พรึบ!โหวต'ประยุทธ์' 500 เสียง นายกฯสมัย 2 -'ธนาธร' 244
ประชุมร่วมรัฐสภาครั้งแรก! ฝ่าย พปชร. เข้าวิน ข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 500 เสียง ดัน 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นั่งเก้าอี้นายกฯ ฝ่ายเพื่อไทย-อนค. 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' พ่าย ได้ 244 เสียง 'ชวน-พรเพชร' งดลงตามธรรมเนียม 'สิริพงศ์' ภท.งดออกเสียงด้วย หลังอภิปรายลากยาวเกือบ 10 ชม. ปมคุณสมบัตินายกฯ ฝ่ายเพื่อไทยเข้าชื่อเชือดเป็น จนท.รัฐอื่น ขัดมาตรฐานจริยธรรมปมไม่ธำรงประชาธิปไตย ลุอำนาจใช้ ม.44 ปิดเหมือง จองกฐินยื่นฟ้องศาล รธน.ปมสรรหา ส.ว. ด้าน พปชร.-ส.ว. ยกคำวินิจฉัยผู้ตรวจฯ-กกต.-ศาล รธน.สวนกลับ ยันไม่มีลักษณะต้องห้าม ให้ดูการกระทำในอดีตทำไมถึงต้องรัฐประหาร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานใหญ่ทีโอทีแจ้งวัฒนะ มีการประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา) รวม 747 ราย แบ่งเป็น ส.ส. 497 ราย และ ส.ว. 250 ราย (เดิมรวม 750 ราย สำหรับ ส.ส. ที่หายไป 3 คน ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ นางจุมพิตา จันทรขจร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่ป่วย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.) มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระสำคัญคือ การโหวตเลือกบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนายชวน ได้อนุญาตให้สมาชิกอภิปรายได้ทุก ๆ กรณีที่ขอใช้สิทธิ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา พ.ศ. 2553 มาบังคับใช้โดยอนุโลม
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขอเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วน น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ ขอเสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรี ขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการเปิดให้สมาชิกอภิปราย ก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
หลังอภิปรายประเด็นคุณสมบัตินายกฯมาประมาณ 9 ชั่วโมงเศษ เมื่อเวลาประมาณ 21.37 น. นายจิรายุ ได้ขอให้นายชวน หลีกภัย วินิจฉัย คุณสมบัตินายกรัฐมนตรี นายชวน ระบุว่า วาระการประชุมเป็นไปตามลำดับ ถือว่าจบแล้ว ต่อไปนี้เป็นกระบวนการที่ไว้นับคะแนนต่อไป
ต่อมา เวลา 21.39 น. ได้เริ่มต้นขั้นตอนให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยใช้วิธีขานชื่อให้ความเห็นชอบทีละราย โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมือง 4 ราย และ ส.ว. 2 ราย เป็นกรรมการ
หลังจากนั้น เวลา 23.52 น. ที่ประชุมรัฐสภา เสียงทั้งหมด 747 ราย มีมติเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา 500 เสียง สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเสียงทั้งหมดมาจาก พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรวม 19 พรรค ส่วน 244 เสียง สนับสนุน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรี มาจากพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และพรรคร่วมรวม 7 พรรค งดออกเสียง 3 เสียง เฉพาะ นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ในฐานะรองประธานรัฐสภา โดยเป็นไปตามธรรมเนียม และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. พรรคภูมิใจไทยเท่ากับว่าเสียงข้างมากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ยอมรับ โหวตสวนมติพรรคภูมิใจไทย ไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อโหวตเสร็จก็เดินออกมาจากห้องประชุมรัฐสภาทันที ยังไม่ได้พูดคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
@20.30 น. เตรียมโหวตเลือกนายกฯ
เวลาประมาณ 18.30 น. นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ได้ขอหารือให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาปิดการอภิปรายอีกครั้ง เพราะได้อภิปรายมานานเกือบ 6 ชั่วโมงครึ่งแล้ว ถือว่าพอสมควรแล้ว หลังจากนั้นนายพรเพชร รองประธานรัฐสภา ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้หารือกับที่ประชุม เนื่องจากยังมีสมาชิกลงชื่อขออภิปรายไว้อีก 15 คน โดยตัวแทนของพรรคเพื่อไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จะตัดสมาชิกที่จะอภิปรายให้เหลือเพียงแค่ 5 คน และใช้เวลา 1 ชั่วโมง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐแจ้งว่า เหลือผู้อภิปรายอีก 4 คน และขอเวลา 40 นาที ส่วน ส.ว. มี 2 คน ขอเวลา 20 นาที นายพรเพชรจึงแจ้งต่อที่ประชุมว่า จะสามารถลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในเวลาประมาณ 20.30 น.
