ข้อโต้แย้งการคำนวณ ส.ส. ของ กกต.
"...13. อันที่จริง ความเห็นของผมกับของ กกต. แตกต่างกันตั้งแต่การตีความ ม. 128 (1) ซึ่งเขียนว่า “ในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตำแหน่ง” กกต. เลยอ้างว่าการคำนวณ ส.ส. บ/ช พึงมีให้รวมเศษทศนิยมไปด้วยเลย แต่ผมตีความว่า ในกรณีที่ต้องการจำนวนเต็ม ก็ใช้จำนวนเต็มที่ไม่มีเศษได้ เช่น ในกรณีของ ม. 128 (4) ที่เขียนว่า “โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม (3) เป็นจํานวนเต็มก่อน” หรือในกรณีของ ม. 128 (6) ที่เขียนว่า “ค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคน” ซึ่งในการหาค่าเฉลี่ยนั้น ก็ต้องเอา ส.ส. พึงมีที่เป็นจำนวนเต็มที่มีหน่วยเป็นคนไปหาร หรือในกรณีของ ม. 128 (7) ที่เขียนว่า “จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบ” ย่อมหมายถึงจำนวนเต็มซึ่งขอแทนด้วยสัญลักษณ์ X ที่มีหน่วยเป็นคน ไม่ใช่เศษส่วนของคน เพราะสมการที่ใช้หาตัวคูณนี้คือ 150 คน ÷ (150 คน + X) และด้วยเหตุที่ทุกเทอมในสมการเดียวกันพึงมีหน่วยเดียวกัน X จึงควรมีหน่วยเป็นคน อนึ่ง กรณีเป็นการหาตัวคูณเพื่อนำไปปรับอัตราส่วน จึงไม่เกี่ยวข้องกับการมีเศษมากหรือน้อยของบรรดาพรรคการเมือง ดังนั้น ขอตีความว่า เราใช้เศษทศนิยมสี่ตำแหน่งเพื่อการคำนวณระหว่างทาง เช่น เพื่อการปัดเศษ เป็นต้น..."
ผมได้มีโอกาสอ่านเอกสาร “หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ” ของ กกต. และขอถือโอกาสนี้ไล่เรียงหลักเกณฑ์ดังกล่าวโดยสังเขปพร้อมทั้งเสนอข้อโต้แย้งดังนี้
1. ในหลักเกณฑ์ดังกล่าว กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งใน 349 เขต และรวมคะแนนจาก 74 พรรคการเมืองได้ 35,441,920 คะแนน
2. เนื่องจากประกาศผลไม่ครบ 350 เขต กกต. จึงใช้มาราตรา 129 ของ พรป. การเลือกตั้งเพื่อคำนวณว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งเพียง 498 คน ประกอบด้วย ส.ส. เขต 349 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อหรือ ส.ส. บ/ช 149 คน
3. จากนั้น กกต. ก็เริ่มใช้มาตรา 128 ของ พรป. ดังกล่าวเพื่อคำนวณ ส.ส. โดยเริ่มจาก ม. 128 (1) เพื่อคำนวณโควต้า (จำนวนคะแนนต่อ ส.ส. หนึ่งคน) เท่ากับ 35 ล้านเศษหารด้วย 498 คน ได้ 71,118 คะแนน สังเกตว่ากฎหมายให้หารด้วย 500 คน โดยมาตรา 129 (3) ยกเว้นให้ใช้ 149 คน แทน 150 คน ในกรณีการใช้ ม. 128 (7) เท่านั้น
4. อย่างไรก็ดี มาถึงวันที่เขียนบทความนี้ กกต.ได้ประกาศผลการเลือกตั้งครบทั้ง 350 เขตแล้ว และมี ส.ส. บ/ช ที่จะต้องจัดสรรเท่ากับ 150 คน
5. การเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมือง 16 พรรคที่มีคะแนนมากกว่าโควต้า หมายความว่า เมื่อทำตาม ม. 128 (2) คือเอาคะแนนของแต่ละพรรคหารด้วยโควต้าจะได้ ส.ส. พึงมี และมีเพียงพรรคการเมือง 16 พรรคที่มี ส.ส. พึงมีเป็นจำนวนเต็ม ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป รวม 16 พรรค และมี ส.ส. พึงมีเบื้องต้นเท่ากับ 476 คน ส่วนพรรคที่ 17 ถึงพรรคที่ 74 มีผลการหารด้วยโควต้าเป็นเศษทศนิยม เมื่อรวมเศษทศนิยมของทั้ง 74 พรรค จะเท่ากับจำนวนที่ขาดหายไประหว่าง 500 คน กับ 476 คน กล่าวอีกนัยหนึ่ง
