1.8 พันล.! เจาะถุงเงิน อีวาย ก่อน ก.ล.ต. เชือดอดีตพนง.3ราย 'อินไซด์' ข้อมูลลูกค้าเล่นหุ้น
เจาะถุงเงิน บ.สำนักงาน อีวายฯ ผู้สอบบัญชีรายใหญ่ระดับโลกในไทย ก่อน ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง เชือด อดีต พนง. 3ราย 'อินไซด์' ข้อมูลลูกค้าซื้อขายหุ้น พบโชว์รายได้ล่าสุดปี 1,899 ล้าน ส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บ. อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส โชวรายได้สูงไม่แพ้กัน 1.1 พันล.
บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด ผู้ให้บริการรับสอบบัญชีรายใหญ่ระดับโลกในประเทศไทย ที่เพิ่งออกแถลงคำชี้แจงต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ว่า ให้ความร่วมมือในการสอบสวนข้อเท็จจริงกับก.ล.ต. อย่างเต็มที่ ภายหลังจากที่ อดีตผู้ช่วยผู้สอบบัญชี 3 ราย ของสำนักงานฯ ถูก ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งฐานใช้ข้อมูลภายในบริษัทจดทะเบียนไปหาประโยชน์ในเรื่องหุ้นรวม 12 บริษัท ในช่วงปี 2558-2560 นั้น นำส่งข้อมูลงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจล่าสุดใน ช่วงปี 2560 ว่าบริษัทฯ มีรายได้รวมสูง เป็นเงินกว่า 1,899 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 แจ้งทุนปัจจุบัน 8,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 193/136-137 อาคารเลครัชดา ออฟฟิศคอมเพล็กซ์ ชั้น 33 ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจให้บริการด้านบัญชี
ปรากฎชื่อ นาย รุทร เชาวนะกวี นางสาว รุ้งนภา เลิศสุวรรณกุล นาย ศุภชัย ปัญญาวัฒโน นางสาว ศิราภรณ์ เอื้ออนันต์กุล นางสาว รัตนา จาละ นาง สายฝน อินทร์แก้ว นาย วิชาติ โลเกศกระวี นางสาว วราพร ประภาศิริกุล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 4 กรกฎาคม 2561 บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
แจ้งนำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2560 แจ้งว่า มีรายได้รวม 1,899,496,535 บาท รวมรายจ่าย 1,792,180,827 บาท กำไรสุทธิ 45,304,900.00 บาท
สำหรับข้อมูล บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ นั้น แจ้งว่า จดทะเบียนจัดตั้ง 13 ธันวาคม 2532 ทุน 20,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 193/136-137 อาคารเลครัชดา ออฟฟิศคอมเพล็กซ์ ชั้น 33 ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจให้บริการด้านบัญชี
ปรากฎชื่อ นาย ทรงเดช ประดิษฐสมานนท์ นาย รุทร เชาวนะกวี นาง ยุพา วิจิตรไกรสร นาย ณรงค์ พันตาวงษ์ นาย โสภณ เพิ่มศิริวัลลภ นางสาว รุ้งนภา เลิศสุวรรณกุล นางสาว เยาวลักษณ์ ชาติบัญชาชัย นาย ศุภชัย ปัญญาวัฒโน นางสาว วิสสุตา จริยธนากร นางสาว สุมาลี รีวราบัณฑิต นางสาว รัตนา จาละ นาง สายฝน อินทร์แก้ว นางสาว ศิราภรณ์ เอื้ออนันต์กุล นาง นงลักษณ์ พุ่มน้อย นางสาว กมลทิพย์ เลิศวิทย์วรเทพ นาย วิชาติ โลเกศกระวี นางสาว ปิยะนุช นิติเกษตรสุนทร นาย เกษม เกียรติเสรีกุล นางสาว นริศรา พัตนพิบูล นาย เติม เตชะศรินทร์
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 มิถุนายน 2561 บริษัท อีวาย โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด นำส่งข้อมูลงบการเงิน ณ 24 พฤษภาคม 2562 แจ้งว่ามีรายได้รวม 1,123,901,420.00 บาท รวมรายจ่าย 1,025,796,889.00 บาท กำไรสุทธิ 72,743,658.00 บาท
บริษัท อีวาย โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 ทุน 1,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 193/136-137 อาคารเลครัชดา ออฟฟิศคอมเพล็กซ์ ชั้น 33 ถนนรัชดาภิเษกตัดใหม่ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจให้บริการลงทุน
ปรากฎชื่อ นาย ทรงเดช ประดิษฐสมานนท์ นาย รุทร เชาวนะกวี นาย ณรงค์ พันตาวงษ์ นาง ยุพา วิจิตรไกรสร นาย โสภณ เพิ่มศิริวัลลภ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 มิถุนายน 2561 นาย ทรงเดช ประดิษฐสมานนท์ ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งข้อมูลงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2560 แจ้งว่า มีรายได้รวม 153,596,750.00 บาท รวมรายจ่าย 11,609.00 บาท กำไรสุทธิ 153,569,983.00 บาท
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2562 ที่ผ่านมา ก.ล.ต. เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์) และเข้าตรวจสอบเชิงลึกเพิ่มเติม พบการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ผิดปกติของนายวโรตม์ และนางสาวจีรนันท์ อดีตผู้ช่วยผู้สอบบัญชี สังกัด บริษัท อีวาย ซึ่งเกิดจากการเข้าถึงระบบข้อมูลร่างงบการเงิน ที่ผ่านการสอบบัญชีแล้วที่สายงานของนายวโรตม์และนางสาวจีราภรณ์รับผิดชอบ แต่ยังไม่ได้เปิดเผย และนำไปซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวม 12 บริษัท ในช่วงปี 2558-2560 ร่างงบการเงินดังกล่าวส่วนมากแสดงถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันน่าจะเป็นผลให้ราคาหลักทรัพย์สูงขึ้น การใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ นางสาวจีราภรณ์ อดีตผู้ช่วยผู้สอบบัญชี ซึ่งเป็นพี่สาวของนางสาวจีรนันท์ ได้เปิดเผยข้อมูลร่างงบการเงินที่สายงานของตนรับผิดชอบให้แก่นางสาวจีรนันท์ โดยรู้หรือควรรู้ว่าบุคคลดังกล่าวจะนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์
