ดิเรก ถึงฝั่ง: แก้รธน.แบบหัวชนฝา หนทางรอด 'ประชาธิปัตย์' กอบกู้ความนิยมกลับคืนมา
“...การเข้าร่วมของของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ แล้วมีเงื่อนไขว่าจะแก้รัฐธรรมนูญนั้น ผมเห็นด้วย แต่ว่าเขาจะร่วมรัฐบาลแล้วมุ่งมั่นจะแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบหัวชนฝาหรือไม่นั้น เรื่องนี้คงต้องให้กาลเวลาพิสูจน์เท่านั้น เพราะถ้าพรรคประชาธิปัตย์พยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้รัฐธรรมนูญแล้ว และมันทำไม่ได้ จึงถอนตัวออกมา เขาจะได้รับความนิยมอย่างมหาศาล แต่ถ้าหากไม่ได้ ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่จริงใจที่จะแก้ไขตรงนี้ การเลือกตั้งครั้งหน้า เขาก็เละ..."
เป็นที่รับทราบกันดีแล้ว ในขณะนี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ด้วยเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการหลัก ก็คือ 1.ต้องเอานโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ ของพรรคประชาธิปัตย์ไปปฏิบัติ และ 2. ต้องแก้รัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ภายหลังจากการแถลงร่วมจัดตั้งรัฐบาลของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2562 สิ้นสุดลง ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบตามมาทันทีว่า พรรคประชาธิปัตย์ ละทิ้งสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ การไปร่วมรัฐบาลนั้นต้องการที่จะหวังตำแหน่งมากกว่า เนื่องจากกติกาของรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะ การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาด้วย
และแม้กระทั่งตัว นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อ้างก็ยังออกมาระบุว่า "เชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลถัดจากนี้ หรือถ้าเกิดขึ้นก็คงแค่การแก้ผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น"
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำได้ยาก และไม่น่าจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่นี้จริงหรือ?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้พูดคุยกับ “ดิเรก ถึงฝั่ง” อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตประธานคณะกรรมาธิการปรองดอง ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อถามความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ดิเรก ถึงฝั่ง” ยืนยันว่า "รัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นแก้ไขได้ และตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ในจุดที่จะกุมทิศทางความเป็นไปตรงนี้แล้ว ขาดก็แค่กาลเวลาที่จะพิสูจน์ว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้นจะสู้หัวชนฝาและจริงใจแค่ไหนในการแก้รัฐธรรมนูญ"
(ภาพประกอบจาก posttoday.com)
“ดิเรก” ยังกล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ด้วยว่า การร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์นั้นถือว่าไม่เหนือความคาดหมาย ถ้าหากดูจากท่าทีของพรรคที่ผ่านมา
“การเข้าร่วมของของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ แล้วมีเงื่อนไขว่าจะแก้รัฐธรรมนูญนั้น ผมเห็นด้วย แต่ว่าเขาจะร่วมรัฐบาลแล้วมุ่งมั่นจะแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบหัวชนฝาหรือไม่นั้น เรื่องนี้คงต้องให้กาลเวลาพิสูจน์เท่านั้น เพราะถ้าพรรคประชาธิปัตย์พยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้รัฐธรรมนูญแล้ว และมันทำไม่ได้ จึงถอนตัวออกมา เขาจะได้รับความนิยมอย่างมหาศาล แต่ถ้าหากไม่ได้ ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่จริงใจที่จะแก้ไขตรงนี้ การเลือกตั้งครั้งหน้า เขาก็เละ"
"ประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้นผมบอกเสมอว่าเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขให้ได้ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยภายใต้ระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น จึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งจะให้ได้มาเช่นนั้นได้ก็ต้องเริ่มจากกระบวนการร่าง จัดทำรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง"
"โดยประเด็นที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้น ก็เคยพูดไปหลายครั้งแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะมีส่วนดีเยอะมากมาย แต่มีส่วนเลวร้ายที่สุดก็คือที่มาของมัน เปรียบเสมือนคนที่ หู ตา จมูกครบ แต่ดันเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจรั่วหมายความว่า มันไม่ได้มาจากประชาชน ทำให้เราเห็นปัญหามากมายอันมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาทิ ประเด็นการเลือกตั้งที่ทำให้ได้รัฐบาลที่มีความอ่อนแอและขาดเสถียรภาพ รวมไปถึงรูปแบบ กฎ กติกาการเลือกตั้ง ซึ่งเห็นเด่นชัดแล้วว่ามีปัญหามากแค่ไหนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา การแต่งตั้ง ส.ว.ซึ่งไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน ซึ่งประเด็นทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จะต้องให้มีการแก้ไข"