เศษทศนิยมของทั้ง 74 พรรค = 500 – 476 = 24 (1)
ผมสงสัยว่าผลรวมของเศษทศนิยมจะมีหน่วยนับเป็นคนได้อย่างไร จึงไม่ใส่หน่วยในสมการ (1)
6. ม. 128 (3) ให้คำนวณ ส.ส. บ/ช ของพรรคหนึ่งพรรคใดดังนี้
ส.ส. บ/ช พึงมี = ส.ส. พึงมี – ส.ส. เขต (2)
สมการ (2) ใช้ได้เมื่อไม่มีพรรคใดได้ ส.ส. เขตมากกว่า ส.ส. พึงมี เรียกว่าไม่มี overhang ถ้าไม่มี overhang เมื่อใช้สมการ (2) คำนวณ ส.ส. พึงมีของทุกพรรค จะได้
ส.ส. บ/ช พึงมี = 476 – 350 = 126 คน (3)
กรณีสมมุติที่ไม่มี overhang เป็นกรณีที่มี ส.ส. บ/ชที่ขาดอยู่ เท่ากับ 24 คน (ซึ่งตรงกับตัวเลขรวมของเศษทศนิยมตามสมการ (1) นั่นเอง) ในกรณีไม่มี overhang ม. 128 (4) ให้พรรคการเมืองที่ผลหารของคะแนนด้วยโควต้าเป็นจํานวนเต็มได้รับการจัดสรรก่อน (ได้ 126 คนตามสมการ (3)) แล้วให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรร ส.ส. บ/ช เพิ่มอีกหนึ่งคน จนครบ 150 คน เราเรียกวิธีนี้ว่าการปัดเศษขึ้นนั่นเอง
7. กรณีมี overhang จากสมการ (2) พรรคใดที่มี overhang จะได้ ส.ส. บ/ช เป็นลบ ม. 128 (5) จึงบัญญัติให้พรรคนั้นมี ส.ส. บ/ช เป็นศูนย์ สำหรับพรรคที่มี overhang สมการ (2) เปลี่ยนมาเป็น
ส.ส. บ/ช พึงมี = ส.ส. พึงมี – ส.ส. เขต + overhang ของพรรค (4)
เมื่อใช้สมการ (3) และ (4) คำนวณ ส.ส. บ/ช พึงมีของทุกพรรคจะได้
ส.ส. บ/ช พึงมีรวม = 476 - 350 + overhang รวม = 126 + overhang รวม (คน) (5)
8. ม. 128 (6) บัญญัติอย่างชัดเจนว่า ในการจัดสรรตาม (5) แล้วปรากฏว่าจำนวน ส.ส. บ/ช ไม่ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้ดำเนินตาม ม. 128 (6) ส่วน ม. 128 (7) บัญญัติในลักษณะคู่ประกอบว่า เมื่อคํานวณตาม (5) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจํานวน ส.ส. บ/ช รวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้ดำเนินตาม ม. 128 (7) จึงต้องแสดงให้เห็นว่า กรณีปัจจุบัน เป็นกรณี ส.ส. บ/ช พึงมีไม่ครบ หรือเกิน 150 คนกันแน่ โดยพิจารณาตาม ม. 128 (5) ก่อน แล้วจึงตัดสินใจว่าจะใช้ ม. 128 (6) หรือ ม. 128 (7)
9. แต่ กกต. สรุปเอาเองว่า ให้เอาเศษทศนิยมทั้งหมดไปบวกกับ ส.ส.บ/ช พึงมีรวม สมการ (5) จึงเปลี่ยนมาเป็น
ส.ส. บ/ช พึงมีรวม = 126 + overhang รวม + 24 = 150 + overhang รวม (คน) (6)
จากนั้น กกต.ก็สรุปต่อไปว่า มี ส.ส. พึงมีรวมแล้วเกินกว่า 150 คน และให้ใช้ ม. 128 (7)
10. การตีความเช่นนี้ของ กกต. เป็นเรื่องประหลาด คือกรณีสมมุติว่าไม่มี overhang สรุปตาม ม.128 (4) ว่า ส.ส. บ/ช พึงมีเท่ากับ 126 คน ตาม สมการ (3) จึงเป็นกรณี ส.ส. บ/ช ขาดอยู่ 24 คน แต่ถ้าสมมุติว่ามี overhang ไม่ว่าจะเป็นเพียง 1 คนหรือกี่คนก็จะกลายเป็นกรณี ส.ส. บ/ช เกินอยู่เท่ากับ overhang คน ทันที ตามสมการ (6)
