ล้วงผลสอบ สตง. ว่าด้วยความซ้ำซ้อน-สิ้นเปลือง กรณีพะเยาถลุงงบพัฒนาข้าว317ล. ยุครบ.บิ๊กตู่
"...การจัดทำโครงการไม่ได้เกิดจากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมคิดร่วมทำให้เกิดกิจกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาตามสภาพปัญหาที่มาของโครงการอย่างแท้จริง แต่เป็นการนำโครงการตามภารกิจหลักของแต่ละหน่วยงาน และกิจกรรมตามความต้องการของภาคเอกชนรวมเป็นกิจกรรมย่อยของโครงการ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแต่ละกิจกรรมมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติงานให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดและเป็นไปตามรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่ระบุในเอกสารโครงการ ไม่ได้ประสานงานกับกลุ่มงานอื่นทั้งภายในสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา หน่วยงานอื่นภายในจังหวัดพะเยาและจังหวัดอื่นในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ..."
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า โครงการเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพการผลิตข้าวปลอดภัย จังหวัดพะเยา วงเงินกว่า 317.62 ล้านบาท ซึ่งได้รับงบประมาณจำนวนมากที่สุด 317.62 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 848.57 ล้านบาท ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่า ทั้งการจัดกิจกรรมไม่มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการจัดซื้อทรัพย์สินไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ส่งผลให้เกิดมูลค่าเสียโอกาสจากกรณีทรัพย์สินไม่มีการ ใช้ประโยชน์ และทรัพย์สินของรัฐที่ยังไม่ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ ประมาณ 175.77 ล้านบาท ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่สามารถพัฒนาอาชีพ ยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง
โดยข้อมูลในส่วนการจัดซื้อทรัพย์สินไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ที่สตง.ตรวจสอบพบมีหลายกรณี สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลมาเสนออย่างต่อเนื่อง และบางกรณีก็ส่อให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในขั้นตอนการดำเนินงานด้วย เช่นการกำหนดราคาค่าก่อสร้างอาคารศูนย์ประสานงานกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตข้าวอินทรีย์และห้องปฏิบัติการด้านอารักขาพืช วงเงิน4,070,000.00 บาท สูงเกินกว่าราคามาตรฐาน การจัดซื้อเครื่องย่อยสลายชีวมวล และเรือเก็บผักตบชวาพร้อมอุปกรณ์ประกอบ มูลค่าตามสัญญา 34,560,000.00 บาท ที่ประสบปัญหาในการตรวจรับพัสดุตามเงื่อนไขสัญญา การที่สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยาส่งคืนเงินยืมล่าช้า จำนวน 1,952,180.00 บาท ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อาจเป็นช่องทางให้มีการนำเงินของทางราชการไปใช้ส่วนบุคคล และอาจเป็นผลทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย เป็นต้น (อ่านประกอบ :สาวลึก! พะเยาถลุงงบพัฒนาข้าว317ล. สนง.เกษตรฯ ควักเงินชดใช้1.3หมื่น เคลียร์คดีสร้างอาคาร, สตง.ลุยสอบไส้ในถลุงงบข้าวปลอดภัยพะเยา317 ล.-ควัก 2 แสน จ้างทำเพจ10 อัน ใช้ได้แค่ 6)
คราวนี้ มาดูข้อมูลผลการตรวจสอบในส่วนปัญหาการจัดกิจกรรมไม่มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันบ้าง?