นับตั้งแต่เริ่มการประชุมรัฐสภาตั้งแต่เวลา 11.00 น. ผ่านมาแล้วประมาณ 6 ชั่วโมง ที่ประชุมอภิปรายถึงคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ และนายธนาธร โดยฝ่ายพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ ส่วนใหญ่อภิปรายประเด็น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) รวมถึงการกระทำที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์ ขัดกับประมวลจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2561 โดยบังคับใช้กับ ส.ส. ส.ว. และนายกรัฐมนตรีด้วย โดยเฉพาะเป็นผู้นำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557
อย่างไรก็ดีฝ่าย ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาบางราย อภิปรายโต้แย้งประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีคุณสมบัติครบ โดยประเด็นเรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้วินิจฉัยแล้วเห็นว่า หัวหน้า คสช. ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ส่วนสาเหตุการรัฐประหารนั้น ขอให้ย้อนกลับไปดูในช่วงเวลาดังกล่าวว่า บ้านเมืองมีทางออกหรือไม่ อย่างไร
@เพื่อไทยค้านพลังธรรมใหม่ขอปิดอภิปราย ให้โหวตนายกฯเลย-พรเพชรให้เวลาอีก 2 ชม.ค่อยมาพูดกัน
เมื่อเวลาประมาณ 15.50 น. นายระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ เสนอญัตติขอให้มีการปิดอภิปราย และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ดีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประท้วง ระบุตอนหนึ่งว่า ความเป็นจริงการอภิปรายในสภายาวนานกว่านี้มาก ควรให้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนรับทราบคุณสมบัติของผู้จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และนายธนาธร จึงขอให้ถอนญัตติดังกล่าว
นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมแทน วินิจฉัยว่า ขอให้นายระวีถอนญัตติดังกล่าวออกไปก่อน ให้เวลาอีกประมาณ 2 ชั่วโมงค่อยมาพูดกันเรื่องนี้ นายระวีจึงถอนญัตติดังกล่าว เพื่อให้มีการอภิปรายต่อ
@เพื่อไทยจองกฐินฟ้องศาล รธน.ปมสรรหา ส.ว.-ยกปมใช้ ม.44 ปิดเหมืองอัครามิชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. นายสุทิน คลังแสง ส.ส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายตอนหนึ่งว่า ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญปิดเหมืองอทองอัครา จนต้องตั้งทีมทนายของรัฐมาต่อสู้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นกรณีคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ยังไม่เปิดชื่อ และมีการตั้งคนที่เป็นกรรมการมาเป็น ส.ว. เองด้วย เรื่องนี้ต่อไปจะมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน ขอจองกระถินไว้เลย นอกจากนี้ มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหลายประการ ถ้าปล่อยให้เป็นอีก เชื่อว่า บนความไม่ยึดในหลักนิติรัฐ ไม่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ไม่อาจยกมือให้เป็นนายกฯได้
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงนายสุทินว่า สิ่งที่พูดมา โดยเฉพาะในเรื่องเหมืองอัครา ไม่ทราบรายละเอียดโดยทั้งหมด เรียนว่าเรื่องนี้หลาย ๆ คนโดยเฉพาะประชาชนเห็นในข่าวตลอดเวลาว่า การปิดหรือหยุดดำเนินการของเหมืองอัครา โดยใช้มาตรา 44 เริ่มจากการตรวจสอบประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมากจากสารเคมีรั่วไหล โดยเฉพาะในประชาชน จ.พิจิตร มีผลกระทบต่อการประกอบการ และผู้ที่บริหารในส่วนขององค์กรท้องถิ่น ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น บริษัท กับการให้สินบนกับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น ที่สำคัญที่สุดประชาชน
