4 คดีทรัพย์สินนักการเมืองท้องถิ่น ศาลฎีกายกคำร้อง เหตุ ป.ป.ช.ยื่นหลัง กม.ใหม่บังคับ
เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาฯยกคำร้อง 2 นายก อบต. จ.สมุทรสาคร อุบลฯ 2 รอง ฯ ตาก ยโสธร จงใจยื่นเท็จ-ไม่ยื่น เหตุ ป.ป.ช.ยื่นคำร้องหลัง พ.ร.บ.ป้องกันฯปี 2561 ใช้บังคับ ต้องยึด กม.ฉบับปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องยื่นบัญชีฯเมื่อพ้น 1 ปี ไม่ถือเป็นความผิด ก่อนหน้ารอด 2 ราย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2562 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา ยกคำร้อง คดี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4 ราย จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบเป็นเท็จ - 3 ราย และจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ 1 ราย ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.)
1.นายณัฐภัทร หรือ ปง อินจับ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พบพระ อ.พบพระ จ.ตาก เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดำรงตำแหน่งรองนายก อบต.พบพระ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
พิเคราะห์คำร้อง และเอกสารประกอบคำร้องแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายก อบต.พบพระ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2551 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2555 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลของการไม่แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ร้องแล้ว แต่ผู้ถูกกล่าวหาเพิกเฉย
เห็นว่า ก่อนวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2561 โดยมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยการป้อง และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แม้บทเฉพาะกาลตามมาตรา 188 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติว่า ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ไว้แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับให้เป็นอันใช้ได้ และให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งหมายความว่าผู้ร้องมีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 ด้วย
เมื่อปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องว่า คดีนี้ผู้ร้องมีมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ก่อนวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 ที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ และผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 30 สิงหาคม 2561 อันเป็นเวลาภายหลัง ที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับแล้ว คดีนี้จึงต้องใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับขณะยื่นคำร้องมาบังคับแก่คดีนี้แทน และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ไม่ได้กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี จึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้น ไม่เป็นความผิดต่อไป ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้กระทำการนั้นย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ทั้งไม่อาจห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคท้าย
พิพากษายกคำร้อง. (คดีหมายเลขแดงที่ อม.14/2562- 4 ก.พ.2562 )
2.นายไชยา กังรวมบุตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านบ่อ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดำรงตำแหน่งนายก อบต.บ้านบ่อ
พิเคราะห์คำร้อง และเอกสารประกอบคำร้องแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายก อบต.บ้านบ่อ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2552 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 ผู้ถูกกล่าวหา ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี โดยไม่แสดงรายการทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7471 และเลขที่ 4066 ต.บ้านบ่อ ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลของการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบแล้ว ผู้ถูกกล่าวหามีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง ทำนองว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับน้องชายและน้องชายยืมโฉนดไปทำธุระและเก็บไว้ จึงไม่ได้แสดงโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง แต่ผู้ร้องเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหามีเหตุอันควร เชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ผู้ร้องมีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป .ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี และให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องเป็นคดีนี้
เห็นว่า ก่อนวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2561 โดยมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แม้บทเฉพาะกาลตามมาตรา 188 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติว่า ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบไว้แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับให้เป็นอันใช้ได้ และให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งหมายความว่าผู้ร้องมีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 ด้วย เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ผู้ร้องมีมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ก่อนวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 ที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ และผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 31 สิงหาคม 2561 อันเป็นเวลาภายหลังที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับแล้วคดีนี้จึงต้องใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับขณะยื่นคำร้องมาบังคับแก่คดีนี้แทน ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 105 วรรคสาม (1) ไม่ได้กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี จึงเป็นกรณีทีบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้กระทำการนั้นย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง และไม่อาจห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคท้าย
พิพากษายกคำร้อง. (คดีหมายเลขแดงที่ อม.15/2562- 4 ก.พ.2562 )
3. นายหงส์ พิมพ์อินทร์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไทยเจริญ อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดำรงตำแหน่งรองนายก อบต.ไทยเจริญ