สตง.ระบุข้อมูลผลการตรวจสอบไว้ดังนี้
โครงการเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพการผลิตข้าวปลอดภัย จังหวัดพะเยา เป็นโครงการภายใต้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยาเป็นผู้เสนอโครงการ และเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก
ทั้งนี้ จังหวัดพะเยาได้รับงบประมาณรวมทั้งสิ้น 317,615,200.00 บาท เพื่อจัดทำ 21กิจกรรม มีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา มหาวิทยาลัยพะเยา สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพะเยา สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพะเยา โครงการชลประทานพะเยา และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพะเยา
ตามหนังสือจังหวัดเชียงราย ที่ มท 1224 (ชร)/ว 152 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 หัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้อนุมัติโครงการและมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างทุกกรณีในวงเงินงบประมาณโครงการทุกขั้นตอน ตามระเบียบที่เกี่ยวข้องรวมถึงอำนาจอนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณ ในการนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา อาศัยอำนาจตามกฎหมายได้มอบอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างทุกกรณีตามวงเงินที่ได้รับการจัดสรรในโครงการทุกขั้นตอนให้หัวหน้าส่วนราชการทั้ง 6 หน่วยงานดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอนตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยยกเว้น 1) การลงนามในสัญญาและแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาที่มีวงเงินเกิน 500,000.00 บาท ขึ้นไป 2) การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษและการเบิกจ่ายงบประมาณตามหนังสือจังหวัดพะเยา ด่วนที่สุด ที่ พย 0017.2/ว 1524 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560
เพียงวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 จังหวัดพะเยาดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพการผลิตข้าวปลอดภัย แล้วเสร็จ 15กิจกรรม คิดเป็นร้อยละ 71.43 ของจำนวนกิจกรรมทั้งหมด ดำเนินกิจกรรมเสร็จสิ้นบางส่วนและอยู่ระหว่างดำเนินการ 5 กิจกรรม คิดเป็นร้อยละ 23.81 ของจำนวนกิจกรรมทั้งหมด และยกเลิกกิจกรรม 1 กิจกรรม คิดเป็นร้อยละ 4.76 ของจำนวนกิจกรรมทั้งหมด งบประมาณรวมทั้งสิ้น 317,615,200.00 บาท เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 181,138,215.55 บาท คิดเป็นร้อยละ 57.03 ของจำนวนงบประมาณทั้งหมด
จากการตรวจสอบการดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพการผลิตข้าวปลอดภัย ของจังหวัดพะเยา โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 6 หน่วยงานดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0212.1/ว 7427 ลงวันที่ 22ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติการจัดทำโครงการของกลุ่มจังหวัดตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2560 โดยกำหนดแนวทางให้จัดทำโครงการในลักษณะที่เป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน และหนังสือคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการด่วนที่สุด ที่ นร 1203.2/ว 15 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2558 กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยให้ความสำคัญในการดำเนินโครงการแบบบูรณาการ
จากการตรวจสอบพบว่า การจัดทำโครงการไม่ได้เกิดจากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมคิดร่วมทำให้เกิดกิจกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาตามสภาพปัญหาที่มาของโครงการอย่างแท้จริง แต่เป็นการนำโครงการตามภารกิจหลักของแต่ละหน่วยงาน และกิจกรรมตามความต้องการของภาคเอกชนรวมเป็นกิจกรรมย่อยของโครงการ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแต่ละกิจกรรมมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติงานให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดและเป็นไปตามรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่ระบุในเอกสารโครงการ ไม่ได้ประสานงานกับกลุ่มงานอื่นทั้งภายในสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา หน่วยงานอื่นภายในจังหวัดพะเยาและจังหวัดอื่นในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
นอกจากนี้ยังพบว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยาและหน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดทำกิจกรรมย่อยที่มีลักษณะและค่าใช้จ่ายเหมือนหรือใกล้เคียงกัน และดำเนินการในช่วงเวลาใกล้เคียงหรือต่อเนื่องกัน จำนวน 4 กิจกรรมย่อยเบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 22,441,473.65 บาท ดังนี้
1. กิจกรรมฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าว โดยเนื้อหาหลักสูตรการอบรมเกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าว การผลิตข้าวคุณภาพตามระบบ GAP/ อินทรีย์ การใช้เมล็ดข้าวพันธุ์ดี และบริหารจัดการศัตรูพืชโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส และสารชีวภัณฑ์