ทั้งนี้ สรุปรายละเอียดการกระทำความผิดได้ ดังนี้
1. ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 นายวโรตม์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้สอบบัญชีระดับผู้จัดการ ได้อาศัยข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ปี 2557 - ไตรมาส 2 ปี 2559 ของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นลูกค้าของบริษัท อีวาย จำนวน 5 บริษัท เข้าซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวในช่วงที่ร่างงบการเงินถูกบันทึกเข้าระบบ และขายหลักทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดภายหลังจากที่บริษัทดังกล่าวได้เปิดเผยงบการเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 241 มีระวางโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิด (พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ก่อนแก้ไขโดยฉบับที่ 5) ซึ่งยังคงเป็นความผิดตามมาตรา 242 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 (พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5) จำนวน 5 กระทง
2. ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 นายวโรตม์และนางสาวจีรนันท์ได้รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ปี 2559 - ไตรมาส 3 ปี 2560 ของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นลูกค้าของบริษัท อีวาย จำนวน 7 บริษัท จากการที่นายวโรตม์มีสิทธิเข้าดูร่างงบการเงินในระบบ และจากการได้รับการเปิดเผยข้อมูลภายในจากนางสาวจีราภรณ์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้สอบบัญชีระดับผู้จัดการอาวุโสของอีกสายงานหนึ่ง โดยนายวโรตม์และนางสาวจีรนันท์ได้ร่วมกันซื้อหลักทรัพย์และเข้าผูกพันในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวในช่วงที่ร่างงบการเงินถูกบันทึกเข้าระบบ และขายหลักทรัพย์และปิดสถานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวทั้งหมดภายหลังจากที่บริษัทดังกล่าวได้เปิดเผยงบการเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(1) และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5 จำนวน 7 กระทง
3. ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 นางสาวจีราภรณ์ได้รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่สายงานของนางสาวจีราภรณ์รับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทาน ซึ่งนางสาวจีราภรณ์มีสิทธิดูร่างงบการเงินของบริษัทดังกล่าวในระบบ และได้เปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวจำนวน 3 บริษัท ให้แก่นางสาวจีรนันท์ โดยรู้หรือควรรู้ว่าบุคคลดังกล่าวจะนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(2) และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5 จำนวน 3 กระทง
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย โดยกำหนดให้
(1) นายวโรตม์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินจำนวน 7,660,441 บาท
(2) นางสาวจีรนันท์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินจำนวน 4,645,951 บาท และ
(3) นางสาวจีราภรณ์ ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินจำนวน 1,530,485 บาท
นอกจากนี้ ค.ม.พ. ได้กำหนดห้ามบุคคลทั้ง 3 ราย เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์กระทงละ 5 ปี อย่างไรก็ดี เมื่อคำนึงถึงระยะเวลาสูงสุดในการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารตามมาตรา 317/4(4) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5 ค.ม.พ. กำหนดระยะเวลาห้ามผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลารายละ 10 ปี
ทั้งนี้ หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง ห้ามเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ตามอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งขอให้ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด
สำหรับในด้านการกำกับดูแลผู้สอบบัญชี ก.ล.ต. จะเก็บพฤติกรรมความผิดดังกล่าวของนายวโรตม์ นางสาวจีรนันท์ และนางสาวจีราภรณ์ ไว้ประกอบการพิจารณาในกรณีที่ผู้กระทำผิดทั้งสามยื่นขอความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีต่อ ก.ล.ต. เป็นเวลา 10 ปี และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ พิจารณากรณีจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต่อไปด้วย