พิเคราะห์คำร้อง และเอกสารประกอบคำร้องแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายก อบต.ไทยเจริญ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2556 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดง รายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีโดยไม่แสดงรายการเงินฝากธนาคารออมสิน สาขากุดอุดม เลขที่บัญชี 05386046625 จำนวนเงิน 45,628.70 บาท ของผู้ถูกกล่าวหา ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลของการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และผู้ถูกกล่าวหามีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้ร้องแล้วแต่ผู้ร้องเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สิน หรือหนี้สิน ผู้ร้องมีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว เป็นเวลาหนึ่งปี และให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ร้อง จึงยื่นคำร้องเป็นคดีนี้
เห็นว่า ก่อนวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2561 โดยมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แม้บทเฉพาะกาลตามมาตรา 188 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติได้มีมติว่า ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบหรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบไว้แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับให้เป็นอันใช้ได้ และให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งหมายความว่าผู้ร้องมีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 ด้วย เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ ผู้ร้องมีมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ก่อนวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 ที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ และผู้ร้องยื่นคำร้อง ต่อศาลในวันที่ 31 สิงหาคม 2561 อันเป็นเวลาภายหลังที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทเฉพาะกาล มาตรา 192 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและพิพากษาของศาล
สำหรับคดีที่ยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับให้ถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนกว่าคดีจะถึงที่สุด” ด้วย คดีนี้จึงต้องใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับขณะยื่นคำร้องมาบังคับแก่คดีนี้แทน ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 105 วรรคสาม (1) ไม่ได้กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี จึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้กระทำการนั้นย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง ทั้งไม่อาจห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคท้าย
พิพากษายกคำร้อง. (คดีหมายเลขแดงที่ อม.16/2562- 4 ก.พ.2562 )
4.นายปรีชา ทองแสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาคำใหญ่ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในการดำรงตำแหน่งนายกอบต. นาคำใหญ่พิเคราะห์คำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาคำใหญ่ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2552 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชี แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด กรณีเข้ารับตำแหน่งและกรณีพ้นจากตำแหน่ง แต่ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี
ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลของการไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องแล้ว แต่ผู้ถูกกล่าวหาเพิกเฉย ผู้ร้องเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าว ของผู้ถูกกล่าวหามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ผู้ร้องมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี และให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องเป็นคดีนี้
เห็นว่า ก่อนวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2561 โดยมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แม้บทเฉพาะกาลตามมาตรา 188 วรรคสองของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติว่า ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบไว้แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับให้เป็นอันใช้ได้และให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งหมายความว่าผู้ร้องมีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561เมื่อปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องว่า คดีนี้ผู้ร้องมีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ก่อนวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 ที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ และผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 3 กันยายน 2561 อันเป็นเวลาภายหลังที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับแล้ว จึงต้องใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับขณะยื่นคำร้องมาบังคับแก่คดีนี้ และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 105 วรรคสาม (1) ไม่ได้กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว เป็นเวลาหนึ่งปี จึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้กระทำการนั้นย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ทั้งไม่อาจห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคท้าย
พิพากษายกคำร้อง. (คดีหมายเลขแดงที่ อม.17/2562- 4 ก.พ.2562 )
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาฯยกคำร้องคดีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน อันเนื่องมาจาก ป.ป.ช.ยื่นคำร้องต่อศาล ภายหลัง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับเมื่อ 22 กรกฎาคม 2561 แล้ว จำนวน 2 คดี ได้แก่ คดี นายชุมพล ปันอิ่น จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีต.ป่าซาง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และ คดี นางวิชุตา อาแว จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดำรงตำแหน่ง รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
เท่ากับศาลฎีกาฯ ยกคำร้อง คดีความผิดกรณีบัญชีทรัพย์สินด้วยเหตุลักษณะนี้รวม 6 รวย (เท่าที่ตรวจสอบพบ)
อ่านประกอบ :
สรุปคำพิพากษาฟัน 4 นักการเมืองท้องถิ่น จ.ปัตตานี สกลนคร กาญจนบุรี ตาก ไม่ยื่นบัญชีฯ
พฤติกรรม ส.อบจ.ลำปาง ซุกเงินฝาก เงินกู้ยืม ป.ป.ช.-ศาลจำคุก 1 เดือน รอลงโทษ 1 ปี
ศาลฎีกาฯสั่งจำคุก 2 เดือน ไม่รอลงโทษ นักการเมืองท้องถิ่น จ.อุตรดิตถ์ ไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน
ศาลฎีกาฯคุก 1 เดือน รอลงโทษ 1 ปี 2 นักการเมืองท้องถิ่น จ.สุราษฎร์ฯ-ร้อยเอ็ดไม่ยื่นบัญชีฯ
ศาลฎีกาฯสั่งคุก 1 เดือน-รอลงโทษ 1 ปี รองฯเทศมนตรี จ.นครสวรรค์ ซุกหุ้น-เงินฝาก 13 บัญชี
ศาลฎีกาฯยกคำร้อง 2 นักการเมืองท้องถิ่น จ.ลำพูน-นราฯ ซุกบัญชีฯ เหตุ ป.ป.ช.ยื่นหลัง กม.บังคับ
ดูชัดๆ อดีตปธ.สภา อบจ.สมุทรสาคร ซุกหุ้น 2 บ. ศาลฎีกาฯฟันยื่นบัญชีฯเท็จ
อย่าลืมฉัน! สมบัติ-นพ.วีระวุฒิ-เมียอริสมันต์ มีคดีรวยผิดปกติในศาลฎีกาฯปี 62
รายชื่อ 190 คนไม่ยื่นบัญชีฯ-ซุกทรัพย์สินรอบปี 61 - รองนายก อบต.อื้อ 93 ราย
เผยปี 2561 คดีไม่ยื่นบัญชีฯ-ซุกทรัพย์สิน ทะลัก 190 คน ‘ธาริต-พงศ์พัฒน์-ชูวิทย์’ติดกลุ่ม