่มีความแตกร้าวอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ผมมีความหวังอยู่เรื่อย ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐาน 2 ประการ คือ
ประการแรก ความก้าวร้าวของเมืองไทย ความแตกแยก ไม่เข้มข้น ดุเดือด ลึกซึ้ง เหมือนความแตกร้าวหรือความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในต่างประเทศ
ไม่มีสิ่งใดจะเป็นความแตกร้าวที่จะรุนร้ายมากไปกว่าความแตกร้าวเนื่องจากเหตุผลทางศาสนา ไม่มีสิ่งใดในโลกที่จะเป็นความแตกร้าวที่มีอิทธิพลกับสังคมมากไปกว่าการแตกร้าวในเรื่องเชื้อชาติหรืออุดมการณ์ทางการเมือง
“เมืองไทยโชคดี คนไทยไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองและไม่ค่อยมีหลักการด้วย เพราะฉะนั้นคนไทยจึงไม่มี Passion ไม่มี Commitment คำถามต่อไป...แล้วยังไง เพราะเหตุนั้นความแตกร้าวในเมืองไทย ถ้าไม่เกิดจากศาสนา เชื้อชาติ อุดมการณ์ทางการเมือง และอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่ในสังคมฝรั่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกิดขึ้นด้วยคน”
ประการที่สอง ระยะ 30 ปี ที่ผมออกมาจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รู้เลยว่าเมืองไทยไปไม่รอดแน่ หากสังคมยังติดอยู่กับระเบียบราชการ ผมโชคดีที่ออกจากราชการอายุเพียง 47 ปี และออกมาเพราะเหตุผลระบบราชการนั้น เมื่อมาอยู่ภาคเอกชน ทำให้ได้รู้จักคนจำนวนมากมาย ได้เรียนรู้วิธีคิดและวิธีทำงาน
ผมเห็นมุมมองใหม่ ผมเห็นมิติใหม่ ระบบราชการมาจากคำว่า Bureaucracy ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะ Bureaucracy เกิดในเอกชนได้ แม้แต่ในเอ็นจีโอก็เกิดขึ้นได้
“Bureaucracy ภาษาอังกฤษแปลง่าย ๆ ว่า จะทำอะไรไม่ได้สักอย่าง หรือบางทีไม่รับผิดชอบอะไรเลย”
ทั้งนี้ หากองค์กรไหนมีชั้นวรรณะ มีหัวหน้าแผนก มีหัวหน้ากอง รองอธิบดี อธิบดี ซี 3 ซี 4 ซี 5 ซี 6 เสร็จแล้ว วัน ๆ ไม่ต้องทำอะไร มัวแต่ติดกับเรื่องชั้นวรรณะ
แล้วตราบใดที่เรายังมีวิธีคิดว่า “การศึกษาเป็นเรื่องของราชการ” ประธานคณะกรรมการภาคีฯ ระบุต้องเปลี่ยนวิธีคิดนี้ พร้อมยกตัวอย่างสมัยผมอยู่อังกฤษ ไม่มีกระทรวงศึกษาธิการ แต่หากไทยจะมีต่อไป ซึ่งผมคิดว่าต้องมีต่อไป ต้องให้เล็กที่สุด และเขียนทีโออาร์ใหม่ว่ามีเพื่ออะไร
"ไม่ใช่มีเพื่อเป็นเจ้าของ ห้ามเด็ดขาด จะเอารัฐบาลหรือหน่วยราชการมาเป็นเจ้าของชีวิตเราไม่ได้...ผมหวง...ถามว่าเราเริ่มมีความรู้สึกนั้นหรือยังในสังคมไทย อย่าว่าแต่กระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลก็ใหญ่เกินไป กระทรวงต่าง ๆ ก็ใหญ่เกินไป”
นายอานันท์ กล่าวว่า ถ้าใหญ่แล้วไม่มีอำนาจ จะมีให้ใหญ่เพื่ออะไร แต่ถ้าใหญ่แล้วมีอำนาจ นี่อันตราย!