11. ผมจึงขอตีความให้ใช้สมการ (5) โดยไม่ใช้สมการ (6) ของ กกต. ทั้งนี้ เพื่อให้ จำนวน ส.ส. บ/ช ที่ขาดอยู่เป็นฟังก์ชันต่อเนื่องเมื่อแปร overhang ไป จนกระทั่ง ส.ส. บ/ช ที่ขาดอยู่ลดลงเป็น 0 คน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นกรณี ส.ส. บ/ช เกิน กล่าวคือ ถ้าสมมุติว่ามี overhang 1 คน สมการ (5) ระบุว่าเป็นกรณี ส.ส. บ/ช พึงมีเท่ากับ 127 คน จึงต้องใช้ ม. 128 (6) เพื่อปัดเศษขึ้นอีก 23 คน จึงจะได้ 150 คน ถ้าสมมุติมี overhang 24 คน สมการ (5) ระบุว่า ส.ส. บ/ช พึงมีเท่ากับ 150 คนพอดี กรณีนี้อยู่ระหว่างการมี ส.ส. บ/ช ขาดกับการมี ส.ส. บ/ช เกิน เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้การปัดเศษขึ้นของ ม.128 (6) หรือใช้บัญญัติไตรยางค์เพื่อทอน ส.ส บ/ชที่เกินให้ลดลงเป็น 150 คน เมื่ออยู่ในกรณีพอดี ก็จัดสรร ส.ส. บ/ช จากจำนวนเต็มได้เลย
12. กรณีการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อ กกต. ให้ใบส้มแก่ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยที่เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยจึงมี ส.ส. เขต 136 คน ส่วน ส.ส. พึงมี คือ 111 คน (ไม่แน่ใจว่าจะถูกพิษใบส้มทำให้ ส.ส. พึงมี ลดลงเหลือ 110 คนหรือเปล่า) สรุปก็คือ กรณีมี overhang = 136 – 111 = 25 คน จากสมการ (5) คำนวณได้ว่า ส.ส. บ/ช พึงมี คือ 151 คน เป็นกรณีเกินไป 1 คน สิ่งที่ กกต. ทำคือเอาเศษทศนิยมทั้งหมด (เท่ากับ 24 ตามสมการ (1)) มาคิด แล้วอ้างว่ามี ส.ส. บ/ช พึงมี ตามสมการ (6) เท่ากับ 174 คน (น่าแปลกที่เอาเศษทศนิยมมาบวกกันเป็นหน่วย “คน” ได้) กกต. อ้างว่าเกินไป 24 คน จึงต้องใช้บัญญัติไตรยางค์ตาม ม. 128 (7) โดยการคูณด้วย 150 ÷ 174 เพื่อทำให้จำนวน ส.ส. บ/ช ลดจาก 174 คน ให้เหลือ 150 คน โดยใน 150 คนที่เหลือนี้ หากพิจารณาแต่จำนวนเต็ม จะได้ ส.ส. บ/ช ประมาณ 150 – 24 = 126 คน ทั้งนี้ กกต. คิดแบบพิศดารที่ทำให้ ส.ส. บ/ช ที่เกินไป เพียง 1 คน กลายเป็นขาดไป 24 คน ที่ถูกต้องนั้น ให้พิจารณาจากจำนวนเต็มก่อน คือมี ส.ส. พึงมี 151 คน แล้วใช้บัญญัติไตรยางค์ โดยการคูณด้วย 150 ÷ 151 เพื่อทำให้จำนวน ส.ส. บ/ช ลดจาก 151 คนให้เหลือ 150 คน
13. อันที่จริง ความเห็นของผมกับของ กกต. แตกต่างกันตั้งแต่การตีความ ม. 128 (1) ซึ่งเขียนว่า “ในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตำแหน่ง” กกต. เลยอ้างว่าการคำนวณ ส.ส. บ/ช พึงมีให้รวมเศษทศนิยมไปด้วยเลย แต่ผมตีความว่า ในกรณีที่ต้องการจำนวนเต็ม ก็ใช้จำนวนเต็มที่ไม่มีเศษได้ เช่น ในกรณีของ ม. 128 (4) ที่เขียนว่า “โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม (3) เป็นจํานวนเต็มก่อน” หรือในกรณีของ ม. 128 (6) ที่เขียนว่า “ค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคน” ซึ่งในการหาค่าเฉลี่ยนั้น ก็ต้องเอา ส.