จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ : 5 ปัจจัย 'ประชาธิปัตย์' ร่วมรบ.พปชร. -หนุน 'ประยุทธ์' เป็นนายกฯ
"...เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาล จึงได้มีมติเห็นควรสนับสนุนตามมติของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย เช่นเดียวกันที่พรรคพลังประชารัฐได้เคยมีมติสนับสนุน ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ในช่วงค่ำวันที่ 4 มิ.ย.2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งเพื่อลงมติเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 61 เสียง กับ 16 เสียงไม่ร่วม งดออกเสียง 2 เสียง และบัตรเสีย 1 ใบ (อ่านประกอบ : ปชป.มติข้างมาก 61 เสียงตั้ง รบ.กับ พปชร.- 'อภิสิทธิ์'เผยรู้พรุ่งนี้ปมโหวตนายกฯ)
---------------------
นายจุรินทร์ กล่าวว่า "สืบเนื่องจากที่พรรคพลังประชารัฐได้มาเทียบเชิญให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ในวันนี้ (4 มิ.ย.2562) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ได้รายงานต่อที่ประชุมว่าการประสานงานกับทางพรรคพลังประชารัฐนั้นเสร็จสิ้นเป็นข้อยุติแล้ว โดยพรรคพลังประชารัฐได้ตอบรับต่อเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 3 ข้อ คือ
1.นโยบายแก้จน สร้างชาติ โดยเฉพาะนโยบายการประกันรายได้เกษตรกร ได้รับการตอบรับให้เป็นนโยบายของรัฐบาล
2.ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศก้าวหน้าไปสู่การมีประชาธิปไตยมากขึ้น
3.การบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปโดยซื่อสัตย์สุจริต ก็ได้รับการตอบรับเช่นกัน
โดยพรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งให้ทราบว่าถ้าผิดไปจากเงื่อนไขดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์ก็จะสงวนสิทธิในการพิจารณาในอนาคตได้
ทั้งนี้ จากการพิจารณาของที่ประชุมพรรคฯ ในวันนี้ ได้มีการนำหลายปัจจัยมาพิจารณาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุดมการณ์ของพรรค ในเรื่องการแสดงท่าทีของอดีตหัวหน้าพรรคที่ได้ประกาศไปในช่วงระยะเวลาการหาเสียง รวมทั้งพิจารณาถึงความต้องการของประชาชนผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับนโยบายที่พรรคได้หาเสียงไว้ในช่วงระยะเวลาของการรณรงค์ว่าจะสามารถทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างจริงจังได้อย่างไร
นอกจากนั้นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่นำมาประกอบการพิจารณาก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ตระหนักดีว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประชาชนได้ตัดสินผลการเลือกตั้งให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 53 ท่าน ซึ่งวันนี้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นขนาดกลาง เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าย่อมมีข้อจำกัดบางประการที่ไม่อาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถที่จะบรรลุความประสงค์ของพรรคฯ ได้ทุกอย่าง
การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่ว่าจะไปทางไหนก็มีเสียงทั้งทางบวกและลบกลับมาอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงต้องยึดประโยชน์ของประเทศมากกว่าประโยชน์ของพรรคเพื่อให้
1.ประเทศสามารถหลุดพ้นจากความไม่แน่นอนในทางการเมืองได้
2.ให้ประเทศสามารถที่จะมีรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้
3.ให้ประเทศมีการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้อง ปัญหาชาวสวนยางพารา เพื่อให้มีหลักประกันรายได้ให้นำไปสู่การปฏิบัติได้
4. การจัดตั้งรัฐบาลให้เกิดขึ้นโดยเร็วนั้นจะทำให้เป็นการปิดสวิตช์ คสช. เพราะว่า คสช.จะหมดอำนาจก็เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ
และ 5. เงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเสนอเงื่อนไขของการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนั้น นั่นก็คือการสะท้อนให้เห็นว่าเราประสงค์ที่จะให้ประเทศได้เดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และประสงค์จะให้มีการปลดล็อคหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากยิ่ง และเกือบจะเรียกว่าทำไม่ได้เลย ถ้าสามารถคลี่คลายประเด็นนี้ได้ ให้อนาคตเราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกติกาปกติ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้ก่อน ก็เสมือนกับเป็นการป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้พิจารณาถึงประเด็นแวดล้อมทั้งหมดแล้ว พรรคฯ จึงได้มีมติตอบรับคำเชิญเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และโดยเหตุผลที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลนี้มีมติเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาล จึงได้มีมติเห็นควรสนับสนุนตามมติของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย เช่นเดียวกันที่พรรคพลังประชารัฐได้เคยมีมติสนับสนุน ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้
ทั้งหมดนี้คือประเด็นสำคัญๆ ที่ขออนุญาตเรียนให้ทุกท่านได้รับทราบ"
เมื่อสื่อมวลชนถึงประเด็นความอยู่รอดของรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐที่อาจจะมีปัญหาทั้งในประเด็นการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ รวมไปถึงการที่กลุ่มสามมิตรนั้นอาจจะเสียผลประโยชน์ได้จากการที่พรรคพลังประชารัฐรับเงื่อนไขของทางพรรคประชาธิปัตย์
นายจุรินทร์ ตอบว่า "ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่ทางพรรคพลังประชารัฐจะต้องไปตกลงกันเองในกลุ่มเขา"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/