อนึ่ง โดยที่การกระทำผิดของบุคคลทั้ง 3 รายดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีของบริษัท อีวาย ในการรักษาข้อมูลลับของลูกค้า ก.ล.ต. จึงให้บริษัท อีวาย ปรับปรุงระบบดังกล่าวให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้มีหนังสือเวียนให้สำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุนทุกแห่ง ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการจัดให้มีระบบควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความลับของลูกค้า โดย ก.ล.ต. จะติดตามดูแลระบบควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีของสำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุนทุกแห่งอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ และความเป็นธรรมในตลาดทุนต่อไป (อ่านประกอบ :https://www.sec.or.th/TH/Pages/News_Detail.aspx?SECID=7468&NewsNo=60&NewsYear=2562&Lang=THX
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2562 บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด ออกคำชี้แจง กรณีนี้ว่า ตั้งแต่สำนักงานได้รับทราบ จากทางก.ล.ต.ว่า มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว สำนักงานได้ให้ความร่วมมือกับก.ล.ต.ในการสอบสวนข้อเท็จจริง ตลอดจนให้ข้อมูลและชี้แจงต่อก.ล.ตมาโดยตลอด
บุคคลเหล่านี้เคยปฏิบัติงานในฐานะผู้ช่วยผู้สอบบัญชีในแผนกตรวจสอบของสำนักงาน แต่ได้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 ถึงต้นปี 2561 จากข้อกล่าวหาของก.ล.ต. การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎระเบียบของสำนักงานในฐานะนายจ้างอย่างร้ายแรง และละเมิดนโยบายของสำนักงานในการคุ้มครองข้อมูลของลูกค้ารวมทั้งละเมิดข้อตกลงที่ตนเองได้เคยให้ไว้กับสำนักงานอีกด้วย
สำนักงานขอเรียนว่าสำนักงานดำเนินงานโดยยึดถือหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ ตลอดจนหลักจริยธรรมที่ควบคุม โดยคณะกรรมการประกอบวิชาชีพของรัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด โดยมีนโยบายและมาตรการคุ้มครองข้อมูลของลูกค้า ห้ามพนักงานรวมถึงคู่สมรสและบุคคลที่อยู่ในความอุปการะของพนักงานถือหุ้นในบริษัทลูกค้าทุกรายโดยเด็ดขาด โดยพนักงานต้องยืนยันเป็นประจำทุกปีเกี่ยวกับการไม่ถือหุ้นในบริษัทลูกค้าอีกด้วย
ห้ามพนักงานเปิดเผยหรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เป็นความลับของลูกค้าและพนักงานทุกคนจะต้องลงนามเพื่อยืนยันเป็นประจำทุกปีว่า ตนมิได้ปฏิบัติผิดกฎระเบียบของสำนักงานในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งยังกำหนดสิทธิพนักงานเพื่อจำกัดการเข้าถึงฐานข้อมูลทั้งหมดของลูกค้าที่ได้จากการตรวจสอบบัญชีและควบคุมการเข้า-ออกสำนักงาน พนักงานทุกคนจะต้องเข้ารับการอบรมในด้านจรรยาบรรณวิชาชีพซึ่งรวมถึงการรักษาความลับของลูกค้าและการดำรงความเป็นอิสระต่อลูกค้าเป็นประจำทุกปี
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสำนักงานได้ดำเนินการดังต่อไปนี้ การทบทวนและเพิ่มความเข้มข้นของการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าทั้งหมดให้เข้มข้นที่สุดเท่าที่พึงกระทำได้ แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กับพนักงานทุกคนในองค์กรได้ทราบโดยทันทีแล้ว เพื่อให้พนักงานได้ตระหนักถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งมีผลกระทบต่อลูกค้าสำนักงานและเพื่อนร่วมงาน
กำลังดำเนินการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับอดีตพนักงานทั้ง 3 รายนี้ อีกทั้งจะนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเป็นอุทาหรณ์เพื่อเน้นให้พนักงานทราบถึงความสำคัญในด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพโทษของการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้พนักงานได้ตระหนักถึงความผิดและบทลงโทษในการนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
ถึงแม้สำนักงานจะมีระบบการควบคุมตรวจสอบและการคาดโทษที่ดีเพียงใด การฝ่าฝืนระบบโดยบุคคลย่อมเกิดขึ้นได้ หากบุคคลนั้นขาดความสุจริตและการยับยั้งชั่งใจ ทั้งไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตามสำนักงานขอเรียนยืนยันว่าสำนักงานจะไม่ยอมรับการกระทำไม่ว่าโดยบุคคลใดตำแหน่งใดในสำนักงานที่ฝ่าฝืนกฎหมายระเบียบและข้อบังคับเรื่องการรักษาความลับและข้อมูลของลูกค้าโดยเด็ดขาด และจะดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลที่ปฏิบัติขัดต่อกฎระเบียบของสำนักงานและข้อกำหนดของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด (ดูคำชี้แจงฉบับเต็มที่นี่ https://www.ey.com/Publication/vwLUAssets/EY-statement-on-sec-sanctions-against-former-assistant-auditors/$FILE/EY-statement-on-sec-sanctions-against-former-assistant-auditors.pdf)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/