“ความเป็นผู้นำมากกว่าผลประโยชน์ธุรกิจ การร้องเรียนเรื่องสุขภาพ ต้องใช้ภาวะผู้นำตัดสินใจดำเนินการให้เด็ดขาด สิ่งที่พูดข้อมูลด้านเดียว เคารพ แต่ขออนุญาตเสนอข้อมูลอีกด้านที่เป็นความจริง คิดว่าประชาชนเข้าใจตรงนี้ได้มากขึ้น ขอประท้วงตามข้อบังคับเท่านั้น” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ขณะที่ พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว. อภิปรายถึงกรณีนี้ว่า ประชาชนอยู่บริเวณแถบเหมือง มีปัญหาสุขภาพมานาน มีการร้องเรียน แต่ไม่มีหน่วยงานใดรับดำเนินงาน ดังนั้นในช่วงปี 2558 หลังรัฐประหาร สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ลงทำการตรวจ และนั่นเป็นครั้งแรกเป็นการตรวจสอบพิสูจน์ความจริง พบว่า ประชาชน โดยเฉพาะเด็ก ปนเปื้อนโลหะหนัก ทำให้มีการตรวจสอบจากเหมือง หรือสิ่งใด อยากชี้แจงว่า เป็นจังหวะเวลาที่ประชาชนมีคนรับฟังที่ทุกข์ร้อนเป็นครั้งแรก
ต่อมา นายสุทิน อภิปรายชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรณีเรื่องมลพิษนั้น ศาลปกครอง จ.พิจิตร ได้ยกคำร้องว่าการปล่อยมลพิษมาจากเหมืองอัครา โดยเห็นว่า ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงดังกล่าว อย่างไรก็ดีต้องศึกษากันอีกเยอะ แต่ประเด็นที่อยากชี้ให้เห็นคือ แม้มีมลพิษจริง ต้องแก้ปัญหาจริง แต่ผิดพลาดตรงใช้มาตรา 44 แก้ ถ้าใช้กลไกอื่นแก้ จะไม่มีปัญหา แต่ลุแก่อำนาจไม่ยึดหลักนิติรัฐ เผอิญใช้มาตรา 44 แก้ มันผิดตรงนี้ ถ้าใช้กฎหมายปกติ กระบวนการปกติแก้ อาจฉลุย ผิดตรงใช้มาตรา 44 เท่านั้น
(นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อภิปรายในสภาปมปิดเหมืองแร่อัคราฯ เป็น 'จึงรุ่งเรืองกิจ' รายเดียวที่อภิปรายในสภาวันนี้)
หลังจากนั้นเวลาประมาณ 17.25 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายถึงกรณีนี้ว่า ที่นายสุทิน คลังแสง พาดพิงถึงเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งปิดเหมืองแร่อัคราฯ เป็นเหตุให้รัฐบาลถูกฟ้องร้องที่นายสุทินให้ตัวเลขจากบริษัทว่า มีการฟ้องร้องถึง 4 หมื่นล้านบาท และนายสุทินมั่นใจว่าทางรัฐบาลจะต้องแพ้คดีถึง 100% ขอชี้แจงข้อเท็จจริงนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับตนโดยตรง ตอนอนุมัติให้บริษัทเหมืองแร่อัคราฯ สัมปทานไปนั้น ตนเป็น รมว.อุตสาหกรรม ในปี 2544 ดังนั้นเมื่อมีข่าวว่าทางบริษัทอัคราฯ ได้ฟ้องร้องรัฐบาลนี้ จึงได้ติดตามข่าวเรื่องนี้มาโดยตลอด ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ตัวเลขที่นายสุทินบอกว่า มีการฟ้องร้องเรียกความเสียหายจากบริษัทอัคราฯ เป็นเงิน 4 หมื่นล้านบาท ข้อเท็จจริงบริษัทอัคราฯ ฟ้องร้องเพียง 3 พันล้านบาท แต่ 3 พันล้านบาทถือว่าเป็นเงินจำนวนมาก แต่น้อยกว่าที่นายสุทินพูดถึง 10 เท่า
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญที่สุดว่า รัฐบาลจะแพ้ 100% ไม่จริง ยืนยันอย่างนั้นเพราะว่า ตอนที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกเงื่อนไขให้สัมปทานบริษัทอัคราฯ เงื่อนไขสำคัญที่สุดในสัญญา บริษัทต้องรักษาสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สารพิษ สารปนเปื้อน ต้องมีการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด แต่ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้ดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างมากมาย จนถึงเป็นเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ สงสารชาวบ้าน จึงจำเป็นต้องสั่งปิดเหมืองแร่อัคราฯ ดังนั้นเมื่อบริษัทผิดเงื่อนไขตรงนี้ เชื่อว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญ กระทรวงอุตสาหกรรมที่ตนติดตามมาตลอด มั่นใจว่าเราชนะ
