ป.ป.ส. เผยผลตรวจกัญชามีแค่ 7 กก.จาก 22 ตันไม่มีสารปนเปื้อนใช้ทางการแพทย์ได้
ป.ป.ส.-กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจกัญชาของกลาง 18 จาก 22 ตัน พบไม่มีสารปนเปื้อนแค่ 7 กก. ใช้ทางการแพทย์ได้ ขณะที่ยอดการจัดอบรมมีกว่า 100 ครั้ง บางแห่งคิดค่าใช้จ่ายสูง 1 หมื่นบาท
วันที่ 6 มิ.ย. 2562 นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อมด้วยนพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดเถลงผลการตรวจหาสารปนเปื้อนในกัญชาของกลาง จำนวน 22 ตัน ซึ่งจับกุมได้จากทั้งสิ้น 43 คดี ตั้งแต่ 1 ต.ค. -31 มี.ค. 2562 ณ สำนักงาน ป.ป.ส.
นายนิยม เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ส่งกัญชาของกลางให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนชนิดโลหะหนักและยาฆ่าแมลง โดยปัจจุบันสามารถตรวจของกลางไปแล้ว 18 ตัน จากทั้งหมด 22 ตัน รวม 38 ตัวอย่าง ผลปรากฎว่า
กัญชาของกลาง จำนวน 16 ตัน มีการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง และมีสารโลหะหนักแคดเมียมเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ จำนวนดังกล่าวจึงนำไปใช้สกัดทางการแพทย์ไม่ได้
ขณะที่กัญชาของกลาง จำนวน 2 ตัน ที่มีค่ามาตรฐานอาจอยู่ในกรอบที่ใช้ประโยชน์การวิจัยและพัฒนา
ในจำนวนนี้ทั้งหมดมีเพียง 7 กิโลกรัมเท่านั้น ไม่พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงและสารโลหะหนัก ซึ่งนำไปสกัดใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้
“ กัญชาของกลางที่พบการปนเปื้อนจะส่งไปเผาทำลายต่อไป ส่วนจำนวน 7 กิโลกรัม ไม่พบการปนเปื้อนนั้น สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พิจารณาให้หน่วยงานหรือสถาบันการศึกษามาขอใช้ประโยชน์ทางการศึกษาวิจัย ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาล 3 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษา 8 แห่ง ยื่นเรื่องขอเข้ามาแล้ว น้ำหนักรวม 2.3 ตัน โดยจะมีการพิจารณาแจกจ่ายต่อไป”
เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังกล่าวถึงการเฝ้าติดตามการใช้กัญชารักษาอาการป่วย พบสารสกัดกัญชาที่มีการใช้ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบหรือนอกระบบ แพร่หลายในตลาดมืด มีความเป็นไปได้มากว่าจะใช้กัญชาที่มีลักษณะเดียวกันกับที่เราตรวจ โดยนำไปสกัดหรือเป็นการปลูกไม่มีการควบคุม ไม่อยู่ในระดับเมดิคัล เกรด ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ากัญชาเหล่านั้นย่อมมีสารโลหะหนักและยาฆ่าแมลง ซึ่งหากไม่สกัดนำสารปนเปื้อนออกไป นั่นหมายถึงสารเหล่านั้นจะเข้าสู่ร่างกายได้
นอกจากนี้ตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ พบมีการให้ความรู้ต่าง ๆ ทั้งในมิติการใช้ประโยชน์เพื่อการแพทย์และธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ซึ่งจากการติดตามข้อมูลข่าวสาร พบว่า บางส่วนให้ข้อมูลที่เป็นจริง บางส่วนให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน จึงเน้นย้ำกัญชาในไทยยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ดังนั้น ต้องระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นประชาชนที่เข้าไปอบรมอาจเข้าใจและสื่อสารผิด นำมาสู่ประเด็นกฎหมายตามมา
“ขณะนี้มีการจัดกิจกรรมอบรมแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผยกว่า 100 ครั้งแล้ว บางแห่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 10,000 บาท ดังนั้น ประชาชนที่สนใจควรสอบถามเข้ามายังสำนักงาน ป.ป.ส. อย. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ว่าควรเป็นไปอย่างไร มีโทษพิษภัยอย่างไร” นายนิยม ระบุ
ด้านนพ.พิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมถึงการกำหนดค่ามาตรฐานการตรวจหาสารปนเปื้อน มี 2 หลักเกณฑ์ ได้แก่ หลักเกณฑ์มาตรฐานของอย. ซึ่งกำหนดปริมาณสารตกค้างและสารกำจัดศัตรูพืชเหมือนในอาหาร ผักผลไม้ ต้องตรวจหาอย่างน้อย 62 รายการ
ส่วนหลักเกณฑ์มาตรฐานยาสมุนไพรไทย จะตรวจหาเพียง 33 รายการ
“มาตรฐานยาสมุนไพรไทย 33 รายการ ณ เวลานี้ไทยมีการใช้จริง ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชเพียง 25 รายการ จึงพบว่าทั้ง 38 ตัวอย่าง พบปริมาณสารโลหะหนักปนเปื้อนเกินมาตรฐาน 37 ตัวอย่าง ส่วนอีก 1 ตัวอย่าง พบโลหะหนักตกค้าง คือ แคดเมียม ที่มีผลต่อไต กระดูก และมะเร็งตามมา ไม่เกินค่าสูงสุดที่ยอมรับได้”
แต่ถ้าคิดตามหลักเกณฑ์มาตรการอาหาร ผักผลไม้ ที่กำหนดระดับตกค้างได้ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่า กัญชาของกลางทั้ง 38 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจไม่ผ่านมาตรฐานทั้งหมด
ทั้งนี้ การส่งตรวจก่อนนำไปสกัดเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้น มาตรฐานขึ้นอยู่กับกฎหมายที่ อย.กำหนด แต่หากผลิตเพื่อขายในต่างประเทศ จะข้นอยู่กับมาตรฐานประเทศรับซื้อ อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีเครื่องมือเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับการตรวจวิเคราะห์หาสารโลหะหนักตกค้างและสารกำจัดศัตรูพืช 500 รายการ เทียบเท่ามาตรฐานยุโรป แต่เหตุผลที่ไม่ตรวจครบรายการทั้งหมด เพราะต้องดูด้วยว่า สารต่าง ๆ มีการขอนุญาตใช้จริงในไทยกี่ชนิด หากส่งตรวจโดยไม่มีการใช้ จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/