ส. พึงมีที่เป็นจำนวนเต็มที่มีหน่วยเป็นคนไปหาร หรือในกรณีของ ม. 128 (7) ที่เขียนว่า “จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบ” ย่อมหมายถึงจำนวนเต็มซึ่งขอแทนด้วยสัญลักษณ์ X ที่มีหน่วยเป็นคน ไม่ใช่เศษส่วนของคน เพราะสมการที่ใช้หาตัวคูณนี้คือ 150 คน ÷ (150 คน + X) และด้วยเหตุที่ทุกเทอมในสมการเดียวกันพึงมีหน่วยเดียวกัน X จึงควรมีหน่วยเป็นคน อนึ่ง กรณีเป็นการหาตัวคูณเพื่อนำไปปรับอัตราส่วน จึงไม่เกี่ยวข้องกับการมีเศษมากหรือน้อยของบรรดาพรรคการเมือง ดังนั้น ขอตีความว่า เราใช้เศษทศนิยมสี่ตำแหน่งเพื่อการคำนวณระหว่างทาง เช่น เพื่อการปัดเศษ เป็นต้น
14. เมื่อคำนวณมาถึง ม. 128 (3) กกต. ก็เลิกทำการคำนวณตามลำดับของ (4), (5), (6), และ (7) อันที่จริง กกต. ควรพิจารณาให้หลักเกณฑ์ที่ใช้นั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้ได้เป็นการทั่วไป ไม่ว่าจะมี overhang หรือไม่ หรือมี overhang เท่าไรก็ตาม กกต.จึงพึงเริ่มจาก ม. 128 (4) คือสมมุติว่าไม่มี overhang ก่อน (เช่น สมมุติว่า พรรคเพื่อไทยมี ส.ส. เขต เท่ากับ ส.ส. พึงมี หรือ 111 คนพอดี) ก็จะพบว่า ส.ส. บ/ช พึงมี (คิดจำนวนเต็มตามที่ ม. 128 (4) บัญญัติ) ตามสมการ (5) มีเพียง 126 คน เป็นกรณีขาด ส.ส. ที่จะต้องจัดสรรเพิ่ม 24 คน หากคราวนี้ กกต. ลองสมมุติว่ามี overhang เท่ากับ 1 คน ถ้าดูจากจำนวนเต็มต่อเนื่องจากการใช้ ม. 128 (4) จะพบจากสมการ (5) ว่าเป็นกรณี ส.ส. บ/ช พึงมีขาด แต่ กกต. เลือกใช้สมการ (6) แล้วอ้างว่า ส.ส. บ/ช พึงมีเกินอยู่ 1 คน หลักเกณฑ์ที่ใช้นี้มีการกระโดด คือ จำนวนส.ส. ที่จะต้องจัดสรรกระโดดจากกรณีขาดไป 24 คน (ไม่มี overhang) เป็นกรณี เกินไป 1 คน ในทันทีที่ overhang เปลี่ยนจาก 0 คน เป็น 1 คน
15. กกต. จึงกระโดดข้าม ม. 128 (6) ไปใช้ ม. 128 (7) ทันที โดยอ้างว่าไม่ว่าจะมี overhang เท่าไร ก็เป็นกรณีมี ส.ส. บ/ช เกินกว่า 150 คน (ตามสมการ (6)) เสมอ กกต. อ้างว่าสามารถละเลย ม. 128 (6) ได้โดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ตามเจตนารมณ์ที่จะ “ไม่ให้มีคะแนนตกน้ำ” จึงต้องใช้ทุกเศษส่วน อย่างไรก็ดี หากผู้ร่างกฎหมายมี “เจตนารมณ์” ที่จะใช้หลักเกณฑ์เช่นนี้ ก็อาจเขียน ม. 128 (5), (6), (7) รวมเป็นมาตราเดียวให้สอดคล้องกับ สมการ (6) ในทำนองที่ขอทดลองเสนอดังนี้ “มาตรา 128 (5) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง สูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และให้ถือว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพึงมีของทุกพรรคเท่ากับ 150 คนบวกกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่สูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ตาม (2) รวมกันทุกพรรค แล้วให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อยห้าสิบ หารด้วยผลบวกของหนึ่งร้อยห้าสิบกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่สูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ตาม (2) รวมกันทุกพรรค และให้นํา (4) มาใช้ในการคํานวณด้วยโดยอนุโลม” แต่กฎหมายปัจจุบันไม่ได้เขียนตามที่ผมทดลองร่างข้างต้นนี้