อย่างไรก็ดีนายสุทิน ชี้แจงย้ำอีกรอบว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่า เหมืองแร่อัคราฯ ทำให้เกิดมลพิษ และมีเพียงประเด็นเดียวคือ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สมควรใช้มาตรา 44 ปิดเหมือง ควรใช้กระบวนการกฎหมายตามปกติ
(นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย หนึ่งใน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ)
@สู้กันเดือด! เพื่อไทยค้าน'บิ๊กตู่' เป็น จนท.รัฐขัดคุณสมบัติ-ชี้ทำกติกาบิดเบี้ยว
เมื่อเวลา 12.20 น. อยู่ระหว่างการเปิดให้สมาชิกอภิปรายกรณีคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี เบื้องต้น นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกเสนอชื่อในสภา คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 98 (12) คือยกเว้นข้าราชการการเมือง แต่ (15) ไม่ได้รับการยกเว้น พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าดูตามปกติแล้ว ดูตามทั่วไปแล้ว ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแน่นอน เพราะว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เวลาแต่งตั้งมีพระบรมราชโองการ รับเงินเดือนประจำ เงินเดือนที่รับจากงบประมาณของรัฐ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเงินเดือน มี พ.ร.ฎ. ออกเป็นข้าราชการ กระทำการเจ้าหน้าที่รัฐ เฉพาะข้อจำกัดธรรมดาเหล่านี้ ก็เป็นพนักงานของรัฐอื่น เหมือนองค์กรอิสระทั้งหลาย มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล จากภาษีของประชาชน
นายขจิตร กล่าวอีกว่า ดังนั้นตามคุณสมบัติตามมาตรา 98 (15) ผิดชัดเจน ไม่ได้ผิดโดยความเห็น หรือความคิดของตน ศาลชั้นต้น นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้ยื่นฟ้องไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของหัวหน้า คสช. ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นายสมบัติ ต้องไปรายงานตัว เพราะเป็นประกาศอำนาจรัฐ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเหมือนกัน เพราะคนสั่งใช้อำนาจรัฐ ศาลฎีกา พิจารณาทุกอย่าง นายสมบัติ ต้องไปเข้าคุก ต้องถูกอายัดบัญชีตามคำสั่งศาลฎีกา เพราะฉะนั้นถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ และผิดคุณสมบัติหลายข้อ
ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ไม่ติดใจกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคอนาคตใหม่ แต่ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งไม่สามารถให้ความเห็นชอบบุคคลที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะได้รับการพิจารณาจากสภาแห่งนี้เป็นนายกรัฐมนตรี เช่น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ สิ่งที่พวกตน 7 พรรค ปรึกษาหารือเดียวกันคือไม่เห็นชอบที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยเรื่องจริยธรรมเป็นสิ่งที่คาดหวังสำหรับผู้มาเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในหมวดอุดมการณ์ของจริยธรรมเขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ยึดถือผลประโยชน์ประเทศชาติเหนือผลประโยชน์ตน