จากการตรวจสอบพบว่า มีหน่วยงานที่จัดกิจกรรมและเบิกจ่ายในลักษณะดังกล่าวข้างต้น 2 หน่วยงาน เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 14,436,593.65 บาท ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา 4 กิจกรรม เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 7,555,740.00 บาท และมหาวิทยาลัยพะเยา 1 กิจกรรม เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 6,880,853.65 บาท ทั้งนี้ พบว่าสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในการฝึกอบรม ในช่วงระยะเวลาเดียวกันแต่ต่างกิจกรรม คือช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2560
2. กิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยจัดฝึกอบรมความรู้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์เพื่อการตลาด การจ้างเหมาออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และจัดซื้อถุงบรรจุภัณฑ์ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มอาชีพภายในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2
จากการตรวจสอบพบว่า มีหน่วยงานที่จัดกิจกรรม และเบิกจ่ายในลักษณะดังกล่าวข้างต้น 2 หน่วยงาน เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 1,886,592.00 บาท ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา 6 กิจกรรม เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 1,426,592.00 บาท และมหาวิทยาลัยพะเยา 1 กิจกรรม เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 460,000.00 บาท ทั้งนี้ พบว่าสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน แต่ต่างกิจกรรม คือ ช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน 2560
3. จัดกิจกรรมสนับสนุนครุภัณฑ์ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนภายในจังหวัดพะเยา
จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา จัดทำกิจกรรม 3 กิจกรรม ซึ่งมีการจัดซื้อครุภัณฑ์ประเภทเดียวกัน 6รายการเบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 608,288.00 บาท โดยดำเนินการจัดหาจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ในระยะเวลาเดียวกัน แต่ต่างกิจกรรม คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2560
4. จัดงานแสดงสินค้า จำหน่ายสินค้า และจับคู่เจรจาการค้าสินค้าเกษตร โดยจัดงานภายในจังหวัดพะเยา
จากการตรวจสอบพบว่า มีหน่วยงานที่จัดกิจกรรมลักษณะดังกล่าว 2 หน่วยงาน เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 5,510,000.00 บาท ได้แก่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพะเยา 1 กิจกรรม คือ จัดงานมหกรรมอุตสาหกรรมเกษตรแฟร์ภาคเหนือตอนบน 2 และจับคู่ธุรกิจโดยจัด งานระหว่างวันที่ 9 - 13 สิงหาคม 2560 เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 4,490,000.00 บาท และสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา 2 กิจกรรม เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 1,020,000.00 บาท คือ จัดงานตลาดเกษตรกรและของดีจังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 14-20 สิงหาคม 2560 เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 990,000.00 บาท และจัดงานจับคู่เจรจาการค้าระหว่างวิสาหกิจชุมชน กับนักธุรกิจหรือพ่อค้า วันที่ 13 กันยายน 2560 เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 30,000.00 บาท ทั้งนี้ การจ้างเหมาบริการจัดงาน ในช่วงเวลาต่อเนื่องกัน ว่า หากมีการบูรณาการและจัดงานในครั้งเดียวกันจะทำให้ราชการได้รับประโยชน์สูงสุด
สตง. ระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นใน 2 ประเด็น ดังนี้
1. การใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ จำนวน 22,441,473.65 บาท โดยไม่ประสานงาน หรือบูรณาการร่วมกันระหว่างภายในหน่วยงานและหน่วยงานภายนอกส่งผลทำให้งบประมาณถูกนำไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ประหยัดในการใช้ทรัพยากรบุคคล เวลา รวมถึงวัสดุ ครุภัณฑ์ สิ้นเปลืองเกินความจำเป็น
2. การดำเนินกิจกรรมที่มีลักษณะและค่าใช้จ่ายเหมือนหรือใกล้เคียงกัน และช่วงเวลาใกล้เคียงหรือช่วงเวลาต่อเนื่องกัน โดยไม่ประสานงานหรือบูรณาการร่วมกัน ไม่เป็นไปตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0212.1/ว 7427 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ซึ่งกำหนดให้จัดทำโครงการในลักษณะที่เป็นการบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวิสัยทัศน์ เป้าหมายและตัวชี้วัดของกลุ่มจังหวัดที่กำหนดไว้
ข้อเสนอแนะ
ผู้ว่าฯ สตง. โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 9 (จังหวัดลำปาง) มีข้อเสนอแนะให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาพิจารณาดำเนินการ สั่งกำชับให้หน่วยงานภายในจังหวัดพะเยา ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่โดยให้ความสำคัญต่อการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานอื่น ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประหยัด คุ้มค่า ลดความซ้ำซ้อนและความสิ้นเปลือง โดยให้ดำเนินการบูรณาการร่วมกันตั้งแต่เริ่มจัดทำโครงการ ระหว่างดำเนินการ และติดตามประเมินผลหลังจากเสร็จสิ้นโครงการด้วย
