ส.นิติศาสตร์เเถลงจุดยืนคดีโฮปเวลล์ จี้รัฐใช้สิทธิขอพิจารณาคดีใหม่-เลิกรีบยกที่ดินปลดหนี้
นักวิชาการ มธ. ถอดบทเรียนกรณีศึกษา 'คดีโฮปเวลล์' หลังศาลปค.สูงสุดพิพากษากลับ สั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล. ตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ชี้เป็นไปได้ จนท.รัฐ ชงคดีไม่เรียบร้อย พบข้อเท็จจริงภายหลัง ควรดำเนินคดี เอาผิดทางกม.
วันที่ 1 มิ.ย. 2562 ที่ห้องประชุม LT1 คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง บทเรียนกรณีศึกษาคดีโฮปเวลล์ จัดโดยสมาคมนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
(อ่านประกอบ:ศาล ปค.สูงสุดพิพากษากลับสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.คดีโฮปเวลล์)
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงปัญหาคดีโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพฯ (โฮปเวลล์) ซึ่งมีปัญหาโต้เถียงกันในการพิจารณาคดีนี้ ศาลควรจะลงไปตรวจสอบหรือไม่ว่า มีเหตุเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี อันเป็นเหตุจะทำให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดหรือไม่ โดยตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้น ตัดสินว่า ดูจากคำวินิจฉัยแล้ว ไม่มีเหตุอะไรขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
“เรื่องนี้มีประเด็นโต้แย้งว่า ก่อนที่จะมีคดีนี้ ได้มีคดีทางด่วนบางปะอิน ศาลปกครองสูงสุด เสียงข้างมาก ตัดสินว่า คดีนี้ไม่มีเหตุถือว่า ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ปรากฎว่า เนื่องจากคดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ คณะผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยจำนวน 16 ราย เข้าชื่อทำความเห็นแย้ง” นักวิชาการ มธ. กล่าว และว่า ความเห็นแย้งนั้นระบุต้องพิจารณาลงไปในเนื้อ ซึ่งจะพบว่า การที่ศาลเสียงข้างมากตัดสินไม่มีเหตุขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี แท้จริงแล้วมีเหตุ เพราะผู้เชี่ยวชาญตัดสินผิด ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจ ศาลปกครองควรเข้าไปตรวจสอบการวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญหรือไม่
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นอยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญได้ชี้แล้วหรือไม่ว่า รายได้ที่ขาดไปต้องตามสัญญาแล้วหรือไม่ ซึ่งอนุญาโตตุลาการเห็นว่า รายได้ขาดไปแล้วตามสัญญา แต่ศาลเสียงข้างน้อย 16 ราย เห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้นำสืบถึงประเด็นนั้น เพราะฉะนั้น หากพิจารณาเช่นนี้แล้ว หนี้ที่รัฐต้องพึงจ่ายไม่มี เมื่อไม่มี ไปบังคับให้จ่าย จะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ซึ่งคดีนั้นเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่และพิจารณาอย่างยืดเยื้อ
ขณะที่คดีโฮปเวลล์ไม่ได้เข้าที่ประชุม และผู้พิพากษา ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวน พิจารณาตามหลักแนวทางพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ในอดีต คือ ไม่ตรวจสอบลงไปว่า การปฏิบัติหน้าที่ของคู่กรณีนั้นมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีหรือไม่ เพียงแต่ศาลปกครองสูงสุดในคดีโฮปเวลล์ระบุไม่มีเหตุข้อสงสัยว่า มีอะไรขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
นักวิชาการ มธ. ระบุปัญหาอยู่ที่ว่า ในการพิจารณาว่าจะบังคับตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ศาลจะพึงล้วงเข้าไปในการพิจารณาในรายละเอียดของอนุญาโตตุลาการด้วยหรือไม่ ด้านหนึ่งหากล้วงเข้าไปเท่ากับพิจารณาใหม่ทั้งหมด อนุญาโตตุลาการพิจารณามาแล้ว จะไม่มีเหตุต้องพิจารณา แต่อีกด้านหนึ่ง จำได้กรณีทางด่วนบางนา อนุญาโตตุลาการไม่พิจารณา เพราะคู่ความไม่ได้นำพยานหลักฐานมาเสนอ จึงมีการพิจารณาไปตามที่รู้ แต่ว่าอาจมีความเห็นอย่างอื่นแตกต่างไปจากที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไว้แล้ว
“ทางด่วนบางนา เป็นกรณีที่สำนักนายกรัฐมนตรีหยิบยกขึ้นมาว่า ถึงแม้อนุญาโตตุลาการจะพิจารณาไว้แล้วก็ตาม ไม่ควรจะบังคับได้ เพราะมีพิรุธ เนื่องจากมีเหตุสงสัยว่าทุจริตกัน เพียงแต่กรณีคดีโฮปเวลล์ หลังจากศาลบังคับเรียบร้อยแล้ว ในการบังคับ เราไม่พบข้อโต้แย้งหรือปรากฎว่ามีข้อโต้แย้งอย่างจริงจังของฝ่ายราชการว่า กรณีนี้มีพิรุธหรือไม่ ศาลจึงพิพากษาไปตามสำนวนที่ปรากฎว่า ไม่มีเหตุผลสงสัยขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เพราะฉะนั้นจึงมีผู้เสนอในเวลาต่อมา คดีโฮปเวลล์มีข้อเป็นบทเรียนอย่างหนึ่ง คือ เป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ตระเตรียม ชงคดีนี้โดยไม่เรียบร้อย มีพิรุธ และอาจพบข้อเท็จจริงภายหลัง ควรต้องดำเนินคดี หรือให้มีกฎหมายเอาผิด ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ถ้ามีนอกมีในหรือมีพิรุธในกระบวนการชงคดีตั้งแต่ต้น จะดำเนินการอย่างไร” รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สมาคมนิติศาสตร์ ยังได้เเถลงจุดยืนในเรื่องดังกล่าว 3 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1.สมควรที่รัฐบาล กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องใช้สิทธิในการต่อสู้ทางกฎหมายต่อไป เช่น การใช้สิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และติดตามสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า การมีส่วนบกพร่องและต้องรับผิดชอบอย่างไรทั้งทางแพ่งและอาญา มิใช่มีท่าทีให้รีบชำระหนี้ หรือนำที่ดินของการรถไฟฯไปให้เอกชน หาประโยชน์เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา
2.สมควรที่รัฐบาลจะพิจารณาแก้กฎหมายเพื่อกำหนดว่ากรณีที่ศาลจะเห็นว่าคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยขัดหรือไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีนั้น เมื่อคู่กรณีแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ศาลจะต้องตรวจสอบถึงการรับฟังข้อเท็จจริง การตีความกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย การตีความสัญญา และการปรับข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายถูกต้องหรือไม่ มิใช่ดูแต่เพียงผลของคำวินิจฉัยว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือไม่ แล้วตัดสินให้บังคับตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการไปโดยไม่ตรวจสอบลงไปในรายละเอียด
3.สมาคมฯขอเรียกร้องไปยังนักนิติศาสตร์ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นอนุญาโตตุลาการหรือศาลที่พิจารณาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาการปกครองจะต้องพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทให้ถูกต้องเป็นธรรมโดยคำนึงถึงดุลยภาพระหว่างการคุ้มครองประโยชน์ของเอกชนและการรักษาประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้การวินิจฉัยข้อพิพาทได้รับการยอมรับของสังคมและประชาชน โดยปราศจากข้อเคลือบแคลงสงสัย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/