“แต่ 5 ปีที่ผ่านมา ประจักษ์กับสายตาของท่านประธานเอง สมาชิกได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ร้ายแรงที่สุดคือ บุคคลที่ไม่ได้ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อาศัยอำนาจจากการยึดอำนาจ บริหารประเทศชาติบ้านเมือง มีโอกาสเสนอตัวเองมาเป็นนายกฯในระบอบประชาธิปไตย แค่เห็นว่า มาจากการยึดอำนาจไปจากประชาชน เข้ามาปกครองบริหารบ้านเมือง ทำเรื่องทำราวต่าง ๆ ไว้พร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกติกา ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อได้ และผันตัวเองมาเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ เลยบัญญัติไว้ในอุดมการณ์ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกฯได้” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า นอกจากไม่เลื่อมใสไม่ศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขบิดเบี้ยวไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น มีการออกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้อยู่ในขณะนี้ ผลพวงทั้งหลายในขณะนี้ ก็คือความบิดเบี้ยว ความบิดเบือนของกติการัฐธรรมนูญ ไม่ยึดมั่น ไม่ศรัทธาไม่เท่าไหร่ แต่มีผล มีอิทธิพลให้รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสำคัญ เป็นเสาหลักของประเทศ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีความยุ่งยากลำบาก ประชาชนเดือดร้อน
“โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบกันหมด เพื่อไทยเราเคยมี 265 ที่นั่ง คาดการณ์อย่างไรก็น่าจะเหลือ 230 เสียง สู้กันเต็มที่ แต่พรรคท่านประธานลดไป 100 พรรคเพื่อไทยลดไป 100 แถมไม่มีบัญชีรายชื่อที่จะได้รับเข้ามาแม้แต่คนเดียว นี่คือกติกาที่บิดเบี้ยว การไม่ยึดมั่นในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลไกกติกาอย่างนี้ เราเลยได้สภามาลักษณะนี้ หลายคนน่าเห็นใจ เป็นผู้แทนได้ 2-3 วัน ก็ถูกปลด ด้วยเงื่อนไขว่าเศษของท่านแพ้คนอื่น ไม่ก้าวล่วงพรรคใหญ่หรือเล็ก แต่เราเองโดนกระทำจากรัฐธรรมนูญ นี่มันฟ้องว่า จริยธรรมที่เป็นอุดมการณ์ ไม่มีอยู่ในตัวท่านเลย เพียงแค่ต้องการเป็นนายกฯ สืบทอดอำนาจ ต้องทำสิ่งที่ทำไว้ต่อไป แล้วอ้างประโยชน์พี่น้องประชาชน” นพ.ชลน่าน กล่าว
ขณะที่นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ลงมติตรงข้ามกับคำพิพากษาศาลฎีกา อาจเป็นความขัดแย้งระหว่างสององค์กรหรือไม่ อีกประเด็นศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานคำจำกัดความของเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐไว้ 4 ประการ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ใน 4 ประการนั้นทุกข้อ ตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย ได้รับเงินเดือน ปฏิบัติหน้าที่ประจำ และอยู่ในกำกับการดูแลของรัฐ ที่สำคัญขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่รัฎฐาธิปัตย์แล้ว เพราะมีรัฐธรรมนูญ จะอ้างมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของการนิรโทษกรรม แต่นิรโทษการกระทำของ คสช. ในเรื่องการกระทำ แต่ไม่ได้นิรโทษคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแยกประเด็นตรงนี้ให้ชัด ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี
(นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายว่า "รักพี่เสียดายน้อง อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ และนายธนาธร เป็นนายกฯทั้ง 2 คน")
@พปชร.ยกคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน-ศาล รธน.สวน
ด้านนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า วันนี้เป็นสภาผู้แทนราษฎร เพราะว่า คสช. อนุญาตให้มีการเลือกตั้ง ต้องถือว่าท่านหันมาสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่วันที่ท่านพูดถึง 5 ปีที่แล้ว สถานการณ์ไม่ใช่เป็นอย่างนี้ สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการอย่างนั้น อีกฝ่ายไม่ได้ดังใจ ออกมาประท้วงกันบนถนนเต็มไปหมด โอกาสเกิดสงครามกลางเมืองมีสูงมาก จึงมีบุคคลคณะหนึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ กล้าหาญเข้ามาแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมือง ให้เกิดความสงบขึ้น เมื่อเกิดความสงบแล้ว จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 แม้ว่าตนไม่ได้ชอบไปเสียทุกมาตรา และลงมติไม่รับด้วย แต่ต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศ ที่เขารับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องยอมรับว่า ถึงแม้ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย 100% แต่ 80-90% ก็ยังดีกว่า