ขณะที่ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวยืนยันข้อมูลการตรวจสอบกรณีหน่วยงานผู้รับผิดชอบกิจกรรมไม่มีการบูรณาการร่วมกันในการใช้จ่ายงบประมาณโครงการเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพการผลิตข้าวปลอดภัย จังหวัดพะเยา วงเงินกว่า 317.62 ล้านบาท ว่า จากการตรวจสอบพบว่า หน่วยงานผู้รับผิดชอบกิจกรรมมีการนำโครงการตามภารกิจหลักของแต่ละหน่วยงาน และกิจกรรมตามความต้องการของภาคเอกชนรวมเป็นกิจกรรมย่อยของโครงการ ไม่มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันตามวัตถุประสงค์ของโครงการ นอกจากนี้ ยังพบว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบมีการจัดทำกิจกรรมย่อยที่มีลักษณะและค่าใช้จ่ายเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ดำเนินการในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จำนวน 4 กิจกรรมย่อย ได้แก่ กิจกรรมฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าว กิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ กิจกรรมสนับสนุนครุภัณฑ์ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนภายในจังหวัดพะเยา และกิจกรรมแสดงสินค้า จำหน่ายสินค้า และจับคู่เจรจาการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งมีการเบิกจ่ายเงินรวมทั้งสิ้น 22.44 ล้านบาท ส่งผลให้การใช้งบประมาณจำนวนดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นไปตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0212.1/ว 7427 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ซึ่งกำหนดให้จัดทำโครงการในลักษณะที่เป็นการ บูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวิสัยทัศน์ เป้าหมายและตัวชี้วัด ของกลุ่มจังหวัดที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง การจัดซื้อทรัพย์สินไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ และการดำเนินกิจกรรมไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และหนังสือสั่งการ ที่เกี่ยวข้องด้วย
“สาเหตุที่เกิดปัญหาดังกล่าวเนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบมุ่งเน้นการปฏิบัติงานให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ให้ความสำคัญกับการประสานงานกับหน่วยงานอื่นภายในจังหวัดพะเยาและจังหวัดอื่นในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ไม่พิจารณาถึงความเหมาะสมของครุภัณฑ์ที่สนับสนุนกับศักยภาพของกลุ่มที่ได้รับ ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของรัฐไม่คุ้มค่า ตลอดจนขาดการติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ สิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดมูลค่าเสียโอกาสจากกรณีทรัพย์สินไม่มีการ ใช้ประโยชน์ และทรัพย์สินของรัฐที่ยังไม่ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ ประมาณ 175.77 ล้านบาท ซึ่งทำให้การใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่สามารถพัฒนาอาชีพ ยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง” ผู้ว่าฯ สตง.กล่าว
ขณะที่ นายนาวิน อินทจักร เกษตรจังหวัดพะเยา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศรา ว่า ได้รับทราบรายงานผลการตรวจสอบของ สตง.แล้ว และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจัดทำรายงานแจ้งผลการดำเนินงานให้อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และทางจังหวัดรับทราบเป็นทางการในขณะนี้ ซึ่งข้อมูลมีจำนวนมาก ส่วนการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการต่างๆ คงเป็นเรื่องระดับจังหวัดที่จะต้องพิจารณา เพราะการดำเนินงานโครงการนี้ มีตัวแทนจากหลายหน่วยงานมาร่วมกันดำเนินงาน ไม่ใช่ตัวแทนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยาเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ คือ ท่าทีและคำชี้แจงของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าผลการชี้แจงจะออกมาเป็นอย่างไร การใช้จ่ายเงินงบประมาณโครงการนี้ นับเป็นกรณีตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการในระดับรากหญ้า ที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนอีกหนึ่งกรณีในหลายโครงการที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ยังมีช่องโหว่สำคัญหลายประการ จากการเร่งรีบใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับหญ้าราก ซ้ำรอยไม่แตกต่างอะไรจากรัฐบาลในอดีต แม้แต่น้อย
และนับเป็นบทเรียนและภารกิจสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ ที่ควรจะต้องหาหนใหม่มาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อช่วยให้การใช้จ่ายเงินผ่านโครงการรากหญ้า ซึ่งมีที่มาจากเงินภาษีประชาชน เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่สามารถพัฒนาอาชีพ ยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง มากกว่าสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/