การศึกษาไทย ศตวรรษ 21++ ‘ดร.สมเกียรติ’ ชี้เด็กต้องกล้าทดลอง เรียนรู้ยืดหยุ่น เอื้อปรับตัว
ภาพใหม่การศึกษาไทย ในโลกพลิกผันรวดเร็ว ‘ดร.สมเกียรติ’ ชี้สร้างเด็ก ศตวรรษ 21++ ปรับตัวอยู่รอด ต้องปลูกฝังทัศนคติใจเปิดกว้าง กล้าทดลอง -ล้มเหลว ยกระดับทักษะความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกร เรียนรู้อย่างยืดหยุ่น
วันที่ 8 มิ.ย. 2562 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และภาคีเพื่อการศึกษาไทย จัดงาน TEP:Forum 2019 “ภูมิทัศน์ใหม่การศึกษา:เส้นทางการพัฒนาสมรรถนะเด็กไทย ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เลขานุการคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษา กล่าวตอนหนึ่งในหัวข้อ “ภาพใหม่การศึกษาไทย เพื่อการสร้างเสริมสมรรถนะเด็กไทย” ว่าในอนาคตความรู้จะมีอายุสั้นลง โดยวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นสาขาที่มีอายุสั้นมากที่สุด เพราะนวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ขณะที่ความรู้คนอายุสั้น ชีวิตคนกลับยืนยาว โดยอายุขัยคาดการณ์ตามช่วงเวลาของคนไทย เพิ่ม 4.4 เดือน/ปี และเกิดมาต่อเนื่องกัน 60 ปี
“อายุขัยคาดการณ์ตามช่วงเวลาของคนไทยเกิดปี พ.ศ. 2559 อยู่ที่ 75.3 ปี เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2504 ซึ่งมีอายุขัย 55 ปี แต่การคาดการณ์ดังกล่าวยังไม่คิดจากผลการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล ดังนั้นหากคิดรวมเข้าไปด้วย คนไทยเกิดปี พ.ศ. 2559 จะมีอายุขัยคาดการณ์ตามรุ่นอายุ 80-98.3 ปี”
เลขานุการคณะกรรมการฯ กล่าวอีกว่า สิ่งท้าทาย คือ เมื่อความรู้อายุสั้น แต่คนอายุยืนยาว แล้วจะจัดการเรียนรู้อย่างไร ในโลกที่มีความปั่นป่วน พลิกผัน และคนอายุยืนขึ้นทุกที โดย ศ.เฮนรี มินทซ์เบิร์ก ศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์ ม.แมคกิลล์ ประเทศแคนาดา เคยกล่าวว่า “เมื่อโลกพยากรณ์ได้ เราต้องการคนฉลาด แต่เมื่อโลกพยากรณ์ไม่ได้ เราต้องการคนที่ปรับตัวได้” ดังนั้น ในโลกอนาคตต้องทำให้เด็กสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงพลิกผันอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ การสร้างทักษะให้ลูกหลานในศตวรรษที่ 21 เน้น 3 องค์ประกอบ คือ Attitude (ทัศนคติ อุปนิสัย) เด็กต้องใฝ่หาความรู้ อดทน รับผิดชอบ Skill (ทักษะ) ในเชิงวิพากษ์ สื่อสาร และทำงานเป็นทีม และ Knowledge (ความรู้) พื้นฐาน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ที่สากลคิดว่าเป็นพื้นฐานการเรียนรู้วิชาการต่าง ๆ
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ทักษะข้างต้นอาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว สำหรับโลกที่มีความพลิกผันอย่างรวดเร็ว แต่เราต้องการทักษะแห่งศตวรรษที่ 21++
โดยกรณีที่โลกพลิกผันไปอย่างรวดเร็ว คนที่จะปรับตัวอยู่รอดในโลกได้ จะต้องมีใจเปิดกว้างพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง กล้าทดลอง กล้าล้มเหลว กล้าผิดพลาด และมีจิตใจแห่งความเติบโต
“การศึกษาพบว่า หากแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มมีจิตใจคงที่ กับกลุ่มจิตใจแห่งความเติบโต ปรากฎว่า กลุ่มที่มีความสุขในโลกมากกว่า คือ ผู้ที่มีจิตใจแห่งความเติบโต ซึ่งมีความเชื่อว่า แม้วันนี้ยังทำอะไรบางอย่างไม่ได้ แต่อนาคตจะต้องเรียนรู้ได้”
เลขานุการคณะกรรมการฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ต้องยกระดับทักษะในด้านความคิดสร้างสรรค์ สร้างความเป็นนวัตกร มีความสามารถในการมองภาพใหญ่ เพราะในโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงพลิกผัน ย่อมมีองค์ประกอบเล็กน้อยเต็มไปหมด เราจะไม่สามารถเข้าใจได้ หากมองทีละส่วน และต้องรู้จัการวาดภาพสถานการณ์ด้วย
อีกทั้ง จำเป็นต้องเรียนรู้ความเป็นไปในโลก เข้าใจเทคโนโลยีพลิกผันที่จะมากระทบตัวเรา ที่สำคัญ การเรียนรู้โลกต่อไป นักเรียนต้องเข้าใจทฤษฎีความรู้ รู้ว่าความรู้ถูกสร้างมาได้อย่างไร ทำไมความรู้ถึงผิดพลาดไปได้ แม้ว่าถูกวันนี้ พรุ่งนี้ผิดพลาดได้ ต้องทำให้เด็กคุ้นเคยให้มากขึ้น
“เราต้องสร้างระบบการเรียนรู้ใหม่ เพื่อสร้างทักษะให้เด็กอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21++ ดังนั้น ความรู้จะไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียน ไม่แน่ว่า ห้องเรียนจะเป็นส่วนสำคัญน้อยที่สุด อาจช่วยเพียงการสร้างทักษะพื้นฐาน การอ่าน การเขียน การคิด การเข้าใจ ทั้งนี้ หากจะอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลง ปั่นป่วน ผันผวน รวดเร็ว ต้องมีการเรียนรู้ที่ทำให้คนยืดหยุ่นมากขึ้น ปรับตัวง่าย” ดร.สมเกียรติ ระบุ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/