“เมื่อไหร่ก็ตาม พลเมืองไม่สนใจหรือขวนขวายจะเป็นเจ้าของ จะเดินต่อไปไม่ได้ เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน รัฐประหารเสร็จ ฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมา เป็นรัฐธรรมนูญไม่ยุติธรรม ไม่เป็นธรรม และเอาเปรียบ จัดให้มีเลือกตั้ง เพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ จบ! แล้วบอกว่า การเลือกตั้งมีความอิสระและเป็นธรรม อาจจะรับได้ เสร็จแล้ว ทุกคนกลับบ้าน รออีก 4 ปี นั้นไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย หากไม่มี Active Citizen การออกเสียงทุก 4 ปี ไม่ใช่ประชาธิปไตย ตราบใดที่เราไม่ถือว่าประชาธิปไตยเป็นของประชาชน เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ แต่คนไม่รู้สึก แล้วตราบใดที่คนรู้สึกว่า รัฐธรรมนูญกินไม่ได้ ไม่เป็นประโยชน์ เพราะความหมายของรัฐธรรมนูญของคนพอแล้วและคนไม่มีอะไรเลย คนละเรื่อง”
เช่นเดียวกันกับการทำหลักสูตรการศึกษา ประธานคณะกรรมการภาคีฯ บอกว่า จะไปทำหลักสูตรการศึกษาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนเชียงใหม่ หรือสุรินทร์ เป็นไปไม่ได้ จึงต้องรู้ว่าการศึกษามีเพื่ออะไร จึงได้อธิบายว่า เป็นการสร้างพลเมือง แต่ความจริง ในสายตาผมมีความหมายมากกว่านั้น
กล่าวคือ การศึกษาต้องมี แต่ไม่ใช่มีในห้องเรียน ไม่ได้มีภายใต้การกำกับดูแลหรือการควบคุมของหน่วยงานรัฐบาล แต่ต้องภายใต้กำกับดูแลและควบคุมโดยประชาชนในพื้นที่ ไม่หมายความว่าหลักสูตรต้องเหมือนกันหมด เวลาเรียนต้องเหมือนกันหมด ไม่มีที่ไหนทำกัน
นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า ในสมัยก่อนสังคมไทยอาจมีปัญหาคอมมิวนิสต์ ทุนนิยม อุดมคติต่าง ๆ เหลือง แดง แต่ปัจจุบันมีปัญหาใหม่ คือ คนไม่ยอมเปลี่ยนกับคนอยากเปลี่ยน
ถามว่าเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนให้สังคมดีขึ้น เปลี่ยนให้สังคมเจริญขึ้น เปลี่ยนให้สังคมมีความยุติธรรมมากขึ้น เปลี่ยนใหสังคมรู้ เห็นใจ และเข้าถึงคนด้อยโอกาส คนไร้โอกาส คนไร้สิทธิ
นี่คือการเปลี่ยนแปลง...ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง!!!
หากความแตกร้าวขณะนี้ ไม่ได้รับการแก้ไขหรือเยียวยาแล้ว จะเตลิดเปิงเป็นปัญหาทางการเมืองต่อไปได้
เมื่อพูดถึงความแตกต่างทางความคิด นายอานันท์ กล่าวว่า โลกของเราเปลี่ยนแปลงเร็วมากระยะ 10 ปี ผมต้องยอมรับ ว่าตามคนรุ่นใหม่ไม่ทัน แต่ผมอยากรู้จัก อยากคุยกับเขา ทั้งที่บางเรื่องที่คุยกับผม อย่างเรื่องดิจิทัล ผมไม่รู้เรื่องเลย แต่อยากฟัง แล้วอะไรพอจำได้ รู้เรื่องได้ เป็นผลกำไรชีวิตของผม แต่ความแตกต่างการเผชิญหน้าขณะนี้ของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า ทั้งนี้ ต้องรู้ว่า ในคนรุ่นเก่า มีคนจำนวนหนึ่งที่มีหัวรุ่นใหม่ ฉันใดฉันนั้น คนรุ่นใหม่ มีคนไม่น้อยที่ยังมีวิธีคิดเป็นคนรุ่นเก่า ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องอายุแล้ว แต่เกี่ยวกับการที่คนกลุ่มหนึ่งตามทันเหตุการณ์ของโลก ตามทันกับความเปลี่ยนแปลง ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิธีคิด ได้หรือไม่
เมื่อตามทันแล้ว ฟังเป็นหรือไม่ ถ้าฟังไม่เป็น พูดเท่าไหร่ก็ไม่รู้เรื่อง ถ้าฟังไม่เป็น...คุณจะคิดไม่ออก...พูดไม่จริงอีก...แย่เลย...ทำไม่ถูกอีก...อันนั้นคือความหายนะ
“คนที่มีวิธีคิดเดียวกันชอบนั่งคุยกันเอง จะไม่เกิดอะไรเปลี่ยนแปลง”
ในแง่การสร้างสมรรถนะการศึกษาให้ถึงระดับประชาชน ประธานคณะกรรมการภาคีฯ ระบุสังคมไทยเป็นสังคมอนุรักษ์นิยม ไม่ค่อยเปลี่ยนวิธีคิดง่าย ๆ อันนี้ไม่ใช่เป็นของแปลกประหลาด เพราะมีทุกสังคม แต่สิ่งที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีสมาคมผู้ปกครองที่ดี ไม่ใช่สมาคมผู้ปกครองที่มีอยู่ในขณะนี้ที่ช่วยหาเงินให้โรงเรียน แต่ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดวิถีทางการศึกษา สร้างบรรยากาศเรียนรู้ บริหารตามหลักธรรมาภิบาล ดังนั้นสมาคมผู้ปกครองต้องเปลี่ยนวิธีคิดด้วย แล้วจะมีเครือข่ายถึงประชาชน .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/