16. ผมได้สมมุติให้ overhang เป็นตัวแปร เช่น จาก 0 ไปถึง 30 คน จำนวน ส.ส. บ/ช ที่จะต้องจัดสรรคำนวณได้จาก สมการ (5) ดังนี้
จำนวน ส.ส. บ/ช ที่จะต้องจัดสรรเพิ่ม (กรณีที่ขาด) = 150 – (126 + overhang) = 24 – overhang (คน) (7)
จำนวน ส.ส. บ/ช ที่จะต้องจัดสรรให้ลดลง (กรณีที่เกิน) = (126 + overhang) – 150 = overhang - 24 (คน) (8)
กรณี overhang เป็น 0 คนเป็นกรณี ส.ส. บ/ช ขาดอยู่ 24 คน ผลการคำนวณโดยใช้ ม. 128 (4) พบว่า จำนวนพรรคที่มี ส.ส. เท่ากับ 28 พรรค เมื่อ overhang เป็น 1 คน เป็นกรณี ส.ส. บ/ช ขาดอยู่ 23 คน ผลการคำนวณโดยใช้ ม. 128 (6) พบว่าจำนวนพรรคที่มี ส.ส. เท่ากับ 27 พรรค เมื่อเพิ่ม overhang ขึ้นไปอีก จำนวนพรรคที่มี ส.ส. จะค่อย ๆ ลดลง กรณี overhang เท่ากับ 23 คน เป็นกรณี ส.ส. บ/ช ขาดอยู่ 1 คน จำนวนพรรคที่มี ส.ส. จะเท่ากับ 16 พรรค ถ้าเพิ่ม overhang ไปอีกเป็น 24 คนจะเป็นกรณี ส.ส. บ/ช พอดี (ดูข้อ 10) ซึ่งใช้จำนวนเต็มของ ส.ส. บ/ช พึงมี เป็น ส.ส. บ/ช จัดสรรได้เลย แน่นอนว่า จำนวนพรรคที่มี ส.ส. คือ 16 พรรค ถ้า overhang เท่ากับ 25 คน (ซึ่งเป็นกรณีปัจจุบัน) จะต้องใช้ ม. 128 (7) ในการคำนวณ แน่นอนว่า จำนวนพรรคที่มี ส.ส. จะต้องต่อเนื่องเท่ากับ 16 พรรคโดยไม่มีการกระโดด แต่ถ้าใช้เกณฑ์ของ กกต. จำนวนพรรคที่มี ส.ส. จะเป็น 26 พรรค ข้อแตกต่างนี้มาจากตัวคูณตาม ม. 128 (7) โดย กกต. ใช้ตัวคูณที่ทำให้ ส.ส. บ/ช พึงมีลดจาก 150 + overhang (ตามสมการ (6)) เป็น 150 คน ส่วนผมใช้ตัวคูณที่ทำให้ ส.ส. บ/ช พึงมีลดจาก 126 + overhang (ตามสมการ (5)) เป็น 150 คน ถ้าเพิ่ม overhang ไปเป็น 30 คน จำนวนพรรคที่มี ส.ส. จะยังคงตัวอยู่ที่ 16 พรรค
17. เพื่อนของผมคนหนึ่งอยากชวนผมคุยกันในเรื่องเหล่านี้ โดยให้เหตุผลว่าจะได้เป็นบรรทัดฐานที่ทุกฝ่ายยอมรับต่อไป ผมเองก็เห็นด้วยที่จะคุย เพียงสงสัยอยู่ในใจว่า กกต. ชุดปัจจุบันรวมทั้งคนอื่น ๆ และผมด้วยจะยอมรับหรือ เพราะแต่ละฝ่ายคงยืนยันความคิดของตนเอง แต่ผมเห็นต่างจากเพื่อนคนนั้นที่บอกว่า ขอให้ใช้เกณฑ์ทางรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มาประกอบกับเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ ผมอยากใช้เกณฑ์ทางนิติศาสตร์เป็นหลัก เขียนกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรก็ว่ากันไปตามนั้น ถ้ากฎหมายคลุมเครือหรือผู้มีอำนาจไม่ได้ดังใจก็แก้กฎหมายได้ แต่ถ้าจะใช้หลักรัฐศาสตร์ โดยหักดิบนิติศาสตร์เพื่อเอื้ออำนวยต่อกลุ่มผู้มีอำนาจ ก็ต้องดูว่า การมีพรรค 26 พรรคแทนที่จะเป็น 16 พรรคที่มี ส.ส. นั้น ตามหลักรัฐศาสคร์แล้วเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ใคร ผลการกระทำเช่นนี้ชอบด้วยหลักรัฐศาสาตร์จริงแล้วหรือ