เมื่อถามว่า แต่รัฐธรรมนูญนั้นถือได้ว่าแก้ยากมาก พรรคประชาธิปัตย์ที่เข้ามารับปากว่าจะแก้ตรงนี้ ถือได้ว่าเข็นครกขึ้นภูเขาใช่หรือไม่
“ดิเรก” ตอบว่า “ถูกต้อง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แก้ยากมาก แต่ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้ ถ้าอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ถ้าหากยังเขียนรัฐธรรมนูญให้แก้ยากอย่างนี้ มันก็จะเกิดปัญหาในอนาคตแน่ เพราะเปรียบเสมือนกับว่าเราเอาเชือกมามัดตัวเองเอาไว้ แล้วเราก็จะทะเลาะกัน ทำให้ชาติมันวุ่นวาย แล้วเราก็จะไม่มีความสุข ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอื่นๆจะต้องจับมือกันเป็นรัฐบาลปรองดอง เพื่อให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งผมว่ามันทำได้ เรายังมีความหวังผ่านกระบวนการรัฐสภาให้สำเร็จได้"
"พรรคประชาธิปัตย์นั้นสามารถเป็นแกนนำในการแก้รัฐธรรมนูญ แล้วถ้าเขาทำสำเร็จ คนทั้งประเทศจะชื่นชมเขามากที่แก้ปัญหาตรงนี้ได้ เพราะคนไทยทุกคนนั้น ไม่มีใครอยากจะเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย เศรษฐกิจก็จะมีปัญหาตามมา ดังนั้นจึงต้องนำเอาทุกคนที่ต้องการจะแก้ปัญหาให้บ้านเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญตรงนี้ให้ได้”
เมื่อถามว่า แต่ตามรัฐธรรมนูญระบุว่าการจะรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นวาระรับหลักการระบุว่า สมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาแล้วแบบนี้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญกันได้หรือไม่ เพราะ คสช.เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว. ถ้าเขาสั่ง ส.ว.ไม่เห็นชอบ มันก็จบใช่ไหม
“ดิเรก” ตอบว่า “ใช่ๆ ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ ก็แสดงว่าเขาไม่จริงใจตั้งแต่ต้น บ้านเมืองก็จะเกิดปัญหาตามมาได้ ดังนั้น เรื่องเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอไปแล้วถ้าทางพรรคพลังประชารัฐตอบรับ จนกระทั่งประกาศนโยบายออกมา ถ้าหากมีความจริงใจตรงนี้ ส.ว.ก็ควรจะร่วมด้วยช่วยกันทำให้ผ่านวาระแรกไปด้วย มิฉะนั้นบ้านเมืองจะมีปัญหาแน่นอน ดังนั้นถ้าเป็นแบบนั้น ไม่ผ่านวาระแรก พรรคประชาธิปัตย์ควรจะถอนตัวออกมาจากรัฐบาลทันที”
(ภาพประกอบจาก : ไทยรัฐ)
เมื่อถามว่า แสดงว่าถ้า ส.ว.หากเขาไม่จริงใจหรือแก้ผ้าเอาหน้ารอด อย่างที่ว่า มันก็ไม่มีวิธีอื่นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยใช่ไหม
“ดิเรก” ตอบว่า “จริงๆมันมีวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกวิธี ในวาระรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนผ่านวาระแรก ถ้าหากตรงนี้ใช้การทำประชามติก่อนได้ ถ้าหากมีการตกลงร่วมกันแล้วประชาชนเห็นชอบ เราถืออำนาจประชาชนเป็นใหญ่มันก็ทำได้ แต่สรุปว่าก่อนจะไปขั้นตอนประชามติได้นั้น มันจะต้องมีการคุยกัน และมีความปรองดองเกิดขึ้นเสียก่อนมันถึงจะไปได้”
เมื่อถามว่า หมายความว่าจะให้เปลี่ยนเข้าชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน เป็นการทำประชามติประชาชนทั้งประเทศว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้รัฐธรรมนูญ เลยใช่ไหม
“ดิเรก” กล่าวว่า “ถูกต้องแล้ว ประชามติคนทั้งประเทศ ถ้าหากเขาเห็นด้วยแล้ว มันก็ชัดเจนว่าต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะแม้ว่า ส.ว.ที่ถูกแต่งตั้งมาจะไม่จริงใจแก้รัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เขาก็คงจะไม่อยากที่จะไปหักกับประชาชนที่เห็นด้วยทั้งประเทศว่าให้แก้รัฐธรรมนูญแน่ๆ ดังนั้นถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์สามารถผลักดันให้ไปถึงจุดนั้นได้ ไม่ว่าผลประชามติจะออกมาเป็นอย่างไร ตรงนี้เขาก็มีแต่ได้แน่นอน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาด้วย"
"แต่การจะผลักดันให้เกิดการประชามติให้เกิดขึ้นนั้น ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ ส.ว.ช่วย แค่สภาล่าง สภาผู้แทนราษฎรก็เพียงพอแล้ว ดังนั้นเมื่อผ่านประชามติเห็นชอบให้แก้รัฐธรรมนูญแล้ว ก็ตั้งคณะกรรมการแก้รัฐธรรมนูญที่มา มีองค์ประกอบจากทุกฝ่าย มาพิจารณาทีละประเด็น ตรงนี้ก็จบเลย กระแสที่คนต่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ก็จะหมดไป และจะได้รับความนิยมกลับมาแทน ดังนั้น ในเวลานี้ขึ้นอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์แล้วซึ่งจะเป็นความหวังของคนไทยทั้งประเทศ และทุกระดับชั้นในการแก้รัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นจริง อยู่ที่เขาจะสู้หัวชนฝาแค่ไหนเท่าไร"
"ซึ่งผมเองก็เชื่อว่าบ้านเมืองนั้นยังมีความหวังอยู่ โดยเฉพาะในกระบวนการของทางรัฐสภาที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปลงถนน เหมือนกับที่เป็นกระแสอยู่ ณ ขณะนี้”
----------
สุดท้ายนี้ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอไว้จะไปได้ไกลและจะกอบกู้ชื่อเสียงพรรคประชาธิปัตย์กลับมาได้มากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์เท่านั้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/