“วันนี้บ้านเมือง 5 ปีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีใครเลยบอกถึงความทุกข์ยากของประชาชน ชาวนาบ้านผมขายข้าวได้ 6 พันกว่าบาท จะอดตายอยู่แล้ว ชาวไร่ขายอ้อยได้ตันหนึ่ง 600 กว่าบาท จะอดตายอยู่แล้วครับ มีใครบ้าง เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎร วันนี้เมื่อมีสภา มีโอกาสได้นำความทุกข์ยากของประชาชนมาบอกกล่าวกับท่านประธาน และเพื่อให้ส่งไปยังรัฐบาลได้ทำการแก้ไข ต้องยอมรับว่า ประชาชนรอนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ รอนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ นอกเหนือจากที่ท่านทำให้บ้านเมืองมีความสงบเป็นปึกแผ่น ไม่แบ่งแยก แบ่งสี แบ่งฝ่าย ท่านก็ยังเห็นชอบกับนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ” นายวีระกร กล่าว
นายวีระกร กล่าวอีกว่า การที่พรรคเพื่อไทยอ้างว่า เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (12) (15) โดย (12) ได้รับการยกเว้นเป็นข้าราชการการเมือง แต่ (15) เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น มีการวินิจฉัยโดยผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติไม่ให้ความเห็นชอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ได้อ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยไว้ชัดเจนถึงคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐว่า แม้กินเงินเดือนรัฐ แต่ไม่เข้าข่ายได้รับการเลือกตั้งตามกฎหมาย การปฏิบัติงานเป็นประจำ และไม่เข้าข่ายในบังคับบัญชากำกับดูแลของรัฐ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงน่าถือเป็นที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญให้สิทธิกับผู้ที่ต้องการสมัคร มองเห็นถึงสิทธิ มากกว่ามาบังคับว่า คนนั้นคนนี้ทำนี่ไม่ได้
“ข้อที่เพื่อนสมาชิกข้องใจ ในข้อกฎหมาย 98 (15) เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ น่าจะเป็นอันตกไป น่าจะเป็นข้อยุติ เพราะศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญขอให้ถือเป็นที่สุด” นายวีระกร กล่าว
น.ส.กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ เสียสละ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการทำหน้าที่นายกฯ เพื่อแก้ปัญหาในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ เห็นได้ว่า 4 ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับประเทศไทย ท่านเป็นผู้มากอบกู้สถานการณ์ ความขัดแย้งของประเทศไทย
“มาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ หยุดสร้างความขัดแย้ง วาทกรรม สืบทอดอำนาจ และเผด็จการ ทุกท่านมีเกียรติในสภา ความก้าวข้ามวาทกรรมแบบนี้ได้แล้ว” น.ส.กรณิศ กล่าว
(น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายตอนหนึ่งถึงกรณีบางพรรคแถลงข่าวเรื่องซื้อตัวงูเห่าว่า "ไม่มีงูเห่าค่ะ มีแต่เด็กเลี้ยงแกะ")
@เถียงกันเรื่องให้แคนดิเดตนายกฯแสดงวิสัยทัศน์ ท้ายสุด อนค.ยอมถอย ถอนญัตติออก
ภายหลังการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี กลุ่ม ส.ส.เพื่อไทย หลายราย ประท้วงขอให้ผู้รับรองเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำแบบเปิดเผย ไม่ใช่แบบการยกมือ ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อบังคับ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.เพื่อไทย ระบุว่า ขอให้การรับรองเมื่อสมาชิกยกมือนั้น ให้เจ้าหน้าที่สภาบันทึกชื่อผู้ยกมือรับรองด้วย อย่างไรก็ดีนายชวน หลีกภัย ได้วินิจฉัยว่า หากเป็นห้องประชุมรัฐสภาตามปกติ จะใช้วิธีการกดปุ่มรับรอง มีการบันทึกไว้ แต่ห้องประชุมขณะนี้ไม่เอื้ออำนวย จึงใช้วิธียกมือแทนโดยอนุโลม
นอกจากนี้ นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ขอให้วินิจฉัยบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุมรัฐสภา และเสนอญัตติในที่ประชุม นายชวน วินิจฉัยว่า จะแสดง หรือไม่แสดงวิสัยทัศน์ เป็นสิทธิของบุคคลนั้น ถ้าที่ประชุมต้องการ ต้องขอมติจากที่ประชุม สมมติถ้าทุกคนเห็นด้วยก็ไม่ต้องขอมติ ถ้ามีผู้ไม่เห็นด้วยต้องขอมติ แต่เรียนว่าที่พยายามทำให้พวกเราไม่ต้องลงมติ เพื่อประหยัดเวลาในการทำงาน บางเรื่องเราเห็นอยู่แล้วว่าผลเป็นอย่างไร ในอดีตที่ผ่านมาเราก็ไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์ แต่เที่ยวนี้อยากให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ ถ้าลงมติไป ตัวผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 2 ราย ไม่อยู่ในห้องประชุม คนอื่นจะแสดงวิสัยทัศน์แทนก็ทำไม่ได้ นี่ก็รู้กันอยู่ เพราะฉะนั้นสมาชิกลองทบทวนดูว่าสมควรหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องลงมติ ถ้าลงมติไปแล้วก็จบ จบก็ลงมติเรื่องอื่นต่อไป ขอให้สมาชิกให้ความเห็น
น.ส.ภาดา วรกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ขออนุญาตขอเสนอญัตติ ให้ไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์ เนื่องจากอันดับที่ 1 ที่ผ่านมามีนายกฯมาแล้ว 29 คน วันนี้มีนายกฯคนที่ 30 ที่ผ่านมาไม่มีนายกฯท่านใดแสดงวิสัยทัศน์ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดที่ผ่านมา ไม่มีข้อไหนบอกว่า คนจะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะต้องแสดงวิสัยทัศน์ ไม่มีข้อบังคับที่บอกเลยว่า นายกฯต้องแสดงวิสัยทัศน์ อย่างที่ทราบว่า พรรคพลังประชารัฐ เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนที่เลือกเรา และดูอยู่ทางบ้าน กำลังรออยากได้นายกฯคนใหม่ ไม่อยากให้เสียเวลา อยากให้ประธานสภาฯ ดำเนินการตามวาระถัดไปคือเลือกโหวตนายกฯ
ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ขอเรียนอภิปรายต่อเนื่องจากการหารือกัน และอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี สมควรจะได้แสดงวิสัยทัศน์ในรัฐสภาหรือไม่ มีหลายท่านพูดเรื่องเสียเวลา และความกังวลของประธานสภาฯ ขอเสนอว่าความเสียเวลาย่อมไม่เกิดขึ้น ประธานบอกเองแต่แรกว่า แสดงวิสัยทัศน์บอกว่า ทำได้ ไม่มีข้อบังคับห้ามไว้ นอกจากนี้การควบคุมเวลา เป็นหน้าที่ของประธานสภาฯในที่ประชุม เชื่อว่าควบคุมให้ถูกใช้ได้อย่างเหมาะสม ประชาชนชาวไทย ไม่ใช่เพื่อนสมาชิกที่อยู่ที่นี่ ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ต่างเฝ้ารอที่จะเห็นการโหวตเลือกนายกฯในครั้งนี้ เฝ้ารอนายกฯจากการเลือกตั้งกว่า 5 ปีแล้ว อีกเพียง 1-2 วัน เชื่อว่า ต้องการแสดงการเห็นวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตทั้ง 2 ฝ่าย
หลังจากนั้นนายชวน ระบุว่า พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการลงมติที่ไม่จำเป็น แต่เมื่อสมาชิกยืนยันก็ต้องมีการลงมติ อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมานายจิรวัฒน์ ได้ขอถอนญัตติดังกล่าว ทำให้ไม่ต้องลงมติ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/